TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessBangkok Healthcare Service ยกเครื่องสร้างมาตรฐาน ปั้นอาณาจักรเพื่อผู้สูงวัยครบวงจร

Bangkok Healthcare Service ยกเครื่องสร้างมาตรฐาน ปั้นอาณาจักรเพื่อผู้สูงวัยครบวงจร

ไม่อาจปฎิเสธได้ว่า เทคโนโลยี นวัตกรรม และความก้าวหน้าทางการแพทย์ ได้ทำให้ช่วงอายุขัยของคนคนหนึ่งยาวนานขึ้นมากกว่าในอดีต ดังนั้น สัดส่วนจำนวนประชากรสูงวัยจึงมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย กำลังเผชิญภาวะที่เรียกว่า Aging Society

ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย ทั้งในแง่ของสินค้าและบริการ มีแนวโน้มขยายตัวเติบโตได้อย่างดี ทำให้นักธุรกิจและนักลงทุนหลายราย เริ่มเห็นโอกาสและให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเพื่อคนชราวัยเกษียณมากขึ้น

-Pow Miracle ตัวตนและความมุ่งมั่นของ “อธิชาติ ชุมนานนท์”
-เอเชีย แค็บ เดินหน้าขยายธุรกิจ CABB แท็กซี่-CABB EV สวนกระแส วิกฤติโควิด-19

หนึ่งในนั้นคือ โย นิตยา ชไนศวรรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัท Bangkok Healthcare Service (BHS) (บริษัท บางกอก เฮลท์แคร์ เซอร์วิส จำกัด) ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงธุรกิจเพื่อผู้สูงวัยมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปีในฐานะโรงเรียนฝึกอบรมผู้ดูแลเด็กเล็กและผู้สูงวัย ที่มองว่าสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นทั้งโอกาสในการขยายธุรกิจ และโอกาสในการยกระดับสร้างมาตรฐานในการบริการผู้สูงวัยแบบครบวงจรที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ครอบคลุมตั้งแต่การสร้างบุคลากร บริการ ผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงองค์ความรู้ และเทคโนโลยีนวัตกรรม

อาณาจักร BHS เพื่อรองรับ Aging Society

ด้วยความรู้ที่เล่าเรียนมาจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บวกกับความชื่นชอบในการทำธุรกิจ ทำให้ โย ตัดสินใจริเริ่มทำธุรกิจโดยต่อยอดมากจากความรู้ความถนัดของตนทางวิชาชีพพยาบาล สร้างเป็นโรงเรียนฝึกอบรมหลักสูตร 6 เดือน (ภาคทฤษฎี 3 เดือน ภาคปฎิบัติ 3 เดือน) ด้านการบริบาลให้กับบุคคลที่สนใจประกอบอาชีพดูแลพยาบาลและฟื้นฟูให้แก่กลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มผู้สูงวัยที่มีภาวะพึ่งพิง

กว่า 20 ปีของประสบการณ์การฝึกอบรมด้านการพยาบาล โย ได้แตกแขนง ออกมาสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้องกับด้านการบริบาล โดยเน้นไปที่กลุ่มผู้สูงวัย ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ที่ต้องฟื้นฟูร่างกาย และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงตามแนวโน้ม Aging Society เป็นหลัก กระทั่งกลายเป็นอาณาจักรเพื่อการดูแลพยาบาลสำหรับผู้ที่ต้องการการดูแลจากมืออาชีพโดยเฉพาะ

“เราคือธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ แต่ผู้สูงอายุก็มีหลากหลาย มีกลุ่มแข็งแรง กลุ่มพึ่งพา กลุ่มติดเตียง ระยะสุดท้าย โยไม่ได้จับทั้งหมด ของโยเป็นผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และผู้ป่วยเรื้อรัง ความหมายที่จะสื่อคือแข็งแรง โยไม่ได้โฟกัส เราไม่ได้เน้นwellness แต่เราเป็น needs เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องการการดูแลจากเรา”

ทั้งนี้ จากโรงเรียน โย ได้สร้างเป็นศูนย์ฟื้นฟูจากภาวะ stroke อัมพฤกษ์ อัมพาต อย่าง Bangkok Rehabilitation Center (BRC) และ Stroke Rehabilitation Center Ishii ซึ่งศูนย์อิชิจะเป็นการร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นในการนำแนวทางศาสตร์การบำบัดฟื้นฟูของโรงพยาบาลญี่ปุ่นมาใช้ บริการดูแลและจัดกิจกรรมแบบเช้าไปเย็นกลับให้แก่ผู้สูงวัยอย่าง “Wai-La-Moon” จากนั้นก็ BHM Homecare Service ที่ส่งนักกายภาพ ส่งรถพยาบาล หรือส่งสินค้าที่เกี่ยวข้องไปตามบ้านต่าง ๆ กรณีที่กลุ่มเป้าหมายไม่ได้อยู่ที่ศูนย์ โดยเป็นบริการประจำแบบรายวัน รายเดือนและรายครั้ง แล้วแต่การว่างจ้าง และ Asia Nursing Home ศูนย์ดูแลผู้สูงวัยโดยเฉพาะ ขณะที่ Pikul คือแบรนด์สินค้า ที่เกี่ยวกับผู้ป่วยติดเตียง มีภาวะพึ่งพิง ซึ่งโย ใช้ประสบการณ์การพยาบาลคิดค้นพัฒนาขึ้นมาภายใต้ความร่วมมือจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เช่น หมอนสำหรับผู้ป่วยเจาะคอ และที่นอนป้องกันแผลกดทับ หรือจะเป็นสินค้าทั่วไป อย่าง สบู่ แชมพู และ ผ้าอ้อมสำหรับผู้ใหญ่

ขณะเดียวกัน โย ยังจัดตั้งสถาบัน Thailand Elderly care Business Development Institution (TEBI) ขึ้น โดยต่อยอดจากการที่ตนเองรับเชิญเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจในธุรกิจศูนย์บริการดูแลผู้สูงวัยของทางกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งสถาบันจะมีการเปิดสอนทุก ๆ เดือนเพื่อความรู้ให้กับแก่ผู้ประกอบการที่กำลังทำอยู่สามารถยกระดับพัฒนาธุรกิจของตน หรือผู้ที่ต้องการจะทำได้มีช่องทางให้การก่อร่างสร้างธุรกิจของตนเอง

นอกจากนี้ เพราะต้องการขยายธุรกิจให้ครอบคลุมทั่วประเทศ คุณโย ยังได้พัฒนาระบบ “เชน” หรือ  BHS Chain Management ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการด้านการดูแลพยาบาลสำหรับ โรงพยาบาลเพื่อการฟื้นฟูและดูแลผู้สูงวัยที่มีภาวะพึ่งพิง โดยเฉพาะ ตั้งเป้าให้มีศูนย์ดูแลกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

“ทุกวันนี้ โยต้องไปรับมาจากไกล ๆ เพื่อเข้ามาบำบัดในกรุงเทพฯ ซึ่งมันลำบาก ญาติก็อยากมาเยี่ยม โยก็เลยคิดว่าการที่เราจะไปได้เร็วต้องมีการขยายออกไป ตอนแรกเรามองไว้ว่าต้องเป็นเฟรนไชส์ แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ มันมีอะไรมากกว่าเฟรนไชส์ มันไม่ใช่แค่มีคู่มือก็จบ เราต้องทำทั้งแผนธุรกิจในแต่ละที่ที่ไม่เหมือนกัน ก็เลยมองว่าเราต้องไปแบบเชนโรงแรม เอา know-how ที่เรามีอยู่ทั้งหมดไปเปิดได้ทั่วประเทศ”

สำหรับแนวทางการขยายข้างต้น ทาง BHS อาจจะเข้าเป็นผู้ร่วมลงทุนด้วย ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละศูนย์ ซึ่งขณะนี้ มีที่กำลังจะเปิดตัวในปีนี้ 2 แห่งคือที่ศูนย์ฟื้นฟูขนาด 60 เตียง ที่ อ.คลองท่อม จ.กระบี่ (Amata Healthcare – Rehab hospital @ Krabi) ที่ใช้คุณสมบัติสุดพิเศษของน้ำพุร้อนเค็ม เป็นตัวชูโรงในการบำบัดฟื้นฟูร่างกาย ซึ่งจะเปิดเฟสแรกในเดือนมิถุนายนนี้ และศูนย์ฟื้นฟูดูแลที่จังหวัดราชบุรี (ชนะรักษ์)

“เขา (เจ้าของที่ดิน หรือ อาคาร) จะเป็นผู้ลงทุน ส่วนเราเป็นคนวางแผน วางระบบบริหารจัดการดูแลให้ทั้งหมด โดยมีค่าดำเนินการ และมีการแบ่งปันรายได้ เพียงแต่เราไม่ได้จะเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้น และบางโครงการเราอาจเข้าไปร่วมลงทุน เป็น business strategic partner”

ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อให้บริการด้านการดูแลพยาบาลครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทาง BHS ยังได้เข้าไปเทคโอเวอร์ W-Asia รับหน้าที่เป็นเสมือน Outsource จัดส่งแพทย์และพยาบาลไปประจำห้องพยาบาลตามอาคาร ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงงาน และสถานประกอบการต่าง ๆ ตามข้อบังคับทางกฎหมาย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของ BHS จะเน้นไปที่โรงแรมหรูระดับ 6 ดาว และมีห้างสรรพสินค้าไฮเอ็นด์อย่าง ไอคอน สยาม โดยปัจจุบัน มีห้องพยาบาลในเครือข่ายทั้งหมด 130 แห่ง และยังไม่มีแผนการขยายในอนาคตอันใกล้นี้

ปรับเปลี่ยนตามทิศทางกระแสความต้องการในตลาด

แม้ว่าธุรกิจโรงเรียนฝึกอบรมด้านการพยาบาลผู้สูงวัยจะเป็นไปได้ด้วยดี แต่ โย ยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้จำเป็นต้องคิดวางแผน ประยุกต์ ดัดแปลง และขยับขยาย ธุรกิจอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาด และผลักดันให้ BHS บรรลุเป้าหมายสูงสุดของการเป็นสุดยอดผู้นำทางด้านการดูแลฟื้นฟูผู้สูงวัยและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงที่ดีที่สุดของประเทศไทย

ยกตัวอย่าง เช่น ภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ที่ทำให้ธุรกิจโรงแรมหลายแห่งต้องปิดกิจการลงเป็นการถาวร ทำให้คุณโย ประสานงานกับทางธนาคารนำรูปแบบธุรกิจ Nursing Care ไปเสนอ ซึ่งรวมถึงการ Reskill พนักงานของโรงแรมที่มีความได้เปรียบในเรื่องของภาษา และหัวใจบริการ เข้ารับการฝึกอบรม

“เจ้าของโรงแรมหลายแห่งให้ความสนใจที่จะเปลี่ยนโรงแรมเป็นธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ดังนั้น พนักงานของเขาจะได้กลับมาทำงาน โดยพนักงานกลุ่มนี้มีคุณสมบัติดีมาก ภาษาได้ Service mind เป๊ะ ค่อนข้างดีกว่าเด็กจบใหม่มาเรียน”

“โรงเรียนเป็นธุรกิจที่เราทำมานานมาก แต่รอบนี้เพื่อความทันสมัยและตอบโจทย์รองรับสังคมมากขึ้น ก็เลยเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย ออกแบบปรับหลักสูตรให้ทันสมัยสอดคล้อง รวมทั้งต้องช่วยเหลือ (ผู้เรียน) ในการหางานทำ แน่นอนว่าเด็กจบใหม่ก็ยังรับอยู่ แต่ก็มีกลุ่มใหม่ที่เราพูดคุยไว้อีก 2 กลุ่มคือพนักงานที่ตกงานโดยตรง กับผู้ประกอบการที่ต้องการ Reskill พนักงานของตนเอง”

นอกจากการปรับหลักสูตร โดยเน้นไปที่การดูแลผู้สูงอายุมากขึ้นแล้ว ก็ยังมีการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในต่างจังหวัดในการร่วมผลิตคน รวมถึงเป็นสื่อกลางในการจัดสรรทุนและสินเชื่อเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ที่สนใจจะเข้าเรียนรู้การพยาบาลบริบาล ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้มีเงินทุนเล่าเรียนที่เพียงพอ

มุ่งสู่การยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมบริการเพื่อผู้สูงวัย

ท่ามกลางอุตสาหกรรมดูแลผู้สูงวัยที่มีอยู่มากมาย โย ย้ำว่า กลุ่มเป้าหมายของธุรกิจศูนย์ดูแลและฟื้นฟูของตนจะเน้นไปที่กลุ่มผู้สูงวัยที่ต้องการการพึ่งพิง และผู้ที่ต้องการการฟื้นฟูจากภาวะ Stroke เป็นหลัก ดังนั้น ด้วยกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน ธุรกิจของ BHS จึงไม่ได้เข้าไปแข่งขันกับธุรกิจศูนย์ดูแลอื่น ๆ ที่มีอยู่ โย ยกตัวอย่างกรณีของโรงพยาบาลที่จะทำหน้าที่ตรวจ รักษาและดูแล หลังจากนั้นเมื่อดีขึ้นแล้วย่อมปล่อยให้คนไข้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งในการพักรักษาตัวดังกล่าวจะเป็นหน้าที่ของโยที่จะเข้ามา

“เป็นกลุ่มคนที่จำเป็นต้องมีเราเข้าไปดูแล …ขณะที่ศูนย์ฟื้นฟูของเราจะเน้น Stroke เพราะสถิติผู้ป่วย Stoke ในไทยมีเยอะเป็นลำดับต้น ๆ ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายเราจึงมี 2 กลุ่มหลัก ดังนั้น จะเห็นได้ว่าทุกแบรนด์ของเราต้องเป็นผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงหรือ Stroke ทั้งหมด”

ทั้งนี้ เป้าหมายธุรกิจในระยะสั้นของ BHS โย กล่าวว่ามี 2 ประการด้วยกัน ประการแรกก็คือ ยกระดับมาตรฐานในอุตสาหกรรมบริการดูแลผู้สูงวัย ซึ่งหมายถึงการสร้างคู่มือปฏิบัติที่เป็นคู่มือปฏิบัติจริง ๆ เพราะชุดข้อมูลความรู้บางอย่างยังอาศัยประสบการณ์ส่วนบุคคล

“เนื่องจากมันเป็นงานที่ยิบย่อยมาก มันไม่เคยมีใครเขียนอย่างละเอียด แต่เราอยากเขียนไว้ให้ละเอียดจริง ๆ เป็น Best Practice Standard เพื่อที่เป็นเครื่องมือในการขยายขนาดธุรกิจต่อไปในอนาคต”

สำหรับประการที่สองก็คือ การทรานส์ฟอร์ม Nursing Home ที่มีมานานให้ทันสมัยสอดคล้องกับยุคดิจิทัลในปัจจุบันและในอนาคตมากขึ้น โดยขณะนี้ ธุรกิจ Nursing Home ยังทำกันเองแบบบ้าน ๆ ใช้มือจด ซึ่ง โย มองว่าส่วนใหญ่เกือบ 100% ยังเป็นระบบ Manual ทุกอย่าง

“โยรู้สึกว่ามันต้องมีเทคโนโลยีเข้ามา เทคโนโลยีในที่นี้ก็คือลักษณะโปรแกรมที่จะมาช่วยเก็บข้อมูล แล้วก็ช่วยในเรื่องกระบวนการจัดการให้มันสมาร์ทขึ้น ทำให้มีเวลากลับไปโฟกัสงานจริง ๆ ของเราก็คือดูแลผู้ป่วย แต่ทุกวันนี้ต้องมานั่งทำอะไรที่มันเสียเวลาแบบนี้เยอะ”

ด้วยแนวคิดว่าควรที่จะต้องมีเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามา ทาง BHS จึงได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ สตาร์ตอัพ Dr.AtoZ ในการออกแบบพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับการดำเนินการบริหารจัดการอุตสาหกรรมบริการ เป็นพันธมิตรทางเทคโนโลยี และนำเทคโนโลยีที่พัฒนาได้ไปต่อยอดใช้กับเครือข่ายธุรกิจ (Business Unit) ของ BHS ทั้งหมด เรียกได้ว่า เป็นการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ Nursing Home ให้ทันสมัยขึ้น และสมาร์ทขึ้น

นอกจากนี้ การทรานส์ฟอร์มดังกล่าวยังดึงสมาชิกของ BHS ในระบบนิเวศให้เข้ามา เช่น โรงแรม ประกัน เข้าร่วมด้วย

“BHS คือผู้นำในธุรกิจดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยภาวะ Stroke ในประเทศไทย และโยยังต้องการฐานในประเทศไทย เพราะโยยังต้องการเวลาในการพัฒนาโดยยังมีผู้สูงอายุในไทยอีกมากที่ยังต้องการการได้รับการดูแลที่มีคุณภาพ”

โย กล่าวเสริมอีกว่า แค่ธุรกิจดูแลผู้สูงวัยและ Stroke ก็ยังมีพื้นที่ให้เข้าไปดูแลได้อีกมาก ไม่ว่าจะ การดูแลถึงบ้าน การทำสินค้า การทำคอลเซ็นเตอร์ให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง

ในส่วนของเป้าหมายระยะยาวหรือประมาณ 3 ปีข้างหน้า ในส่วนของ Nursing Care และศูนย์ฟื้นฟูภาวะ Stroke ภายในกรุงเทพฯ นี้ โย ตั้งเป้าขยาย Nursing Home เพิ่มอีก 2 แห่งจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน 5 แห่ง และเพิ่มศูนย์ฟื้นฟูจากอีก 1 แห่งจากเดิมที่มีอยู่แล้ว 2 แห่งรวมเป็น 10 แห่ง ขณะที่ศูนย์ Nursing Home และศูนย์ฟื้นฟูในต่างจังหวัดจะเพิ่มอีก 9 แห่งจากปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว 2 แห่ง รวมเป็น 11 แห่ง ทุกแห่งเป็นทั้ง Nursing home ควบคู่กับศูนย์ฟื้นฟู ใช้เงินลงทุนประมาณ 20 ล้านบาท ขนาดอย่างน้อย 50 เตียงขึ้นไป และผู้ลงทุนจะต้องมีความสนใจ เข้าใจ และมีใจรักในงานบริการด้านนี้อย่างจริงจัง รวมถึงมีอาคารหรือที่ดินเปล่าที่ต้องการต่อยอดเพิ่มมูลค่าต่อไป

โย กล่าวว่า ศูนย์ดูแลทั้งหมดน่าจะเกิดและเปิดให้บริการได้ภายในปี 2565 ขณะที่ในส่วนของโรงเรียนนอกจากการปรับหลักสูตรให้ทันสมัยแล้ว ก็ยังขยายความร่วมมือเพื่อเพิ่มบุคลากรต่อรุ่นจาก 400 คน/ปี ขึ้นมาอยู่ที่ราว 600 คน/ปี ป้อนเข้าสู่ตลาด ทั้งงานในเครือข่ายของ BHS พันธมิตร และธุรกิจของผู้ประกอบการรายอื่น ๆ

แจ้งเกิดโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ท่ามกลางวิกฤติ

ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 โย ระบุชัดว่า รูปแบบธุรกิจของตนคือการนำเสนอช่องทางการลงทุนใหม่ ๆ สำหรับคนที่มีต้นทุนหรือเป็นเจ้าของธุรกิจอยู่แล้วแต่ธุรกิจเดิมไปต่อไม่ไหวต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยทุกขั้นตอนการขยายตัว ทาง BHS จะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป

“เราขยายธุรกิจไปพร้อม ๆ กับการเซ็ทระบบ เราต้องค่อย ๆ เขยิบไป อย่างปีนี้และปีหน้าอาจเป็นแค่สิบ แต่ปีถัด ๆ ไป อาจเพิ่มขึ้นเป็น 40 มันน่าจะพร้อมไปได้ และสถานการณ์ทุกอย่าง (โควิด) มันน่าจะจบแล้ว อย่างโปรแกรมในการ Operation เราก็เพิ่งใช้ ถ้าเราใช้พร้อมกันเยอะเกินไป มันก็อาจจะออกมาไม่ดี”

“โยอยากให้เขาเห็นสิ่งที่เราพัฒนาอยู่ทุกวัน ทุกวันเรามีการลงทุนในสิ่งที่ลูกค้าไม่เห็นอีกเยอะ เทรนนิ่งเรามีทุกวัน เราเติมเงินและนวัตกรรมลงไปอย่างมหาศาลโดยที่ไม่มีใครแบ่งปัน …และพนักงานของเราทุกคนรู้ดีว่า เราไม่เคยมีนโยบายเอาเปรียบลูกค้าเลย แล้วก็ให้แต่สิ่งที่ดีมีคุณภาพ จนกระทั่งปัจจุบันพนักงานทุกคนตอบได้ว่า ถ้าเขาป่วยเขาจะอยู่ที่นี่”

ทั้งนี้ สิ่งที่ โย ต้องการเน้นย้ำให้เห็น BHS แตกต่างก็คือการให้ความสำคัญอย่างมากกับคุณภาพ และความซื่อสัตย์จริงใจที่ต้องการให้คนที่เข้ามาใช้บริการมีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้นและสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ต่อไป

“แม้กระทั่ง Stroke เป็นอาการที่ยิ่งอยู่นาน เรายิ่งได้เงิน แต่อันนี้ ลูกค้าทุกคนของเรา เราตั้งใจส่งมอบให้กลับบ้านจริง ๆ ถ้าเป็นหมอก็คือไม่เลี้ยงไข้ แล้ว KPI ของเราก็คือหาย ไม่ใช่อยู่นาน โยรู้สึกว่าถ้าเป็นมุมของลูกค้าหรือคนไทย ควรจะดีใจ ภูมิใจที่มี BHS แต่เราสื่อสารไปไม่ถึงว่าเราต่างนะ เราต่างกับคนอื่นที่ทำเพื่อธุรกิจอย่างเดียว”

“โยคิดว่า ธุรกิจตัวนี้ ถ้าเราขยายไปให้ใกล้บ้านได้ มันจะไปเพิ่มคุณภาพชีวิต เพราะคนไทยอย่างไร ร้อยทั้งร้อยก็ยังอยากดูแล ยังอยากใกล้บ้าน แต่ในเมื่อที่ที่ดี ๆ ใกล้บ้านมันไม่มี ทุกวันนี้มันต้องลำบากเดินทางมาในกรุงเทพฯ หรือแม้แต่คนในกรุงเทพฯ ก็ยังถือว่าไกล ถ้าเราสามารถขยาย ด้วยระดับมาตรฐานที่เรามี ถ้าเราเข้าไปใกล้บ้านได้ เมื่อถึงวันที่เขาได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะพึ่งพิงหรือ Stroke เขาก็จะได้รับความสะดวก และมีคุณภาพแบบนี้ไปถึงใกล้บ้านเขา”

ถือเป็นโมเดลธุรกิจคุณภาพที่ต้องใช้องค์ความรู้และใช้ใจอย่างมหาศาล

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ