TH | EN
TH | EN
หน้าแรกCIO Series3 ทศวรรษเส้นทาง CIO: CIO ยุคใหม่ต้องจินตนาการล้ำ

3 ทศวรรษเส้นทาง CIO: CIO ยุคใหม่ต้องจินตนาการล้ำ [EP1]

บทความชุด “กว่า 3 ทศวรรษบนเส้นทาง CIO” จำนวน 5 ตอน เป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดประสบการณ์และมุมมองของ ‘สมคิด จิรานันตรัตน์’ ผู้นำความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาสู่องค์กรธุรกิจทั้งภาครัฐและเอกชนในฐานะ Chief Information Officer (CIO) มืออาชีพ จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการการเงิน และตลาดทุน รวมถึงบริการภาครัฐภายใต้แอปชื่อดังว่า “เป๋าตัง”

CIO หรือ Chief information officer ผู้บริหารสูงสุดสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กรเป็นตำแหน่งที่มีมานานหลายสิบปี แต่เมื่อเวลาผ่านไป ๆ เทคโนโลยีเพิ่มบทบาทในองค์กรมากขึ้น ๆ ไม่ใช่เป็นเพียงตัวช่วยเหลือธุรกิจเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนความก้าวหน้าขององค์กร หน้าที่ของซีไอโอจึงยิ่งกว้างไกลกว่าเดิมและไม่มีสิ้นสุด

ความสำคัญจะมากมายขนาดไหน ซีไอโอแถวหน้า “สมคิด จิรานันตรัตน์” มีข้อมูลมาแบ่งปัน ในฐานะผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงที่คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจการเงินการธนาคารมากว่า 30 ปี เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการบุกเบิกงานออนไลน์ให้กับองค์กรขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่การซื้อขายหุ้นออนไลน์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แอป K PLUS ของธนาคารกสิกรไทย ไล่มาถึงแอปเป๋าตัง ของธนาคารกรุงไทย ที่มีผู้ใช้หลายสิบล้านบัญชี และนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการดึงดูดคนไทยทุกเพศวัย ทั้งใกล้และไกล ให้เข้าถึงธุรกรรมการเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือเงินดิจิทัล

ภาระหน้าที่ที่ไม่มีขอบเขตสิ้นสุด

พบซีอีโอมืออาชีพทั้งทีต้องเปิดประเด็นให้ ‘สมคิด’ อธิบายคำว่า ‘ซีไอโอ’ คือใคร พร้อมด้วยบทบาทหน้าที่ ศักยภาพ และวิสัยทัศน์ที่ควรมีกันสักนิด

“ซีไอโอไม่มีเส้นแบ่งขอบเขตสิ้นสุด” สมคิด ถ่ายทอดมุมมองด้วยท่วงท่าสบาย ๆ พร้อมเสริมว่า “ผมอาจไม่มีคำตอบชัดว่า ซีไอโอมีสโคปแค่ไหน แต่ยอมรับว่า (ซีไอโอ) ต้องเป็นคนที่อยู่ในแวดวงเทคโนโลยี เป็นคนที่เข้าใจเทคโนโลยีได้ดีที่สุดในองค์กร ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของซีไอโอแต่ละคน หรือลักษณะของงานเทคโนโลยีในแต่ละองค์กร”

สมคิด จัดแบ่งการทำงานของซีไอโอเป็น 4 ยุคตามแต่ละองค์กรมอบหมายภาระหน้าที่ โดยบางองค์กรมอบการทำงานด้านเทคโนโลยีภายในองค์กรให้แก่ซีไอโอเท่านั้น หรือบางแห่งอาจมีการให้บริการลูกค้าต่อไปยังอินเทอร์เน็ต เพียงเท่านี้ก็ใช้เวลาของซีไอโอไปเกิน 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ซึ่งการทำงานระดับนี้ถือเป็นซีไอโอของการทำงานยุคที่ 1 และยุคที่ 2

พอถึงการทำงานยุคที่ 3 ที่ต้องใช้เทคโนโลยีดูแลไปถึงการให้บริการลูกค้า พฤติกรรมลูกค้า หรือสตาร์ทอัพเพิ่งเกิดใหม่ๆ ไม่ต้องเน้นการพัฒนาในองค์กร แต่ไปเน้นที่ระบบงานบริการ การรองรับพฤติกรรมลูกค้า การแก้ไขปัญหา แก้ไขเรื่องราวต่างๆ ที่มองเห็น โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวนำ ดังนั้น คนที่มาดูแลงานตรงนี้จึงใช้คำว่า CTO หรือ Chief Technology Officer แทนซีไอโอ

แม้กระทั่งองค์กรขนาดใหญ่ที่ซีไอโอมีงานมาก เมื่อเกิดดิสรัปชั่นขึ้น องค์กรต้องการคนมาดูแลเรื่องดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชัน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องวัฒนธรรมองค์กร มายเซ็ต และบริการแบบใหม่ๆ ที่ต้องอาศัยนวัตกรรมมาก ซีไอโอไม่มีเวลาไปคิดเรื่องที่ขอบเขตเพิ่มขึ้นมากมายนี้ บางองค์กรจึงต้องตั้งตำแหน่งซีทีโอมาทำงานลักษณะแบบใหม่แทน

อย่างไรก็ตาม องค์กรที่มีซีไอโอเก่งจนสามารถขยายความรับผิดชอบออกไปถึงงานแบบใหม่ได้ก็จะมีผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศสูงสุดตำแหน่งเดิมทำงานครอบคลุมออกไป หรือกรณีมีทีมแข็งแกร่ง ซีไอโอเพียงดูภาพกว้างคนเดียวก็เชื่อมต่องานของเก่ากับของใหม่ถึงกันได้ จึงดูแลทั้งงานลักษณะเดิมและงานใหม่อย่างดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่นควบคู่กันไป

“องค์กร หรือซีไอโอที่ทำแบบนี้ได้อาจมีไม่มากนัก แต่ผมเห็นว่ามีประโยชน์ เพราะเป็นการดูจุดเชื่อมต่อเทคโนโลยีที่ใช้งานแบบเดิมกับเทคโนโลยีที่ใช้งานแบบใหม่ ซึ่งจริงๆ แล้วทั้งสองจุดต้องเชื่อมกันได้”

ซีไอโอยุคที่ 4 ต้องเปี่ยมจินตนาการ

เมื่อการทำงานสายเทคโนโลยีสารสนเทศมาถึงยุคที่ 4 แรงผลักดันของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้มีความยากในการคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในอนาคตอันใกล้ ส่งผลให้ซีไอโอต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้มีจินตนาการด้วย หรือจะเรียกว่าเป็น Chief Imagination Officer ก็ได้

“ซีไอโอ ที่เป็น Chief Imagination Officer นั้นมีน้อยมาก ดังนั้น หลายองค์กรยังต้องค้นหา หรือบางทีผู้บริหารระดับซีอีโอต้องมาเล่นบทนี้เอง ทำหน้าที่ศึกษารูปแบบธุรกิจที่จะเปลี่ยนไป หลายๆ องค์กร ซีอีโอ หรือเจ้าของต้องการเล่นเอง”

ในยุคของธุรกิจแห่งจินตนาการ ซีไอโออาจจะต้องคอยโน้มน้าวคณะกรรมการบริหาร หรือซีอีโอ ว่าต้องเปลี่ยนไปทำอะไรใหม่ๆ ทั้งที่ยังไม่รู้ว่ารูปแบบใหม่จะสร้างรายได้ได้จริงหรือไม่ จึงต้องอาศัยความเชื่ออย่างมากเนื่องจากเป็นการทำเพื่ออนาคต 5 -10 ปีข้างหน้า แต่ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

“มีเพียงคนที่เชื่อแบบนี้เท่านั้นถึงจะยอมทำในลักษณะที่จินตนาการไปแล้วแต่ยังไม่เห็นภาพรายได้ที่ชัดเจน”

คุณสมบัติพื้นฐานต้องเข้าใจเทค

สมคิด ให้ข้อสรุปว่า บทบาทซีไอโอจะไปสุด ณ จุดไหน ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละองค์กร และความสามารถของซีไอโอแต่ละคน ซีไอโอที่สามารถยืดภารกิจได้ถึงระดับจินตนาการ จะสามารถขายจินตนาการให้แก่คณะกรรมการและซีอีโอได้ก็มีอยู่ หรือซีอีโอบางคนอาจให้ซีไอโอรับผิดชอบเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีที่ทำอยู่เดิม แล้วนำงานการเปลี่ยนแปลงกับจินตนาการไปดูแลเอง แต่ทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดซีไอโอกับซีอีโอต้องสามารถคุยกันได้มากขึ้น

จะอย่างไรก็ดี ตามหลักความเป็นจริงคุณสมบัติพื้นฐานของซีไอโอต้องเข้าใจทั้งเทคโนโลยีและธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ แม้หน้าที่หลักจะทำงานนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กร หรือใช้บริการลูกค้า ก็จำเป็นต้องเข้าใจเรื่องธุรกิจด้วย

“สิ่งที่ซีไอโอมักยืดไปไม่ได้คือการสร้างวัฒนธรรมใหม่ หรือการเปลี่ยนมายเซ็ตในองค์กร หรือการนำเสนอเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนรูปแบบของบริการใหม่ ซึ่งต้องสร้างโลกใหม่หรือจินตนาการใหม่ แต่พื้นฐานของซีไอโอก็ต้องเชื่อมธุรกิจให้ได้”

ดังนั้นเขาจึงสรุปว่า ซีไอโอต้องมีความสามารถสองขา คือ สายเทคโนโลยีปัจจุบันและอนาคต กับความสามารถในเชิงธุรกิจ เพราะต้องรู้ว่าเทคโนโลยีที่ทำจะนำไปตอบโจทย์ธุรกิจได้อย่างไร

ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง

สมคิดยังได้ถ่ายทอดประสบการณ์ตลอดยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงในแวดวงเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเขามองเห็นโอกาสที่จะนำมาใช้เอื้อประโยชน์ต่อองค์กร จากปี 1995-1996 ยุคอินเทอร์เน็ตเริ่มเฟื่องฟู ที่แม้จะยังเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็ทำให้เกิดพฤติกรรมใหม่ๆ และความสามารถใหม่ๆ ขึ้นมา

เขามองเห็นว่าอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางที่ทำให้เข้าถึงลูกค้าในฐานที่กว้างมาก และเป็นฐานลูกค้าที่ไม่จำเป็นต้องอยู่เฉพาะในประเทศ เพราะอินเทอร์เน็ตครอบคลุมทั่วโลก ซึ่งเป็นนิมิตหมายใหม่ที่ทำให้ต้องเปลี่ยนมุมมองว่า “ถ้ามีอินเทอร์เน็ต มุมมองด้านเทคโนโลยีต้องเปลี่ยนไปด้วย”

ก่อตั้งเซ็ตเทรดดอตคอม

ย้อนไปช่วงปี 2000 เขาเสนอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มทำโครงการเรื่องอินเทอร์เน็ต คือ การทำระบบให้นักลงทุนสามารถซื้อขายได้ด้วยตัวเองผ่านอินเทอร์เน็ต โดยตั้งบริษัทย่อยขึ้นในชื่อ “เซ็ตเทรดดอทคอม”

“ผมไปขอเงินตลาดหลักทรัพย์มา 80 ล้าน เพื่อตั้งบริษัทเซ็ตเทรดดอทคอม เราไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องนี้มาก เลยให้บริษัทผู้เชี่ยวชาญมาถือหุ้น 30 เปอร์เซ็นต์ ตลาดหลักทรัพย์ถือหุ้น 70 เปอร์เซ็นต์ แล้วทำระบบขึ้นมา”

ก่อนลงมือทำเขาได้ทำเอ็มโอยูกับบริษัทโบรกเกอร์ที่เป็นลูกค้า 4 ราย ว่าเมื่อทำระบบเสร็จ โบรกเกอร์ทั้ง 4 รายจะมาใช้งาน แต่ปรากฏว่าหลังจากทำระบบเสร็จ ทุกรายต่างปฏิเสธที่เป็นหนูทดลองระบบ

“เราก็เริ่มหนาวแล้ว ก็ต้องดั้นด้นไปหาลูกค้า เชิญชวนและชี้ให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นต่างจากที่พวกเขาทำเองมาก เพราะเราคิดค่าบริการถูกมาก เราคิดค่าแรกเข้า 2 แสนบาท และคิดค่าบริการต่อทรานส์แซกชั่นเพียง .09 เปอร์เซ็นต์ของวอลุ่มซื้อขาย ซึ่งน้อยมาก และเหมาะมากสำหรับคนที่ต้องการทำอะไรใหม่ๆ”

นับเป็นความโชคดีที่ตอนนั้นบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ต้องการลงทุนเรื่องอินเทอร์เน็ตเทรดดิ้งอย่างจริงจัง และมีวอลุ่มการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตเทรดดิ้งเข้ามาค่อนข้างสูง ทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้

“ตอนนั้นวอลุ่มการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตเพียงแค่ 0.01 เปอร์เซ็นต์ ของวอลุ่มทั้งหมด ซึ่งจะผ่านจุดที่เอาตัวรอดได้ต้องมีอย่างน้อย 1 เปอร์เซ็นต์”

แต่ใช้เวลาอยู่นานก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งวันที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปลี่ยนนโยบายการกำหนดค่าคอมมิชชั่นให้ต่างกันเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนมาซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น คือ ซื้อขายผ่านเทรดเดอร์ที่ไม่ใช้อินเทอร์เน็ตจะเสียค่าคอมมิชชั่น 0.25 เปอร์เซ็นต์ แต่กรณีซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตเทรดดิ้ง เสียค่าคอมมิชชั่น 0.20 เปอร์เซ็นต์ นักลงทุนจึงเปลี่ยนพฤติกรรมทำให้วอลุ่มการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตเทรดดิ้งทะลุ 1 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เซ็ตเทรดดอทคอมรอดตัวและเริ่มมีกำไร จนวันนี้มีผู้ที่ซื้อขายผ่านเซ็ตเทรดดอทคอมเป็นนักลงทุนรายย่อยมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

จากวันนั้นที่สมคิดบอกได้เลยว่า สถานการณ์วิกฤต “ร่อแร่ๆ” ถึงขั้นมีกรรมการบางท่านตั้งข้อสงสัยว่า ธุรกิจเซ็ตเทรดดอทคอมเก็บค่าบริการถูกมาก เมื่อไรจะคุ้มต้นทุน จะไปรอดหรือไม่ แต่มาถึงวันนี้ มองย้อนกลับไปถือเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่า “ถ้าเราไม่ทำวันนั้น วันนี้ก็จะไม่มีเซ็ตเทรดดอทคอม อาจไม่มีการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตที่มากเท่าทุกวันนี้”

“เป็นบทเรียนที่ทำให้เห็นว่ามิชชั่นที่เรามองเห็น เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาเอื้อประโยชน์ แม้จะไม่สัมฤทธิ์ผลทันที ณ จุดนั้น แต่ด้วยความเชื่อนั้น ทำให้เกิดความเป็นจริงได้ภายใน 8-10 ปี และถ้าไม่ทำในวันนั้น ก็อาจจะเสียใจในวันนี้”

สู่ยุคโมบาย แบงกิ้ง

หลังการประยุกต์ใช้อินเทอร์เน็ตในแวดวงธนาคารคือ อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ต่อด้วยยุคของโมบายแบงกิ้งที่รูปแบบการใช้อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนไปเป็นเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟน ซึ่งช่วยให้การใช้งานสะดวกมากขึ้น

แม้ช่วงแรกของการทำโมบายแบงกิ้ง คนยังใช้อินเทอร์เน็ตแบงกิ้งมากกว่าเพราะโมบายแบงกิ้งยังไม่ดีพอ แต่ถึงวันนี้ K-Plus ที่เคยมีคนใช้ไม่ถึง 1 ล้านคน ผ่านไปเกือบ 10 ปีมีคนใช้ 20 ล้านคน เท่ากับ 1 ใน 3 ของประเทศ และมีทรานแซคชั่นที่ผ่านโมบายแบงกิ้งสูงประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนทรานแซคชั่นทั้งหมด

“วันนั้น ถ้าเราไม่มีวิสัยทัศน์นั้น โมบายแบงกิ้งก็จะไม่ดีเท่าในวันนี้ และโมบายแบงกิ้งของประเทศไทยถือว่า มีวอลุ่มของการใช้งานติดอันดับโลก หรือบางคนให้เป็นอันดับ 1 ของโลกด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับจำนวนฐานของคนใช้ ถือเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ประเทศไทยบรรลุความก้าวหน้าด้านโมบายแบงกิ้ง”

ยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น

เข้าสู่ยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น หรือดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เกิดความตื่นตัว ความหวาดกลัว กระตุ้นให้หลายๆ องค์กรเริ่มปรับเปลี่ยนมากขึ้น ธนาคารใหญ่ๆ เกิดความหวาดหวั่นว่าจะอยู่รอดไหม

ดิจิทัลดิสรัปชั่นคือรูปแบบของเทคโนโลยีที่ทำให้บริการและลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรม และทำให้บริการรูปแบบเดิม ธุรกิจแบบเดิม เทคโนโลยีแบบเดิมอาจจะล้าสมัย และลูกค้าไม่นิยมเท่าแบบใหม่ ผู้ที่มาดิสรัปต์อาจไม่ได้อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมเดียวกัน อาจเป็นเทคคอมปานี หรือแพลตฟอร์มอื่นขยายเข้ามา

หลายๆ องค์กรเห็นโลกเปลี่ยน และกระทบธุรกิจ จากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปตามประสบการณ์ที่มาเอื้อจึงปรับเปลี่ยนการสร้างความสามารถใหม่ สร้างเป็นหน่วยงานใหม่ สร้างแคปอะบิลิตี้ใหม่ที่ทันกับเทคโนโลยีแบบใหม่ๆ เช่น เอไอ บล็อกเชน ไอโอที เวอร์ช่วลเรียลลิตี้ ออคเมนเตดเรียลลิตี้ โดยนำคนเก่งๆ ทั้งในประเทศ และที่ทำงานอยู่ต่างประเทศกลับมาช่วย ถือเป็นยุคที่ 3

ยุคเมตาเวิร์ส

ยุคที่ 4 ที่ต้องมองไปในอนาคต ซึ่งวันนี้คนพูดถึงเมตาเวิร์ส ที่สมคิดมองว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการสร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้ใช้ในรูปแบบไม่อิงสินค้า หรือบริการทางกายภาพเลย เป็นการไปสร้างโลกใหม่ทางดิจิทัล ทุกอย่างเป็นออโตโนมัสได้เกือบหมด

“เราเองก็สามารถเข้าไปอยู่ในโลกนั้นได้ จะเห็นได้ว่าจินตนาการของโลกใหม่อาจจะไม่ชัดเจน แต่เราเริ่มเห็นว่า มันคือการสร้างโลกที่บริการหลายอย่าง ธุรกิจหลายอย่าง ไลฟ์สไตล์หลายอย่างอาจจะเปลี่ยนไป ไลฟ์คอนเสิร์ตบางอย่างก็เริ่มทดลองใช้ เป็นไลฟ์คอนเสิร์ตที่ไม่ต้องไปสถานที่จริงแต่อยู่ในโลกใหม่ หรือธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดในโลกใหม่ เช่น เสื้อผ้า ที่ดินที่ซื้อขายในโลกใหม่ เป็นสิ้นสุดโลกกายภาพไปอยู่โลกดิจิทัล”

อย่างไรก็ตาม สมคิดเห็นว่า อาจไม่จำเป็นต้องไปโลกดิจิทัลที่เป็นเมตาเวิร์ส แต่ขึ้นอยู่ที่ว่า จะจินตนาการประสบการณ์ของคอนซูเมอร์แบบไหน เพื่อสร้างโลกที่เป็นออโตโนมัสมากขึ้น เป็นดิจิทัลมากขึ้น ทำให้สินค้าหรือบริการกายภาพเปลี่ยนแพลตฟอร์มเป็นบริการทางดิจิทัลมากขึ้น แต่สามารถมีสะพานเชื่อมกายภาพกับดิจิทัลได้ และทำได้หลากหลายรูปแบบ

ทั้งนี้ เป็นโลกที่ยังเห็นไม่ชัดเจน แต่ถ้ามองย้อนกลับไปตอนเกิดอินเทอร์เน็ตใหม่ๆ หรือเกิดโมบายแบงกิ้งใหม่ๆ ก็ไม่ชัดเจนเช่นกัน แต่อยู่ที่วิสัยทัศน์ ความเชื่อ และการทำวันนี้เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ของอนาคต หากใครไม่ทำวันนี้ เมื่อถึงอนาคตอาจอยู่รั้งท้าย วิ่งตามไม่ทันก็ได้

ถึงวันนี้ เทคโนโลยีได้เปลี่ยนรูปแบบของโลก เน้นให้คนสร้างจินตนาการ สร้างโลกใหม่ที่มีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ไร้พรมแดน เป็นโลกที่ไม่มีใครเห็นชัด แต่ทุกคนจะหนีไม่พ้นในอนาคต

++โปรดติดตามตอนต่อไป++

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
มรกต รอดพึ่งครุฑ – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ