TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistประเทศไทย จะเจอ "worst case" หรือไม่ ?

ประเทศไทย จะเจอ “worst case” หรือไม่ ?

สัปดาห์ที่ผ่านมาและที่กำลังจะผ่านไปเป็นช่วงเวลา ขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงกลาโหมอีกครั้ง ด้วยธีม ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี นับเป็นภาคต่อจากธีมสืบทอดอำนาจที่นำมาเย้ว ๆๆ กันช่วง 2 ปีก่อน โดยวาระนี้ฝ่ายค้านเข้าชื่อ 171 คน เสนอต่อ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานฯชวนได้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร เชื่อว่าล้วนมีผลต่อสถานการณ์บ้านเมืองในด้านใดด้านหนึ่งหนึ่งทั้งสิ้น  

แน่นอนว่าภาคเศรษฐกิจย่อมหนีไม่พ้นผลจากความไม่แน่นอนที่กำลังจะตามมาอีกรอบ

สัปดาห์ก่อนหน้านี้ สศช.หรือสภาพัฒน์ฯ ออกมาแถลงว่า ไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจขยายตัว 2.5% ดีกว่าไตรมาสแรกที่ขยายตัว  2.3% หากรวมครึ่งปีขยายตัว 2.4% โดยสภาพัฒน์ฯ ยกเครดิตให้การบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น 6.9% จากการควบคุมการระบาดและการกระตุ้นผ่านมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล คือ หัวหอกที่ทำให้เศรษฐกิจผ่านช่วงเวลายากลำบากจากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ โอมิครอนระบาด และสงครามยูเครนในช่วงต้นปี    

ตามด้วยภาคบริการที่สภาพัฒน์ฯ ระบุว่าเพิ่มขึ้นถึง 54.3% ตามการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และภัตตาคารที่เพิ่มขึ้น 44.9% รวมไปถึงการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 4.6% เป็นต้น ส่วนแนวโน้มทั้งปี ดนุชา พิทยนันท์ เลขาฯสภาพัฒน์ฯ คาดว่าจะขยายตัว 2.7 – 3.2% เป็นการขยายกรอบตัวบน และกดตัวล่างลง จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ครั้งก่อน (17 พ.ค. 65) ระหว่าง 2.5 -3.5% หรือเฉลี่ยตลอดปีนี้ 3% ส่วนสาเหตุที่ต้องขยับกรอบคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ เลขาฯ สภาพัฒนฯ ให้เหตุผลว่า เพื่อรองรับสถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอนจากกรณีสงครามยูเครนและความตรึงเครียดที่ช่องแคบไต้หวัน 

พูดถึงความเป็นไปของเศรษฐกิจในช่วงถัดไป เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ  ครั้งที่ 1 ที่พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เซ็นคำสั่งตั้งขึ้นเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมกับคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อติดตามประเมินผลวิเคราะห์ผลกระทบและจัดทำข้อเสนอในการแก้ปัญหาทุกมิติและวางแผนรองรับในทุกด้านตามวิกฤตการณ์ในอนาคต โดยหวังใช้เป็นกลไกรับมือกับสถานการณ์พลังงานขาดแคลนหลังเกิดวิกฤติยูเครนขึ้นมา นายกฯ แถลงตอนหนึ่งว่า คณะกรรมการฯชุดที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น “คล้ายกับครม.เศรษฐกิจ”  

วิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิฯ สภาพัฒน์ฯ แถลงข่าวตอนหนึ่งว่า สศช.ในนำเสนอ 3 ฉากทัศน์จากสถานการณ์วิกฤติยูเครน รวมไปถึงความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จากกรณีไต้หวัน ซึ่งสรุปได้ว่า

กรณีที่หนึ่ง หรือกรณีฐาน (ที่คณะกรรมการฯเชื่อว่าจะเป็นไปตามกรณีนี้) สงครามยูเครนดำเนินต่อไป การคว่ำมาตรคงระดับเดิม หรือยกระดับความรุนแรงอย่างช้า ๆ ในท่วงทำนองแบบต่างฝ่ายต่างระมัดระวังซึ่งกันและกัน กรณีนี้อุปสงค์น้ำมันดิบสามารถปรับตัวได้ทัน เช่น (กลุ่มพันธมิตรสหรัฐฯ และสหภาพบุโรป – ผู้เขียน) ลดการนำเข้าน้ำมันรัสเซีย แต่รัสเซียสามารถหาตลาดอื่นทดแทนได้บ้าง (เช่น จีน อินเดีย ลาว  พม่า – ผู้เขียน) กรณีนี้จะไม่ทำตลาดชะงักจนราคาน้ำมันขยับเหมือนปัจจุบัน

ตามฉากทัศน์ฉากนี้ สภาพัฒน์ฯ ประเมินเอาไว้ว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะค่อย ๆ ลดลงในช่วงที่เหลือของปี (2565 ) ตามการปรับตัวของ อุปทานในตลาดโลกที่สามารถจัดสรรได้ดี รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความกังวลว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อังกฤษ ฯลฯ จะชะลอตัว ส่วน LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว) ราคามีแนวโน้มปรับขึ้นก่อนปรับลดลงในปีหน้า (2566) ตามความสามารถในการจัดสรรและความต้องการในตลาดลดลงหลังสิ้นสุดฤดูหนาว

หากสถานการณ์มาแนวนี้สภาพัฒน์ฯ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจทั้งปีจะขยายตัวไม่น้อยกว่า 3% ตามที่กล่าวถึงข้างต้น ส่วนเงินเฟ้อจะค่อย ๆ ปรับลดลงและดุลบัญชีเดินสะพัด (ที่ขาดดุลมาพักใหญ่) จะค่อย ๆ ปรับมาเกินดุลในปีหน้า

ส่วนฉากทัศน์ที่สอง คาดว่าสงครามดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มาตรการคว่ำบาตรขยายวงจน อุปสงค์และอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกรวมถึงสินค้าสำคัญอื่นในตลาดโลกปรับตัวไม่ทัน ถ้าสถานการณ์เข้าฉากนี้ ทั้งราคาน้ำมันและสินค้าสำคัญจะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะกดดันให้สหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ และสหภาพยุโรป ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าฉากแรกที่กล่าวข้างต้น ผลที่จะตามมา คือเศรษฐกิจโลกมีโอกาสขยายตัวน้อยกว่าฉากแรก และเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยูโรโซน มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือขยายตัวติดลบ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลงมากว่าภาพตามฉากแรกที่กล่าวข้างต้น 

มาถึงฉากที่สาม หรือ เวิร์ส เคส ซินาริโอ (worst case scenario) องค์ประกอบของฉากนี้ตามความคิดคำนึงของสภาพัฒน์ฯ คือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนและรัสเซีย ชัดเจนจนนำไปสู่แบ่งขั้ว ขั้วใครขั้วมัน ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหามีความสลับซัอนมากขึ้น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้น 

สภาพัฒน์ฯ คะเนว่าหากสถานการณ์มาถึงจุดนี้ สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ ราคาพลังงาน ราคาอาหาร และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ตามด้วยการขาดแคลนพลังงานและอาหาร รวมทั้งสินค้าสำคัญ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจของประเทศหลัก ในระยะสั้นจะหดตัว ชัดเจน และรุนแรง เศรษฐกิจจะขยายตัวในเกณฑ์ต่ำและถดถอย สลับกันเป็นระยะ ๆ ตลอดหลายปีข้างหน้านี้ ตามความรุนแรงของมาตราการที่ 2 ขั้วจะงัดออกมาตอบโต้กัน 

และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์จากการแบ่งขั้ว จะส่งผลกระทบกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะยาว ในขณะที่ราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกไม่สามารถปรับตัวลดลงจนเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะงักงัน ( stagflation ) คล้ายกับที่เคยเกิดในช่วงปี ค.ศ.1970-1980 (พ.ศ.2513 – 2523 ) 

สภาพัฒน์ฯ ยังบอกด้วยว่า “เวิร์ส เคส” มีความเป็นไปได้น้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ไม่ควรละเลย เพราะความตรึงเครียดจากยูเครนจนถึงช่องแคบไต้หวัน ณ วันนี้ ยังไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนตัวลง หนำซ้ำยังมีสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่ยกระดับความตึงเครียดให้สูงขึ้นไปอีก นับจากประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนประกาศขึงขังว่าจะไม่เจรจาสันติภาพกับรัสเซีย หากยังไม่ถอนทหารออกจากยูเครน             

หนังสือพิมพ์ยูมิโอริ รายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาติดตั้งขีปนาวุธร่อนพิสัยไกล ขยายระยะยิงจาก 100 กิโลเมตรเป็น 1,000 กิโลเมตร เพื่อรับมือภัยคุกคามจากจีน ตามด้วยสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ ร่วมซ้อมรบทางทหาร ซึ่งสื่อรายงานว่าเป็นการซ้อมรบครั้งใหญ่ในรอบ 4 ปี ความเคลื่อนไหวตามที่กล่าวมานั้น พร้อมจะเป็นชนวนที่ทำให้ความ “เป็นไปได้น้อย” ที่จะเกิดเวิร์ส เคส เปลี่ยนเป็น “เป็นไปได้” ได้ทั้งสิ้น

ท่ามกลางสภาวะที่แวดล้อมด้วยปัจจัยแห่งความไม่แน่นอนเช่นนี้ คาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ที่ว่าจะขยายตัวไม่น้อยกว่า 3% อาจจะไม่ชัวร์ก็ได้

ผู้เขียน: “ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย และมาม่า

กระตุ้น “ท่องเที่ยว” ดันเศรษฐกิจโค้งสุดท้าย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ