TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistGSP อาวุธลับ "อเมริกา" ใช้ทิ่มแทงไทย

GSP อาวุธลับ “อเมริกา” ใช้ทิ่มแทงไทย

ไม่รู้ว่ากรณีสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์”​ ประกาศตัด GSP (สิทธิพิเศษด้านภาษีอากร) สินค้าส่งออกของไทย ซึ่งจะมีผลในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 นั้นจะเป็นลูกหลงจากศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีระหว่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” กับ “โจ ไบเดน” ในโค้งสุดท้ายหรือไม่ แต่การที่ “ทรัมป์” ประกาศตัด GSP ไทยน่าจะได้คะแนนเสียงจากกลุ่มผู้เลี้ยงหมูของสหรัฐฯ ไม่น้อย

-“เฮลิคอปเตอร์มันนี่” สิ้นมนต์ขลัง
-เลือกตั้งท้องถิ่น ต่อลมหายใจ “เศรษฐกิจรากหญ้า”

“ทรัมป์” อ้างว่าเนื่องจากไทยไม่สามารถเปิดตลาดนำเข้าหมูจากสหรัฐฯ แม้ว่าจะมีการเจรจาการค้ามานานกว่า 12 ปีแล้วก็ตาม โดยในปี 2018 ที่ผ่านมาสมาคมผู้ผลิตเนื้อหมูของสหรัฐฯ ได้ขอให้สหรัฐฯ ตัดสิทธิ์ GSP ของไทย เนื่องจากผู้ผลิตของสหรัฐฯ ไม่สามารถเข้าถึงตลาดในประเทศไทย

ขอทำความเข้าใจก่อนว่า GSP (Generalized System of Preferences) คือ สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ที่ประเทศพัฒนาแล้ว ในที่นี่หมายถึงสหรัฐฯ ให้การช่วยเหลือทางการค้า โดยลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้าให้แก่สินค้าไทย (รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาอื่น ๆ) เพื่อให้แข่งขันกับสินค้าจากประเทศพัฒนาแล้วในตลาดสหรัฐฯ ได้ 

GSP กลายเป็น “อาวุธลับ” ที่สหรัฐฯ ไว้คอยบีบคอหอยเจรจาต่อรองกับประเทศคู่ค้ามาตลอด เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วไทยเพิ่งโดนสหรัฐฯ ตัดสิทธิ์ GSP มูลค่า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4 หมื่นล้านบาท ล่าสุดเตรียมตัดสิทธิ์ GSP ของไทย มูลค่า 817 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว ๆ 25,433 ล้านบาท

สินค้าที่โดนหางเลข อาทิ อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ พวงมาลัยรถยนต์ ล้อรถยนต์ กระปุกเกียร์ กรอบโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก เคมีภัณฑ์ เกลือฟลูออรีน ที่นอน และฟูกทำด้วยยางหรือพลาสติก หลอดและท่อทำด้วยยางวัลคาไนซ์ อะลูมิเนียมเจือแผ่นบางอาหารอบแห้งบางชนิด ฯลฯ

ต้องเข้าใจก่อนว่าการตัดสิทธิ์ GSP ไม่ได้แปลว่า ผู้ส่งออกไทยจะส่งสินค้าไปตลาดสหรัฐฯ ไม่ได้ ยังส่งออกได้เหมือนเดิม แต่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติ ไม่ใช่อัตราที่เคยได้รับ แต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่สินค้าที่ถูกตัดสิทธิ์นั้นเคยอยู่แบบสบาย ๆ ไม่ต้องดิ้นรนพัฒนาคุณภาพอะไรยังไงก็ขายได้ เพราะการได้สิทธิพิเศษทางภาษีทำให้ได้เปรียบด้านต้นทุนราคาสินค้าจึงถูกกว่าคู่แข่ง แต่หลังจากนี้จะไม่ได้เปรียบคู่แข่งอีกต่อไป มิหนำซ้ำอาจจะต้องไปแข่งกับบางประเทศที่ยังได้สิทธิพิเศษ GSP อยู่ นี่คือ ความยากลำบาก

ในด้านผู้ส่งออกก็น่าเห็นใจ เพราะที่ผ่านมาต้องเจอวิกฤติซ้อนวิกฤติชนิด 2 เด้ง ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจโลกตกต่ำจากพิษโควิด-19 ระบาด แถมที่ผ่านมายังต้องเจอค่าเงินบาท “แข็งค่า” มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้าโดยตรง และล่าสุดก็โดนเพิ่มอีกเด้งเมื่อสหรัฐฯ ตัด GSP คราวนี้อาจจะถึงขั้นปิดกิจการปลดคนงานเป็นการสังเวยก็ได้

ขณะเดียวกันการที่รัฐบาลปกป้องไม่ให้นำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในหมูจากสหรัฐฯ มาทุ่มตลาดตัดราคาก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะหากยอมให้นำเข้ามาได้ผู้เลี้ยงหมูบ้านเราที่ไม่ได้มีเฉพาะรายใหญ่ ๆ แต่ยังมีฟาร์มของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในภาคกลาง เช่น นครปฐม ราชบุรี ชลบุรี และจังหวัดอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องต้องได้รับความเสียหาย คาดว่าไม่น้อยกว่าหลักหมื่นล้านบาท หากเทียบกับความเสียหายของผู้ส่งออกที่โดนตัด GSP ที่ต้องเสียภาษีเพิ่มคิดเป็นไทยกว่า 600 ล้านบาท หักกลบลบกันแล้วงานนี้การที่รัฐบาลปกป้องผู้เลี้ยงหมูถือว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

ยิ่งกว่านั้น เนื้อหมูจากสหรัฐฯ เลี้ยงโดยใช้สารเร่งเนื้อแดงอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งไทยมีกฎหมายห้ามใช้สารดังกล่าวมานานสิบ ๆ ปี หากรัฐบาลยอมให้นำเข้าได้เท่ากับกฎหมายก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ เกษตรกรไทยก็อาจเป็นข้ออ้างเพื่อจะกลับมาใช้สารเร่งเนื้อแดงได้เช่นกัน

อย่าลืมเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่หน้าที่รัฐบาลนอกจากจะปกป้องเกษตรกรในประเทศแล้วยังต้องปกป้องสุขภาพของประชาชนในประเทศด้วย เหมือนญี่ปุ่นที่เคยกีดกันการนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งจากไทยและสหรัฐฯ เพราะกลัวโรคปากและเท้าเปื่อย เรื่องนี้สู้กันมาเป็นสิบ ๆ ปี จนทุกวันนี้ไทยก็ยังส่งเนื้อหมูแช่แข็งเข้าญี่ปุ่นไม่ได้

ส่วนเรื่องผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบเป็นหน้าที่ของรัฐบาลว่าจะทำอย่างไร จะผ่อนหนักเป็นเบาด้วยมาตรการต่าง ๆ อย่างไร ส่วนผู้ส่งออกที่มีความสุขกับการได้สิทธิ์ GSP มานานก็ควรต้องเร่งปรับตัวยกระดับคุณภาพสินค้าให้สามารถขายในราคาสูงขึ้นรวมถึงการเร่งหาตลาดใหม่ ๆ ให้กว้างขึ้น ไม่ใช่รอพึ่งเนื้อนาบุญจากสหรัฐฯ เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม มาตรการที่กระทรวงพาณิชย์ที่เตรียมออกมาช่วยผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบด้วย Online Business Matching แล้วดูหน่อมแน้มไปหน่อย

ทวี มีเงิน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ