TH | EN
TH | EN
spot_imgspot_imgspot_img
หน้าแรกColumnistปัญหาการพัฒนา "บุคลากรด้านไอที" จากอดีตจนปัจจุบัน

ปัญหาการพัฒนา “บุคลากรด้านไอที” จากอดีตจนปัจจุบัน

ผมเรียนจบปริญญาเอกแลัวกลับไปสอนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นในต้นปี พ.ศ. 2538 ช่วงนั้น ผู้คนเริ่มให้ความสนใจกับการใช้คอมพิวเตอร์มาระยะหนึ่งแล้ว และมีสถาบันการสอนคอมพิวเตอร์ที่เป็นหลักสูตรสั้น ๆ อยู่มากมาย ซึ่งผู้เรียนจำนวนหนึ่งมีความสนใจที่จะมาเรียนรู้การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐานเบื้องตันอย่างการใช้ Windows, Word Processor หรือ Spreadsheet

-เมื่อเข้าสู่การเล่น “เว็บเบราว์เซอร์” ในปี 2537
-การเล่นอินเทอร์เน็ตในยุคแรก ปี 2534-2535

นอกจากนี้ เริ่มจะมีหลักสูตรการเรียนปริญญาตรีที่เป็นการสอนการใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานมากขึ้น ซึ่งเรียกว่า หลักสูตรคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ที่สอนทั้งในระดับปริญญาตรี ปวส. หรือปวช. โดยมีเป้าหมายที่แตกต่างจากการสอนสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่สอนการพัฒนาโปรแกรม และทฤษฎีคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ หลักสูตรด้านธุรกิจคอมพิวเตอร์ในเวลานั้นได้รับความสนใจจากผู้เรียนจำนวนมาก เพราะคอมพิวเตอร์กำลังเป็นที่น่าสนใจและมีความต้องการบุคลากรเข้ามาทำงาน

ในช่วงปี 2538 เริ่มมีการวางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ผู้คนเริ่มสนใจจะใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น และผู้ที่มีความรู้ในการใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตเป็นที่ต้องการของหน่วยงานต่าง ๆ เป็นจำนวนมากเพราะยังเป็นเรื่องใหม่ในบ้านเรา สถาบันการศึกษาหลายแห่งจึงแห่กันเปิดหลักสูตรที่ผลิตบัณฑิตออกมาที่สามารถเป็นผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานด้านธุรกิจหรือที่เรียกว่า Superuser ออกมา

เนื่องด้วยความต้องการของตลาดมีมาก และสาขาคอมพิวเตอร์กำลังเป็นที่นิยมของคนเรียน ทำให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ พัฒนาหลักสูตรรูปแบบต่าง ๆ เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ออกมามากมาย แต่เนื่องจากพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาคอมพิวเตอร์ ส่วนหนึ่งต้องการด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่ดี แต่บางครั้งผู้เรียนอาจไม่ถนัดวิชาเหล่านี้ หลักสูตรด้านคอมพิวเตอร์หลาย ๆ หลักสูตรเลยลดวิชาเหล่านี้ออกไป เพื่อให้นักศึกษาที่เข้าเรียนสามารถจบการศึกษาได้ในเวลาที่กำหนด

ในยุคแรก ๆ บัณฑิตที่จบมาตามหลักสูตรเหล่านี้ยังเป็นที่ต้องการเพราะคนจำนวนมากยังไม่ถนัดกับการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมากนัก แต่พอการใช้คอมพิวเตอร์มีความแพร่หลายมากขึ้นและคนทำงานที่มีความเชียวชาญสาขาอื่น เช่น บัญชี การเงิน การตลาด สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ ความต้องการ Superuser ด้านคอมพิวเตอร์เลยมีน้อยลง แต่มีความต้องการนักพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือนักไอทีที่แท้จริงมากขึ้น เราก็กลับพบว่าหลักสูตรที่พยายามสร้างบัณฑิตด้านไอทีออกมาเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถพัฒนาคนที่สามารถเขียนโปรแกรมได้โดยจริง เพราะขาดวิชาพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ที่จำเป็น

เรื่องนี้ทำให้ผมเทียบกับตัวเองว่าสมัยผมเรียนมีคณะวิศวกรรมศาสตร์อยู่เพียงแค่ 8 สถาบันรวมบัณฑิตทางด้านทั้งหมดไม่เกิน 2 พันคน ผมเองจบมาก็ไม่ได้มีความพร้อมหรือมีทักษะตรงกับที่อุตสาหกรรมต้องการทันที จบไปก็ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม

และถ้าพูดถึงทางด้านคอมพิวเตอร์ผมก็เรียนมาแค่วิชาเดียว คือ การเขียนโปรแกรมภาษา Fortran IV แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้จากหลักสูตรคือวิขาคณิตศาสตร์ ที่เรียนมา 8-9 วิชา และก็ผมถูกสอนให้เรียนรู้เพิ่มเติมครับ คือ Learn to Learn ก็ไม่ต้องแปลกใจครับ แม้ผมจะเรียน Programming มาตัวเดียว แต่เพราะพื้นฐานคณิตศาสตร์ที่ดีทำให้ผมสามารถเขียนโปรแกรมภาษาใหม่ เรียนรู้วิชาตามเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ดี

วิชาหนึ่งที่ผมสอนนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์เป็นประจำ ก็คือ วิชา Basic Programming ที่เราเปลี่ยนภาษามาสอนตลอดจาก Fortran เป็น Pascal เป็น C เป็น C++ เป็น Java แต่ไม่ว่าจะสอนภาษาอะไรก็ตาม พอตัดเกรดนักศึกษาที่ไรก็ตกเป็นจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นนักศึกษาเราเมื่อเทียบกับสถาบันอื่น ๆ ใกล้เคียงกัน จัดอยู่ในกลุ่มค่อนข้างเก่ง

แต่เมื่อตอนหลัง ๆ พอเราเริ่มมีการรับนักศึกษามากเข้า สถาบันการศึกษาหลาย ๆ แห่ง ที่มีคะแนนสูงกว่าเพิ่มจำนวนรับนักศึกษา จำนวนนักศึกษาวิศวฯ ที่ตกวิชา Basic Programming ก็เพิ่มขึ้นตาม บางครั้งเกือบ 50% บางทีเราก็ต้องชี้แจงให้ฟังว่า ทีมที่สอนไม่ได้โหด ข้อสอบก็เหมือนเดิมเผลอ ๆ ง่ายกว่าสมัยก่อนด้วยซ้ำไป

แต่เรารับนักศึกษามาเยอะไปและนักศึกษาอ่อนวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเขียนโปรแกรม ดังนั้น ไม่แปลกใจข้อสอบที่ออกให้หาค่าเฉลี่ยหรือผลรวมข้อมูลบางอย่างนักศึกษาจะทำไม่ได้ ก็เพราะนักศึกษาไม่เข้าใจเรื่อง ตรรกศาสตร์ อนุกรม ดีพอ แล้วจะเขียนโปรแกรมได้อย่างไร

ยิ่งเมือเห็นคะแนนคณิตศาสตร์ของเด็กไทยที่ตกยกชั้น ก็ยิ่งไม่แปลกใจหรอกครับว่า ทำไมเด็กเราถึงมาเป็น Programmer ไม่ได้ ก็คณิตศาสตร์เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาโปรแกรม แต่ทางแก้ของเรากลับเป็นว่า นักศึกษาเรียนไม่ไหวก็ลดวิชาทางคณิตศาสตร์ไป จัดหลักสูตรให้ง่ายขึ้นเอาคนนอกวงการศึกษาที่ไม่ได้พัฒนาซอฟต์แวร์มาพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาซอฟต์แวร์ อ้างว่าต้องการให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมทั้ง ๆ ที่หลักสูตรพื้นฐานเป็นเรื่องจำเป็น เราไม่สามารถที่จะสอนเพียงเพื่อให้รู้อะไรเพียงผิวเผิน หรือฝึกทำตาม Tool บางอย่างได้ พอเทคโนโลยีเปลี่ยนไป เราจะพบว่าคนเหล่านั้นก็จะทำงานไม่ได้เพราะขาดพื้นฐานการเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ที่ดีพอ

อีกประเด็นที่สำคัญ คือ ปัจจุบันอุดมศึกษามีตัวชี้วัดที่จำนวน ตอนหลังเราตั้งเกณฑ์มาว่าสถาบันการศึกษาจะต้องไม่ตกออกเยอะ จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาต้องมีเปอร์เซ็นต์ที่สูงเมื่อเทียบกับจำนวนนักศึกษาที่รับเข้ามา ดังนั้น อาจารย์ยิ่งไม่กล้าที่จะทำให้นักศึกษาสอบตกวิชาใดวิชาหนึ่งเป็นจำนวนมาก ๆ เพราะกลัวจะตกคะแนนตัวชี้วัด ซึ่งต่างกับสมัยก่อนที่หลาย ๆ วิชามีนักศึกษาตกเกือบยกชั้นทั้ง ๆ ที่คุณภาพนักศึกษาเก่งกว่าปัจจุบัน

ดังนั้น เมื่อสาขาไอทีได้รับความสนใจมากขึ้น สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างก็เปิดหลักสูตรทางด้านไอทีและเพิ่มจำนวนรับ มีทั้งสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ สารสนเทศ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ เกม แอนนิเมชั่น สารพัดชื่อที่คิดมาได้ แต่พอมาดูเนื้อหาและผู้สอนแล้วก็ไม่แน่ใจว่ามีคุณภาพดีพอที่จะเปิดไหม

ตอนหน้าจะมาเล่าต่อว่าแล้ววิกฤตินี้เราควรจะแก้ยังไงในเมื่อวันนี้ประเทศต้องการบุคลากรทางด้านนี้มากขึ้น

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-เดลล์ ส่ง Latitude Chromebook Enterprise ใหม่ ตอบรับกระแสการทำงานได้ทุกที่
-โครงการ “SHE” ศาสตร์ใหม่แห่งการจัดสรีระเพียง 10 นาที สร้างรายได้สู่กลุ่มเปราะบาง
-เผย 4 เทรนด์ กระตุ้นตลาด Wellness ไทย พบ 6 ปัญหาสุขภาพฮิตคนไทย
-Save The Wild Protect The Sea ที่เกาะล้าน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ