TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessnoBitter... SME วิถีสตาร์ตอัพ กับธุรกิจ Indoor Vertical Farm

noBitter… SME วิถีสตาร์ตอัพ กับธุรกิจ Indoor Vertical Farm

noBitter เริ่มต้นจากงานอดิเรก ก่อนจะกลายเป็นธุรกิจ เมื่อมีคนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าสามารถกลายเป็นธุรกิจจริงจังได้หลังเกิดการระดมทุน โดยมีเดิมพันว่าต้องทำเป็นธุรกิจให้ได้ในระยะเวลาที่มีอยู่ประมาณ 1 ปี ให้จบ 4 สาขา ก่อนระดมทุนรอบต่อไป

-ธุรกิจต้อง Agile to Survive ปรับองค์กรสู้โควิด-19
-ทีดีอาร์ไอ ชี้ยุทธศาสตร์ประเทศไทยหลังโควิด-19 ต้องชัด
-Digital Transformation จะเกิดขึ้นมหาศาล

ดร.วิลาส ฉ่ำเลิศวัฒน์ Co-Founder noBitter กล่าวกับ The Story Thailand เดิมทีอยู่ในวงการทำซอฟต์แวร์ วงการอินเทอร์เน็ต เคยทำมาหลายอย่าง ทำ ​Loyalty Program แต่ไม่สำเร็จ เลยมองหาโอกาสอื่น ๆ ก่อนผันตัวเองจากสตาร์ตอัพมาเป็น SME ซึ่งธุรกิจ Indoor Vertical Farm หากทำให้ดี จะสามารถเติบโตแบบสตาร์ตอัพได้

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว (ปี 2561) ได้พบกับ Co-founder ที่เคยทำ co-working ชื่อ Space@Siam มีโจทย์คือ อยากใช้พื้นที่ชั้นบนของ Space@Siam 20-30 ตารางเมตร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อทำแนวคิด Zero mile Food ทำให้ผู้บริโภคแถว ๆ นั้น มีผักสดที่ไม่มียาฆ่าแมลงทาน สร้างอาชีพให้คนในชุมชน และไม่ต้องไปหาพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อให้ได้มาตรฐาน แต่ในทางกลับกันเป็นการสร้างมาตรฐานของ noBitter ขึ้นมา

ทำธุรกิจ SME แบบ สตาร์ตอัพ

ดร.วิลาส ใช้แรงผลักดันของการเป็นสตาร์ตอัพมาทำ เริ่มจากเล็ก ๆ และชวนคนที่คิดเห็นเหมือนกัน ทั้งนักลงทุนและน้อง ๆ ในทีม โดยเริ่มทำ MVP สร้างต้นแบบขึ้นมา และพิสูจน์ว่าสำเร็จได้ ใช้ build-measure-learn วัดผล ให้นักลงทุนเห็นและเชื่อที่จะลงทุน

“เรามี OKR ทำธุรกิจ ว่ายอดขายเท่าใด ใช้งบการตลาดเท่าใด มีลูกค้าภักดีเท่าใด ทุกอย่างวัดผลได้หมด เป็นการเอาความรู้ที่ทำสตาร์ตอัพมาใช้”

noBitter ลองทำ Indoor Farming ศึกษาอยู่ 1 ปี ลงทุนซื้อระบบ ลองปลูกล็อตแรก ๆ ด้วยความที่ไม่มีความรู้ด้านการเกษตรมาก่อนเลย ผักล็อตแรก ๆ ผลผลิตออกมาไม่ดี

จากนั้นเริ่มหาความรู้มากขึ้น ว่าควรปลูกพืชอะไรและปลูกอย่างไร จนพบว่าคนรักษาสุขภาพมีความต้องการบริโภคเคล (Kale) พืชเมืองหนาวที่ปลูกได้ยากในประเทศไทย และการปลูกพืชแนวตั้งในร่ม (Indoor Vertical Farm) สามารถควบคุมปัจจัยการเติบโตของพืชได้

เปิดระดมทุนแบบสตาร์ตอัพรอบ pre-seed ได้ทุนมาทำสาขา 2 ที่สาธุประดิษฐ์ 51 จากที่เคยผลิตได้วันละ 2 กิโลกรัมที่สาขาแรก สาขา 2 ผลิตได้ 20 กิโลกรัมต่อวัน และมีแผนขยาย 4 สาขา ภายในปีนี้

“ขณะนี้อยู่ในเฟส 2 คือ การทำระบบต่าง ๆ นำเซนเซอร์อัตโนมัติเข้ามาช่วยปลูก ใช้ซอฟต์แวร์เก็บข้อมูลต่าง ๆ ทั้งการปลูกและการขาย ซึ่งเฟส 3 จะสามารถนำระบบที่สร้างไปขยายต่อได้”

บริหารการขาย ยากกว่าการปลูก

ดร.วิลาส กล่าวว่า การปลูกผักแบบ Indoor Vertical Farm มีความยากประมาณหนึ่ง แต่ที่ยากกว่า คือ การบริหารจัดการการขาย

ปัญหาส่วนใหญ่ของเกษตรกร คือ ปลูกเป็นแต่ขายไม่ได้ ความต้องการของผู้บริโภคกับความสามารถในการปลูกไม่สมดุลกัน การปลูกแบบกลางแจ้ง (Outdoor) จะไม่สามารถคาดการณ์หรือควบคุมผลผลิตได้

แต่การทำ Indoor Vertical Farm สามารถรู้ว่าผลผลิตจะออกมาเท่าใด บอกตลาดล่วงหน้าได้ และรับพรีออเดอร์ เรียกได้ว่าไม่มีผลผลิตเหลือเลย วันไหนที่เหลือจะหาทางรับออเดอร์เพิ่ม อาทิ วิ่งหาร้านน้ำปั่น หรือทำ Cross sale

นอกจากนี้ ยังให้ความรู้ผู้บริโภคว่าการปลูกแบบ Indoor Vertical Farm สามารถปลูกเคลได้ทั้งปี ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เป็นผักปลอดภัย ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ

“เราทำตลาดผ่านออนไลน์อย่างเดียว ขายผ่านเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ขยายฐานลูกค้าไปเรื่อย ๆ จากเดิมที่ปลูกเคลอย่างเดียว ตอนนี้ปลูก สปิแนช มิซูน่า และบรอกโคลี”

Zero mile Food ผู้บริโภคได้ทานผักสด

ดร.วิลาส ใช้แนวคิด Zero mile Food คือ ปลูกให้ใกล้ผู้บริโภคที่สุด เดินมาซื้อได้ถึงที่ เพื่อให้ได้คุณค่าทางอาหารของผักสดเต็มที่

“ควรบริโภคหลังจากเก็บเกี่ยวไม่เกิน 3 วัน (Antioxidant กับ Enzyme จะลดลง) ไม่อย่างนั้นจะเป็นการกินซากไฟเบอร์”

ดังนั้น หากสามารถขยายสาขาไปอยู่ใกล้ผู้บริโภคได้ที่สุด จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคเองและกับ noBitter เพราะสามารถขนส่งทั่วประเทศ ทั้งเชียงใหม่ และยะลา เป็นต้น

“ทั้งหมด คือ การทดลอง ผมไม่ได้รู้จากวันแรกว่าจะทำอย่างนี้ ตอนนี้พยายามจะเพิ่มประสิทธิภาพ สิ่งที่เรียนรู้จาก 2 กิโลกรัมต่อวันที่สาขาแรกมาเป็น 20 กิโลกรัมต่อวันที่สาขาที่ 2 เพราะเรารู้ว่าโครงสร้างของรางปลูกเป็นอย่างไร และสามารถคำนวณได้ว่ากำลังการผลิตสูงสุดควรจะเป็นเท่าใด”

ใช้ทั้งความรู้ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ

ดร.วิลาส กล่าวว่า ที่สาขา 2 แบ่งโซนหลัก ๆ เป็น 3 โซน คือ โซนเพาะเมล็ด โซนอนุบาล โซนรางปลูกต้นโตเต็มวัย ซึ่งโซนอนุบาลและโซนรางปลูกต้นโตเต็มวัยมีหลุมปลูก 14,000-15,000 หลุม เพื่อจะทำให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ทุกวัน วันละ 20 กิโลกรัม

“ตอนแรกคิดว่าแค่ซื้อระบบมาสามารถใช้งานได้ ซึ่งความจริงไม่ใช่” ต้องใช้ความรู้ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ อาทิ

-ต้องรู้น้ำไหลอย่างไรให้การไหลสม่ำเสมอ ในแต่ละรางปริมาณการไหลเป็นเท่าไหร่
-สารอาหารต่าง ๆ ต้องควบคุมไม่ให้ธาตุอาหารเกิน ไม่ให้เหลือสารตกค้าง
-การสังเคราะห์แสงของพืช

“เรื่องของบริหารจัดการการขาย ทำอย่างไรให้คน คิดถึง noBitter คิดถึงเคล กลายเป็นว่าต้องรู้หมดทั้ง การบริหารจัดการ การตลาด การเพาะปลูก”

ดร.วิลาส กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า หลายคนอาจจะเข้าใจว่าการทำธุรกิจเกษตรเป็นเรื่องที่ง่าย ใช้ชีวิตชิล ๆ แต่อันที่จริงแล้วไม่ได้ทำงานน้อยกว่าการทำซอฟต์แวร์เลย มีเรื่องให้คิดให้ทำเยอะมากเพื่อให้มันเติบโตแบบ x10 เหมือนสตาร์ตอัพสายดิจิทัล

“สิ่งที่พยุงให้ทีมงานสามารถขับเคลื่อนไปได้ในปัจจุบัน คือ ความสุขเล็กๆ จากการได้ส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้า เวลาลูกค้า happy หลายคนมักจะชมกลับมา บางคนก็ถ่ายรูปผัก ถ่ายรูปเมนูที่เอาไปทำ บางครั้งก็มีรูปเด็ก ๆ กินผักที่เราปลูกส่งกลับมาให้ดู มันคือน้ำหล่อเลี้ยงหัวใจทีมงาน”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ