TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistจาก ‘วิดีโอเกม’ สู่ ‘อีสปอร์ต’ เมกะเทรนด์ที่ไม่เคยหายไปจากโลก

จาก ‘วิดีโอเกม’ สู่ ‘อีสปอร์ต’ เมกะเทรนด์ที่ไม่เคยหายไปจากโลก

เมื่อต้องการช่วงเวลาผ่อนคลายหรือสันทนาการ การเล่นเกม…เรียกได้ว่าเป็น 1 ในงานอดิเรกที่หลาย ๆ คนชื่นชอบ 

จริง ๆ แล้ว มนุษย์เรามีการละเล่นต่าง ๆ มาตั้งแต่ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นไพ่ประเภทต่าง ๆ หมากรุก หมากฮอส บิงโก โอเอ็กซ์ ครอสเวิร์ด ซูโดกุ และอีกหลาย ๆ เกมที่เราสามารถเล่นคนเดียวหรือเล่นกับคนอื่น ๆ ได้ 

ในยุคที่เครื่องใช้ไฟฟ้า…มีบทบาทสำคัญมากขึ้น เกมคอนโซล (Console Game) จึงถือกำเนิดบนโลกใบนี้ เชื่อว่า ใครที่เกิดในยุค 80 และ 90 ต้องคุ้นเคยกับเจ้า Famicom (Family Computer) หรือ Super Famicom รวมไปถึง Game Boy ของ Nintendo ไม่มากก็น้อย

ไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไปสักแค่ไหน ในวันที่คอมพิวเตอร์ถูกพัฒนาจนกลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าจำเป็นของทุกบ้านและทุกคน เกมก็มาในรูปแบบของแผ่น CD หรือดาวน์โหลดผ่านเว็บเบราว์เซอร์ 

เมื่อโทรศัพท์มือถือมีบทบาทมากขึ้น โปรแกรมเกมก็ฝังมากับตัวเครื่องด้วย ผู้ใช้งานโทรศัพท์ Nokia ทั่วโลก ต้องคุ้นเคยกับเกมงูกันบ้าง

ในวันที่โทรศัพท์มือถือ พัฒนาเป็นสมาร์ทโฟน ไปจนถึงแท็บเล็ต โปรแกรมที่อยู่ในเครื่อง ที่เรียกกันติดปากว่า แอปพลิเคชัน ก็มาในรูปแบบเกมเช่นเดียวกัน

ในยุคที่อินเทอร์เน็ตพัฒนาไปถึงโครงข่าย 5G การเล่นเกมไม่ได้จำกัดแค่ตัวเองหรือเพื่อนฝูงอีกต่อไป คุณสามารถเล่นเกมออนไลน์กับใครก็ได้บนโลกใบนี้ และพัฒนาไปจนถึงการแข่งขันเล่นเกม…ซึ่งก็คือ อีสปอร์ต (E-sports)

และยุคนี้…อุตสาหกรรมเกม ไม่ได้จำกัดแค่อาชีพโปรแกรมเมอร์ เขียนหรือพัฒนาแอปพลิเคชันเกมเท่านั้น หากคุณเป็นเกมเมอร์ หรือนักแคสเกม…คุณก็สามารถสร้างรายได้จากการเล่นเกม พัฒนาตัวเองเข้าไปอยู่ในวงการอีสปอร์ตได้เหมือนกัน

เมื่อเราเห็นว่า การเล่นเกม…แทบจะฝังเป็นพฤติกรรมหนึ่งของมนุษย์ หลายคนมีเวลาว่างก็เล่นเกม หลายคนก็เล่นเกมเป็นบางเวลา หรือต้องการเล่นเกมกับเพื่อนฝูงเท่านั้น บางคนอาจจะไม่ได้ชอบเล่นเกมมากนัก หรือชื่นชอบและสนุกเป็นบางเกมเท่านั้น

แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ล้วนผ่านการเล่นเกมไม่มากก็น้อย 

ทีนี้…คุณเห็นความน่าสนใจของธุรกิจเกมและอีสปอร์ตหรือยัง

Covid-19 ดัน ‘เกมและอีสปอร์ต’ โตสูง 

Newzoo เป็นบริษัทที่มีข้อมูลเชิงลึกในอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ตทั่วโลก เพื่อวางแผนธุรกิจและการทำตลาดให้บริษัทเกม ได้อัปเดตภาพรวมตลาดโลกไว้น่าสนใจ สำหรับปี 2564 ธุรกิจเกมจะสร้างรายได้รวมทั่วโลกกว่า 175,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงเล็กน้อย 1.1% จากปี 2563 จากผู้เล่นเกมทั่วโลก 2,900 ล้านคนทั่วโลก

มุมมองของ Newzoo คือ มูลค่าตลาดติดลบ 1.1% ไม่ได้สะท้อนภาพขาลง หรือมีประเด็นอะไรให้น่ากังวล เนื่องจากรายได้ธุรกิจเกมทั่วโลกในปี 2563 อยู่ที่ 177,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีการเติบโตสูงมากถึง 23.1% จากปีก่อนหน้า 

Newzoo ได้แบ่งประเภทอุปกรณ์และการใช้งาน 3 แบบ ได้แก่ 

  1. เกมบนอุปกรณ์พกพา (Mobile Game) แบ่งเป็นเกมบนสมาร์ตโฟนกับแท็บเล็ต 
  2. เกมบนคอมพิวเตอร์ (Computer Game) แบ่งเป็นเกมบนเว็บเบราว์เซอร์ กับซอฟต์แวร์หรือกล่องเกมสำหรับเครื่อง PC 
  3. เกมคอนโซล (Console Game) เช่น PlayStation Nintendo Switch และ Xbox Live

จริง ๆ ภาพรวมตลาดเกมปี 2021 ยังน่าสนใจ เพราะยุค New Normal ทำให้วิถีชีวิตผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก รวมทั้งธุรกิจเกมด้วย เช่น

  • โรคระบาด Covid-19 ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ธุรกิจเกมทั่วโลกพลิกผันเช่นเดียวกับธุรกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องห่วงโซ่อุปทานขาดแคลนในการผลิตฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเกมคอนโซล และเกมบนคอมพิวเตอร์ เช่น ชิป เป็นต้น ส่งผลให้ปี 2564 ตลาดเกมจาก 2 ประเภทนี้ยังหดตัว และรอเวลาฟื้นตัวในช่วง Covid-19 กำลังคลี่คลาย 
  • ช่วงล็อกดาวน์และการทำงานจากที่บ้าน มีผลต่อความคืบหน้าและการวางแผนธุรกิจเกมคอนโซล รวมไปถึงกลุ่ม AAA (วิดีโอเกม) ที่จะวางขายซอฟต์แวร์ของเกมคอนโซลและเกมบนคอมพิวเตอร์ด้วย อาจจะเลื่อนไปทำตลาดในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 หรือไปปี 2565
  • เกมบนอุปกรณ์พกพา อย่างสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต ได้รับผลกระทบน้อยมากจาก Covid-19 เนื่องจากการพัฒนาแอปพลิชันเกมไม่ซับซ้อน ไม่จำเป็นต้องเลื่อนการออกเกมใหม่ เหมือนกลุ่มเกมคอนโซลและเกมบนคอมพิวเตอร์ ดังนั้นกลุ่มเกมบนอุปกรณ์พกพายังมีรายได้เติบโตใน ปี 2564 และมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของธุรกิจเกมทั่วโลก
  • ปัจจัยที่กระทบแอปพลิเคชันเกม คือ Apple จะเลิกระบบระบุตัวตนสำหรับผู้ลงโฆษณา หรือ IDFA (Identifier for Advertisers) บน iOS ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ตามนโยบายความปลอดภัยของ Apple ซึ่งจะมีผลให้นักการตลาดและนักโฆษณาที่เก็บข้อมูลผู้ใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ หากผู้ใช้งาน iPhone และ iPad ไม่ยินยอม ส่งผลต่อการติดตามและวัดผลโฆษณาในอนาคต เป็นสิ่งที่บริษัทผู้พัฒนาเกมต้องปรับตัว
  • ประเด็น IDFA ไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทพัฒนาเกมสัญชาติจีน อย่าง Tencent และ NetEase เพราะระบบนิเวศ (Ecosystem) ของทั้ง 2 ค่ายนี้มีความแข็งแกร่ง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพา IDFA เลย

Newzoo ประเมินว่า ธุรกิจเกมทั่วโลกจะเติบโตทะลุ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2566 โดยจะมีการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 7.2% ในช่วง 2562-2568 นำโดยกลุ่มเกมบนอุปกรณ์พกพา ที่ยังคงรักษาอัตราการเติบโตไว้ได้ ส่วนกลุ่มเกมคอนโซลและเกนบนคอมพิวเตอร์จะกลับมาเติบโตได้ในปี 2565 เมื่อการออกอุปกรณ์รุ่นใหม่ ๆ และซอฟต์แวร์เกมใหม่ ๆ เป็นไปตามที่แต่ละบริษัทวางแผนไว้

Global X บริษัทบริหารสินทรัพย์ ผู้ออก ETF (Exchange Traded Fund) ให้มุมมองว่า ยุค Digital Disruption ที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตคนทั่วโลก ก็ยังสามารถเปลี่ยนแปลงธุรกิจเกมได้เช่นเดียวกัน 

นี่คือเหตุผลที่ทำให้ตลาดเกมบนอุปกรณ์พกพา อย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเติบโตจนมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าตลาดเกมทั่วโลกได้ เพราะผู้คนสามารถซื้อเกมได้จากช่องทางดิจิทัลนั่นเอง

Global X บอกว่า ช่องทางจำหน่ายเกมบนแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือ Digital Distribution มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 83% เช่น App Store (iPhone และ iPad) Google Play (ระบบ Android) Sony Store (PlayStation) Microsoft Store (Xbox Live) Value Steam (เกมบน PC) และ Epic Games Store (เกมบน PC) เนื่องจากผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดเกม หลังจ่ายเงินได้เลย

ส่วนช่องทางจำหน่ายเกมผ่านหน้าร้านและสั่งจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ หรือ Physical Distribution มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 17%  เช่น ซอฟต์แวร์เกม เครื่องเล่นเกมคอนโซล หรือกล่องเกมสำหรับเครื่อง PC ที่ต้องมีสต็อก บรรจุใส่กล่อง และจัดส่งสินค้า

ดังนั้นการจำหน่ายเกมผ่านทั้ง 2 ช่องทางจะสร้างอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) ให้กับบริษัทผู้ออกเกมแตกต่างกันมาก ช่องทาง Digital Distribution มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 70-85% ส่วนช่องทาง Physical Distribution มีอัตรากำไรขั้นต้นราวๆ 40-50%

ภาพรวมตลาดธุรกิจเกมทั่วโลกและเทรนด์การใช้งานที่เห็นในยุคนี้ กำลังชี้ให้เห็นว่า นักพัฒนาเกม นักออกแบบเกม รวมไปถึงบริษัทที่อยู่ในธุรกิจเกม กำลังปรับตัวเข้าสู่ยุค Digital Disruption ด้วยเช่นกัน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น ตามพฤติกรรมผู้ใช้งานในยุค New Normal

โอกาสลงทุนในธุรกิจ ‘เกมและอีสปอร์ต’

จะเห็นได้ว่า ธุรกิจเกมทั่วโลกยังมีทิศทางที่สดใสต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้า แม้ว่ากำลังเจออุปสรรคครั้งสำคัญในช่วงที่ Covid-19 ระบาด ในทางกลับกันพฤติกรรมผู้คนในยุค New Normal ที่ต้องทำงานจากที่บ้าน หรืออยู่บ้านนานขึ้น การเล่นเกม…ยังมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตมนุษย์อีกมาก

นอกจากนี้ การเล่นเกมในยุคดิจิทัล ทำให้เรามีสังคมใหม่ ๆ จากเกมเมอร์ทั่วโลก มีแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์คและเว็บบอร์ดในการพูดคุยกัน ดังนั้นการเล่นเกมคนเดียวที่บ้าน…คงไม่เหงาอีกต่อไป

หากคุณเห็นศักยภาพในธุรกิจเกมและอีสปอร์ต และคาดว่า อนาคตรายได้บริษัทเหล่านี้จะเติบโตได้อีก หลังจากที่สถานการณ์ Covid-19 คลี่คลาย รวมไปถึงเกมใหม่ ๆ ออกมาอีกมากมาย และจำนวนผู้เล่นเกมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น

การลงทุนในหุ้นบริษัทเกมโดยตรงสามารถทำได้ มีบริษัทยักษ์ใหญ่จากทั่วโลก ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงเช่น บริษัท NVIDIA บริษัท SEA บริษัท Electronic Arts บริษัท Nintendo บริษัท Activision Blizzard บริษัท NetEase บริษัท Konami บริษัท NCsoft บริษัท Zynga และบริษัท Embracer Group 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนหุ้นรายตัวยังมีความเสี่ยงจากผลประกอบการหรือข่าวสารต่าง ๆ ที่ทำให้ราคาหุ้นบริษัทเกมตัวใดตัวหนึ่งมีราคาผันผวนในระยะหนึ่งได้ ถ้าหากคุณไม่เข้าใจบริษัทเหล่านั้นดีพอ หรือไม่สามารถรับความเสี่ยงที่คาดการณ์ยากได้ การลงทุนใน Thematic ETF ธุรกิจเกมและอีสปอร์ต เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ

เพราะ ETF (Exchange Traded Fund) อยู่ในรูปแบบกองทุน ออกแบบกรอบการลงทุนในตลาดหุ้นหรือธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต สำหรับ ETF ‘เกมและอีสปอร์ต’ จะลงทุนในหุ้นบริษัทผลิตอุปกรณ์เล่นเกม ผู้พัฒนาเกม และผู้จัดการแข่งขันอีสปอร์ตทั่วโลก 

โดย ETF ธุรกิจเกมและอีสปอร์ตที่มีมูลค่า AUM (Assets Under Management) มากกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มี 2 กอง คือ VanEck Vectors Video Gaming & eSports ETF (ESPO) หรือ Global X Video Games & Esports ETF (HERO)

ทั้ง 2 กองเป็น ETF ประเภท Passive Fund ลงทุนตามดัชนีธุรกิจเกมและอีสปอร์ตที่มีมากกว่า 30 บริษัททั่วโลก หากคุณเลือกลงทุน Thematic ETF ประเภทนี้ สามารถกระจายความเสี่ยงได้หลาย ๆ บริษัทในธีมการลงทุนเดียว บรรเทาความเสี่ยงจากการลงทุนหุ้นรายตัวได้ และเกาะโอกาสเติบโตไปกับเมกะเทรนด์ที่ไม่เคยหายไปจากโลกได้

เพราะผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลก…ยังคงเล่นเกม เพียงแต่รูปแบบของเกมเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลนั่นเอง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ