TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเศรษฐกิจไทย... หลัง 'ศึกซักฟอก'

เศรษฐกิจไทย… หลัง ‘ศึกซักฟอก’

ผ่านพ้นเรียบร้อยโรงเรียนลุงตู่ สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจนัดสุดท้ายสำหรับรัฐบาลนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า อภิปรายครั้งนี้ รัฐมนตรีที่เป็น ‘หัวใจ’ ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ อย่าง ‘สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์’ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีพลังงาน กับ ‘อาคม เติมพิทยาไพสิฐ’ รัฐมนตรีคลังกลับไม่ถูกอภิปราย โดยเฉพาะ ‘สุพัฒนพงษ์’ ที่มีหน้าที่ต้องดูแลในเรื่องของพลังงานที่เป็นปัญหาใหญ่สร้างแรงกระเพื่อมต่อเศรษฐกิจทุกวันนี้

อ่านไพ่การเมืองฝ่ายค้าน ที่เลี่ยงไม่อภิปรายทั้งสองรัฐมนตรีเพราะต้องการพุ่งเป้าไปที่ ‘ลุงตู่’ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจและประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) งานนี้กะเด็ดยอดกระทบชิ่งนั่งร้าน

ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่กี่วัน รัฐบาลพยายามแก้เกมเรียกความเชื่อมั่นโดยตั้งคณะกรรมการมาแก้ปัญหานับตั้งแต่มอบหมายให้ ‘สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)’ เป็นแกนหลักในการแก้ปัญหาพลังงาน แต่โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเอาเรื่อง ‘ความมั่นคงนำเศรษฐกิจ’ ได้อย่างไร

กระทั่ง ‘คำสั่งล่าสุด’ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 จึงตั้ง ‘คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ’ จำนวน 27 คน และ ‘คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ’ อีก 16 คนแต่ก็โดนวิพากษ์วิจารณ์อีกว่า คณะกรรมการเฉพาะกิจองค์ประกอบไม่ต่างจาก ‘ครม.เศรษฐกิจ’ ที่มีอยู่แล้ว เนื่องจากคณะกรรมการชุดเฉพาะกิจนี้ก็ล้วนเป็น รัฐมนตรีในครม.ทั้งนั้น ประกอบด้วย 1 นายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะเป็น ประธาน10 รัฐมนตรี มีรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจครบทุกกระทรวง จะมีแปลกปลอมเข้ามาก็คงเป็น อนุทิน ชาญวีระกุล รัฐมนตรีสาธารณะสุข, ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศ, พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดารัฐมนตรีมหาดไทย เข้ามาร่วม รวมถึงข้าราชการระดับปลัดกระทรวงและตัวแทนองค์กรที่เกี่ยวข้องกับงานด้านเศรษฐกิจ

อันที่จริงเรื่องนี้ แทนที่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาให้ซ้ำซ้อนทำไมไม่หารือกันในครม.หรือกำหนดวาระการประชุมครม.เศรษฐกิจให้เป็นกิจจะลักษณะเหมือนกับรัฐบาลก่อนๆ ที่ผ่านมา ‘พลเอกประยุทธ์’ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจแทบจะไม่มีการประชุมครม. เศรษฐกิจเลยไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำเรื่องง่าย ๆ ให้มันสลับซับซ้อน

มิเช่นนั้นอาจตั้ง ‘วอร์รูม’ ขนาดกะทัดรัดแบบกระชับๆหารือเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องจริง ๆ รวมถึงระดมคนที่มีความรู้ความสามารถไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจเอกชน นักวิชาการที่เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจริง ๆ เข้ามาให้ความเห็นหรือมาช่วยแก้ปัญหา แต่กลับตั้งเป็นองค์กรใหญ่เทอะทะ แถมมีแต่ข้าราชการเข้าร่วม ไม่สอดคล้องกับวิกฤติที่มาแรงและเร็ว ซึ่งในการแก้ปัญหาควรจะมีความคล่องตัว

อย่าลืมว่า วิกฤติครั้งนี้หนักหน่วงจริงๆสะท้อนจากดัชนีต่าง ๆ หลาย ๆ ตัว ตั้งแต่ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดของไทยเดือน พฤษภาคม 2565 อยู่ที่ 7.1% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปีคาดทั้งปีจะอยู่ระดับ 5.9% สูงสุดในรอบ 24 ปี ค่าเงินบาทอยู่ที่ 36.67 บาท เป็นการอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 16 ปี

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนสิ้นปี 64 ขึ้นมา 91% ของ GDP หรือคิดเป็นมูลค่าหนี้ 14.3 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 18 ปี ราคาน้ำมันขายปลีกก็แพงในรอบหลายปี อีกทั้งจะมีการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) งวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2565 อาจทำให้ค่าไฟฟ้าต้องปรับเพิ่มสูงถึงเกือบ 5 บาทต่อหน่วยนับว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์

ที่สำคัญ แต่ละปัญหามีการเชื่อมโยงกัน จนพันกันยุ่งไปหมดแก้ตรงโน้นก็กระทบตรงนี้กลายเป็นขว้างงูไม่พ้นคอ จะหยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ อย่างกรณีราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นมากทำให้เป็นต้นทุนส่งผ่านเป็นลูกโซ่ตั้งแต่การผลิต จนถึงการขนส่ง ที่กระทบแน่ ๆ แล้วก็คือ ‘เงินเฟ้อ’ ส่วนที่จะกระทบต่อไปคือ ‘ดอกเบี้ยและหนี้ครัวเรือน’ สิ่งที่น่ากังวลและต้องจับตาคือรายได้ลดลงเพราะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ก็ลดลงตามไปด้วย

ขณะที่แบงก์ชาติก็พยายามชะลอขึ้นดอกเบี้ยไว้ แต่ก็ส่งสัญญาณแล้วว่าคงอั้นไม่อยู่ยังไงก็ต้องปรับขึ้น แต่จะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะถ้าไม่ปรับขึ้นเลย เงินก็จะไหลออก ค่าเงินก็ร่วงลงไปเรื่อย ๆ แล้วจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอยู่ดี

สิ่งที่จะต้องดูคือ จะช่วยลดภาระให้ชาวบ้านโดยเฉพาะคนกลุ่มล่าง ๆ นี้ได้อย่างไร ไม่เช่นนั้น อาจเกิดวิกฤติหนี้ครัวเรือนปะทุขึ้นมาได้อีก หากครัวเรือนเจอวิกฤติ คืนหนี้ไม่ได้ แบงก์ก็มีหนี้เสียหรือลูกหนี้ NPL เพิ่มมากขึ้น ในที่สุดเจ้าหนี้ก็แย่ ลูกหนี้ก็แย่กระทบเป็นทอด ๆ วนกันอยู่อย่างนี้

ส่วนคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา ก็คงตั้งมาเพื่อแก้เกี้ยวดับกระแสก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังจากนี้ ก็คงไม่มีบทบาทอะไร ขนาดครม. เศรษฐกิจมีกันไม่กี่คน หัวหน้าทีมยังไม่เคยมีการเรียกประชุม นับประสาอะไรกับคณะกรรมการเฉพาะกิจที่เกี่ยวข้องกับหลายคนหลายองค์กร กว่าจะเรียกประชุมพร้อมเพรียงกันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ

ที่สำคัญหลังจากอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลคงมีเรื่องต้องเคลียใจกันหลายเรื่อง เพราะตอนโหวตลงคะแนนไว้วางใจมีการหักหลังกันเอง จากนี้ไปคงจะร่วมงานกันไม่สนิทใจรัฐบาลตอนนี้อยู่ในสภาพร้าวลึกไม่เป็นเอกภาพ

ที่สำคัญ หลังจากนี้แต่ละพรรคคงเตรียมตัวเข้าสู่โหมดเลือกตั้งราว ๆ ต้นปีหน้า ต่างฝ่ายคงมุ่งหาเสียงเพื่อเรียกคะแนนนิยม ที่จะมาร่วมไม้ร่วมมือกันแก้ปัญหา ที่เป็นภาพรวมของประเทศคงยากแต่ละพรรคคงจะเน้นพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงเป็นหลัก ส่วนเรื่องปรับครม. ก็คงไม่เกิดเช่นกัน เพราะยิ่งจะเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมในพรรคร่วม และจะเป็นการสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลหนักขึ้นไปอีก

ต้องบอกว่า ชะตากรรมเศรษฐกิจไทยหลังศึกซักฟอกคงฝากผีฝากไข้ไว้กับรัฐบาลไม่ได้แน่ๆก็ได้แต่หวังพึ่งเนื้อนาบุญเศรษฐกิจโลก หากเศรษฐกิจโลกดีเราก็คงดีด้วย แต่ดูแล้วก็คงยาก แต่ถ้าเศรษฐกิจโลกแย่ลงเศรษฐกิจไทยก็ยิ่งจะลงเหวไปกันใหญ่ เตรียมตัวกันไว้บ้างก็ดี

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

วิกฤติ “ศรีลังกา” … บทเรียนสิ้นชาติ

25 ปี “ต้มยำกุ้ง” … คนไทยเรียนรู้อะไร

ส่งสัญญาณผิด…ระวัง “วิกฤติความเชื่อมั่น”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ