TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเปิดศักราชใหม่การใช้ “ยานยนต์ไฟฟ้า” หนุนแผนขับเคลื่อนพลังงานสะอาดของไทย

เปิดศักราชใหม่การใช้ “ยานยนต์ไฟฟ้า” หนุนแผนขับเคลื่อนพลังงานสะอาดของไทย

จากการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2564 เรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ได้วางเป้าหมายของโลกให้ทำได้ภายในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050) สำหรับประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงจะลดให้ได้ร้อยละ 20-25 ในปี พ.ศ.2573 (ค.ศ.2030) เพื่อนำพาประเทศเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี พ.ศ.2608-2613 (ค.ศ.2065-2070) หรือถัดจากเป้าหมายโลกไปอีก 15-20 ปี

เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มอุตสาหกรรมและการขนส่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดกว่าร้อยละ 70 จึงต้องหาแนวทางไม่ให้การดำเนินกิจการเหล่านี้เพิ่มก๊าซคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติจึงได้กำหนดแนวนโยบายสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่พลังงานสะอาด วางแผนปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานจากแหล่งที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต ด้วยการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร

ยานยนต์ไฟฟ้า หรือเรียกสั้น ๆ ว่า EV (Electric Vehicle) เป็นนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์โดยใช้พลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว มีองค์ประกอบหลัก 3 อย่าง คือ แบตเตอรี่ อุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้า และมอเตอร์ไฟฟ้า จึงมีข้อดีทำให้เกิดแรงบิดได้ทันที ส่งผลให้มีอัตราเร่งที่เรียบและรวดเร็ว ทำงานได้ประสิทธิภาพสูงกว่ายานยนต์แบบสันดาปภายในที่ใช้การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงเพื่อการขับเคลื่อน และที่สำคัญคือไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศแบบยานยนต์ทั่วไป

การส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในมิติต่าง ๆ ถือเป็นปัจจัยสำคัญเนื่องจากกิจกรรมการขนส่งมีการใช้พลังงานมากและมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นอันดับต้น ๆ ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ ทั้งยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในช่วงฤดูหนาวของทุกปี โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีการจราจรคับคั่ง

คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติกำหนดแนวทางส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศตามนโยบาย 30@30 เพื่อขับเคลื่อนจากการใช้พลังงานฟอสซิลสู่การใช้พลังงานไฟฟ้า โดยกำหนดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ หรือ ZEV (Zero Emission Vehicle) ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 และตั้งเป้ามีการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 ของยานยนต์ทั้งหมดในปี พ.ศ.2573

ตามนโยบายนี้ได้แบ่งเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าออกเป็น รถยนต์นั่งและรถกระบะจำนวน 725,000 คัน รถจักรยานยนต์ 675,000 คัน รถบัสและรถบรรทุก 34,000 คัน ส่วนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบ่งเป้าหมายเป็น ประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 440,000 คัน รถจักรยานยนต์ 650,000 คัน รถบัสและรถบรรทุก 33,000 คัน

นอกจากนี้ยังกำหนดเป้าหมายการส่งเสริมให้มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะแบบ Fast charge สำหรับรองรับยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 12,000 หัวจ่าย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1,450 สถานี

ทั้งนี้ แผนการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงปี พ.ศ.2564 – 2565 นำร่องส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับทั่วประเทศ

ระยะที่ 2 ช่วงปี พ.ศ.2566 – 2568 พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มีเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 225,000 คัน รถจักรยานยนต์ 360,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 18,000 คัน ภายในปี 2568 รวมทั้งการผลิตแบตเตอรี่ในระดับ Economy of Scale

ระยะที่ 3 ช่วงปี 2569 – 2573 ขับเคลื่อนแผนและมาตรการให้บรรลุตามนโยบาย 30/30 ซึ่งมีเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าคิดเป็นร้อยละ 30 ของการผลิตทั้งหมดในปี 2573 รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศด้วย

จะเห็นได้ว่าแนวทางการขับเคลื่อนไปสู่พลังงานสะอาดในเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าของไทยดำเนินการใน 3 ด้านหลัก คือ หนึ่ง การส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ซึ่งไม่เพียงตอบสนองต่อเป้าหมายเพื่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น ยังมีเป้าหมายทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสร้าง Product Champion ตัวใหม่อีกด้วย

แม้ในภาพรวมจะเห็นว่าการดำเนินการที่ผ่านมายังไม่ได้มีความคืบหน้านัก สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากการเกิดโรคระบาดโควิด-19 ในช่วงปี พ.ศ.2563-2564 อย่างไรก็ดี คณะกรรมการนโยบายยานยนต์แห่งชาติ ได้เสนอมาตรการกระตุ้นการใช้รถ EV ด้วยการลดภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร และให้เงินอุดหนุน รวมทั้งสนับสนุนการสร้าง ecosystem รองรับความต้องการของผู้ใช้ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อประกาศใช้ในไตรมาสแรกของปี 2565 โดยมีเงื่อนไขให้บริษัทรถผู้นำเข้าต้องมีแผนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยภายใน 3 ปี

สอง การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภาครัฐจะมีมาตรการทั้งทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีออกมาส่งเสริมให้คนไทยเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น อีกทั้งกระตุ้นผู้ผลิตและจำหน่ายให้มีแผนลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยไปพร้อม ๆ กัน

เบื้องต้นมีข้อมูลเปิดเผยว่ารัฐบาลจะใช้เงินจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภายในประเทศ อุดหนุนสำหรับกลุ่มที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท คันละ 150,000 บาท และลดภาษีสรรพสามิตเหลือร้อยละ 2% โดยรถนำเข้าจะได้รับการลดภาษีนำเข้าสูงสุดร้อยละ 80% ด้วย ภายใต้เงื่อนไขบริษัทรถผู้นำเข้าจะต้องมีแผนผลิต EV ในประเทศภายใน 3 ปี ส่วนกลุ่มรถ EV ราคา 2 ล้านบาทขึ้นไป จะได้ลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 2% และลดภาษีนำเข้าสูงสุด 20% แต่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนเหมือนกลุ่มแรก ซึ่งรายละเอียดที่ชัดเจนจะเกิดขึ้นหลังจากคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบแล้ว

สาม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับยานยนต์ไฟฟ้าที่มีทั้งการส่งเสริมสถานีอัดประจุไฟฟ้า การพัฒนากฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การส่งเสริมเทคโนโลยีสมาร์ทกริด และการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งช่วยสร้าง Ecosystem ที่ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการใช้งานและสามารถเข้าถึงยานยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปพอสมควร ในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ได้เปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้า PEA VOLTA ตามสถานีบริการน้ำมันบางจากแล้วจำนวน 76 แห่ง และจะเปิดเพิ่มอีก 90 แห่ง ในปี พ.ศ.2565 นี้ โดยตั้งเป้าหมายที่จะเปิดให้ได้ทั้งหมดเป็นจำนวน 263 สถานี รวมกันกว่า 1,000 หัวจ่าย ครอบคลุมพื้นที่ 75 จังหวัด ภายในปี พ.ศ.2566

โดยทุกสถานีของ PEA VOLTA รองรับหัวชาร์จ 3 รูปแบบ คือ DC CHAdeMo, DC CC Type 2 และ AC Type 2 และมีแอปพลิเคชัน PEA VOLTA อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ด้วยฟีเวอร์หลากหลาย ทั้งการจองคิว เติมเงินและชำระเงิน การค้นหาพิกัดและนำทางไปสถานีอัดประจุ รวมทั้งสั่งการเริ่มและหยุดการชาร์จ ณ สถานีอัดประจุไฟฟ้า PEA VOLTA

ในขณะที่บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ซึ่งเริ่มติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า หรือ EV Station PluZ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 ปัจจุบันมีสถานีแดประจุไฟฟ้ากว่า 100 จุด และวางแผนจะขยายเพิ่มจำนวนรวมเป็น 300 แห่ง ภายในปี พ.ศ.2565 โดยใช้พื้นที่ทั้งในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น และร่วมมือกับพันธมิตรเปิดสถานีบริการพื้นที่ภายนอก ซึ่งจะมีทั้งแบบ Normal Charge และ Quick Charge ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถลงทะเบียนผ่านโมบายแอปพลิเคชัน EV Station PluZ ที่มีฟีเจอร์พื้นฐานรองรับการใช้งานได้อย่างสะดวก ทั้งการนำทางไปสู่สถานีชาร์จตามแผนที่ จองคิว ชำระเงิน และตรวจสอบประวัติการใช้งานได้ รวมทั้งแจ้งข้อมูลสถานะของสถานีอัดประจุแต่ละแห่ง

นอกจากบริษัทผู้ค้ารถยนต์ไฟฟ้าหลายรายก็เริ่มการลงทุนสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าเพื่อรองรับลูกค้าของตนและลูกค้าทั่วไปเช่นเดียวกันด้วย

แม้ในช่วง 2-3 ที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์แบบเดิมจะถดถอยลงตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว และผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่การใช้รถไฟฟ้ามีการเติบโตอย่างน่าสนใจเนื่องจากมีผู้ผลิตเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าสู่ตลาดของผู้ผลิตจากจีน สำหรับประเทศไทยปัจจุบันมียอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ 100% (BEV) ในทุกแพลตฟอร์ม ทั้งรถยนต์ รถบัส รถจักรยานยนต์ และรถตุ๊กตุ๊กรวมทั้งหมดประมาณ 10,000 คัน เมื่อมีมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวเกิดขึ้น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดว่าจะทำให้เกิดยอดขายระดับ 4,000-5,000 คันต่อปี จากเดิมที่มียอดขายประมาณ 1,000 กว่าคันในปี พ.ศ.2564

เมื่อกระแสการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์กำลังมาแรง ผนวกกับภาวะราคาน้ำมันซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการสร้างพลังงานของรถยนต์สันดาปภายในมีแนวโน้มสูงขึ้น ก็กลายเป็นแรงกดดันให้ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกต้องหันมาลงทุนกับรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น แนวโน้มการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคตย่อมส่งผลทำให้ผู้ใช้ยิ่งมีทางเลือกมากขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่านับจากปี พ.ศ.2565 เป็นต้นไปจะเป็นการเปิดศักราชใหม่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแท้จริง

สมชัย อักษรารักษ์ … อดีตบรรณาธิการ ผู้มีประสบการณ์ 20 ปี ในวงการงานข่าวการตลาด-ไอที แต่มีความสนใจในประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ จนได้ใช้ทำงานสารคดีนาน 10 ปี

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

สถานีรถไฟ “หัวลำโพง” อนาคตจะไปอย่างไร

ยูเนสโก ขึ้นทะเบียนการละเล่น “โนรา” ของไทย เป็นมรดกวัฒนธรรม ที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ