TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyชวนรู้จัก “Metaverse” เมกะเทรนด์ สุดฮอต ที่ต้องรู้ กับโลกเสมือนจริงแห่งอนาคต

ชวนรู้จัก “Metaverse” เมกะเทรนด์ สุดฮอต ที่ต้องรู้ กับโลกเสมือนจริงแห่งอนาคต

นาทีนี้เชื่อแน่ว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินและเริ่มคุ้นหูกับ “Metavere” บ้างแล้ว และมีแนวโน้มที่จะได้ยินคำ ๆ นี้ไปอีกนาน ในฐานะหนึ่งในเมกะเทรนด์แห่งโลกอนาคตที่จะต่อยอดจากยุค 5G ของสมาร์ทโฟน โดย Metaverse คือโลกเสมือนจริงที่จะผสานรวมทุกแง่มุมของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันในเวลานี้เข้าไว้ด้วยกัน 

เทคโนโลยีดังกล่าวหมายรวมถึง การประชุมวีดีโอ (video conference) เกมต่าง ๆ อย่าง Minecraft หรือ Roblox สกุลเงินดิจิทัลทั้งหลาย (คริปโตเคอร์เรนซีย์) จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล์) เทคโนโลยีโลกเสมือน (virtual reality) เครือข่ายสังคมออนไลน์ (social media) และไลฟ์ สตรีมมิ่ง (live-streaming)

แม้ว่าบรรดานักพัฒนาทั่วโลกต่างกำลังอยู่ในระหว่างการประกอบเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ไว้ในโลก Metaverse ให้ทำงานสอดคล้องกันได้อย่างลงตัว พูดให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็คือ Metaverse ยังเป็นแนวคิดนามธรรมที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างดี กระนั้น บรรดานักลงทุนและนักธุรกิจชั้นนำของโลก รวมถึง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก มหาเศรษฐีนักธุรกิจผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ต่างก็ให้ความสนใจ และมองเห็นศักยภาพของ Metaverse ในเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว 

เป็นเมกะเทรนด์แห่งอนาคตที่หลายฝ่ายเชื่อมั่นว่า คือ โอกาสสร้างความมั่งคั่ง 

งานนี้ The Story Thailand จึงรวบรวมประเด็นคำถามต้องรู้เกี่ยวกับจักรวาล Metaverse เริ่มต้นด้วยคำถามพื้นฐานสามัญ อย่าง ……

อะไรคือ Metaverse?

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้คำนิยามว่า Metaverse คืออะไร เพราะจนถึงขณะนี้ Metaverse เป็นเพียงแค่แนวคิดที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่หากจะอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายที่สุดก็ต้องบอกว่า Metaverse จะมีลักษณะคล้ายกับ เวิล์ด ไวด์ เว็บ (world wide web) แต่มาในรูป 3 มิติ ที่ธุรกิจ ข้อมูล และเครื่องมือสื่อสารมีความสมจริงและสามารถทำงานร่วมกันได้ 

ทั้งนี้ ในทางหนึ่ง Metaverse เป็นสำเนาดิจิทัลของวิธีที่มนุษย์โลกทั่วไปทำกัน ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับการสร้างเอกสารใน Microsoft Word และส่งผ่าน Gmail ไปยังเพื่อนร่วมงานเพื่ออ่านบน iPad โดยแนวคิดของ Metaverse ระบุว่า ไอเท็มสิ่งของใน Metaverse ควรจะสามารถย้ายข้ามระบบนิเวศ ระหว่างผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งได้แต่ยังคงคุณค่าและฟังก์ชันไว้อย่างครบถ้วน  

ยกตัวอย่างเช่น งานศิลปะเสมือนจริงชิ้นหนึ่งที่ซื้อเป็น “โทเค็นที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้” (NFT) จากบริษัท A ควรจะแสดงผลได้บนผนังดิจิทัลของบ้านในเกมที่สร้างโดยบริษัท B เป็นต้น 

แล้ว Metaverse มีไว้ทำอะไร?

Metaverse คือ พื้นที่ไว้สำหรับเล่นและทำงานไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งใครที่นึกไม่ออก ลองจินตนาการถึงสถานการณ์ที่นางสาวเจนสร้างอวตาร์ 3 มิติของตนเองในเฟซบุ๊ก หรือ ไมโครซอฟท์ ทีม และใช้ร่างอวตาร์ดังกล่าวของตนเองเข้าร่วมการประชุม virtual meetings แล้วหลังจากเสร็จงาน เจนก็พาร่างอวตาร์ไปเข้าร่วมการแสดงดนตรี virtual music show กับกลุ่มเพื่อนที่มารวมตัวกันด้วยร่างอวตาร์เช่นกัน ท่ามกลางผู้ชมในร่างอวตาร์นับร้อยที่มาร่วมงาน 

แล้วเมื่องานแสดงดนตรีสิ้นสุดลง วงดนตรีก็ร้องของแรงสนับสนุนจากแฟน ๆ ด้วยการขอให้อุดหนุนเสื้อยืด ซึ่งเจนก็ไม่รอช้า เข้าไปเลือกซื้อลายที่ถูกใจจากร้านค้าเสมือนจริงเหมือนที่หาซื้อจากอีคอมเมิร์ซชั้นนำอย่าง Amazon, Asos หรือ Taobao ในทุกวันนี้ เจนจ่ายเงินเรียบร้อยแล้วใส่เข้าร่วมประชุม virtual meeting ในถัดไป บังเอิญเพื่อนร่วมงานเห็นแล้วชอบจึงเอ่ยปากขอยืมไปให้ลูกสาวใส่เข้าร่วมงานแข่งขัน Roblox เกม ซึ่งเจนก็จัดให้ยืมได้อย่างง่ายดาย 

สถานการณ์สมมติทั้งหมดที่กล่าวมานี้ได้รวมรวบการทำงานของเครื่องมือการสื่อสารที่หลากหลายจากหลายแพลตฟอร์มเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ไลฟ์-อีเวนต์ สตรีมมิง, อี-คอมเมิร์ซ และแพลตฟอร์มแชร์ริงต่าง ๆ โดยความเป็นไปได้ที่เครื่องมือและแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะทำงานร่วมกันได้ดีจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ ผู้ให้บริการสร้างและพัฒนาระบบที่เปิดทางให้แลกเปลี่ยนส่งผ่านหากันได้ 

มีใครเข้าร่วม Metaverse แล้วบ้าง?

ที่รับรู้กันทั่วโลกแน่ชัดแล้วก็คือ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กเจ้าพ่อเฟซบุ๊ก ที่เชื่อว่า Metaverse คือ โอกาสชั้นเลิศ ยืนยันได้จากหนึ่งในการลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ Metaverse อย่าง Oculus อุปกรณ์สวมศีรษะเสมือนจริง (virtual-reality headset)

นอกจากนี้ ก็มีบริษัทผู้ผลิตชิพคอมพิวเตอร์ กราฟฟิกส์ อย่าง Nvidia ที่ตั้งเป้าให้แพลตฟอร์ม Omniverse ของตนขับเคลื่อนกรอบการทำงานพื้นฐานบางอย่าง เช่นเดียวกับผู้ผลิตซอฟต์แวร์อย่าง Unity Software Computer-graphics chipmaker 

ขณะที่ทาง Roblox ผู้พัฒนาวีดีโอเกม ตลอดจนบรรดานักผลิตชั้นนำอย่าง Epic Games และ Microsoft ต่างแสดงความสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมใน Metaverse โดยมีรายงานว่าทาง Roblox ของจีนได้ร่วมมือกับยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีชาติเดียวกันอย่าง Tencent Holdings เปิดตัวแพลตฟอร์มคู่ขนานตามกฎระเบียบข้อบังคับของรัฐบาลจีนอย่างเคร่งครัด โดย Tencent ยังได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse สำหรับใช้บน QQ แอปพลิเคชันของบริษัท 

ด้าน ByteDance เจ้าของแอพสุดฮิตอย่าง TikTok ก็ไม่น้อยหน้า เพราะเดินหน้าทุ่มเงินมหาศาลลงทุนใน Pico ผู้ผลิตอุปกรณ์สวมศีรษะเสมือนจริง (Virtual Reality Headset) กับบริษัท Reworld ผู้ผลิตเกมบนมือถือ  

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีบริษัทที่ปรึกษาอย่าง Dubit ของอังกฤษที่เริ่มดำเนินการอำนวยความสะดวกให้กับบรรดาบริษัททั้งขนาดใหญ่และเล็กทั้งหลายก้าวเข้าสู่โลก Metaverse ได้อย่างราบรื่นมากขึ้น ยังไม่นับรวมบรรดาผู้ให้บริการชำระเงินออนไลน์ และซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหลายที่เริ่มมองหาช่องทางที่จะสามารถทำธุรกรรมข้ามพรมแดนบนโลกเสมือนจริงแห่งนี้กันบ้างแล้ว 

เครื่องสมาร์ทโฟนในปัจจุบันสามารถรองรับ Metaverse ได้หรือไม่?

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตามคอนเซ็ปต์ทั้งหมดที่กล่าวมา เห็นได้ว่า Metaverse จะยังไม่อาจบรรลุศักยภาพสูงสุดได้เต็มที่หากปราศจากอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงซึ่งจะเปิดทางให้ผู้คนนับล้านทั่้วโลกสามารถเข้าถึงและอาศัยอยู่ในโลกเสมือนจริงได้ทุกที่ทุกเวลา 

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การเชื่อมต่อ 4G ในปัจจุบันสามารถสนับสนุนแอปที่มีผู้เล่นหลายคนเช่น Fortnite ได้ แต่ไม่สามารถจัดการสตรีมข้อมูลที่ละเอียดอ่อนตามเวลาเรียลไทม์หลายร้อยรายการพร้อมกันได้ ทำให้บรรดาผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือทั่วโลกทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์พัฒนาเครือข่าย 5G ขึ้นมา และเผลอ ๆ อาจจะต้องพัฒนาให้ถึง 6G เช่นเดียวกันกับการพัฒนาการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ที่ใช้ในบ้านและสำนักงาน ซึ่งต้องใช้แบนด์วิธที่มากกว่า และนิยมใช้การเชื่อมต่อด้วยสายไฟเบอร์ออปติกโดยตรง กลายเป็นข้อจำกัดด้านสถานที่ไป 

ผลลัพธ์ของการเดิมพันครั้งนี้ คืออะไร?

นักวิเคราะห์ประเมินว่า หากสำเร็จ Metavese ก็จะเป็นการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีครั้งยิ่งใหญ่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงทศวรรษ 1990 เมื่อเว็บไซต์เติบโตจากข้อความเชิงสถิติและรูปภาพบนหน้าเพจ ไปสู่การเป็นพื้นที่ซื้อขายสินค้าบริการ รับชมภาพยนตร์ เข้าเรียนมหาวิทยาลัย และทำงานเพื่อออกแบบสินค้าร่วมกัน 

ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งคาดการณ์ว่าในช่วง 20 ปีนี้นับจากนี้ การพัฒนา Metaverse จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีรับรู้ถึงคุณค่าและการพกโลกเสมือนจริงของมนุษย์ ซึ่งขณะนี้ผู้ให้บริการมือถือบางรายกำลังสร้างแพลตฟอร์ม Metaverse ของตนเองบ้างแล้ว และให้นิยามว่าเป็น killer app สำหรับการสร้างรายได้ในระบบ 5G หลังจากแพ้ให้กับยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook และ Apple ในการเก็บเกี่ยวผลกำไรจากโซเชียลมีเดียในยุค 4G

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายหลักที่สำคัญยังคงเป็นการทำให้แน่ใจว่าบริษัทขนาดใหญ่ทั้งหลายจะไม่สร้างคลังอาวุธ Metaverse แล้วกำหนดกรรมสิทธิ์ครอบครองความเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว เพราะเท่ากับว่าจะทำให้ผู้ใช้งาน Metaverse ในอนาคต ไม่สามารถโอนย้ายวัตถุหรือซื้อสินค้าบริการบนโลกเสมือนจริงข้ามแพลตฟอร์มได้ 

Metaverse เป็นเรื่องใหม่หรือไม่?

แม้จะระบุว่าเป็นเมกะเทรนด์แห่งโลกอนาคต แต่สำหรับเหล่าสาวกเรื่องเล่านิยายวิทยาศาสตร์ หรือ ไซ-ไฟ ทั้งหลาย แนวคิดของ Metaverse มีปรากฏให้เห็นหลายสิบปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในหนังสือนิยายเรื่อง Snow Crash ของ นีล สตีเฟนสัน หรือภาพยนตร์ยอดฮิตอย่าง แมทริกซ์ และ Ready Player One ซึ่งสอดแทรกแนวคิดของ Metaverse ไว้อย่างแนบเนียน 

ขณะเดียวกัน Second Life แอปพลิเคชั้นชั้นนำที่เปิดทางให้ผู้ใช้งานสร้างร่างอวตาร์และใช้ชีวิตที่โลกบนโลกออนไลน์เสมือนจริงก็ใช้แนวคิดของ Metaverse ไม่ว่าจะเป็นโลก 3 มิติ ระบบเศรษฐกิจ งานไลฟ์อีเวนต์ต่าง ๆ สถานที่ทำงานและอื่น ๆ อีกมากมาย กระนั้น Second Life ก็จำกัดการใช้อยู่ในระบบนิเวศที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองเท่านั้น เช่นเดียวกับ เกมออนไลน์อย่าง Minecraft 

กล่าวได้ว่า องค์ประกอบทั้งหมดในการเป็น Metaverse ล้วนมีอยู่ครบถ้วนแล้วในปัจจุบัน ขาดเพียงแต่ชิ้นส่วนปริศนาที่ไปหายไป ซึ่งเป็นส่วนที่จะขมวดรวมเอาองค์ประกอบในการสร้าง Metaverse ทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน ภายใต้การใช้งานและครอบครองอยู่ของบรรดาธุรกิจและเหล่าผู้สร้าง (Creator) หลายพันรายที่กำลังแข่งขันกันอยู่อย่างจริงจังในเวลานี้ 

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อมั่นว่า เมื่อใดก็ตามที่สามารถทลายพรมแดนและผสานองค์ประกอบทั้งหมดได้สำเร็จ โลก Metaverse ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว

รวบรวมและเรียบเรียงจาก: Channel News Asia, Bloomberg/dv, Wikipedia

ภาพจาก บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ผู้เขียน: นงลักษณ์ อัจนปัญญา (มุ้ย) อดีตนักข่าวสายเศรษฐกิจ-ต่างประเทศ ปัจจุบันเป็นนักฟัง นักเขียน นักอ่าน ตัวยง เป็น content writer ที่มีมุมมองและภาษาเป็นเอกลักษณ์

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

UNESCO กับพันธกิจ บ่มเพาะนิสัยการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เด็กทุกคน

กระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวยุค 4.0 ด้วย Family Setup บน Apple Watch

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ