TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness“ซิลิคอน คราฟท์”​ ตั้งเป้ารุกธุรกิจดิจิทัล เฮลท์ เดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์

“ซิลิคอน คราฟท์”​ ตั้งเป้ารุกธุรกิจดิจิทัล เฮลท์ เดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์

ซิลิคอน คราฟท์ บริษัทคนไทยที่วิจัยพัฒนาไมโครชิปตระกูล RFID (Radio Frequency Identification) ใช้กับอุตสาหกรรม ปศุสัตว์ กุญแจรถยนต์ มีลูกค้าจากหลายประเทศทั่วโลก เตรียมรุกธุรกิจเทคโนโลยีด้านสุขภาพและเกษตร มากขึ้น พร้อมเข้าตลาดหลักสร้างความมั่นคงของธุรกิจ และให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

มานพ ธรรมสิริอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ในอนาคตทุกอย่างจะใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ คลาวด์ มากขึ้น โดยใช้มือถือเป็นตัวเชื่อมต่อ ขณะเดียวกันสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เรื่องสุขภาพได้รับความสนใจมากขึ้น ซึ่ง NFC จะเร่งการเติบโตได้เร็ว โดยเฉพาะกลุ่มเซ็นเซอร์ที่ทำให้บริการทางการแพทย์เข้าถึงได้โดยไม่ต้องไปโรงพยายาล สามารถรีโมทเข้ามาได้ ส่งค่าเบื้องต้นบางอย่างได้จากเซ็นเซอร์วัดค่าเคมีต่าง ๆ ซึ่งในอนาคตอาจจะสามารถพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจโควิด-19 ได้ด้วย

ซิลิคอน คราฟท์ มีความฝันจะเป็นแพลตฟอร์มด้านโมบาย เฮลท์ และดิจิทัล เฮลท์ ซึ่งสิ่งที่ทำตอนนี้ยังเป็นต้นแบบ จะต้องวิจัยเซ็นเซอร์ให้ใช้งานได้อย่างน่าเชื่อถือ ซึ่งแพลตฟอร์มจะพร้อมในอีก 1-2 ปี ซึ่งส่วนที่ไม่กระทบกับองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) และไม่เสี่ยงกับชีวิตคน เช่น การวัดค่าต่าง ๆ การทำให้อุปกรณ์ฉลาดขึ้น จะสามารถต่อยอดได้ไว

“เราพัฒนาในทุกด้าน ทั้งเรื่องโรคติดต่อ และไม่ติดต่อ อย่างเบาหวาน รวมถึงโรคที่มีความเป็นส่วนตัว ที่ไม่อยากไปพบแพทย์ ถ้าสามารถตรวจสอบด้วยตนเองผ่านสมาร์ทโฟน เช่น ตรวจสารคัดหลั่งในร่างกายโดยใช้สมาร์ทโฟน และให้ระบบคลาวด์ประมวลผลว่าอาการดังกล่าวจำเป็นต้องไปพบแพทย์หรือไม่”

ซิลิคอน คราฟท์ เป็นเจ้าของเทคโนโลยี ถือครองทรัพย์สินทางปัญญา โมเดลเดียวกับบริษัทอื่น ๆ ที่ผลิตไมโครชิปโดยว่าจ้างผู้อื่นผลิตให้ ซึ่งทำให้สเกลการผลิตได้ง่าย ขณะเดียวกันไมโครขิปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูง

ช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมาบริษัทประเมินสถานการณ์ตลอดมีแผนรับมือเหตุการณ์ต่าง ๆ (BCP) ทำงานใกล้ชิดกับคู่ค้าตลอดเวลา เพื่อรับมือและปรับตัว

“เป้าหมายของเราที่ต้องการ IPO เพราะเหตุผลสำคัญ คือ เราอยากให้มีความมั่นคง และเป็นมืออาชีพมากขึ้น เพราะเราทำธุรกิจกับต่างประเทศ ซึ่งหลังจากเข้าตลาดก็จะเป็นที่ยอมรับ รวมถึงได้เงินทุนมาขยายธุรกิจ ให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น ขยายฐานความรู้โดยการต้างผู้เชี่ยวชาญ ลงทุนกับบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อย่นระยะการพัฒนา ซึ่งเราอยากจะโตขึ้น 2 เท่า ในอีก 4 ปี รวมถึงส่งมอบพลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ”

มานพ กล่าวต่อว่า ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จะขยายกลุ่มสินค้าให้ครอบคลุมหลากหลายมากขึ้น เพิ่มคู่ค้ามากขึ้น กลุ่มที่คนสนใจในอนาคต เช่น เรื่องสุขภาพต่าง ๆ ขณะที่ NFC แพลตฟอร์ม จะเสริมเทคโนโลยีเข้าไปเพิ่มในอนาคต

ส่วนที่ทำรายได้ก็ยังทำต่อ ทั้งเรื่อง Animal ID ซิลิคอน คราฟท์ ตั้งเป้าจะเป็นเบอร์ 1 ของอุตสาหกรรมนี้ กุญแจสำรองรถยนต์ก็จะมีการพัฒนามากขึ้น ให้ต่อเข้ากับคลาวด์ได้ ด้านการวัดค่าอาหารและน้ำ จะเข้าไปช่วยการเกษตรด้านอื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค้าสินค้าส่งออก

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จะใช้ เทคโนโลยี NFC เพื่อยืนยันสินค้าว่าเป็นของจริง จะให้กับสินค้าราคาสูง เพื่อป้องกันการปลอมแปลงสินค้า ซึ่งปัจจุบันซิลิคอน คราฟท์ ได้พัฒนาสลากอัจฉริยะ สามารถตรวจสอบได้ว่ามีใครแอบแกะระหว่างทางหรือไม่ผ่านแอปพลิเคชันทางมือถือ

บล็อคเชน ด้านการเงิน นำไมโครชิปด้านความปลอดภัยเข้ามายืนยันว่าเราเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นจริง ๆ เพื่อเป็นการป้องกันอีกชั้นหนึ่ง

“เรามีความฝันว่าแพลตฟอร์มของเราจะเป็นมาตรฐานในกลุ่มทั้ง NFC ไมโครซิป และ เซ็นเซอร์ พร้อมกับการเร่งพัฒนาส่งมอบสินค้าให้ดี พัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพ ขึ้นเป็นบริษัทในระดับโลก”

ทั้งนี้ บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2545 จากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 ที่มีประสบการณ์จากการทำงานในสหรัฐฯ ซึ่งในขณะนั้น RFID กำลังได้รับความสนใจจากตลาด เข้ามาตอบโจทย์การเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมออโตเมชั่น และความปลอดภัย

เริ่มต้นโมเดลจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ โดย สวทช. ให้โจทย์ทำโครงการประมาณ 5 ล้านบาท พัฒนา Animal ID ตั้งแต่การออกแบบ จนถึงการผลิต ทำให้บริษัทมีความรู้เทคโนโลยีเป็นของตัวเอง และสามารถไปแข่งในระดับโลกได้

ขยายธุรกิจออกมาสู่ กุญแจอัจฉริยะสำหรับสตาร์ทรถยนต์ เพราะใช้สัญญาณลักษณะเดียวกันกับ Animal ID ที่เป็นตลาดใหม่ และสามารถส่งมอบสินค้าให้แบรนด์ในยุโรปได้เป็นเจ้าแรก ๆ ทำให้เติบโตขึ้นได้ในเวลาไม่กี่ปี

จากนั้นขยับเข้าสู่ธุรกิจบัตรเข้าอาคารต่าง ๆ และทำวงจรเบ็ดเสร็จ (IC) เครื่องอ่านสำหรับเข้าอาคาร ก่อนจะเข้ามาสู่เทคโนโลยี NFC ที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือ

มานพ กล่าวว่า NFC ปกติคนจะใช้กับการใช้จ่ายค่าบริการต่าง ๆ แต่ ซิลิคอน คราฟท์ อยากจะสร้างให้แตกต่าง จึงเร่งพัฒนาสินค้ากลุ่มใหม่ที่ต่อยอดทางด้าน Sensor Interface โดยพัฒนากับคู่ค้าในต่างประเทศ ซึ่งถ้าสามารถประมวลผลในคลาวด์ได้ ก็จะพัฒนาเป็นดิจิทัล เฮลท์ ได้ ร่วมมือกับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อช่วยตรวจสอบความแม่นยำให้เทียบเท่ากับโรงพยาบาล

“ปัจจุบันสมาร์ทโฟนในราคาแค่ 3,000 กว่าบาทก็มี NFC แล้ว หรือประมาณ 70% ของคนถือสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน ทำให้เร่งการใช้ Use case ต่าง ๆ ของ NFC”

ต่อยอดเซ็นเซอร์วัดค่าน้ำ สารตกค้างในพืช

มานพ กล่าวว่า ซิลิคอน คราฟท์ ทำเรื่องการวัดโรคพืช ร่วมกับนักวิจัยในยุโรป ซึ่งจะเข้ามาช่วยประเทศกำลังพัฒนาที่เข้าไม่ถึงห้องทดลอง จึงร่วมทุนกันพัฒนาเซ็นเซอร์ผ่านสมาร์ทโฟน นอกจากนี้ยังพัฒนาการวัดสารตกค้างในพืช

“ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่ไม่สามารถวัดสารตกค้างในพืชเองได้ ถ้าสามารถทำได้ก็จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค หรือการซื้อผัก มาจากตลาดที่ไม่รู้ว่ามีสารตกค้างหรือไม่ ถ้าใช้น้ำที่ล้างผักหยดไปที่แผ่นทดสอบ และใช้สมาร์ทโฟนอ่านค่าก็จะรู้ได้ว่ามีสารตกค้างหรือไม่ รับประทานได้หรือไม่”

ด้านการเลี้ยงกุ้ง มีการร่วมมือกับนักวิจัย ม.ขอนแก่น แก้ปัญหาการเลี้ยงกุ้งระบบปิดที่ปกติจะต้องส่งค่าน้ำไปที่ห้องทดลอง ซึ่งเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก แต่ถ้าใช้แผ่นทดสอบก็จะสามารถวัดค่าน้ำได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องเข้าไปที่ฟาร์ม และยังช่วยเพิ่มประสิทธิผลของการทำงานอีกด้วย

ส่วน Water Quality Card เป็นผลิตภัณฑ์ที่เปิดตัวไปแล้ว สามารถนำน้ำหยดไปที่แผ่นทดลอง และใช้ NFC ของสมาร์ทโฟนตรวจสอบได้ว่าคุณภาพน้ำสามารถดื่มได้หรือไม่ ซึ่งสามารถใช้ได้กับการเดินทางไปในสถานที่ต่าง ๆ แต่ไม่มั่นใจว่าน้ำที่จะดื่มนั้นปลอดภัยหรือไม่

ในอนาคต กล่องใส่อาหาร จะฉลาดขึ้น สามารถบอกได้ว่าอาหารนั้นเสียหรือไม่โดยใช้เซ็นเซอร์ เป็น Smart Packaging

“เราพยายามทำให้ต้นทุนของคนไทยต่ำล และการวัดสารตกค้างแบบพกพา จะช่วยเกษตรกรรายย่อยให้มีเครื่องมือบริหารจัดการฟาร์มได้โดยที่ต้นทุนต่ำ อาหารจะสะอาดและมีมูลค่าสูง ขณะที่ผุ้บริโภคที่ไม่รู้แหล่งที่มา อย่างน้อยยังมีเครื่องมือที่บ้าน สามารถวัดค่าสารตกค้างจากพืชผักได้จากแหล่งที่ไม่มั่นใจ” มานพ กล่าวทิ้งท้าย

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-“ปันโปร” แพลตฟอร์มกูรูด้านโปรโมชั่น ขยายฐานสู่ออฟไลน์ ตอบโจทย์งานอีเวนต์หลังโควิด-19
-StartDee แพลตฟอร์มเสริมการเรียนรู้ เปลี่ยนประเทศด้วยการศึกษา
-KKU Digital Transformation จิ๊กซอว์หลักของการทรานส์ฟอร์ม ม.ขอนแก่น
-โควิด-19 ปัจจัยปฏิรูปภาครัฐ DGA หนุนหน่วยงานรัฐให้บริการดิจิทัล

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ