TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistการเล่นอินเทอร์เน็ตในยุคแรก ปี 2534-2535

การเล่นอินเทอร์เน็ตในยุคแรก ปี 2534-2535

ช่วงเรียนปริญญาโทผมพยายามขอต่อทุนและปรับไปเรียนต่อปริญญาเอกเลย แต่ไม่เป็นผลสำเร็จเนื่องจากเงื่อนไขของการให้ทุนของรัฐบาลนิวซีแลนด์กำหนดให้ทุนแค่ปริญญาโท ผมเลยต้องกลับมาทำงานต่อที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นในเดือนพฤศจิกายน 2533 แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาแค่ 4 เดือนกว่า ผมก็ได้ทุน New Zealand Vice-Chancellor’s Scholarship ที่ทางมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ได้ขอให้ผมสมัครไว้ก่อนเรียนจบปริญญาโท ทุนการศึกษานี้มีค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายรายได้ที่ให้เรียนปริญญาเอก 3 ปี ผมเลยตัดสินใจกลับไปเรียนต่อปริญญาเอกอีกในเดือนกุมภาพันธ์ 2534

การมาเรียนปริญญาเอกไม่มีวิชาที่ต้องเรียนเพิ่ม แต่จะเป็นการทำวิทยานิพนธ์อย่างเดียว ซึ่งผมยังเลือกทำวิทยานิพนธ์ทางด้าน Image Processing เหมือนเดิม แม้ช่วงนั้นเพื่อนหลาย ๆ คนจะสนใจมาทำทางด้าน Neural Network ซึ่งเป็นพื้นฐานของเรื่อง Deep learning ที่กำลังดังทางด้านไอเออยู่ในปัจจุบันนี้ก็ตาม แต่ตอนนั้นผมงง ๆ ว่าเพื่อน ๆ ทำอะไรกัน เห็นเอาแต่วาดรูปวงกลม ทำโหนดต่าง ๆ มาเชื่อมต่อกัน และมีสมการคณิตศาสตร์บางตัวที่ต้องวิเคราะห์ ซึ่งดูแล้วสมัยนั้นยังไม่น่าตื่นเต้นเท่ากับการได้ประมวลผลรูปภาพต่าง ๆ 

การทำงานวิจัยหลัก ๆ ยังเป็นการเน้นด้านการค้นหาบทความวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง การคำนวณสมการคณิตศาสตร์ และการเขียนโปรแกรมที่โดยมากเป็นภาษา C หรือไม่ก็เขียน Script ด้วยโปรแกรม MatLab ที่เหมาะกับการใช้ในคำนวณบนเครื่องคอมพิวเตอร์ IBM PC 80386 ส่วนงานด้านอื่น ๆ ก็อาจเป็นการทำบทความ การเขียนเอกสารโดยใช้โปรแกรมบนเครื่อง Macintosh เหมือนเดิม

ต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องใหม่สำหรับผมในตอนนั้น คือ การเริ่มได้ใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงปลายปี 2534 ซึ่งเป็นการเปิดให้ผมเริ่มสามารถติดต่อกับคนไทยหรือเพื่อนต่างชาตินอกประเทศบางคนได้ โดยเฉพาะเรื่องของการรับข่าวสารเมืองไทย เพราะในยุคก่อนหน้าจะมีอินเตอร์เน็ตนั้น การจะได้ทราบข่าวเมืองไทยเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากสำหรับกลุ่มคนไทยและนักเรียนไทยในต่างประเทศ

ช่องทางการทราบข่าวสารเมืองไทยของผมหลัก ๆ ก็คือ จดหมายจากพ่อและแม่ รวมถึงหนังสือรายสัปดาห์ที่ท่านพยายามส่งมาเป็นประจำ แต่กว่าจะได้ข่าวก็ล่าช้าหลายสัปดาห์

การสื่อสารที่ทำได้ ก็คือ การเขียนจดหมายเล่าข่าวสารกัน แต่กว่าจะโต้ตอบกันไปมาได้ก็ใช้เวลา 3-4 สัปดาห์

อีกช่องทางหนึ่งที่ผมสามารถได้ข่าวสารเมืองไทยในสมัยนั้น ก็คือ การไปอ่านหนังสือพิมพ์ในห้องสมุดมหาวิทยาลัย ซึ่งจะมีมุมหนึ่งที่เก็บหนังสือพิมพ์ต่างชาติรวมทั้งหนังสือพิมพ์ไทยย้อนหลัง ซึ่งส่งมาให้ห้องสมุด บางทีผมใช้เวลาเป็นชั่วโมงนั่งอยู่ในห้องสมุดเพื่ออ่านข่าวสารในเดือนก่อนหน้านั้น แมัจะเป็นข่าวย้อนหลัง แต่ช่วยทำให้ดับกระหายคนที่ไม่ทราบข่าวต่าง ๆ ของบ้านเมืองอย่างผมได้บ้าง

ภาพจาก https://www.cs.auckland.ac.nz/historydisplays

ในช่วงนั้นประเทศนิวซีแลนด์ได้มีการต่อสาย Fiber Optic เครือข่าย PACRIM ที่เชื่อมโยงไปยังเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วโลกได้ ทำให้เราสามารถส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่การใช้อินเตอร์เน็ตในยุคนั้นไม่ได้มี  World Wide Web ที่มีเบราว์เซอร์เป็นกราฟิกสวยงามอย่างทุกวันนี้ และความเร็วของอินเทอร์เน็ตก็อยู่ที่เพียง 64 kbps การใช้งานจึงเป็นเพียง Text mode ที่นอกจากส่งอีเมลก็เป็นเรื่องของการอ่านกระดานข่าว (Newsgroup)

แม้จะมีอีเมลแต่ปัญหาที่สำคัญคือไม่ทราบว่าจะส่งหาใครเพราะคนที่รู้จักก็ยังไม่ได้ใช้อินเตอร์เน็ต ตอนนั้นในประเทศไทยอินเทอร์เน็ตยังไม่ใช่เป็นการใช้งานชนิดเต็มรูปหากแต่เป็นการแลกเปลี่ยนข่าวสาร ด้วยอีเมลโดยใช้ระบบ MSHnet ละ UUCP โดยทางออสเตรเลียจะโทรศัพท์เชื่อมเข้ามาสู่ระบบวันละ 2 ครั้ง โดยมี Gateway สองแห่งคือที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ซึ่งมีศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีผศ.วุฒิพงศ์ เตชะดำรงสิน  เป็นผู้ผลักดัน

ทั้งนี้ การใช้งานอินเทอร์เน็ตชนิดเต็มรูปแบบตลอด 24 ชั่วโมงในประเทศไทยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2535 โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เช่าวงจรสื่อสารความเร็ว 9600 bps เพื่อเชื่อมเข้าสู่อินเทอร์เน็ตที่บริษัท UUNET Technologies ประเทศสหรัฐอเมริกาภายใต้ข้อตกลงกับ NECTEC ในการพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของสถาบันอุดมศึกษา

และในเดือนธันวาคมปีเดียวกันมีหน่วยงาน 6 แห่งที่เชื่อมต่อแบบออนไลน์โดยสมบูรณ์ ได้แก่ NECTEC จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เครือข่ายที่ก่อตั้งมี ชื่อว่า “ไทยสาร” ( Thaisarn ) และมีผู้ใช้ในวงจำกัด

ในช่วงยุคแรกของการเล่นอินเทอร์เน็ตจะเป็นการใช้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ระบบปฎิบัติการ UNIX โดยผู้ใช้ต้องเรียนรู้คำสั่งให้เข้าใจก่อนใช้งาน เช่น คำสั่ง Telnet ในการติดต่อเครื่อง Server เพื่อเข้าควบคุมการทำงานของเครื่อง ปิดเปิดบริการ รับส่งเมล ใช้พัฒนาโปรแกรม เป็นต้น 

และอีกบริการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ USENET เพราะเป็นแหล่งข้อมูลให้สืบค้นขนาดใหญ่ สามารถส่งคำถาม เข้าไปตอบคำถาม แสดงความคิดเห็น ทำให้เกิดสังคมของการแลกเปลี่ยนข่าวสาร และหนึ่งกลุ่มที่ผมจะเข้าไปอ่านทุกเช้า คือ กลุ่มที่ชื่อว่า soc.culture.thai ที่มีนักข่าวและคนไทยบางกลุ่มส่งข้อความข่าวสารให้เป็นประจำ

และเราก็สามารถที่จะถามตอบคำถามกับคนในกลุ่มได้ ซึ่งเราจะได้ความกรุณาจากข่าวสารที่ส่งมาจากผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The Nation และ Bangkok Post  หนึ่งท่านที่ได้ช่วยทำให้กลุ่มนี้มีคุณค่าอย่างมาก คือ คุณตฤณ ตัณฑเศรษฐี ซึ่งตอนนั้นอยู่บริษัท DEC (Thailand) ที่มีเครือข่ายเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอยู่ และเป็นบุคคลสำคัญอีกท่านที่ช่วยบุกเบิกระบบอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย และภายหลังก็มารับตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทอินเทอร์เน็ต ประเทศไทย 

แม้จะบอกว่า USENET มีคนใช้กันอย่างแพร่หลายแต่ในยุคนั้นก็ยังถือว่าน้อยมาก คิดว่าคนในประเทศไทยที่ใช้มีเพียงไม่ถึงร้อยคนที่เข้ามาร่วมคุยในกลุ่ม soc.culture.thai เพราะขนาดสถิติการใช้ในปี 2539 ยังผู้อ่านเพียง 39,000 คนทั่วโลกและมีข้อความเพียงเดือนละ 2,035 ข้อความ

แต่การติดตามข่าวสารใน USENET ก็ทำให้ผมได้รับข่าวสารต่าง ๆ ที่รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะการเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535  ก็ดูเหมือนว่าช่องทางการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตในกลุ่ม soc.culture.thai เป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ช่องทางที่เราสามารถจะนำข่าวสารเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยออกไปสู่โลกภายนอกได้

ประสบการณ์การเล่นอินเทอร์เน็ตยุคแรก แม้จะไม้ได้มีความรวดเร็วและน่าใช้เท่าในยุคปัจจุบัน แต่มันก็เป็นการเปิดโอกาสครั้งแรกที่ทำให้นักศึกษาในต่างแดนอย่างผมสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้คนในประเทศไทยได้รวดเร็วกว่าการส่งจดหมายแบบเดิม และไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเหมือนการโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่แพงมากในยุคนั้น

 แหล่งข้อมูล

  1. https://en.wikipedia.org/
  2. https://sites.google.com/site/nangsawwrrnratnsenbaw/prawati-khwam-pen-ma-khxng-xinthexrnet-internet-history/xinthexrnet-ni-prathesthiy
  3. https://sites.google.com/site/mytmccraft/xintexrnet
  4. http://www.nangsue.nl/sct/www/general.html

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ