TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessพันธกิจบิทคับ สร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ดันเศรษฐกิจดิจิทัลไทยแตะ 50% ของ GDP

พันธกิจบิทคับ สร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ดันเศรษฐกิจดิจิทัลไทยแตะ 50% ของ GDP

บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด ผู้สร้างและดำเนินการ บิทคับ เชน (Bitkub Chain) เครือข่ายบล็อกเชนที่ได้รับความนิยมและมีการใช้งานอย่างแพร่หลายที่สุดในประเทศไทย ประกาศการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ตั้งเป้าสู่การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล หวังให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจิดิจทัลของอาเซียน ดันอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยโตทะลุ 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของไทย (Gross National Products – GNP) 

ขณะเดียวกัน บิทคับ เชน ยังเตรียมเปิดตัว Erawan Hard Fork ซึ่งยกระดับประสิทธิภาพของบล็อกเชนขึ้นไปอีกขั้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้ไทยก้าวสู่การเป็นเครือข่ายบล็อกเชนระดับโลกในอนาคต

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนและการเกิดขึ้นของ บิทคับ เชน สู่อนาคต ในการเป็นโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีบล็อกเชนของประเทศไทย เป็นทิศทางที่โลกกำลังมุ่งไปอยู่แล้ว ท่ามกลางการพัฒนาของเว็บ3.0 

“ในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะไม่ใช่สังคมก้มหน้า แต่จะเป็นสังคมใส่แว่นตาที่เทคโนโลยีวีอาร์ (virtual reality) กับ โลกเมตาเวิร์ส เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งนอกจากความสามารถในการอ่านและเขียนแล้ว เว็บ 3.0 ยังมีคำว่า “own” และ “open” เข้ามาเกี่ยวข้อง  โดย “own” คือความเป็นเจ้าของร่วมกัน พัฒนาร่วมกัน และได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งการพัฒนาร่วมกันจะเป็นแบบเปิดกว้าง ที่ส่งผลให้นวัตกรรมแพร่กระจายไปทั่วโลก ไม่ใช่ระบบปิดที่นวัตกรรมจะจำกัดอยู่ในมือคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดอีกต่อไป นำไปสู่การสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ที่เรียกว่า X-to-earn เช่น ออกกำลังกายเพื่อได้เงิน อ่านเพื่อได้เงิน เรียนเพื่อได้เงิน ดูเพื่อได้เงิน”

หลายสิบปีก่อนหน้านี้ เทคโนโลยีได้ก้าวเข้ามาปลดล็อกหลายสิ่งหลายอย่างให้กับเศรษฐกิจและชีวิตประจำวันของคนในสังคม ซึ่งเทคโนโลยีแรกก็คืออินเทอร์เน็ต ที่ได้เข้ามาปลดล็อก ทำให้ข้อมูลเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี (Free Flow of Data) ที่ผู้คนสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตกันได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจบนโลกดิจิทัลมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

โดยในมุมมองของจิรายุส ในอนาคตอันใกล้นี้เศรษฐกิจดิจิทัลจะมีขนาดใหญ่มากขึ้น เนื่องจากการมาของเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Internet from the sky ที่จะเป็นการยิงสัญญาณอินเทอร์เน็ตลงมาจากดาวเทียม ทำให้พื้นที่ทุรกันดารสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น ซึ่งทุกวันนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชนกำลังเข้ามาปลดล็อกทำให้ทุกคนสามารถร่วมกันพัฒนา ร่วมกันใช้ และก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งการเป็นเจ้าของร่วมกันผ่านการถือครองร่วมกันทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Free Flow of Capital

จิรายุส อธิบายว่า  Free Flow of Capital ทำให้เม็ดเงินในเศรษฐกิจสามารถหมุนเวียนได้ง่ายขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลาง ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือ Micro Entrepreneurship มากขึ้น ซึ่งทางกลุ่ม Bitkub กำลังพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อมาสนับสนุนประเทศไทยให้สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีได้

ด้านภาสกร ปานนอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะสามารถเพิ่มศักยภาพต่อผู้ใช้งาน พร้อมยกระดับ บิทคับ เชน ให้ก้าวไปสู่การใช้งานระดับโลก รวมทั้งเกิดระบบนิเวศที่จะสนับสนุนให้ บิทคับ เชน กลายเป็นบล็อคเชนที่น่าภาคภูมิใจของคนไทย โดย บิทคับ เน็กซ์ (Bitkub NEXT) จะเปรียบเสมือนประตูเชื่อมผู้ใช้งานระหว่างโลกความจริงและโลกดิจิทัลเข้าด้วยกัน

ขณะที่ สำเร็จ วจนะเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด เปิดเผยว่า การร่วมมือกับ Node Validator ทั้งหมด 21 รายนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของ บิทคับ เชน เนื่องจากเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ โลกดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตผู้คนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งจะช่วยยกระดับบิทคับ เชนไปอีกหนึ่งขั้น พร้อมระบบนิเวศและฟังก์ชันที่จะอำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้งาน โดยการเปิดตัวครั้งนี้ บิทคับ เชน มุ่งหวังว่า บิทคับและ Node Validator จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่จะช่วยผลักดันให้ก้าวสู่โลกดิจิทัลอย่างแท้จริง

การเปิดตัวเครือข่ายพันธมิตรที่ร่วมกันเป็น Node Validator ของ บิทคับ เชน ภายหลังจากเสร็จสิ้น Erawan Hard Fork ที่มีการอัปเกรดจำนวน Node Validator จาก 11 Node เป็น 21 Node ซึ่งประกอบด้วยบริษัทและเครือข่ายธุรกิจชั้นนำ ดังนี้ 

  • บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน), 
  • บริษัท ทีพีซีเอส จำกัด (มหาชน), 
  • บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน), 
  • บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน), 
  • บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), 
  • บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน), 
  • บริษัท ทีพีซีเอ็กซ์ จำกัด, 
  • บริษัท อินสเปค จำกัด,
  • ไดมอนด์ ไฟแนนซ์, 
  • บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด, 
  • บริษัท มัลติพลาย เทคโนโลยี จำกัด, 
  • บริษัท สมาร์ทคอนแทรค บล็อกเชน สตูดิโอ, 
  • บริษัท วิลล่า มาร์เก็ท เจพี จํากัด,
  • บริษัท เก็ทลิงส์ จำกัด, 
  • บริษัท เอ บี เอ็กซ์ จำกัด, 
  • บริษัท ซิคซ์ เนทเวิร์ค, 
  • บริษัท ฟิน สเตเบิ้ล จำกัด, 
  • บริษัท ชินเอ เซอร์วิส จำกัด, 
  • บริษัท ดิ๊ก ดิ๊ก จำกัด, 
  • บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน), 
  • บริษัท อาชว์ 2021 (ประเทศไทย) จำกัด

ทางบิทคับ ยังใช้โอกาสนี้ นำเสนอข้อมูลที่น่าตื่นเต้นของฟังก์ชันใหม่ ในโปรเจกต์ที่เป็นหัวใจสำคัญของบิทคับ เชน อย่าง Bitkub NEXT และ Bitkub NFT ก่อนจะปิดท้ายด้วยการเปิดเผยข้อมูลของโปรเจกต์ใหม่ชิ้นสำคัญที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเข้าถึงและการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้งานกับกิจกรรมบนโลกดิจิทัลได้อย่างมหัศจรรย์พร้อมอัพเดทข้อมูลการพัฒนาโปรเจกต์ต่าง ๆ ที่กำลังจะเปิดใช้งานจริงในเร็ว ๆ นี้ ไม่ว่าจะเป็น GameFi, DeFi, NFTs และเมตาเวิร์ส  

ทั้งนี้ จิรายุส ให้สัมภาษณ์กับ The Story Thailand กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องเปลี่ยนไปสู่โมเดลธุรกิจใหม่ ๆ หลังจากที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นสังคมเกษตรก่อนขับเคลื่อนด้วยเรียล เซ็คเตอร์ กลายเป็นดีทรอยต์ออฟเอเชีย ผลิตรถยนต์ แล้วก็มาเป็น อเมซซิง ออฟ ไทยแลนด์ ที่ส่งออกการท่องเที่ยว 

“แต่ทั้งหมดมันคืออดีต ผมคิดว่าเราควรที่จะต้องเป็นดิจิทัล ฮับ ของอาเซียน จีดีพีไทย จริง ๆ ต้องเป็น จีเอ็นพีไทย (Gross National Product) ต้องขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล อีโคโนมี, ดิจิทัล คอมพานี มากขึ้น”

จิรายุส กล่าวเสริมว่า ก่อนที่จะเกิดดิจิทัล คอมพานีได้ ไทยต้องมี ดิจิทัล อินฟราสตรัคเจอร์ (โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล) เช่นเดียวกันกับที่ระบบโลจิสติกส์หรือการเดินทาง จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีถนนหรือทางด่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลัก หรือเอสเอ็มอีจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีตลาดหลักทรัพย์อยู่หรือธนาคารให้กู้ เพื่อให้มีการจัดสรรทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น ดิจิทัลอีโคโนมีก็จะเกิดได้ยาก ถ้าไม่มีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 

“บิทคับพยายามที่จะสร้างเป็นโครงสร้างพื้นฐานของดิจิทัล ให้เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยมันโตขึ้นไปได้ในอนาคต ผมมองว่าเกิน 50% ในอนาคตของจีเอ็นพีไทยต้องเกิดมาจากดิจิทัล คอมพานี และดิจิทัล อีโคโนมี ซึ่งปี 2017 อยู่ที่ 17% ของจีดีพีไทย แต่จีดีพีไทยก็เป็นของชาวต่างชาติส่วนใหญ่ เพราะจีดีพีไทยรวมบริษัทต่างชาติเข้าไปด้วย ผมคิดว่าเราควรเปลี่ยนมาตรวัดใหม่ให้เป็นจีเอ็นพี แล้วก็ต้องเป็น 50% ที่มาจากเศรษกิจดิจิทัล เมื่อเรามีเป้าหมายทีชัดเจนแบบนี้แล้ว เราก็เลยต้องมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ” จิรายุสกล่าว ปิดท้าย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ