TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview“ความหวังครั้งที่สอง” ของดร.อัญชลิน พรรณนิภา แห่ง ทีคิวเอ็ม อัลฟา

“ความหวังครั้งที่สอง” ของดร.อัญชลิน พรรณนิภา แห่ง ทีคิวเอ็ม อัลฟา

“ความหวังครั้งที่สอง” หนังสือเล่มแรกกับอีกหนึ่งบทของชีวิตในฐานะนักเขียนของคุณอู๊ด ดร.อัญชลิน พรรณนิภา ประธาน บริษัท ทีคิวเอ็ม อัลฟา จำกัด (มหาชน) โบรคเกอร์ประกันภัยอันดับหนึ่งของประเทศไทยกับบทบันทึกการเดินทางของความคิดและชีวิตที่มีทั้งสำเร็จและล้มเหลวแต่ “ไม่เคยยอมหมดหวัง”

“ชีวิตถ้าอยู่ไปวัน ๆ แล้วไม่มีความหวังเลยมันเลื่อนลอย สำหรับผมแล้ว มนุษย์ถ้าไม่มีความหวังก็เหมือนมีลมหายใจที่แสนแห้งแล้ง” 

ความชื่นชอบในการเดินทาง ชื่นชมในงานศิลปะแทบทุกแขนงทั้งเขียนหนังสือ ร้องเพลง เล่นดนตรี และวาดภาพ อีกทั้งเป็นนักธุรกิจที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จสูงในแวดวงประกันภัย ทำให้ชีวิตในวัยกว่า 61 ปี เต็มไปด้วยเรื่องราวและประสบการณ์ที่สั่งสมมากมาย จากคนรุ่นปลายเบบี้บูมที่ต้องมาทำความรู้จักกับแพลตฟอร์มสื่อสารของคนเจนใหม่อย่างเฟซบุ๊คเมื่อราว 3 ปีที่แล้ว เริ่มต้นจากการเขียนเรื่องราวสนุก ๆ ความประทับใจในชีวิต ความทรงจำของเรื่องราวในอดีตเปรียบเทียบกับความแปรเปลี่ยนในปัจจุบัน อาหารการกิน ไลฟ์สไตล์ เรื่องสัพเพเหระ จนวันหนึ่งก็มีคนติดต่อมาขอรวมเล่มโดยเป็นรุ่นน้องที่รู้จัก ถัดมาเป็นสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งซึ่งปฏิแสธเสียทั้งหมดเพราะไม่ได้ตั้งใจแต่แรกที่จะเขียนให้เป็นหนังสือ และกลัวขายไม่ออก 

กระทั่งได้พูดคุยกับสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ซึ่งเป็นรายที่สามที่ติดต่อมาโดยให้เหตุผลว่า อ่านสนุก เป็นเรื่องราวชีวิตที่ให้แรงบันดาลใจตั้งต้นจากคนที่โตในครอบครัวคนจีนฐานะปานกลาง เคยสำเร็จ ล้มเหลว และกลับมายืนขึ้นใหม่ได้อีกครั้ง ต่อให้มีคนอ่านแล้วนำไปใช้ประโยชน์แค่ 3-5 คนก็ถือเป็นอานิสงส์แล้ว ก็เลยตกลงนัดพูดคุยกันว่า พิมพ์เพื่อขาย ไม่ใช่พิมพ์แจกลูกน้อง หรือคู่ค้าซึ่งเป็นเพื่อน ๆ บริษัทประกันด้วยกัน จากนั้นจึงเริ่มคัดเรื่องราวบางส่วนที่โพสต์ในเฟซบุ๊คซึ่งมีอยู่ราว 90 ตอน สัมภาษณ์เพิ่มเติม นำมาเรียบเรียงและชัดเกลาบางส่วนโดยนักเขียนจนสำเร็จเป็นหนังสือเล่มนี้

“แต่เหตุผลลึก ๆ อีกส่วนหนึ่ง ผมคิดว่าคงเป็นฟ้าลิขิต เพราะบรรลือสาส์นเป็นเจ้าของผู้พิมพ์หนังสือขายหัวเราะ หนังสือที่ทำให้ผมและคุณตุ๊ก (นภัสนันท์ พรรณนิภา) ภรรยาได้พบและปิ๊งกัน”

เห็นผิดเป็นคิด “ชอบ”  

จากเนื้อหาของหนังสือซึ่งสะท้อนปรัชญาชีวิตของ “คนที่ไม่อยากขายประกัน” ที่พลิกผันมาเป็นโบรคเกอร์ขายประกันที่มียอดเบี้ยประกันเติบโตสูงถึงหมื่นล้านบาทในปัจจุบัน และเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่า การทำในสิ่งที่รักคือประตูสู่ความสุข แต่การรักในสิ่งที่ทำคือประตูสู่ความสำเร็จ คุณอู๊ดยอมละสิ่งที่รักไว้ และมุ่งหน้ารักในสิ่งที่ต้องทำ นั่นคือ การขายประกัน

บรรยากาศภายในอาคารสำนักงานใหญ่ของโบรกเกอร์ประกันอันดับหนึ่งของประเทศไทยอย่าง TQM นอกจากจะขวักไขว่ไปด้วยพนักงานที่อยู่ในชุดยูนิฟรอ์มสีน้ำเงินแล้ว ยังเต็มไปด้วยงานศิลปะทั้งภาพวาดสีน้ำมัน เปียโนตัวแรกที่คุณอู๊ดซื้อให้ภรรยาผู้เป็นอดีตคุณครูสอนเปียโน และกีตาร์ ซึ่งมีจำนวนมากพอ ๆ กับจำนวนพนักงานที่เดินกวักไกว่ในพื้นที่นั้นเลยทีเดียว มองเผิน ๆ ในคราแรกอาจจะนึกว่ากำลังเดินอยู่ในโชว์รูมกีต้าร์หรืออย่างไร แต่แท้ที่จริงแล้วมันคือ “ความสุข” ของผู้ก่อตั้ง ความสุขที่คุณอู๊ดบอกว่าแม้ลงมือสร้างสรรค์เองไม่ได้ การได้สนับสนุนผู้สร้างสรรค์ด้วยการเสพก็เป็นความสุขอีกอย่างหนึ่งที่คุณอู๊ดสามารถทำได้และได้ทำควบคู่ไปกับการมีความสุขจากการเปลี่ยนสิ่งที่เกลียดเป็นสิ่งที่รัก และรักในสิ่งที่ทำจนประสบความสำเร็จมากมาย

“ธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจกงสีที่เตี่ยกับพี่น้องทำกันมาตั้งแต่สามสิบกว่าปีที่แล้ว และตั้งใจส่งไม้ต่อให้ผมซึ่งเป็นลูกชายคนโต แต่ผมไม่ชอบและไม่เอาเลยในตอนนั้น รู้สึกว่าเป็นอาชีพที่ต้องไปตื้อเขา คนรังเกียจเราเหมือนเป็นแมลงสาบ”

การหลบเลี่ยงธุรกิจของครอบครัวเพื่อไปจับอาชีพอย่างอื่น สุดท้ายเมื่อประสบวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ชีวิตที่ล้มลุกคลุกคลานมาพร้อมกับภาระหนี้สินชนิดไม่เหลืออะไรติดตัว ทรัพย์สินที่มีแม้กระทั่งกีตาร์ที่รักก็ต้องขายทิ้งจนหมดเพื่อใช้หนี้ มีลูกน้องที่เรียกมาช่วยการงานกันมาต้องรับผิดชอบ ชีวิตครอบครัวก็เพิ่งเริ่มต้น เมื่อหมดทางเลือกใด ๆ ที่จะเริ่มต้นใหม่ ฟางเส้นสุดท้ายที่เหลือในชีวิต คือ ธุรกิจประกันภัยที่ทางบ้านตั้งใจมอบให้ทำต่อ เหมือนชะตาชีวิตถูกกำหนดมาให้เป็นแบบนี้ จึงตัดสินใจเข้ามาสานต่อและเริ่มต้นลุยธุรกิจประกันเต็มที่ ชีวิตก็ค่อยกระเตื้องขึ้น สุดท้ายจึงค้นพบว่า ที่จริงแล้วธุรกิจประกันเป็นธุรกิจที่ดี การซื้อประกันนับเป็น “การออมเงิน” ประเภทหนึ่งที่คู่ขนานไปกับหลักของ “การจัดการกับความเสี่ยง” ความเสี่ยงที่ทำให้ชีวิตไม่มีความแน่นอน กระทั่งแจ็กหม่า (Jack Ma) เองเคยกล่าวว่า ตราบใดที่คุณจ่ายเบี้ยประกัน คุณจะไม่ล้มละลาย เพราะเป็นการปันเงินจำนวนหนึ่งที่พอมีกำลังมาซื้อประกันเพื่อไม่ให้ชีวิตต้องไปผูกพันกับความเสี่ยง  

“ถ้าผมไม่เจอเคสอาแปะที่บ้านถูกไฟไหม้ และบอกผมว่า ลื้ออยู่ในธุรกิจที่ดี ถ้าอั๊วไม่ซื้อประกันกับพ่อลื้อ ป่านนี้คงหมดตัวและคงไม่มีเงินมาปลูกบ้านใหม่ สิ่งที่อาแปะพูดจี้ใจดำผม พูดในสิ่งที่เราไม่เคยคิดจะมองทั้งที่มันตั้งให้เห็นอยู่ตรงหน้า เตี่ยผมเลี้ยงผมมาจนจบปริญญาด้วยอาชีพนี้ แต่ผมกลับวิ่งไปทำเรื่องอื่นเยอะแยะ หนำซ้ำยังดูถูกอาชีพขายประกันเสียอีกด้วย” 

ความหวังคือพลัง

ภาพหน้าปกหนังสือรูปบอลลูน เปรียบเสมือนการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ไกลและกว้างขึ้นเมื่ออยู่บนที่สูง และยิ่งสูงก็ยิ่งไกลจากเสียงบ่นก่นด่า ซ้ำยังเห็นวิวทิวทัศน์แปลกตากว่าการยืนอยู่บนพื้นราบ และแม้ชื่อหนังสือจะกล่าวถึงความหวังครั้งที่สอง แต่หากต้องล้มอีก ก็ยังคงมีความหวังที่สาม สี่ ห้า ตามมา ขอเพียงให้ความหวังพาเราไปหาความสำเร็จสักครั้ง เพราะ ความหวังเป็นมุมกลับด้านของความท้อแท้สิ้นหวัง เวลาที่สิ้นหวังแล้วอยู่นิ่งกับที่เท่ากับทำให้ชีวิตด่ำดิ่งลงได้ไม่รู้ตัว แต่ความหวังจะทำให้เราก้าวไปข้างหน้า มุ่งมั่นไปที่เป้าหมาย มองหากลยุทธ์ ลองเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำ และคิดทุกอย่างในเชิงบวก เพื่อเข้าใกล้เป้าหมายให้มากขึ้นจนสำเร็จในที่สุด หรือถึงหากล้มเหลวก็ยังได้ข้อคิดและประสบการณ์ชีวิตว่า ธุรกิจนั้นยากจริง ๆ หรือเพราะเรายังไม่เก่งพอและต้องหาคนช่วย นี่คือสิ่งที่คุณอู๊ดอธิบายให้ฟัง

“ตอนเจอวิกฤติปี 2540 ผมเหมือนสวมหมวกสองใบ หมวกของเจ้าหนี้ที่มีคนมาซื้อสินค้าแล้วเบี้ยวเพราะเช็คเด้ง และหมวกลูกหนี้จากการไปกู้เงินสถาบันการเงิน ชีวิตช่วงนั้นเต็มด้วยอุปสรรค ผิดหวังและท้อแท้ ถ้าไม่มองให้สูง ไม่คิดให้ไกล ผมคงหนีหนี้ไปแล้ว หรือทำตัวไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย แต่ผมไม่เลือกเส้นทางนี้เพราะเตี่ยสอนมาให้ซื่อสัตย์ ก็เลือกที่จะสู้และหวังว่าจะผ่านมันไปได้ ด้วยการเคลียร์ภาระหนี้สิ้นทั้งหลายด้วยอาชีพประกันของครอบครัวที่เตี่ยทิ้งไว้ให้จนกลับขึ้นมายืนได้จนทุกวันนี้”

คุณอู๊ดหวังให้เรื่องราวความเป็นนักสู้ชีวิตตนเองเป็นตัวอย่างหนึ่งในชีวิตจริงที่ให้แรงบันดาลใจกับผู้คนหรือกระทั่งพนักงานของทีคิวเอ็มเองด้วย “การทำให้เห็น” ไม่ว่าจะเป็นความทุ่มเทในงาน ความกล้า ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ และการให้เช่นที่เตี่ยเคยทำให้เห็นเป็นแบบอย่างตลอดมา การทำงานหาเงินมาลงในกงสีเพื่อช่วยน้อง ๆ ที่ลำบากกว่า

“เตี่ยสอนให้คิดว่าที่เราส่งกงสีได้เพราะสามารถหารายได้ได้มากกว่าคนอื่นซึ่งต้องดีใจ อีกทั้งการเป็นผู้ให้ย่อมดีกว่าผู้รับ ซึ่งก็นำมาเป็นแนวทางในการปกครองพนักงานให้อยู่กันเหมือนพี่น้อง เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน”

ตอนโควิดทีคิวเอ็มไม่ปลดพนักงานออก ในขณะที่บริษัทประกันหลายรายต้องปิดไป ทำให้ลูกค้าบางรายไม่ได้รับชดใช้ต้องไปเข้ากองทุน

“ผมก็ไปช่วยลูกค้าหลายแสนราย ติดตามเรื่องกระบวนการ ขั้นตอน ยื่นเอกสารให้ เพื่อนบริษัทประกันรายใดรับสายลูกค้าไม่ไหว ก็เอาคอลเซ็นเตอร์ 2,000 กว่าคนไปช่วยรับสาย ทำกัน 24 ชั่วโมง” 

ตัวอย่างเรื่องความทุ่มเทก็เช่นกัน ถ้าไม่ทุ่มเท คิดขายแต่ลูกค้าธรรมชาติซึ่งคือญาติพี่น้องจนหมดแล้วก็เลิกไปหางานใหม่ ก็เป็นการยากที่จะถึงฝั่งฝัน ดังนั้นเมื่อได้เป้าหมายมาก็ต้องพยายามทุ่มเททำให้ได้ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่พยายามถ่ายทอดและส่งต่อออกไปให้กับพนักงาน รวมทั้งผู้บริหารรุ่นใหม่เช่นกัน

จากกงสีสู่บริษัทมหาชน

ตลอด 26 ปีของทีคิวเอ็ม กราฟการเติบโตของธุรกิจมีแต่ขึ้นไม่เคยลง นอกจากจะมีความชันเป็นบางช่วง อย่างช่วงแรกที่รับช่วงต่อจากเตี่ย ฐานเบี้ยประกันยังไม่สูงมากอยู่ในระดับราว 5 ล้านบาท ตอนนั้นคุณตุ๊กภรรยาเป็นสายมู ก็ไปบนที่เจ้าแม่กวนอูที่ Repulse Bay เกาะฮ่องกงให้ขายได้ร้อยล้าน จำได้ว่ายังหัวเราะกับภรรยา และบอกว่าคงอีก 20 ปีกว่าจะได้ แต่เผลอแป็บเดียวถึงร้อยล้าน จากร้อยล้านกระโดดเป็นพันล้านภายในเวลา 2-3 ปี จากพันล้านเป็นหมื่นล้าน ซึ่งตอนนี้ถึงแล้ว และต้องกลับไปแก้บนด้วยส้ม 1 หมื่นลูก

ปัจจุบัน ทีคิวเอ็มเดินหน้าปรับเปลี่ยนโครงสร้างสู่การเป็นโฮลดิ้งคอมปานี แบ่งการดำเนินธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจโบรคเกอร์ขายประกันที่เป็นงานถนัดแต่เดิม เพิ่มเติมด้วย ธุรกิจสินเชื่อและการเงิน เพื่อช่วยเหลือเรื่องการผ่อนเบี้ยประกันต่อยอดสู่สินเชื่อเงินเดือน และธุรกิจแพตฟอร์มทางเทคโนโลยีสำหรับรองรับตลาดประกันและสินเชื่อ ภายใต้บริษัทในเครือรวม 14 บริษัท ทำให้ต้องย้อนกลับมาทบทวนตัวเลขการเติบโตที่เหมาะสม คือ 10 กว่าเปอร์เซนต์บนฐานของเบี้ยประกันมากกว่าหมื่นล้าน ที่เหลือคือการบริหารต้นทุนและลดค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยมีเทคโนโลยีเสมือนเป็นสปริงบอร์ดตัวใหม่ที่จะสนับสนุนธุรกิจให้โตต่อ 

คุณอู๊ดเล่าว่า สมัยเตี่ยยังอยู่ เราขายประกันแบบเจอหน้ากันได้พบลูกค้าสองสามรายก็หมดวัน พอเปลี่ยนมาเป็นขายทางโทรศัพท์ ตอนนั้นมีฐานลูกค้าราวสองถึงสามร้อยคน ก็โทรได้วันละ 20-30 รายสบาย ๆ ลูกค้าที่ทำประกันอัคคีภัยแล้วก็ชวนมาทำประกันรถยนต์เพิ่มจนยอดขายโตกระโดดมาเรื่อย ๆ แต่บริษัทก็อยู่กับท่านี้มา 20-30 ปี พอมาเป็นออนไลน์ คุยผ่านแอปพลิเคชัน ลูกค้าพันรายหมื่นรายได้หมด อย่างจังหวะโควิดลูกค้าซื้อเบี้ยตลอดเวลา การขายทางโทรศัพท์ไม่ไหวซึ่งในเชิงธุรกิจ การเอาพนักงานลงไปโทรศัพท์ จ่ายค่าคอมมิชชั่น จ้างพนักงานส่งเอกสารเอากรมธรรม์ไปให้ ในชณะที่เบี้ยประกันถูกมากเพียง 200 บาทคือทำไม่ได้เลย แต่พอเป็นออนไลน์ก็ทำได้ ทำให้ยอดขายกระโดดขึ้นมาอีกครั้ง

“ส่วนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นสิ่งที่ผมกับภรรยาก็คุยกันว่า ถ้ากำไรดีอยู่แล้วก็ทำต่อไป จะได้ไม่ต้องไปเปิดเผยข้อมูลธุรกิจ ไม่ต้องไปแชร์กำไรกับใคร แต่พอศึกษาลงลึกไปก็ได้ข้อสรุปว่า ต้องขยายเพื่อให้ธุรกิจยั่งยืนต่อไปเพราะทุกอย่างไม่ใช่แค่เราสองคน เพื่อน ๆ บริษัทประกันที่เป็นพาร์ทเนอร์กัน พนักงานบริษัท เราก็อยากให้เขาร่วมเป็นเจ้าของเพราะบางคนทำงานร่วมกันมาเป็นยี่สิบปี พอเข้าตลาดฯ ได้ เราก็แจกไอพีโอให้ซึ่งก็ซื้อต่อเนื่องจนมาถึงทุกวันนี้” 

อย่างไรก็ตาม คุณอู๊ดปฏิเสธที่จะผันตัวเองไปทำธุรกิจประกันโดยให้ความเห็นว่า ตำแหน่งการเป็นโบรคเกอร์ขายประกันให้กับบริษัทประกันภัยประมาณ 60 กว่าแห่ง และบริษัทประกันชีวิตอีก 10 กว่าแห่ง นับว่ายืนหนึ่งในตำแหน่งได้อย่างเหมาะสมเพราะทีคิวเอ็มเป็นบริษัทโบรคเกอร์เดียวในเซ็คเตอร์ธุรกิจประกันในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นบริษัทที่นักลงทุนประเมินความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำและให้มูลค่าสูงในเชิงธุรกิจ รวมถึงค่าพีอี (P/E) ที่นักลงทุนให้ทีคิวเอ็มก็สูงกว่าบริษัทประกันภัยเยอะ ส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทไม่เคยประสบภาวะขาดทุนตั้งแต่เปิดดำเนินการมาจนถึงทุกวันนี้   

“อีกอย่างผมว่าแล้วแต่ความถนัด ผมอยู่ในตำแหน่งคนขาย เป็นเบอร์หนึ่งแล้วในวันนี้ แต่ถ้าไปทำธุรกิจประกันภัยเสียเอง ผมอาจกลายเป็นเบอร์สาม-สี่-ห้า แล้วการเป็นคนกลางทำหน้าที่ขายประกัน ทำให้เรามีเพื่อนบริษัทประกันภัยเยอะแยะที่พร้อมสนับสนุน ถ้าไปทำเสียเองก็จะกลายเป็นคู่แข่ง และคงไม่ได้รับการสนับสนุนมากขนาดนี้”

ธุรกิจไม่ติดกรอบ 

หลายผลิตภัณฑ์ของทีคิวเอ็มมาจากการคิดนอกกรอบ เช่น สเกตบอร์ดที่โดยทั่วไปจะคิดถึงเรื่องการประกันอุบัติเหตุของผู้เล่น แต่ลูกของคุณอู๊ดกลับคิดถึงการประกันตัวสเกตบอร์ด เพราะสเกตบอร์ดดี ๆ ตัวหนึ่งราคาเป็นหมื่น จึงไปคุยกับเพื่อนประกันภัยจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ประกันสเกตบอร์ด หรือ การประกันเฉพาะรถยนต์สีขาวจากคำแนะนำของรุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งไม่อยู่ในธุรกิจประกันภัย โดยมีการเก็บสถิติว่า รถสีขาวเป็นรถที่มีเยอะสุดบนท้องถนน และเป็นรถที่มีอุบัติเหตุน้อย ทำให้สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ผู้เอาประกันได้เบี้ยส่วนลดหากเป็นรถสีขาว เป็นต้น 

คุณอู๊ดบอกว่า บางครั้งเราต้องยอมหลุดกรอบของศาสตร์ไปหาศิลป์เพื่อเติมจินตนาการสักเล็กน้อยให้ได้ผลิตภัณฑ์ประกันที่เป็นลูกเล่นใหม่ ๆ ออกมา หรือเกิดแนวคิดสร้างสรรค์อะไรที่แตกต่างออกไปจากที่มีในตลาด ซึ่งว่าไปแล้วของทุกอย่างบนโลก ถ้ามีความเสี่ยงสามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ประกันได้ แม้กระทั่งเรื่องเล็ก ๆ อย่างประกันสัตว์เลี้ยง ประกันมือถือ มนุษย์เงินเดือน โรคอุบัติใหม่ หรือภัยพิบัติต่าง ๆ บนหลักการที่กล่าวไว้ข้างต้น คือ ความเสี่ยงที่แต่ละคนแต่ะละพื้นที่จะพบเจอไม่เท่ากันทุกคนจึงมารวมกันทำประกันและจ่ายเบี้ยประกันเพื่อเฉลี่ยความเสี่ยงนั่นเอง

หากกลเม็ดอย่างหนึ่งที่คุณอู๊ดบอกกับเรา คือ สถิติกับประกันเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันเสมอ ยกตัวอย่างการฝึกคนให้ได้ดีในการขายประกัน บางทีต้องเอาเทปบันทึกสนทนากับลูกค้ามานั่งฟังแล้วเก็บสถิติ ทำไมพนักงานคนนี้ขายเก่ง คนนั้นขายไม่เก่ง พูดกันว่าอย่างไรแล้วนำมาเปรียบเทียบ เช่น คนนี้ปิดการขายเร็วไปหน่อย คนนั้นความรู้ไม่แน่น พูดจาไม่คล่องแคล่วลูกค้าเลยไม่เชื่อถือ ซึ่งเป็นเคสที่เรามาปรับสอนรุ่นน้อง ผลิตภัณฑ์ประกันที่ขายซ้ำ ๆ กันไป ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีบ้าง เรียกว่า เป็นบิ๊กดาต้าแบบบ้าน ๆ ที่เกิดจากเรื่องราวที่ทำในอดีต นำมาวิเคราะห์แล้วพัฒนาต่อให้ดีขึ้น ถึงวันนี้ก็ก้าวหน้าไปเป็นเอไอ ซึ่งก็พยายามไปศึกษาดูงานจากที่ต่าง ๆ เพื่อนำมาพัฒนาให้เหมาะสมกับบ้านเรา เช่น จีนซึ่งใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (Face Recognition) ในการตรวจจับบุคคลเชื่อมกับข้อมูลสาธารณะเพื่อการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ทำให้บริษัทมีต้นทุนในการค้นหาข้อมูลน้อยลง ลูกค้าซื้อประกันได้เร็วขึ้น เป็นต้น

อีกหนึ่งก้าวสำคัญของทีคิวเอ็ม คือ การทำให้คนไทยตระหนักมีความเข้าใจและสมควรทำประกันภัย  ที่ถือว่าดีกว่าแต่ก่อนมาก แต่ก็ต้องเผยแพร่ต่อไปจนกว่าวันที่คนไทยพร้อมที่จะซื้อประกัน และซื้อซ้ำอย่างเหมาะสมไปตามแต่ละช่วงอายุโดยไม่ต้องบอกกล่าว จึงเป็นความตั้งใจจริง ๆ จะเอาความรู้ทั้งด้านการประกันภัย สุขภาพ การจัดการการเงินหรือกู้เงินเข้าสู่ระบบให้ถูกต้อง เกิดการวางแผนการเงิน หรือแบ่งเบาภาระในยามที่เกิดภัยพิบัติ เพราะจากหลาย ๆ เคสที่ประสบมากมาย เมื่อไม่ได้ทำประกันสุดท้ายต้องยืมเงิน ต้องกู้เงิน แล้วไปกู้นอกระบบเป็นจำนวนมาก  

ยืนหนึ่งโบรคเกอร์ประกันภัย

“พอมายืนอยู่ ณ จุดนี้ในบทบาทของการเป็นผู้ให้บริการ หรือ Service Provider ผมพบว่า เราทำได้ทุกเรื่อง เรามีฐานข้อมูลที่มากขึ้นในการวิเคราะห์ สามารถเชื่อมผลิตภัณฑ์ทั้งประกัน สินเชื่อ หรืออื่น ๆ กับเพื่อนพันธมิตร เช่น สามารถนำลูกค้าไปเชื่อมกับเพื่อนที่เป็นผู้ค้ายางรถยนต์รายใหญ่เพื่อสามารถซื้อยางแล้วได้ส่วนลดเป็นพิเศษ เป็นการปลดล็อคธุรกิจให้ขยับไปได้หมด จากคนขายประกัน ไปสู่ที่ปรึกษาทางการเงิน วางแผนธุรกิจ หรือการจัดการการเงิน เป็นต้น”  

เมื่อทีคิวเอ็มก้าวสู่การเป็นบริษัทมหาชน คุณอู๊ดมองไปถึงการส่งไม้ต่อสู่ทายาทรุ่นถัดไปซึ่งต้องลับฝีมือให้ผู้บริหารและคณะกรรมการยอมรับ ยิ่งตอนนี้มีการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นโฮลดิ้งคอมปานีเพื่อขับเคลื่อน  3 ธุรกิจเสาหลัก และมีไปป์ไลน์ที่จะขยายจำนวนบริษัทในเครือจากที่มีอยู่ 14 บริษัท การนำบริษัทลูกเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มเติมหลังจากนำเข้าไปเรียบร้อยแล้ว 2 บริษัทก่อนหน้านี้ ตลอดจนการเปลี่ยนผ่านกระบวนการธุรกิจสู่ดิจิทัล พัฒนาไปให้ถึงเอไอแม้ต้องใช้เวลาอีกกี่ปีก็ตาม 

อีกทั้งในปี 2567 ธุรกิจประกันยังคงเติบโตไปตามเศรษฐกิจ และมีพื้นที่การตลาดให้เล่นอีกเยอะ เช่น ตลอดประกันบ้านอยู่อาศัยซึ่งมีตัวเลขสำรวจประมาณ 10 ล้านหลังคาเรือน แต่อยู่ในระบบประกันไม่ถึง 20% ไม่นับรวมทรัพย์สิน ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านซึ่งอยู่นอกเหนือการประกันตัวบ้านที่ถูกบังคับทำเมื่อผ่อนบ้านกับธนาคาร หรือจากการสำรวจข้อมูลโดย Munich Re บริษัทประกันยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของโลกจากเยอรมัน ได้เก็บข้อมูลสถิติอุบัติภัยที่เกิดขึ้น อันดับหนึ่งคือ ภัยธรรมชาติซึ่งหนักหนาขึ้นเรื่อย ๆ จากภาวะโลกร้อน และสอง คือ ภัยคุกคามไซเบอร์ เช่น ข้อมูลถูกโจรกรรม เลขที่บัญชีถูกแฮ็ค เป็นต้น ขณะที่ธุรกิจสินเชื่อเองก็จะเติบโตแตกแขนงออกไปอีกเยอะเช่นกัน อาทิ สินเชื่อบ้าน รถยนต์ เงินเดือน เป็นต้น

ส่งต่อความหวังในวันปล่อยวาง

คุณอู๊ดเล่าติดตลกว่า เมื่อปีที่แล้วที่อายุครบ 60 ปี น้องซึ่งทำงานแผนกเอชอาร์นำเอกสารมาให้ดู และแจกแจงเงินกองทุนสะสม เงินประกันสังคมที่จะได้รับ แต่ตัวเองไม่สนใจใคร่รู้ว่า เกษียณคืออะไรตราบใดที่ยังสนุกกับงาน ยังคอยให้แนวคิด พูดคุยกับบอร์ด และถึงไม่ได้ทำงานที่ทีคิวเอ็มแต่ก็มีมุมใหม่ของชีวิตให้ทำเยอะแยะ เช่น เป็นครู ทำมูลนิธิเพื่อการศึกษา และเขียนหนังสือ

เหมือนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่ชอบมากซึ่งเล่าถึงศิษย์เก่าที่มาเจอกันและตั้งคำถามว่า อะไรที่ทำให้ชีวิตมีความสุข คนวัยยี่สิบตอบว่า งานดี ๆ และเงินที่ทำให้สามารถซื้อได้ทุกอย่าง คนอายุสี่สิบกล่าวว่า เงินพอมากถึงจุดหนึ่งก็ไม่มีอะไรให้ไปต่อ การยอมรับจากสังคมหรือชื่อเสียงต่างหากที่สำคัญ ส่วนคนวัยหกสิบตอบว่า ตนเองมีทั้งเงินและชื่อเสียงมากพอแล้ว ขอแค่มีสุขภาพดีก็พอ ถกเถียงกันไปมาจนชักชวนกันไปถามอาจารย์ และคำตอบอันเป็นที่ยุติ คือ การปล่อยวาง ซึ่งเป็นคำที่รู้เรียนมาแต่เด็ก ๆ แต่ทำยากมาก ต้องปฏิบัติซ้ำ ๆ จนเป็นอัตโนมัติ 

“ธุรกิจที่โตขึ้น ประสบการณ์ที่มากขึ้น ก็ไม่ได้ทำให้ขนาดความหวังของผมโตตามไปเสียทั้งหมด อย่างหวังให้ธุรกิจหมื่นล้านต้องกลายเป็นแสนล้านก็ไม่ได้จำเป็นเสียทีเดียว ความหวังของผมในวัยนี้อาจเป็นแค่การกลับบ้านเพื่อให้แม่ครัวทำผัดกระเพราอร่อย ๆ ให้สักจาน การซื้อที่ดินปลูกบ้านหลังเล็ก ๆ ในพื้นที่ธรรมชาติไว้อยู่ตอนแก่ อยู่กับความสุขในแต่ละวันที่ไม่จำเป็นต้องสนใจราคาหุ้นและกำไร แค่มีใครสักคนที่ตื่นมาพูดมธุรสวาจาในทุกเช้ากับเราก็พอ”

อย่างตอนที่ทำหนังสือก็จะเตือนตัวเองเสมอว่า อย่าเขียนแบบโอ้อวด มีคนที่เจ๋งกว่าเราอีกเยอะ เจอปัญหาหนักหนาในชีวิตมากกว่า ตัวเราเองเป็นเพียงแค่คน ๆ หนึ่งที่ทำอาชีพประกัน และได้รับการหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง จึงหวังเพียงขอแค่เมื่ออ่านหนังสือ “ความหวังครั้งที่สอง” เล่มนี้แล้วจะเห็นเป็นแนวทาง เป็นแรงบันดาลใจให้กับใครก็แล้วแต่ที่ไม่ยอมหมดหวัง มีความทุ่มเท และไม่คิดหนีปัญหาเพราะเชื่อว่าทุกปัญหาแก้ไขได้ 

“เหมือนผมซึ่งครั้งหนึ่งเคยล้มลุกคลุกคลานกับชีวิต เคยเกลียดการขายประกัน แต่เมื่อต้องมาทำอาชีพขายประกันก็อดทนทุ่มเทอย่างเต็มที่ด้วยความหวังและถึงต้องล้มอีกกี่ครั้ง ก็ยังมุ่งมั่นที่จะก้าวไปเป็นโบรคเกอร์ประกันเบอร์หนึ่งให้ได้”

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

กิตติธัช นำพิทักษ์ชัยกุล ทายาทรุ่น 3 “น่ำเอี๊ยง” ผู้นำพาโหราศาสตร์จีนโลดแล่นในโลกดิจิทัล

‘มงคล ตั้งศิริวิช’ นำชไนเดอร์สานต่อพันธกิจจัดการพลังงานบนความยั่งยืน

จับทิศ “Influencer Marketing” พลังคนดัง นำทางตลาด

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ