TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistพรบ.สุราก้าวหน้า ... บนทางแพร่ง

พรบ.สุราก้าวหน้า … บนทางแพร่ง

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งจะเปิดสมัยประชุมสภาฯ สมัยสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งใหญ่ มีกฎหมาย 2 ฉบับที่เป็น “เผือกร้อน” รอจ่อคิวให้พิจารณา คือ “กัญชาเสรี” ของพรรคภูมิใจไทย และ “พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล

สำหรับพ.ร.บ.สุราก้าวหน้ามีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ เมื่อมีรายงานว่า “รัฐบาล” เตรียมที่จะเตะสกัดไม่ให้ได้เกิด สัญญาณนี้สะท้อนจากก่อนการประชุมครม.เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้หารือกับแกนนำพรรคร่วม ในวงหารือได้ข้อสรุปว่าไม่อยากให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาฯ

โดยอ้างว่าจะทำให้มีสุราเถื่อนที่ไม่ได้คุณภาพเกลื่อนเมือง และไม่มีมาตรการรองรับความปลอดภัย ต่างจากผู้ผลิตรายใหญ่ที่ผลิตถูกต้องตามกฎหมาย มีมาตรฐานสูง แต่มีข้อน่าสังเกตก่อนหน้าที่จะมีการหารือกัน ก็มีข่าวรั่วออกมาว่ามีผู้ใหญ่ในรัฐบาลได้พบและพูดคุยกับนักธุรกิจใหญ่ที่อยู่ในแวดวงน้ำเมา แต่ไม่รู้ว่าจะเกี่ยวกับพ.ร.บ.สุราก้าวหน้าหรือไม่ 

สาระสำคัญพ.รบ.สุราก้าวหน้า เพื่อให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายย่อยประกอบกิจการได้ตามกฎหมาย และสามารถแข่งขันกับเจ้าใหญ่ ๆ ในตลาดได้ รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคที่ต้องการ “ต้มเบียร์” ไว้กินเองสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย 

พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นการแก้ไขกฎหมายสรรพสามิตเดิมที่แม้จะเปิดให้รายย่อยดำเนินการได้ แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยาก เพราะมีระเบียบยุบยับไปหมด ซึ่งเป็นการกีดกันไม่ให้เหล้าชุมชนหรือเหล้าท้องถิ่นที่เป็น “ภูมิปัญญา” ชาวบ้านไม่ได้ผุดได้เกิดทางอ้อม

แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่จะเปิดโอกาสให้คนในชุมชนนำวัตถุดิบที่มีคุณภาพมาผลิตแอลกอฮอล์ โดยใช้ “ของดี” ในพื้นที่ เช่น ข้าวออร์แกนิกสายพันธุ์ท้องถิ่น หรือผลไม้ต่าง ๆ มาแปรรูปเป็นสุราท้องถิ่น ไวน์ หรือดราฟเบียร์ รายได้ก็จะเข้าสู่ชุมชน เข้าสู่ท้องถิ่น และคนตัวเล็กตัวน้อยมากขึ้น จากเดิมที่เงินเข้าสู่กระเป๋านายทุนใหญ่ 2-3 รายเท่านั้น

ทุกวันนี้สุราชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อยที่ฝ่าด่านนายทุนมีไม่กี่ราย เช่น ชุมชนสุราสักทอง ต.แม่สะเอียบ จังหวัดแพร่ แต่ก็ยังอยู่ในวงจำกัด ในขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กต้องจดทะเบียนและผลิตสุราในต่างประเทศแทน 

อันที่จริงภูมิปัญญาคนไทยนั้นไปไกลถึงระดับโลกแล้ว เมื่อปี พ.ศ.2563 คราฟต์เบียร์ไทยแบรนด์ “ศิวิไลซ์” ได้ชนะรางวัลเหรียญเงินจากเวที World Beer Awards 2020 แต่ต้องรับรางวัลในฐานะ “คราฟต์เบียร์เวียดนาม” แทน เนื่องจากความไม่เอื้ออำนวยของกฎหมายในประเทศ ที่ไม่อนุญาตให้รายเล็กกำลังไม่ถึงทำการผลิตเบียร์ได้

สินค้าสุราชุมชนของไทยมีไม่น้อยที่มีคุณภาพแต่โตไม่ได้เพราะกฎหมายกีดกันไม่ให้คนตัวเล็กตัวน้อยโตลืมตาอ้าปาก แต่ถ้ากฎหมายนี้ออกมาจะส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์มีการยกระดับการดื่มสุราให้ได้มาตรฐานเหมือนในต่างประเทศ เช่น เหล้าชนิดนี้ดื่มก่อนอาหารหรือหลังอาหารกลายเป็นสินค้าวัฒนธรรมขายนักท่องเที่ยวได้

ต่อไปเราอาจจะได้เห็นบาร์เหล้าในโรงแรม 5 ดาว มีแต่สุราแบรนด์ท้องถิ่นของไทยให้ชาวต่างชาติเลือกชิม และอาจจะยกระดับถึงระดับโลกอย่างเช่น “เมซกาล” เป็น “เหล้ากลั่น” สุราชุมชนของเม็กซิโกที่ กลั่นจาก “อะกาเบ” พืชพื้นเมืองที่แทบไม่มีราคา พัฒนาจนเกิดมูลค่าและโกยเงินเข้าประเทศอย่างมหาศาล

จึงไม่แปลกใจที่หลาย ๆ ประเทศได้ “ปลดล็อก”​ ธุรกิจสุราที่เคยผูกขาดมาให้ชุมชนมามีส่วนร่วมและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้ ตัวอย่างใกล้ ๆ บ้านเรา “เวียดนาม” ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มว่าจะเติบโตร้อยละ 7 ในปี พ.ศ.2566 นั้น หนึ่งในธุรกิจที่เป็นที่น่าจับตามองของเวียดนามคือตลาดคราฟต์เบียร์ เนื่องจากเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคในประเทศ

กรณี “เกาหลีใต้” ประเทศที่เพิ่งผ่านการแก้ไขกฎหมายประเภทนี้ไม่นาน หลังการแก้ไขกฎหมายตัวเลขของตลาดคราฟต์เบียร์เกาหลีใต้เติบโตขึ้นถึง 3.3 พันล้านบาท คาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นอีก 10.3 พันล้านบาทภายในปี พ.ศ.2566

แต่ที่เป็นต้นแบบประเทศแห่งเบียร์อย่างเยอรมัน จากรายงานการศึกษาปี พ.ศ.2563 โดย The Brewers of Europe ระบุว่า ครึ่งหนึ่งของรายได้จากการเก็บภาษีของรัฐบาลเยอรมนีเกิดจากอุตสาหกรรมเบียร์คิดเป็นมูลค่ากว่า 6.5 พันล้านยูโร (ราว 236,502 ล้านบาท) ในปี 2561 ประชากรกว่า 480,000 คน มีงานทำจากการที่อุตสาหกรรมเบียร์เติบโตสูง 

ดังนั้น หากผลักดัน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าสำเร็จจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศที่กำลังวิกฤติได้ และยังจะกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไปสู่ชุมชนและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องมากมายไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ การขนส่ง สื่อและการตลาด ทำให้คนในท้องถิ่นมีงานทำ รวมไปถึงสาธารณูปโภคและอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมสุรา ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ธุรกิจน้ำเมาในบ้านเรานั้น ธุรกิจเบียร์เป็นธุรกิจใหญ่ แต่ถูกควบคุมโดยสองผู้เล่นยักษ์ใหญ่ มีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมกันถึง 93% ของปริมาณจำหน่ายเบียร์ในประเทศ ยังไม่รวมกับอุตสาหกรรมสุรา มีเพียงเจ้าเดียวครองตลาดไปถึง 80% เนื่องจากความได้เปรียบทางต้นทุนการผลิตที่ตรงกับเกณฑ์ของกฎหมาย และความช่วยเหลือจากข้าราชการและนักการเมือง 

เราปล่อยให้กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ผูกขาดมานานนับร้อยปี ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและนักการเมืองจะต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดสุราเสรีอย่างจริงจัง การอ้างเรื่องคุณภาพความปลอดภัยนั้น เป็นข้ออ้างที่ส่อเจตนจะอุ้มนายทุนโดยไม่เห็นหัวชาวบ้านเท่านั้นเอง 

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

คำถามถึง “กสทช.”

ควบรวม “ทรู-ดีแทค” … จุดยืน “กสทช.”

ปอกเปลือก “ค่าไฟฟ้าแพง” … จ่ายแต่ไม่ได้ใช้

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ