TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityESG Declaration พันธสัญญา ด้านความยั่งยืน จากภาคการเงินไทย

ESG Declaration พันธสัญญา ด้านความยั่งยืน จากภาคการเงินไทย

เมื่อ ESG ไม่ได้เป็นกระแสระยะสั้นที่จะมาแล้วจบไป แต่เป็นเรื่องที่ต้องผนวกไว้ในกระบวนการธุรกิจ​และการดำเนินชีวิต​ การตัดสินใจเชิงนโยบายในโลกยุคใหม่ ​ESG Declaration ของสมาคมธนาคารไทย จึงถือเป็นอีกก้าวสำคัญของภาคการเงินไทยที่ยกระดับการทำหน้าที่สนับสนุนการปรับตัวของประเทศสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ

ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า อีกก้าวสำคัญของภาคการเงินไทยที่ยกระดับการทำหน้าที่สนับสนุนการปรับตัวของประเทศสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นแนวทางหลักสำหรับการพัฒนาประเทศในช่วงเวลานี้ 

ปัจจุบันแนวคิดเรื่องความยั่งยืนที่ประกอบด้วยประเด็นทั้งด้านสิ่งแวดล้อม​ สังคม หรือธรรมาภิบาล หรือเรียกสั้น ๆ ว่า​ ESG ไม่ได้เป็นกระแสระยะสั้นที่จะมาแล้วจบไป แต่จะเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องคำนึงถึงและผนวกไว้ในกระบวนการ ธุรกิจ​ และการดำเนินชีวิต​ รวมถึงการตัดสินใจเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้อยู่รอดในโลกยุคใหม่ได้​ 

โดยผู้บริโภคทั่วโลก​ นักลงทุน​ และผู้ใช้บริการทางการเงิน​ ต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้​ และจะกดดันให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องเร่งปรับตัว​ 

นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐในหลายประเทศ เริ่มยกระดับการบังคับใช้กฎหมายและหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้ภาคธุรกิจต้องดำเนินงานในเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง เช่น การกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่ตลาดหลักทรัพย์ในหลายประเทศ​ ได้ทยอยบังคับใช้กันแล้ว​ รวมถึงนโยบายการค้าระหว่างประเทศ เช่น มาตรการ​ Carbon Boarder Adjustment Mechanism หรือที่เรียกกันว่า​ ​CBAM ของสหภาพยุโรป​ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าการดำเนินธุรกิจในระยะต่อไปจำเป็นต้องมีแผนการดำเนินงานรวมถึงผลลัพธ์เรื่องความยั่งยืนที่เป็นรูปธรรม​ 

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายความยั่งยืนในหลายมิติ​ ทั้งด้านธรรมาภิบาล​ สังคม​ และสิ่งแวดล้อม​ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งกระทบเร็วและรุนแรงกว่าที่คาด​ รวมถึงมิติด้านสังคมในช่วงของการเงินภาคประชาชน รวมถึงเรื่องของการเข้าถึงบริการทางการเงินและหนี้ครัวเรือนที่อาจซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำจนฉุดรั้งการเติบโตของไทยได้​ 

“กสิกรไทย” วาง 6 ยุทธศาสตร์ด้าน ESG มุ่งสู่เป้าหมายธนาคารแห่งความยั่งยืน

ดีลอยท์ เผย ESG เป็นวาระขับเคลื่อนธุรกิจขององค์กรอย่างยั่งยืน

แม้ที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่ในไทยจะเริ่มยกระดับการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืนไปพอสมควรแล้ว สะท้อนจากบริษัทไทยเข้าเป็นสมาชิก Dow Jones sustainability Index หรือ​ DGSI มีจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่หากมองในภาพรวมที่จะตอบโจทย์ในเรื่องนี้ของประเทศยังต้องปรับตัวอีกมาก 

จากผลสำรวจระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามมาตรฐานสากลพบว่า มีเพียงร้อยละ 16 ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่สามารถเปิดเผยข้อมูลการจัดการเรื่องก๊าซเรือนกระจกของตนเองได้ และมีเพียงร้อยละ 7 ที่สามารถเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่นับรวมธุรกิจทั้งขนาดกลางและขนาดเล็กหรือ SMEs ที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ที่อาจยังไม่ตระหนักรู้​ หรือไม่มีเงินทุนเพียงพอสำหรับการปรับตัวในเรื่องนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้กำกับดูแล จึงตระหนักถึงบทบาทของภาคการเงินไทย ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรเงินทุนแก่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน​ ให้สามารถปรับตัวสู่ความยั่งยืนได้ดีขึ้น​ โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา​ ธปท. ได้เผยแพร่แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน​ หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า​ ​Financial Landscape เพื่อเป็นแนวทางในการปรับภาคการเงินให้ยืดหยุ่น และยกระดับบริการทางการเงินให้ตอบโจทย์โลกอนาคตได้ดีขึ้น ซึ่งได้รวมถึงการปรับตัวภายใต้ ESG

โดยสิ่งที่​ ธปท. อยากเห็นคือ​ หนึ่ง สถาบันการเงินมีกระบวนการผนวกเรื่อง ESG เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจและดำเนินธุรกิจอย่างเป็นระบบ สอง สถาบันการเงินมีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่จะเอื้อให้ภาคธุรกิจปรับตัว รับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเท่าทัน​ รวมถึงมีความรับผิดชอบ ที่จะช่วยให้ภาคประชาชนบริหารการเงินได้อย่างเหมาะสม และจัดการหนี้สินได้อย่างยั่งยืน สาม​ สถาบันการเงินสามารถบริหารจัดการความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมได้อย่างทันการณ์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน

ล่าสุด​ ธปท. เพิ่งได้ออกเอกสารทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย​ เพื่อให้เห็นแนวทางของ​ ธปท. ที่จะสนับสนุนให้ภาคการเงินพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและสามารถตอบโจทย์การปรับตัวของระบบเศรษฐกิจได้​ 

บทบาทของภาคการเงินด้านสิ่งแวดล้อมที่​ธปท. เพิ่งเผยแพร่​ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา เริ่มมีความคืบหน้า แต่การขับเคลื่อนให้เห็นผลที่ชัดเจนยังทำได้จำกัด​ เนื่องจากแต่ละภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจยังมีแนวทางการจัดกลุ่มหรือมาตรวัดความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในกิจกรรมต่าง​ ๆ ที่ไม่ตรงกันการสนับสนุนหรือการจัดสรรเงินทุนจึงยังเกิดขึ้นได้ไม่เต็มที่​ และไม่ตรงจุดเท่าที่ควร​

ดังนั้น​ ในการช่วยผลักดันการปรับตัวของภาคการเงิน​ อย่างแรก​ ธปท. จึงจะเร่งให้มีการกำหนดนิยามหรือจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ​ หรือที่เรียกกันว่า​ Taxonomy เพื่อสร้างความเข้าใจและมาตรฐานการประเมินกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ตรงกัน​ สามารถนำไปใช้อ้างอิงในการกำหนดนโยบาย​ วางแผนเชิงกลยุทธ์​ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการที่ตอบโจทย์ของภาคธุรกิจได้ในวงกว้าง​ ซึ่งจะเริ่มด้วย Sector สำคัญ คือ​ ภาคพลังงานและขนส่ง คาดว่าจะเสร็จภายในต้นปี 2566 

การจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจนี้ จำเป็นต้องมีข้อมูลระดับมหภาค​ เพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงและโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม เช่น​ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละอุตสาหกรรม​ อีกทั้งภาคการเงินที่ต้องการข้อมูลระดับ​ Firm Level เพื่อใช้ประเมินว่าธุรกิจดำเนินการสอดคล้องกับทิศทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด​ เพื่อจัดสรรเงินทุนให้เหมาะสม​ 

เรื่องที่ 2 ที่​ ธปท.จะเร่งผลักดัน​ คือ​ การพัฒนาฐานข้อมูลและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐาน​ ซึ่งต้องเชื่อมโยงกับภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของการขับเคลื่อนเรื่องนี้ในระดับประเทศ

ตัวอย่างเหล่านี้​ คือ เครื่องมือที่​ ธปท. จะช่วยให้การจัดทรัพยากรในภาคการเงินทำได้ตรงจุดยิ่งขึ้น​ แต่เพื่อให้เรามี Eco System หรือระบบนิเวศสำหรับการดำเนินการด้าน ESG ที่สมบูรณ์ต้องอาศัยการปรับธุรกิจของภาคการเงินแบบครบวงจร​ หรือ​ N to N ให้คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบด้วย ซึ่งเมื่อปี 2562 ธนาคารพาณิชย์ไทยได้ร่วมกันลงนามใน Sustainable Banking Guideline เพื่อส่งเสริม​ Responsible Lending หรือการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ เพื่อนำปัจจัยด้าน ESG มาร่วมพิจารณากำหนดนโยบายและกระบวนการให้สินเชื่อ

จากจุดเริ่มต้นในวันนั้น จะเห็นพัฒนาการและการปรับการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับแนวคิดด้านความยั่งยืนของธนาคารพาณิชย์มาอย่างต่อเนื่อง​ ​และ​ ธปท. จะเร่งส่งเสริมให้สถาบันการเงินผนวกแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานอย่างมีมาตรฐาน​ โดยจะออกแนวนโยบายการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้อ้างอิงเป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการดำเนินงานและบริหารจัดการความเสี่ยงของสถาบันการเงิน​ หรือที่เรียกว่า​ Standard Practice 

อย่างไรก็ดี​ การขับเคลื่อนให้ระบบเศรษฐกิจสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม จะอยู่ภายใต้หลักการเดียวคือต้องคำนึงถึงจังหวะเวลา​ Timing และ​ความเร็ว​ หรือ Speed ที่เหมาะสม​ รวมทั้งต้องสอดคล้องกับบริบทของประเทศและความพร้อมของแต่ละภาคส่วน​ โดยจำเป็นต้องสร้างสมดุล ระหว่างการเดินหน้าสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนและผลข้างเคียงเชิงลบที่จะเกิดขึ้นกับภาคส่วนต่าง ๆ  โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ SMEs ดังนั้น การดำเนินการจึงต้องไม่ช้าเกินไปจนเกิดผลกระทบลุกลามไม่สามารถแก้ไขได้​ และไม่เร็วเกินไปจนภาคเศรษฐกิจโดยเฉพาะกลุ่มที่ยังขาดความพร้อมไม่สามารถปรับตัวได้ทัน 

การส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้ยั่งยืนด้วยปัจจัย ESG

ไทยพัฒน์ ร่วมเป็นสถาบันสนับสนุน หลักการประกันภัยที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เพื่อส่งเสริม ESG ในธุรกิจประกันภัยไทย

สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกทุกแห่ง ​จะร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ที่จะผนวกรวมทุกมิติ ด้านความยั่งยืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและการดำเนินธุรกิจของภาคการเงินไทย ซึ่งถือเป็นคำมั่นสัญญาที่ธนาคารพาณิชย์ไทยจะให้กับสาธารณชน​ ว่าจะเร่งปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจไปสู่การพัฒนาบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ ESG ของประเทศ​ และยืนยันความตั้งใจด้วยการกำหนดแผนดำเนินงาน​ กรอบเวลา​ และแนวทางการประเมินผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน​ 

ซึ่งการประกาศร่วมกันในครั้งนี้จะทำให้เกิดการเดินหน้าในเรื่อง ESG ของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง​ มีความสอดคล้องกันกับมาตรฐานใกล้เคียงกันยิ่งขึ้น​ และจะช่วยเร่งการปรับตัวของภาคการเงินในภาพรวมได้​ ซึ่งสอดรับกับแนวทางนโยบายของ​ธปท​.ภายใต้ภูมิพัฒน์ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย​

ในระยะต่อไป​ เราจะได้เห็นธนาคารพาณิชย์ที่มีโครงสร้างการบริหารจัดการภายในที่ทำให้การดำเนินธุรกิจต้องคำนึงถึงความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์หรือบริการทางเงินที่ตอบโจทย์และสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจปรับตัว​ รวมถึงการคำนึงถึงความยั่งยืนของลูกค้าหรือลูกหนี้ อย่างเป็นรูปธรรม​

“การบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ​ ภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงินเมื่อรวมกับความตระหนักรู้และความพร้อมที่จะปรับตัวของประชาชน จะช่วยขับเคลื่อนให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนได้อย่างราบรื่นและทันการ”

เจตนารมณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล

ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการ สมาคมธนาคารไทย, CEO Co-sponsor ด้าน Sustainability และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัญหาภาวะโลกร้อน ก่อให้เกิดความท้าทายครั้งใหม่ต่อความยั่งยืนและคุกคามต่อการดำรงอยู่ของมวลมนุษยชาติและสรรพสิ่งทั้งหมดบนโลกนี้ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายต่างตกอยู่ในภาวะที่เปราะบางโดยไม่มีข้อยกเว้น สถาบันการเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ได้ให้การสนับสนุนทางด้านการเงินเพื่อยกขีดระดับความสามารถในการพัฒนาและปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น ตลอดจนเอื้ออำนวยให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปได้อย่างราบรื่น

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ สมาคมธนาคารไทยตระหนักดีถึงความเร่งด่วน และความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงและโอกาสใหม่ ๆ ในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายและสิทธิมนุษยชน การเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างครอบคลุม และการจัดการปัญหาความไม่เสมอภาคสมาคมธนาคารไทยมุ่งมั่นให้การสนับสนุน ประเทศไทยอย่างจริงจัง บนเส้นทางสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ รวมถึงพันธกิจของประเทศที่มีต่อความตกลงปารีสด้วยบทบาทตัวกลางทางการเงินที่มีความรับผิดชอบ ส่งเสริมความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจ และขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศไทย 

ทั้งนี้ การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบดังกล่าว ต้องอาศัยการผสานพลังระหว่างกัน รวมถึงความมุ่งมั่นในพันธกิจที่มีความหมาย การเร่งดำเนินการในระยะอันใกล้ ให้สอดรับกันทั้งระบบการเงิน 

สมาชิกของสมาคมธนาคารไทยจึงเห็นชอบร่วมกันในการประกาศเจตนารมณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาลหรือ ESG Declaration ยกระดับการดำเนินงานเพื่อ เสริมสร้างความยืดหยุ่นให้กับภาคการเงินในระยะต่อไป ทั้งในด้านการลดความเสี่ยง การปรับตัวในมิติของสิ่งแวดล้อมสังคม และธรรมาภิบาล ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งพัฒนาแนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืนอันสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แนวปฏิบัติในระดับประเทศ แนวทางการธนาคารเพื่อความยั่งยืนในการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบของสมาคมธนาคารไทย กรอบการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยและแนวปฏิบัติที่ดีในระดับสากลที่เกี่ยวข้อง 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักการธนาคารที่รับผิดชอบขององค์การสหประชาชาติ หลักการชี้แนะเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ และแนวปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ โดยจะดำเนินการตามแนวทางที่มีความสำคัญดังต่อไปนี้ 

หนึ่ง ด้านธรรมาภิบาล มีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี และดำเนินการกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิผลในระดับคณะกรรมการโดยกำหนดภาระและขอบเขตความรับผิดชอบที่ชัดเจนในระดับการจัดการ ในเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง และการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน 

สอง ยุทธศาสตร์ ให้มีการบูรณาการพันธกิจด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เข้ากับยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจ และกำหนดกรอบด้านการเงินที่ยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบเชิงลบและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยสมาคมธนาคารจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง เพื่อสนับสนุนรัฐบาลขับเคลื่อนประเทศให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์อย่างราบรื่น 

สาม การบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ภาคธนาคาร จะผนวกรวมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไว้ในกระบวนการการบริหารความเสี่ยง ทั้งด้านการวิเคราะห์สถานการณ์ และการทดสอบภาวะวิกฤต เพื่อประเมินผลกระทบต่อการดำเนินงานธุรกรรมและ portfolio ของธนาคารพาณิชย์ 

สี่ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน รวมทั้งนวัตกรรมทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน ตลอดจนให้ความช่วยเหลือลูกค้า ให้สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์  และการเติบโตที่ยั่งยืน

ห้า การสื่อสาร การสื่อสารและประสานความร่วมมือจากผู้ที่มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ในการสร้างจิตสำนึกสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล รวมถึงการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

สุดท้าย การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินพัฒนาระบบติดตามและรายงานที่สอดคล้องกับกรอบการกำกับดูแลของประเทศไทยและมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในระดับสากล 

“สมาคมธนาคารไทยขอให้คำมั่นที่จะร่วมมือกันดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยความโปร่งใสและยืดหยุ่น เพื่อให้การทำงานระหว่างธนาคารสมาชิกของสมาคมธนาคารไทย สอดประสานบนมาตรฐานเดียวกัน ภายใต้หลักการปฏิบัติตามให้มากที่สุด หรือชี้แจงเหตุผลในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ หรือ Comply or Explain โดยจะจัดทำคู่มือที่ระบุรายละเอียดการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง กรอบเวลา และตัวชี้วัดผลการดำเนินงานสำหรับแต่ละองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อผลักดันให้ภาคการธนาคารเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน เพื่อนำพาให้เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น”  

พันธสัญญาจากภาครัฐ

World Economic Forum ในปี 2022 ได้เปิดรายงานความเสี่ยงของโลกเอาไว้​ และระบุว่าความล้มเหลวในการจัดการปัญหาเรื่องโลกร้อนเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่ง ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้นในแต่ละปี​เป็นความเสี่ยงเป็นอันดับที่ 2 ซึ่งแต่ละปีจะรุนแรงมากขึ้นมากขึ้นทุกปี

ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเป็นอันดับที่ 21 ของโลก​ ถ้าเทียบเป็น % อยู่แค่ 0.8 %เท่านั้นเอง​ ยังไม่ถึง 1% เลย​ แต่ว่าในทางกลับกันแล้ว​ เวลาเจอปัญหาภัยพิบัติขึ้นมา ประเทศไทยเป็นอันดับ 9 ที่จะโดนเผชิญกับปัญหาภัยพิบัติก่อน

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รัฐบาลได้ประกาศนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ​ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวหรือว่า Bio Circular Green Economy เป็นวาระแห่งชาติที่จะขับเคลื่อนประเทศ​ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสถานการณ์ covid-19 การที่จะ Build Forward Greener 

การเน้นในเรื่อง ESG ในภาคการลงทุน​ ภาคเอกชน​ การที่จะเดินไปข้างหน้า​ การที่จะมี Responsible​ Investment การลงทุนที่ต้องเน้นถึงความเป็นมิตร​ คำนึงถึงความเสี่ยงและโอกาส​ ที่ไม่ใช่คำนึงผลกำไรอย่างเดียว​ คำนึงถึง environment คำนึงถึง social รวมถึงกับ​ governance เป็นหัวใจสำคัญในการที่จะหมุนไปข้างหน้าทำให้เกิดความยั่งยืนเกิดขึ้น​ 

“ทำอย่างไรที่จะทำให้เศรษฐกิจโตขึ้นโดยที่มันจะไม่มีผลกระทบ Environment Impact เข้ามา​ วันนี้หัวใจสำคัญ คือ​ จะทำอย่างไรที่จะ​ Decouple ตัว​ Economic Development กับ​ Environmental Sustainability กันได้​ ดังนั้นการลงทุนที่มีความรับผิดชอบ​ ESG​ จะเป็นส่วนสำคัญในการที่จะขับเคลื่อน Bio Circular Green Economy” 

ด้าน EU มีมาตรการทางภาษี​ CBAM​ ที่เกิดขึ้น​ ครอบคลุมสินค้าอยู่ 5 ชนิด​ เหล็ก​ เหล็กกล้า​ อลูมิเนียม​ ปุ๋ย​ พลังงาน​ และซีเมนต์​ ในอนาคตตัว​ CBAM​ นี้กำลังจะเริ่มทดลองใช้ในปี 2566 และจะบังคับใช้ในปี 2567 

“​CBAM​ ครอบคลุมอยู่ 5 ชนิด คณะ​ Sub-Committee ของ​ EU กำลังพิจารณาชนิดที่ 6 เกี่ยวกับยานยนต์ (automotive) วันดีคืนดีถ้าหากว่าเขาประกาศว่าเขาจะรวมไปถึง​ Agricultural Products หรือสินค้าการเกษตรขึ้นมา​ ถามว่าพี่น้องเกษตรกรไทยเราจะทำกันอย่างไร​ เราจะปรับตัวกันอย่างไร”​ 

สำหรับประเทศไทย มีแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ​ (Long-term Greenhouse Gas Emissions Development Strategies หรือ​ LTS) มีการปรับเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศ​ (National Determined Contribution หรือ NDC) กำหนดว่า จะก้าวเข้าสู่สถานะ Carbon Neutrality ภายในปี 2050 หรือ 3 ปีจากนี้ไป​ จะปลดปล่อยอยู่ที่ประมาณ 370 ล้านตัน​คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า​ จะต้องลดลงมาปรับลดลงมาให้เหลือประมาณ 120 ล้านตันเท่านั้น 

ขณะนี้กระทรวงทรัพยฯ กำลังอยู่ในขั้นตอนที่จะ revise แผน ทั้ง LTS และ NDC ให้ถึงร้อยละ 40  คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ลดลงมาให้ได้ ประมาณ 40% ภายในปี 2030 คือต้องลดให้มากกว่าเดิมอีก 10% ซึ่งตัวช่วยที่สำคัญคือ Green Finance การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานและปรับเปลี่ยนจาก Fossil Fuel มาเป็น Renewable ให้มากขึ้น พลังงานลม พลังงาน Solar หรือ Hydro Power กับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 

กระทรวงพลังงานมีนโยบาย 4D 1E คือ Decarbonization, Deregulation, Decentralization, Digitization  รวมทั้ง 1 E คือ Electrification การส่งเสริมการใช้ยานยนต์พาหนะที่เป็นไฟฟ้ามากขึ้น มาตรการทางภาษีต่า งๆ 

ด้านการดำเนินการ 6 ด้านของประเทศไทย คือ ด้านนโยบาย ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ กับการพัฒนาการดักจับ และการใช้ประโยชน์ หรือ CCS (Carbon Capture and Storage) และ (Carbon Capture Utilization and Storage) ด้านการเงินและการลงทุน 

“การศึกษาของ State Street Global Advisor พบว่านักลงทุนให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ยั่งยืน Responsible Investment พอร์ตการลงทุนประมาณ 80% นั้น ได้จัดสรรเงินทุนให้กับองค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดของ ESG มากขึ้น ในตลาดหลักทรัพย์ของไทยมีการสำรวจเช่นกัน พบว่าการลงทุนในธุรกิจที่สอดคล้องกับ ESG  จะได้ผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนทั่วไป”

ด้านการจัดการกลไกของตลาดคาร์บอนทั้งในและต่างประเทศ ด้านการเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย และด้านที่เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติเป็นกฎหมาย

ขณะนี้ กระทรวงทรัพยฯ กำลังผลักดันร่างพ.ร.บ. จัดพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือพรบ.Climate Change เป็นแผนการดำเนินการภายใต้แผนปฏิรูปประเทศ คาดว่าภายในสิ้นปี 2565 นี้ จะสามารถนำเสนอร่างพรบ. Climate Change เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

EVLOMO จับมือซีเมนส์ สร้างเครือข่ายชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดใน SEA

แสนสิริ จับมือกว่า 10 พันธมิตร ตั้งทีม R&D พัฒนา NET-ZERO HOME

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ