TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessหลักทรัพย์บัวหลวงแนะกลยุทธ์ลงทุนปี ‘65 กระจายลงทุนในไทยและต่างประเทศ

หลักทรัพย์บัวหลวงแนะกลยุทธ์ลงทุนปี ‘65 กระจายลงทุนในไทยและต่างประเทศ

หลักทรัพย์บัวหลวงเผยกลยุทธ์แนะนำทิศทางการลงทุนปี 2565 ขานรับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวได้อย่างช้า  ๆ โดยต้องเพิ่มความยืดหยุ่นด้วยการปรับพอร์ตกระจายการลงทุนให้หลากหลาย เน้นหุ้นเป็นหลัก และจัดสรรส่วนที่เหลือไปในสินทรัพย์ปลอดภัยหรือที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาว พร้อมสำรองเงินสดไว้บ้าง

ชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจในปีหน้ามีแนวโน้มจะค่อย ๆ ฟื้นตัวได้ดีขึ้นอย่างช้า ๆ แม้จะยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ รวมถึงภาคธุรกิจจะสามารถปรับตัวได้มากขึ้น และตลาดหุ้นยังคงเป็นทางเลือกที่ได้รับความสนใจสำหรับการก่อร่างสร้างความมั่นคงหรือการลงทุน โดยมีนักลงทุนรายย่อยรุ่นใหม่หันเข้าหาตลาดหุ้นมากขึ้น 

ทั้งนี้ ชัยพร ได้แนะให้กระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อให้พอร์ตมีความสมดุล ยืดหยุ่น และรับมือกับดัชนีที่อาจปรับตัวขึ้นลงในปีหน้าท่ามกลางความไม่แน่นอนต่าง ๆ โดยให้น้ำหนักไปที่ตลาดหุ้น 65% แบ่งกระจายเป็นหุ้นในไทยและต่างประเทศ ซึ่งในส่วนของหุ้นต่างประเทศระบุว่าอย่ากระจุกอยู่แค่เพียงตลาดเดียว ยกตัวอย่างเช่น ใน 65 % ของพอร์ตลงทุนในตลาดหุ้น ให้ลงทุนในหุ้นไทย 12%, หุ้นเวียดนาม 17%, หุ้นสหรัฐฯ 22% ที่เหลือก็ลองแบ่งสัดส่วนลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นและจีน โดยวิธีพิจารณาตลาดต่างประเทศให้ลองศึกษาหาข้อมูลดูสภาพการณ์ตลาดและแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ

สำหรับพอร์ตการลงทุนอีก 35% ตัวแทนจากหลักทรัพย์บัวหลวงกล่าวว่า ให้กระจายออกเป็น 4 ส่วน โดย 5% เก็บออมเข้าธนาคารเป็นเงินสุด ส่วนที่เหลืออีก 30% ให้แบ่งเป็น 3 กอง กองละ 10% ลงทุนใน 1) ทองคำ 2)กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และ 3) ตราสารหนี้ 

ในส่วนของทิศทางตลาดปี 2565 ทางบัวหลวงคาดการณ์ว่าเป้าหมายของดัชนีในช่วงสิ้นปีหน้า มีสิทธิ์ปรับตัวขึ้นไปใกล้ระดับ 1,800 จุด โดยแนวรับระยะสั้นน่าจะอยู่ที่ 1,580 จุด และแนวต้านระยะสั้นที่ 1,650 จุด ขณะที่อัตราส่วนราคา ต่อกำไรคาดการณ์ ปี 2565 (P/E) และกำไรต่อหุ้น (EPS) อาจอยู่ 18 เท่า และ 98 บาทต่อหุ้น ตามลำดับ       

“เรามองสูงกว่าค่าเฉลี่ยนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ 96 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด -19 และประกาศล็อกดาวน์ที่อยู่ประมาณ 86 บาทต่อหุ้นในปี 2562 เพราะคาดว่าเศรษฐกิจในประเทศไทยจะขยายตัวได้ที่ 4.1% และกำไรของบรรดาบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหุ้นไทยน่าจะโตได้ต่อเนื่องจากปีนี้ ผลจากการที่ผู้คนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มากขึ้น ทำให้มีโอกาสที่ภาคท่องเที่ยว หนึ่งในเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของไทยจะฟื้นตัวกลับมาได้ แม้จะมีสายพันธุ์ใหม่อย่างโอมิครอน ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจัยดังกล่าวจะหนุนให้เม็ดเงินลงทุนต่างประเทศไหลเข้ามา” ชัยพร กล่าว

แม้จะมีแนวโน้มเติบโตได้ดี แต่ชัยพรก็เตือนว่า สถานการณ์ตลาดหุ้นระหว่างทางอาจมีปัจจัยที่ทำให้ดัชนีเผชิญความผันผวนจากแรงกดดันต่าง ๆ ยกตัวอย่าง เช่น กรณีที่คณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า โดยนักวิเคราะห์คาดว่าเฟดจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 3 ครั้ง เพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ในปัจจุบันอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% และทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบเกือบ 40 ปี ซึ่งขณะนี้ เฟดได้ประกาศการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จากเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2565 เป็นต้นไป 

นอกจากปัจจัยจากการปรับเปลี่ยนนโยบายของเฟดแล้ว นักลงทุนยังต้องจับตามองเรื่องความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ กับจีน ที่อาจมีความตึงเครียดเกิดขึ้นในบางครั้ง ขณะเดียวกันก็มีประเด็นที่ต้องใส่ใจอย่าง สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน, การเลือกตั้งกลางสมัยของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2565, ความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และสถานการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่กำลังประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินและแบกรับภาระหนี้สินอย่างหนัก

“ปัจจัยข้างต้นทั้งหมดที่ว่ามานี้ ล้วนส่งผลต่อกระแสเงินให้ไหลเข้า – ออกภูมิภาคอาเซียน จนทำให้เกิดความผันผวนมากขึ้น ดังนั้น นักลงทุนอาจต้องจับตาเรื่องเหล่านี้ต่อเนื่อง เพื่อจะได้ปรับแผนการลงทุนได้ทันเหตุการณ์” ชัยพรแนะนำ

ขณะเดียวกัน ทางหลักทรัพย์บัวหลวงยังได้รวมกลุ่มหุ้นเด่นที่นักลงทุนน่าจะต้องมีติดพอร์ตไว้ก่อนปี 2565 โดยแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มหลัก คือ 1) กลุ่มการบริโภค 2) กลุ่มสถาบันการเงิน 3) กลุ่มด้านเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม 4) กลุ่มที่เคลื่อนไหวไปตามสถานการณ์โควิด 5) กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี และ 6) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 

สำหรับกลุ่มการบริโภค ชัยพรให้เหตุผลว่า เพราะราคาหุ้นกลุ่มนี้ยังปรับตัวขึ้นไม่มาก เมื่อเทียบกับหุ้นตัวอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน ทั้งยังมีได้รับอานิสงส์จากการจับจ่ายใช้สอยที่คาดว่าจะสูงขึ้น โดยหุ้นเด่นในกลุ่มนี้ คือ หุ้น CRC, CBG และ CPALL 

ส่วนในกลุ่มของสถาบันการเงิน น่าสนใจเพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลก แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะพยายามคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำจนกระทั่งไตรมาสสุดท้ายปีหน้าแล้วก็ตาม 

ด้านหุ้นในกลุ่มด้านเทคโนโลยี ครอบคลุมถึงหุ้นในกลุ่มแพลตฟอร์ม, การบริหารข้อมูลด้านการตลาด และการบริหารความเสี่ยง เนื่องจากเทรนด์เศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้ตลาดมีการแข่งขันสูง และเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

ขณะที่หุ้นในกลุ่มที่เคลื่อนไหวไปตามสถานการณ์โควิด-19 ชัยพรยกตัวอย่างว่าเป็นหุ้นใน กลุ่มโรงพยาบาล และอุปกรณ์การแพทย์ โดยให้นักลงทุนคงสัดส่วนการลงทุนไว้เช่นเดิม เช่นเดียวกับหุ้นในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี เพราะกระแสเมกะเทรนด์ที่หันมารณรงค์ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และหันมาใช้พลังงานสะอาด ทำให้ราคาน้ำมันดิบอาจไม่ขยับขึ้นสูงมากนัก โดยหลักทรัพย์บัวหลวงคาดว่า ราคาน้ำมันดิบปีหน้าอาจเฉลี่ยอยู่ที่ราว 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล 

ปิดท้ายด้วยหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ชัยพรแนะให้เพิ่มสัดส่วน เพราะได้ประโยชน์จากการผ่อนคลายมาตรการ และสนับสนุนการลงทุนต่าง ๆ ของภาครัฐ พร้อมกันนี้ บัวหลวงยังแนะให้ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เพราะแม้จะได้แรงหนุนจากกระแสเมตาเวิร์สที่ทำให้ปีหน้ามีกำไรขยายตัวต่อ แต่ปัจจุบัน ราคา Upside ค่อนข้างเหลือน้อยแล้ว จากมูลค่าที่ค่อนข้างแพง

ทั้งนี้ ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยตลอดปี 2564 ที่ผ่านมา หลักทรัพย์บัวหลวงสรุปว่า ตลาดหุ้นไทยมีความเคลื่อนไหวที่กระเตื้องขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 ก่อนหน้า โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 13% ต่อปี และมีมูลค่าการซื้อขายหุ้นเฉลี่ยต่อวันสูงขึ้นแตะระดับ 80,000-100,000 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 50,000 ล้านบาท เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มภาพรวมของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐฯ 

ขณะเดียวกัน ในด้านยอดเปิดบัญชีใหม่เพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ ก็มีตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนจากยอดเปิดบัญชีใหม่ที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากคนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคน Gen Y และ Gen Z ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำยาวนานหลายปี บวกกับมาตรการ Work From Home ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ต้องทำงานและเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน ส่งผลให้มีเวลาว่างมากขึ้น หลายคนจึงแบ่งเงินออมมาลงทุน เพื่อหาโอกาสเพิ่มผลตอบแทนที่มากกว่าฝากเงินรับดอกเบี้ย

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

หัวเว่ย รุกตลาดพลังงานสะอาด ปล่อยโซลูชันผลิตพลังโซลาร์ครบวงจร หนุนใช้งานภาคครัวเรือน

เอสซีบี ดีแบงก์ จับมือ เคาน์เตอร์เซอร์วิส เปิดตัว สินเชื่อหมุนเวียน “ชอบใจ” ผ่านแอปฯ 7-Eleven

นิด้าโพล เผยคนไทยเปิดรับรถยนต์ xEV มากขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าระบบไฮบริด

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ