TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistต่ออายุสัมปทานแลกค่าโดยสาร ปัญหาเบา..เบา ระหว่างราง

ต่ออายุสัมปทานแลกค่าโดยสาร ปัญหาเบา..เบา ระหว่างราง

กว่า 21 ปีที่คนกรุงเทพ มีรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นระบบขนส่งมวลชนทางราง จากวันแรก (5 ธ.ค. 2542) ของการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต – อ่อนนุช และ สนามกีฬาแห่งชาติ – สะพานตากสิน รวมระยะทางทั้งสิ้น 23.5 กิโลเมตร ซึ่งอายุสัมปทานการเดินรถเหลืออีกเพียง 9 ปี ก็จะหมดลง ในปี พ.ศ. 2572

จากนั้นมีส่วนต่อขยายระยะทางช่วง ตากสิน -วงเวียนใหญ่ – บางหว้า สายสุขุมวิท ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ซึ่งบีทีเอสซี บริษัทในเครือบีทีเอสได้รับจ้างบริหารเดินรถ และส่วนต่อขยายที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคมนี้ จำนวน 25 สถานี ขยายการให้บริการจากหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต  ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ (เคหะฯ)

ประเด็นสำคัญเริ่มเกินขึ้นเมื่อ บีทีเอสซี ได้ทำหนังสือทวงถามค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน กับกรุงเทพมหานครเป็นเงินกว่า 8,000 ล้าน หากกรุงเทพมหานครไม่ยอมจ่าย จะหยุดการเดินรถ ซึ่งกรุงเทพมหานคร โดย อัศวิน ขวัญเมือง ยอมรับว่าไม่มีเงินจ่ายให้ แต่ในที่สุด ทางบีทีเอสซีก็ยังคงเดินรถไฟฟ้าต่อ เนื่องจากไม่อยากใช้ประชานเป็นตัวประกัน 

บีทีเอสซี ยังชี้แจงว่าช่วงปีนี้ รายได้ของบีทีเอสซี น้อยลงจากเดิม ด้วยผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้มีผู้ใช้งานรถไฟฟ้าน้อยลงและ ช่วงมีการชุมนุม 16-19 ตุลาคม ที่ผ่านมามีการสั่งปิดการให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส บางช่วง บางสถานี ทำให้ยอดผู้โดยสารลดลงประมาณ ประมาณ 757,000 คน คิดเป็นค่าบริการโดยเอาค่าโดยสารเฉลี่ยเท่ากับ 30 บาท/คน เท่ากับรายได้จากค่าโดยสารลดลงประมาณ 22.71 ล้านบาท อีกด้วย

ประเด็นร้อนเริ่มขึ้นอีกครั้งในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 17 พ.ย. 2563 หลังกระทรวงมหาดไทยเสนอเป็นวาระจรเพื่อทราบ เรื่องการพิจารณาต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระยะเวลา 30 ปี แลกกับค่าโดยสาร 65 บาท มีการแย้งว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวผ่านจุดคุ้มทุนมาแล้ว โดยมีผู้ใช้บริการมากถึงวันละ 800,000-1,000,000 เที่ยวคน/วัน ซึ่งอายุสัมปทานเหลืออีก 10 ปี จึงไม่มีความจำเป็นที่จะขยายสัญญาสัมปทานให้เอกชนอีก 30 ปี 

กรณีดังกล่าวนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทำความคิดเห็นเพิ่มเติมใน 4 ประเด็น

  1. ความครบถ้วนตามหลักการพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562
  2. ค่าโดยสารที่เหมาะสม กระทรวงคมนาคมเห็นว่าอัตราค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท มีราคาสูงกว่าราคาโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
  3. การใช้สินทรัพย์ของรัฐภายหลังรับโอนจากเอกชนเมื่อหมดสัญญาสัมปทานปี 2572 อาจจะทำให้รัฐไม่ได้รับประโยชน์ได้
  4. ประเด็นด้านกฎหมาย ควรรอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลกรณี กทม.จ้างบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC)  อาจจะมีผลกระทบย้อนหลังได้

ประเด็นหลักใหญ่ น่าจะเป็นเรื่องค่าโดยสาร ซึ่งปัจจุบัน บีทีเอสเก็บช่วงได้สัมปทานเดิม 16-44 บาท และ กทม.เก็บส่วนต่อขยายเดิม 15 บาท ส่วนต่อขยายใหม่หมอชิต-คูคต เก็บ 15-60 บาท และแบริ่ง-สมุทรปราการอีก 15-39 บาท รวมระยะทาง 68.25 กม. จำนวน 59 สถานี ค่าโดยสาร 158 บาท

แต่การจัดเก็บค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้ไกลที่สุด (ต่อเดียว) 55 กิโลเมตร ดังนั้น ค่าโดยสารสูงสุดต่อกิโลเมตรเท่ากับ 1.18 บาท

ในขณะที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มีค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้ไกลที่สุด 26 กิโลเมตร เท่ากับค่าโดยสารสูงสุดต่อกิโลเมตรละ 1.62 บาท หรือแพงกว่าค่าโดยสารสูงสุดของสายสีเขียว 44 สตางค์/กิโลเมตร

ที่ผ่านมา บีทีเอสเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมดเป็นเงินประมาณ 53,000 ล้านบาท และต้องแบ่งรายได้จากค่าโดยสารให้ กทม.ตลอด 30 ปี รวมเป็นเงินกว่า 200,000 ล้านบาท และหากบีทีเอสได้ผลตอบแทนการลงทุนเกิน 9.6% จะต้องแบ่งรายได้ให้ กทม.เพิ่มเติมอีกตามอัตราที่กำหนดในสัญญา 

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่เป็นส่วนต่อขยาย บีทีเอสจะต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้แทน กทม.ในช่วงปี 2562-2572 เป็นเงินประมาณ 13,000 ล้านบาท และจะต้องแบกรับภาระขาดทุนจากการเดินรถส่วนต่อขยาย ในช่วงปีดังกล่าวเป็นเงินประมาณ 15,000 ล้านบาท รวมเงินที่บีทีเอสจะต้องจ่ายแทน กทม.ประมาณ 28,000 ล้านบาท

เรื่องนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรหรือไม่ บางคนให้ความเห็นว่า อาจเกิดจากการที่ กลุ่มบีทีเอสยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง กรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รฟม. (รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม) เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลใหม่ ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มบางขุนนนท์-มีนบุรี เป็นการร่วมทุนรูปแบบภาครัฐกับเอกชน หรือ PPP net cost 30 ปี วงเงิน 128,128 ล้านบาท หรือไม่

แม้เรื่องการแลกค่าโดยสาร 65 บาท กับการขยายสัมปทานออกไปอีก 30 ปี จะยังไม่มีบทสรุปจากคณะรัฐมนตรี แต่ทุกคนเชื่อว่าในที่สุดจะมีบทสรุปที่เป็นที่พอใจกับทุกฝ่ายออกมาอย่างแน่นอน

เพราะบีทีเอส ยังมีแผนการลงทุนส่วนต่อขยายสายสีเหลือง รัชดาฯ-ลาดพร้าว-รัชโยธิน 2.6 กม. ที่บีทีเอสลงทุนเพิ่ม 3,700 ล้านบาทและส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม. วงเงิน 3,379 ล้านบาทต่อไปอนาคตด้วย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ