TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness“ปันโปร” แพลตฟอร์มกูรูด้านโปรโมชั่น ขยายฐานสู่ออฟไลน์ ตอบโจทย์งานอีเวนต์หลังโควิด-19

“ปันโปร” แพลตฟอร์มกูรูด้านโปรโมชั่น ขยายฐานสู่ออฟไลน์ ตอบโจทย์งานอีเวนต์หลังโควิด-19

ปันโปร แพลตฟอร์มกูรูด้านโปรโมชั่น และเป็นคนกลางระหว่างคนซื้อและคนรับหิ้วสินค้า เริ่มต้นธุรกิจจากโซเชียลมีเดีย ปัจจุบันมีผู้ติดตามใน Facebook มากกว่า 4 ล้านคน เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้เปิดตัวแอปพลิเคชันบนมือถือ มีฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน อาทิ สามารถรับคูปองผ่านแอปฯ ได้ รวมถึงมีบริการรับหิ้วสินค้าที่เข้ามาเติมเต็มการซื้อสินค้า แก้ปัญหาคนที่ต้องการซื้อของลดราคาแต่ไม่มีเวลา หรือไม่ได้อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นปัญหามานาน

ล่าสุดปันโปรขยายธุรกิจ ร่วมมือกับงานมหกรรมสินค้าลดราคาอย่าง Thailand Mobile Expo และ Commart ทำหน้าที่เป็นคนกลางรวบรวมโปรโมชั่นภายในงานมาบอกต่อผ่านโซเชียลมีเดีย และแอปพลิเคชันของปันโปร

วริศา ศรีเจริญ ผู้บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ปันโปรโมชั่น จำกัด กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ปันโปร ทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างคนซื้อและคนรับหิ้วสินค้า คนรับหิ้วจะมีเครื่องมือทำให้ขายของง่ายขึ้น เช็คสถานะได้ และยังมีโลจิสติกเข้ามาช่วยเรื่องการจัดส่งอีกด้วย

คนที่จะเข้ามาอยู่ในระบบจะต้องถูกตรวจสอบประวัติ อีกส่วน คือ การที่ปันโปรเป็นคนกลาง คนรับหิ้วจะยังไม่ได้เงินจนกว่าลูกค้าจะได้รับสินค้า เพื่อเป็นการป้องกันการโกง หรือในกรณีที่มีปัญหา ลูกค้าสามารถส่งเรื่องร้องเรียนผ่านแอปพลิเคชันปันโปรได้ ขณะเดียวกันคนรับหิ้วจะมีระบบเรตติ้ง เพราะฉะนั้นคนรับหิ้วก็จำเป็นจะต้องทำให้ดี เพราะคนซื้อสามารถเลือกคนรับหิ้วได้

ส่วนมากคนจะฝากหิ้วสินค้าลดราคา และสินค้า Limited Edition ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่สนใจเรื่องสินค้าแฟชั่น สินค้าตกแต่งบ้าน สอดคล้องกับสัดส่วนของแฟนเพจที่เป็นผู้หญิงมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และลูกค้ากลุ่มใหญ่อายุระหว่าง 18 – 34 ปี

“แอปพลิเคชันปันโปรเพิ่งเปิดใช้บริการไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีคนโหลดไปแล้วประมาณ 200,000 ครั้ง มียอดการใช้งานต่อเดือนประมาณ 38 เปอร์เซ็นต์”

นอกจากนี้ ยังมีแคมเปญที่ปันโปรทำกับแบรนด์โดยตรง โดยปันโปรเป็นตัวกลางให้ลูกค้าสามารถสั่งสินค้าเข้ามาได้และสรุปยอดส่งให้แบรนด์ คล้าย ๆ กับการพรีออเดอร์

วริศา กล่าวต่อว่า ปกติยอดขายจะขึ้นอยู่กับความน่าสนใจของสินค้า บางโปรโมชั่นแค่คืนเดียวสามารถปิดยอดขายได้ 3-4 แสนบาท ซึ่งคนที่ฝากหิ้วส่วนหนึ่งมาจากต่างจังหวัด เพราะในต่างจังหวัดไม่มีร้านเหมือนในกรุงเทพฯ ส่วนคนในกรุงเทพฯ จะฝากหิ้วเพราะไม่มีเวลา

ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ปันโปรได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้าต้องปิดชั่วคราว จึงได้ปรับเปลี่ยนแผนในช่วง โดยเน้นไปช่วยดันยอดขายออนไลน์ให้กับแบรนด์สินค้าอีคอมเมิร์ซ เพราะการที่แบรนด์จัดแคมเปญออนไลน์คนอาจจะเห็นไม่มาก จึงใช้ปันโปรเป็นตัวกลาง

“เราสามารถช่วยให้แบรนด์มียอดสั่งซื้อมากกว่า 50 กว่าล้านบาทได้ภายใน 1 เดือน”

วริศา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังพบว่าในช่วงโควิด-19 สินค้าที่คนสนใจมีสัดส่วนเปลี่ยนไป เป็นของใช้ในบ้าน เป็นสินค้าที่มีประโยชน์กับการใช้ชีวิตมากกว่าสินค้าแฟชั่น

จับมืออีเวนต์ใหญ่ ขยายธุรกิจ

วริศา มองว่า คนยังรู้จักปันโปรแค่บนออนไลน์ แต่เมื่อมาร่วมกับพาร์ทเนอร์อย่าง Thailand Mobile Expo ทำให้ได้กลุ่มลูกค้าใหม่ที่เป็นออฟไลน์ด้วย จากการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันและเช็คโปรโมชั่นงานผ่านปันโปร เป็นการสร้างการรับรู้แบรนด์ให้คนรู้จักปันโปรมากขึ้น และเป็นการขยายคอนเทนต์ในกลุ่มสินค้าไอทีอีกด้วย

“การร่วมกับ Thailand Mobile Expo และ Commart คือ การขยายธุรกิจสู่ออฟไลน์ ให้บริการเช็คโปรโมชั่นและรับหิ้วสินค้าภายในงาน”

วริศา กล่าวต่อว่า ความท้าทายของการทำงานอีเวนต์ประเภทนี้ คือ ระยะเวลาสั้น โปรโมชั่นจะออกใกล้ ๆ งานเริ่ม ทีมคอนเทนต์จะต้องเตรียมตัวพอสมควร เพราะจะต้องรับมือกับการปรับโปรโมชั่นในแต่ละวัน

ทำงานแบบสตาร์ตอัพ เติบโตแบบ SME

ปันโปรดำเนินธุรกิจเข้าสู่ปีที่ 5 การบริหารงานใช้แผนการจัดการภายในบริษัทเหมือนกับสตาร์ตอัพ รวมถึงแผนธุรกิจใช้การร่วมมือกับธุรกิจอื่น ๆ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและการเติบโต แต่เป็นการทำธุรกิจแบบหารายได้มาเพื่อให้บริษัทอยู่รอด ไม่ได้ระดมทุน มีรายได้หลักมาจากการลงโปรโมชั่นของแบรนด์ต่าง ๆ ผ่านโซเชียลมีเดียทั้งใน Facebook และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ทั้ง Instagram Twitter และ YouTube

“รายได้หลักของปันโปรมาจากโฆษณา เราโตขึ้นทุกปีตั้งแต่ปีแรกที่เปิดตัว ในปีนี้ที่คาดว่าจะกระทบมากจากวิกฤติโควิด-19 แต่ก็ไม่กระทบมาก ซึ่งถือว่าเราโชคดี”

วริศา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาลูกค้าใช้บริการปันโปรจำนวนมากจนต้องมีการแตกไลน์ของแฟนเพจออกไปเฉพาะทางมากขึ้น ปัจจุบันมีการแตกไลน์ออกไปทั้งหมด 4 เพจ คือ “ปันโปร – Punpromotion” มีเพจ “ปันโปร – ตัวแม่” ที่เกี่ยวกับความสวยความงาม “ปันโปร – XL” เป็นเพจอาหาร ที่เติบโตมากในช่วงโควิดที่ผ่านมา รวมถึงมีเพจ “ตู้ซ่อนหมี” เป็นวาไรตี้ทำคลิปให้คนติดตาม

“ปัจจุบันเราไม่ได้คิดค่าธรรมเนียมกับคนรับหิ้ว เรามองว่าเราเป็นผู้ให้บริการ ซึ่งในอนาคตโมเดลธุรกิจของเราจะมาจากการขนส่งสินค้า เช่น เมื่อคนเข้ามาใช้บริการส่งของมาก ๆ เราก็จะได้เรตราคาที่ถูกลง ก็สามารถได้ส่วนแบ่งจากตรงนี้”

จากวิกฤติที่ผ่านมา คนได้เรียนรู้ว่าแนวโน้มการค้าจะมาที่ออนไลน์เพราะเดินทางไปหากันไม่ได้ ถ้าไม่มาขายสินค้าบนออนไลน์ก็จะขาดรายได้ ซึ่งปันโปรวางแผนว่าจะขยายจำนวนคนรับจ้างหิ้วของให้มากขึ้น แต่ก็ต้องมาด้วยคุณภาพที่ดี และในอนาคตก็มีแผนจะมีบริการใหม่เข้ามาอำนวยความสะดวกของผู้ใช้ มากกว่าการเป็นกูรูด้านโปรโมชั่น

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-StartDee แพลตฟอร์มเสริมการเรียนรู้ เปลี่ยนประเทศด้วยการศึกษา
-KKU Digital Transformation จิ๊กซอว์หลักของการทรานส์ฟอร์ม ม.ขอนแก่น
-โควิด-19 ปัจจัยปฏิรูปภาครัฐ DGA หนุนหน่วยงานรัฐให้บริการดิจิทัล
-TikTok สั้นแต่ไม่ง่าย สร้างสรรค์เป็นอาชีพได้

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ