TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเมื่อเข้าสู่การเล่น "เว็บเบราว์เซอร์" ในปี 2537

เมื่อเข้าสู่การเล่น “เว็บเบราว์เซอร์” ในปี 2537

หลังจากที่เล่นอินเทอร์เน็ตในกลุ่ม USENET ที่เป็น Text mode อยู่พักใหญ่ ก็เริ่มมีจุดเปลี่ยนแปลง คือ การเข้ามาของ “เว็บเบราว์เซอร์” ซึ่งในยุคนั้นไม่ใช่เว็บเบราว์เซอร์ตัวที่เราคุ้นเคยอย่าง Internet Explorer, Chrome หรือ Safari ในทุกวันนี้ แต่เบราว์เซอร์ตัวแรกที่ผมเล่น คือ Mosaic สมัยนั้นต้องเล่นกับเครื่อง SPARC ของ Sun Microsystems และความเร็วของอินเทอร์เน็ตสมัยนั้นยังช้ามาก ๆ กว่าจะโหลดดูแต่ละหน้าถ้าเดินไปทานกาแฟแก้วหนึ่งแล้วเดินกลับมาบางทียังโหลดไม่เสร็จเลยถ้าภาพเยอะ ๆ

จริง ๆ แล้วผมก็ได้เริ่มเล่นเว็บตั้งแต่ยุคต้น ๆ เพราะ WWW (World Wide Web) เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2532 โดย Tim Berners-Lee จากสถาบัน CERN แห่งกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ริเริ่มคิดค้นด้วยการใช้เครื่อง Next เป็นเครื่องแรกของโลก ในการบริการเว็บ (Web Server) ผ่านโปรโตคอล HTTP ส่วนเว็บไซต์แรก คือ World Wide Web Project Project ถือกำเนิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2535 และเริ่มเพิ่มเป็น 10 เว็บไซต์ในปี 2536 ส่วนผมเองเริ่มเข้ามาเล่นในพ.ศ. 2537 ซึ่งตอนนั้นมีเพียง 2,738 เว็บไซต์ และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกจำนวน 25,454,590 ล้านคน เมื่อเทียบกับจำนวนเว็บไซต์ทั่วโลกที่ 1,794.9 ล้านเว็บไซต์ในปัจจุบัน

เบราว์เซอร์ตัวแรกของโลก คือ WorldWideWeb ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อ Nexus จากนั้นก็มีเบราว์เซอร์อีกตัวที่ออกมาคือ Lynx แต่ทั้งสองตอนนั้นสามารถแสดงเฉพาะได้ข้อความ (Texted-based browser) จนกระทั่งมี Mosaic ที่เป็นเว็บเบราว์เซอร์ตัวแรกที่สามารถแสดงรูปภาพได้ออกมาในพ.ศ. 2537 หลังจากนั้นก็เป็นยุคของ Netscape Navigator ก่อนที่บริษัทไมโครซอฟต์จะออก Internet Explorer ในปีพ.ศ. 2539

โดย Netscape ครองเจ้าตลาดจนถึงกลางปีพ.ศ. 2541 ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่คนที่เล่นอินเทอร์เน็ตในยุคแรก ๆ จะคุ้นเคยกับการเล่นเว็บเบราว์เซอร์ Netscape Navigator เป็นอย่างดี

เว็บไซต์ในยุคนั้นเป็นสิ่งที่ช้ามาก ถ้าผมเลือกได้ก็จะเล่น newsgroup เสียมากกว่าเพราะตอบโต้ได้เร็วกว่า แต่เว็บไซต์ที่ผมพยายามเข้าไปดูในช่วงนั้น คือ เว็บของมหาวิทยาลัย Hiroshima ซึ่งตอนนั้นเมือง Hiroshima ได้จัด Asian Games และเป็นประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน และก็มีรายงานผลอัปเดตผ่านเว็บไซต์ที่เขาจัดทำขึ้น แม้ในแต่ละวันจะไม่แสดงผลมาบ่อยนัก แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นที่เราเริ่มเห็นผลกีฬาได้อย่างรวดเร็วกว่าการตามข่าวหนังสือพิมพ์ หรือรออ่านจาก newsgroup ในอินเตอร์เน็ตที่จะล่าช้ากว่ามาก

อีกเรื่องหนึ่งที่สมัยเรียนปริญญาเอกที่ยังไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้ในสมัยนั้น ก็คือ ระบบปฎิบัติการ เพราะในยุคนั้นเครื่องไมโครพิวเตอร์พีซียังใช้ MSDOS และก็เริ่มมี Windows 3 ที่เริ่มออกมาแล้วดูน่าใช้ขึ้น แต่ช่วงนั้นคู่แข่งรายอื่น ๆ ยังพยายามที่ออกระบบปฎิบัติการมาแข่ง

ตัวอย่างหนึ่งคือ บริษัท IBM ซึ่งใช้ระบบปฎิบัติการ PCDOS ได้ออก OS/2 มา และผมยังจำได้ว่าช่วงนั้นมีการโฆษณาระบบปฎิบัติการ OS/2 Wrap ซึ่งมีระบบกราฟิกที่สวยงานมาออกมาดูน่าใช้ ตัวผมเองยังไปต่อคิวรอซื้อโปรแกรมนั้น แต่สุดท้ายใช้ได้ไม่นานก็หันกลับมาใช่ค่ายไมโครซอฟท์เหมือนเดิม จนในปัจจุบัน Microsoft Windows ได้กลายเป็นเจ้าตลาด

ประโยชน์ของการใช้อินเทอร์เน็ตอีกอย่างที่ผมได้ในสมัยเรียน คือ การเชื่อมต่อไปใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ต่างสถาบัน ในสมัยนั้นผมเขียนโปรแกรมด้านปัญญาประดิษฐ์ที่ต้องการเครื่องคอมพิวเตอร์ความเร็วสูง โดยจำเป็นต้องใช้เครื่อง Mini-supercomputer ที่ชื่อ MASPAR ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ที่มีโปรเซอร์เซอร์แบบคู่ขนานจำนวนมาก ทำให้เราสามารถเขียน Parallel Programing ได้ เครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ที่ Queenland University ผมต้อง Remote login เข้าไป แล้วส่งคำสั่งเข้าไปรัน แม้เครื่องคอมพิวเตอร์จะเร็วมากแต่เนื่องจากโปรแกรมค่อนข้างซับซ้อนบางทีต้องใช้เวลาข้ามวันกว่าจะได้ผลลัพธ์ออกมา บางทีเขียนโปรแกรมบางตัวใช้เวลาเป็นอาทิตย์

ถ้าเป็นในปัจจุบันนี้เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ทำงานได้เร็วกว่าเดิมมากเผลอ ๆ minisupercomputer ตอนนั้นอาจใช้คอมพิวเตอร์ที่มี Graphic Processing Unit เหมือนที่ใช้มาทำ AI ในทุกวันนี้ทำได้ หรือไม่ก็ไปรันบนระบบ Cloud Computing ได้สบาย ๆ

ผมเรียนปริญญาเอกอยู่ 4 ปี ได้ประสบการณ์การใช้คอมพิวเตอร์มากมาย ทั้งการใช้อินเทอร์เน็ต การเขียนโปรแกรม การติดตั้งฮาร์ดแวร์ ตอนนั้นพอก่อนจบกลับไปก็กังวลว่ากลับไปทำงานแล้ว เราจะมีอินเทอร์เน็ตดีเท่าที่นิวซีแลนด์ไหม แต่ที่น่าดีใจ คือ ก่อนจะจบการศึกษาก็เริ่มติดต่อทางอีเมลกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้แล้ว ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าบ้านเราสามารถตามเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ทันเป็นอย่างดี

แหล่งข้อมูล
https://en.wikipedia.org/
https://www.internetlivestats.com/total-number-of-websites/
https://crossbrowsertesting.com/blog/test-automation/history-of-web-browsers/

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ