TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewดีป้า ตั้งเป้าสร้างต้นแบบ “เมืองอัจฉริยะ”

ดีป้า ตั้งเป้าสร้างต้นแบบ “เมืองอัจฉริยะ”

Smart City ถือเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์ที่หลายประเทศหยิบขึ้นมาขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ การเดินหน้าเข้าสู่การเป็น Smart City แรกเริ่มต้องเข้าใจความหมายและแนวคิดของ Smart City ให้ถ่องแท้เสียก่อน

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวกับ The Story Thailand ว่า Smart City มี 2 แนวคิด คือ เมืองเดิมน่าอยู่ และเมืองใหม่อัจฉริยะ

แนวคิดของ Smart City แบบเมืองเดิมน่าอยู่ คือ การหาทางตอบโจทย์ว่า ทำอย่างไรคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนปัจจุบันจะดีขึ้น ทำอย่างไรพื้นที่ที่อยู่อาศัยจึงจะน่าอยู่ ถือเป็นรูปแบบการพัฒนาเมืองที่มีอยู่เดิม

แนวคิดของ Smart City แบบเมืองใหม่อัจฉริยะ เป็นการพัฒนาก่อสร้างเมืองหรือชุมชนขึ้นจากพื้นที่ว่าง ภาคเอกชน หน่วยงานรัฐบาล ต้องการยกระดับให้พื้นที่นั้นเป็นเมือง ๆ หนึ่งขึ้น ภายในแนวคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง 

ยกตัวอย่าง ประเทศเกาหลีใต้กำหนดให้เมืองใหม่ที่จะสร้างขึ้นเป็นเมืองนวัตกรรม ดังนั้น การพัฒนาเมืองสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ในเมือง จะทำภายใต้เป้าหมายการสร้างเมืองใหม่ที่มีการพัฒนานวัตกรรมของประเทศอัดแน่นอยู่ เป็นต้น

ประเทศไทย มีทั้งเมืองเดิมน่าอยู่และเมืองใหม่อัจฉริยะ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์เหมาะสมที่จะได้รับการส่งเสริม และตั้งคณะอนุกรรมการอีกหนึ่งชุดขึ้นมาพิจารณาว่าพื้นที่ใดเหมาะสมที่จะพัฒนาให้เป็น “เมืองอัจฉริยะ”

“ช่วงสองปีที่ผ่านมา เราได้วางรูปแบบและวิธีการไว้อย่างนี้ เริ่มต้นด้วยการบ่มเพาะสร้างความเข้าใจก่อนกับโครงการ เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ ซึ่งเมื่อผ่านขั้นแรกนี้ได้แล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการที่สอง นั่นคือการให้คณะกรรมการพิจารณา เมื่อผ่านการพิจารณาแล้วจึงจะได้สถานะกลายเป็นเมืองอัจฉริยะตัวจริง ” ผอ.ดีป้า กล่าว

ที่ผ่านมา เมืองและเขตที่ได้รับการพิจารณาตามนโยบายรัฐบาล ประกอบด้วยเชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น แถบอีอีซี และเขตบางซื่อ 

ปัจจัยที่นำมาพิจารณา คือ ความชัดเจนของเป้าหมายในการพัฒนา Smart City ของพื้นที่ดังกล่าว 

  • ความมีส่วนร่วมในเป้าหมายของการพัฒนาของคนในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งครอบคลุมถึงการออกแบบผังเมืองและความพร้อมในโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการตอบโจทย์ของความเป็นเมืองน่าอยู่หรือเมืองอัจฉริยะ 
  • ความพร้อมในการจัดเก็บและการออกแบบพัฒนาข้อมูล (Big Data) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างและพัฒนา Smart City โดยการจัดเก็บและตรวจสอบติดตามเฝ้าระวังดูแล (Monitor) สอดคล้องกับเป้าหมายหรือไม่ 
  • ความเป็น Tech Smart หมายความว่า ชุมชนจะหยิบยกประเด็นไหนขึ้นมาทำก่อนเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมาย แล้วสิ่งที่หยิบยกขึ้นมาทำนั้นทำให้เมืองน่าอยู่หรือผู้คนในพื้นที่มีความสุขจริงหรือไม่

ดร.ณัฐพล อธิบายเพิ่มเติมว่า Smart City เป็นการพัฒนาที่ครอบคลุมในทุกมิติของสังคม  ได้แก่ 

  1. Smart Economy ซึ่งหมายถึงการทำให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงและมีส่วนร่วม รวมถึงทำให้ชีวิตดีขึ้น  
  2. Smart People การทำให้ประชาชนมีทักษะ มีความรู้ ความเข้าใจมากขึ้น 
  3. Smart Living หรือการอยู่อาศัยที่มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต จากเหตุอาชญกรรม และภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ ไม่ว่าเป็นอุทกภัย หรือวาตภัย 
  4. Smart Governance หรือการบริการจากภาครัฐ ที่คำนึงถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก 
  5. Smart Environment ที่เกี่ยวกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งม้กเป็นประเด็นที่ถูกหลงลืมหรือมองข้ามขณะที่มุ่งความสนใจในการพัฒนาดิจิทัล
  6. Smart Mobility การขนส่งเคลื่อยย้าย
  7. Smart Energy การประหยัดการใช้พลังงาน

“ไม่ได้บอกว่าต้องทำพร้อมกันหมด แต่ให้เลือกขึ้นมาว่า อะไรคือ สิ่งสำคัญที่สุดในการดำเนินงาน” ผอ.ดีป้า กล่าว

เมื่อตัดสินใจพิจารณาแนวทางความเป็น Smart City ตามที่ระบุไว้ข้างต้นได้แล้ว ก็ไปสู่ขั้นตอนการพิจารณาหา “บุคคล” มาทำหน้าที่รับผิดชอบขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ เพื่อมุ่งไปสู่การเป็น Smart City อย่างแท้จริงต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งที่สร้างขึ้นมาเป็นเพียงแค่อนุสรณ์สถาน หรือสิ่งไร้ค่า ที่ใช้งบประมาณประเทศไปโดยเปล่าประโยชน์

“ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า สิ่งที่จะทำทั้งหมดใครจะเป็นคนบริหารรูปแบบ รัฐ หรือรัฐร่วมมือกับเอกชน หรือรัฐให้โอกาสเอกชนทำ”

ปัจจุบันในเขตส่งเสริมฯ ประมาณ 40 พื้นที่ที่ระบุขอเข้าเขตบ่มเพาะ เพื่อขยับสู่ขั้นตอนต่อไปที่จะเป็นเมืองอัจฉริยะ

ล่าสุดมีเมืองที่ผ่านเกณฑ์พิจารณาและเข้าสู่ข้อเสนอไปในอนุคณะกรรมการ Smart City แล้ว เมืองที่เข้ารอบนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ขนาดใหญ่ระดับจังหวัด ไปจนถึงขนาดเล็กรองมาอย่างระดับเทศบาล หรือแม้แต่เมืองเชิงตั้งที่เกิดขึ้นใหม่ 

ดร.ณัฐพล กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ว่าแต่ละเมืองจะใช้เวลาบ่มเพาะตนเองสู่การเป็น Smart City นานมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความสามารถ และการมีผู้นำหรือคนดำเนินการที่สามารถมองเห็นองค์ประกอบทั้งหมดของความเป็น Smart City ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

“บางเมืองอาจบ่มเพาะได้เร็ว เพราะมีการทำงานเป็นทีม มีความร่วมมือที่สอดคล้องสนับสนุนส่งเสริมกัน ทำให้วางแผนโครงการนโยบายออกมาได้รวดเร็ว” 

พัฒนาที่ไม่มีวันจบ

อย่างไรก็ตาม Smart City คือ การพัฒนาที่ไม่มีวันจบ เป็นการพัฒนาต่อยอดแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ทั้งหมดนี้ทางทีมงานจะต้องแสดงเจตนารมณ์ให้ชัดเจนว่าสิ่งที่จะทำมีขั้นตอนแบบแผนที่เขียนออกมาได้อย่าง ดีป้าจะประเมินให้ว่าควรจะใช้เวลาในการพัฒนานานแค่ไหน

ดีป้าจะลงไปทำงานร่วมกันกับฝ่ายเมืองอัจฉริยะโดยวางบทบาทเป็นที่ปรึกษาเพื่อช่วยให้เมืองได้รับการบ่มเพาะเร็วขึ้น เรียกว่าเป็นกระบวนการ Acceleration สำหรับคนบริหารเมือง

และสร้าง Smart City Ambassador เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ ทำงานในฐานะทูตตัวแทนโครงการ Smart City เพื่อสร้างความเข้าใจให้แต่ละพื้นที่ มีช่องทางการติดต่อ ดังนั้น กระบวนการบ่มเพาะสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะจะเร็วขึ้นตามไปด้วย 

การพัฒนา Smart City ย่อมมีโจทย์ที่แตกต่างกัน แต่สุดท้ายก็ต้องมีเป้าหมายบางอย่างร่วมกัน อาทิ การใช้ รายได้ที่เพิ่มมากขึ้นชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรือ GPP (Growth Potential Product) เป็นตัวขับเคลื่อน

สิ่งที่ดีป้าพยายามทำ คือ การหาสิ่งธรรมดาสามัญที่ทุกคนมองเห็นร่วมกันที่เป็นตัวชี้วัดตัวเดียวกันละทุกฝ่ายจะต้องเห็นพ้องต้องกัน

Smart Economy คือ รายได้ต่อครัวเรือนที่มากขึ้น ขณะที่ Smart Living คือ การลดอัตราการเกิดอาชญากรรมเทียบเท่าสัดส่วนประชากร หรือก็คือให้เกิดเหตุอาชญากรรมการทำร้ายปองร้ายต่าง ๆ ให้น้อยที่สุด 

Smart People คือ โอกาสทางการศึกษา ทำอย่างไรให้คนในพื้นที่นั้น ๆ ได้มีระยะเวลาในการเข้าถึงการศึกษาได้สูงขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก หรือแม้แต่เรื่องของ 

Smart Governance หรือการเข้าถึงการบริการของภาครัฐ แทนที่จะพูดเรื่องการให้บริการของรัฐอย่างทั่วถึงซึ่งเป็นโจทย์ที่ยาก ก็เปลี่ยนเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในการหาช่องทางติดต่อขอความช่วยเหลือหรือใช้บริการจากภาครัฐให้เป็นแทน 

ด้าน Smart Energy การประหยัดการใช้พลังงาน คือการให้ประชาชนมีความรู้ในการใช้พลังงานอย่างประหยัด คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ

สำหรับ Smart Environment จะวัดจาก 3 เรื่อง คือ ขยะ อากาศ และการจัดการน้ำ ซึ่งก็คือ ขยะลดลง น้ำสะอาดขึ้น อากาศดีขึ้น แม้จะดีขึ้นเพียงเล็กน้อยก็ถือได้ว่าบรรลุเป้าหมายของการเป็น Smart City ไปอีกขั้นแล้วเช่นกัน  

ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ดีป้าตั้งเป้าขยาย Smart City ให้ได้ 100 เมือง ภายในปี 2568 ซึ่งจากจำนวน 40 เมือง คาดว่ามี 7 เมืองที่ประสบความสำเร็จเป็นเมืองต้นแบบตามนโยบาย

ยิ่งไปกว่านั้น การที่เทคโนโลยีดิจิทัลก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้ ดิจิทัล ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำจัดความเรื่องการเป็นเมืองอัจฉริยะ แต่ก็

ไม่ได้หมายความว่า ดิจิทัล คือทั้งหมดของ Smart City และเมืองที่ยังไม่มีระบบดิจิทัล ไม่สามารถเป็น Smart City ได้

การทำให้การดำรงชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่ดีขึ้นได้ ดีป้า ก็ถือได้ว่า Smart City แล้ว ดิจิทัลเป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยให้การดำรงชีวิตในแต่ละด้าน Smart ขึ้น สะดวกสบายขึ้น และดีขึ้น

“สิ่งที่ต้องเข้าใจให้ตรงกัน ก็คือ Smart City เป็นเรื่องที่ไม่มีวันจบ โดยที่ในต่างประเทศ ถึงกับใช้คำว่า Smarter city โดยหมายถึงเมืองอัจฉริยะที่ดีกว่า ซึ่งคำว่าดีกว่า ก็สื่อถึงการพัฒนาต่อยอดให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ นั่นเอง”  

เป้าหมายของแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ในเมืองอาจจะเป็นบริบทหนึ่ง นอกเมืองก็อาจจะเป็นอีกบริบทหนึ่ง นำไปสู่การทำงานของดีป้าที่มุ่งจะตอบโจทย์ให้ได้ว่าทำอย่างไรเมืองไทยจะสามารถเดินหน้าไปได้ภายใต้ความหลากหลายและความซับซ้อนที่แตกต่างที่มีอยู่นี้ได้

หัวใจ Smart City คือ การผสมผสาน

การสร้าง Smart City ให้เกิดขึ้น ไม่มีรูปแบบหลักสูตรที่ตายตัว และไม่ได้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง ดร.ณัฐพล มองว่า กุญแจสำคัญ คือ การบูรณาการองค์ความรู้ ทักษะความเชี่ยวชาญของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยต้องสอดคล้องกับบริบทแวดล้อม

เช่น กรณีที่รัฐจะเป็นหัวเรือหลักเข้าไปดำเนินการก็ต้องเป็นโครงการพัฒนาในเชิงโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ถนน รถไฟ ขณะที่รัฐจับมือกับภาคเอกชน เหมาะสำหรับธุรกิจที่รัฐกำลังเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในพันธกิจหรือหน้าที่ของรัฐ เพราะรัฐเห็นว่าน่าจะให้โอกาสเอกชนในบางเรื่อง เพื่อให้เกิดบริการที่ดีขึ้นกับประชาชน 

ยกตัวอย่างเช่น การจัดการคลังสินค้า การติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อความปลอดภัยของประชาชน รัฐอาจดำเนินการร่วมกับเอกชนเพื่อให้เอกชนได้มีโอกาสเข้ามาบริหารจัดการ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาด้านการซ่อมบำรุงของภาครัฐได้ ส่วนการปล่อยให้เอกชนทำงาน 100% หมายความว่า รัฐมองเห็นแล้วว่าไม่ใช่หน้าที่ของรัฐ 

ทั้ง 3 รูปแบบที่กล่าวมาข้างต้น จึงนำมาใช้ในรูปแบบวิธีการที่แตกต่างกัน ดังนั้น 

“เมื่อลงพื้นที่ ถ้าเป็นงานรับผิดชอบของรัฐ รัฐต้องดำเนินการ แต่ถ้าเปิดให้เอกชนร่วมด้วยได้ ดีป้าจะ Matching ภายใต้โซลูชันใดโซลูชันหนึ่ง และเอกชนลุยเดียวเลยก็ให้มาตรการจูงใจ” 

Data หนึ่งปัจจัยขับเคลื่อน Smart City

การพัฒนา Smart City จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีข้อมูลของประชาชน ตลอดจนความเคลื่อนไหวในพื้นที่ การดำเนินการต่าง ๆ การบริหารจัดการข้อมูลเป็นพื้นฐานที่จะตั้งโจทย์และต่อยอดไปสู่การเป็น Smart City ที่เหมาะสมกับเมือง ๆ นั้นได้ 

“สิ่งสำคัญ ก็คือ การรู้จักใช้ข้อมูลในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การดำเนินการทุกอย่างขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนกับการใช้ข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งจะทำให้เกิดพลังในการดำเนินการในพื้นที่” ดร.ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ