TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist"เฮลิคอปเตอร์มันนี่" สิ้นมนต์ขลัง

“เฮลิคอปเตอร์มันนี่” สิ้นมนต์ขลัง

หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ แบงก์ชาติ ได้ผู้ว่าการธนาคารคนใหม่เป็นที่เรียบร้อยโรงเรียนบางขุนพรมแล้วคนในแวดวงธุรกิจเศรษฐกิจต่างก็พากันลุ้นว่าเมื่อไหร่ จะมีการแถลงนโยบายเพราะนั่นเท่ากับว่าพวกเขาจะรู้ทิศทางว่านโยบายการเงินของประเทศจะไปทางไหนเพื่อที่จะรับมือกับอนาคตข้างหน้าได้ทันท่วงที

-เลือกตั้งท้องถิ่น ต่อลมหายใจ “เศรษฐกิจรากหญ้า”
-“3 สูง 3 ต่ำ”… สัญญาณวิกฤติเศรษฐกิจ

กระทั่งวันอังคารที่ผ่านมา ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯคนใหม่ก็ได้ออกมาพบปะสื่อมวลชนพร้อมกับโชว์วิสัยทัศน์ในการแก้วิกฤติเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดสู่สาธารณะเป็นครั้งแรก

ดร.เศรษฐพุฒิ แถลงว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นช็อกที่เข้ามากระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ที่เห็นคือภาคการท่องเที่ยวจากที่คาด 40 ล้านคน เหลือ 7 ล้านคน คิดเป็นรายได้หายไปราว 1.6 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 10% ของจีดีพี และเครื่องยนต์ภาคการส่งออกที่โดนกระทบจากการล็อกดาวน์ของต่างประเทศ ทำให้ส่งออกไตรมาส 2 หดตัวแรงที่สุดในรอบ 11 ปี

นอกจากนี้ยังฉายภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังจากการคลายล็อกดาวน์ว่ามีภาพที่เปลี่ยนไป 3 ด้านอย่างน่าสนใจดังนี้

1.การฟื้นตัว “ไม่เท่าเทียม” บางเซ็กเตอร์กลับมาได้ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เริ่มกลับมาใกล้เคียงก่อนโควิด-19 และบางเซ็กเตอร์กระทบหนัก เช่น โรงแรม กลับมาได้แค่ 25% หรือในเซ็กเตอร์โรงแรม แต่ละพื้นที่ก็ไม่เท่าเทียมกัน เช่นในภูเก็ตนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา แต่โรงแรมในพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯกลับมาดีขึ้น ทำให้การฟื้นตัวแตกต่างกัน ซึ่งมีนัยสำคัญต่อการแก้ปัญหา

2.“ปัญหายาวและนาน” โดย ธปท.มองจีดีพีปีนี้หดตัว -7.8% และหลังจากนี้จะติดลบทุกไตรมาสยาวไปถึงไตรมาส 1 ปี 2564 โดยคาดว่าจะเห็นกลับมาบวกในไตรมาส 2 และเห็นการฟื้นตัวช้า ๆ โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีจะกลับมาเท่าช่วงก่อนโควิด-19 ในไตรมาส 3/2565

3.“ความไม่แน่นอนสูง” โดยไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีการระบาดรอบ 2 วัคซีนจะมาเมื่อไร และนักท่องเที่ยวมาได้ตอนไหน ไม่มีคำตอบชัดเจน ซึ่งความไม่แน่นอนจึงเป็นตัวถ่วงกิจกรรม ทำให้การบริโภคและลงทุนอยู่ในหมวดรอคอย

นี่เป็นถ้อยแถลงบางช่วงบางตอนของผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนใหม่อย่างไรก็ตามนับว่าน่าสนใจโดยเฉพาะการฉายภาพได้แยกแยะปัญหาให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนนั่นย่อมทำให้การแก้ปัญหา “ตรงจุด” เข้าเป้ามากขึ้นเหมือนกับหมอที่รักษาคนไข้ตามความหนักเบาของอาการที่ป่วย

ที่ผ่านมามักจะนำเสนอภาพใหญ่แบบเหมารวมและแก้ปัญหาแบบเหมาเข่งปูพรมแบบไม่บันยะบันยังจะเห็นได้จากตั้งแต่ก่อนรัฐบาลนี้เข้ามาและในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมาจนทำให้ธุรกิจต้องหยุดดำเนินการได้รับความเสียหายอย่างมาก

มาตรการที่ผ่านมาจะใช้วิธีการแจกเงินให้ประชาชนโดยตรงซึ่งเป็นการเยียวยาเฉพาะหน้าระยะสั้น ๆ หรือมาตรการลดแลกแจกแถมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายและการบริโภคของประชาชน ซึ่งหลายๆฝ่ายได้ตั้งความหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัว

นโยบายนี้ตามหลักทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “Helicopter money” เน้นกระตุ้นให้เกิดการบริโภคเป็นหลักแต่ต้องยอมรับว่า การบริโภคจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตในระยะสั้น ๆ เท่านั้นไม่มีประโยชน์ต่อการเติบโตระยะยาวแต่ถ้าจะให้เศรษฐกิจเติบโตในระยะยาว จะต้องมาจากการลงทุนซึ่งถือเป็นปัจจัยที่สร้างความมั่งคั่งและเติบโตอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าทุกวันนี้สถานการณ์ด้านการคลังของประเทศอยู่ในสภาพอาจจะเรียกว่าใกล้ “ถังแตก”รายได้ภาคประชาชนก็หดหายไปจากการไม่งานทำวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ Helicopter money คงไม่ได้ผลอีกต่อไปหรือ “สิ้นมนต์ขลัง” ไปแล้วมาตรการจากนี้ไปต้องเป็นมาตรการที่ใช้ต้นทุนน้อยที่สุดแต่ยิงให้แม่นยำและตรงเป้ามากที่สุดจะทำมากเกินไปไม่ได้

ทั้งนี้เพราะภาครัฐมีขีดความสามารถในการจัดการที่จำกัด หากสาดกระสุนไปโดยขาดความแม่นยำก็จะมีแต่เสียกับเสีย เมื่อถึงคราวจำเป็นจริงๆตอนนั้นอาจไม่เหลือกระสุนให้ใช้ สังคมก็จะขาดความเชื่อมั่น การทำงานก็ยากยิ่งขึ้น

ทวี มีเงิน

ภาพประกอบจาก bot.or.th

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ