TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistสถานีรถไฟ “หัวลำโพง” อนาคตจะไปอย่างไร

สถานีรถไฟ “หัวลำโพง” อนาคตจะไปอย่างไร

แผนการเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางรางของประเทศไทยแทนสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือที่คนไทยคุ้นเคยในชื่อว่า “หัวลำโพง” ภายในปี 2564 เป็นที่รับรู้กันมาก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่มีกำหนดการชัดเจนว่าเป็นเมื่อไร ส่วนสถานีกรุงเทพที่มีอายุครบ 105 ปีในปีนี้จะมีอนาคตเป็นเช่นไรก็ยังไม่รู้

จนกระทั่งการรถไฟแห่งประเทศไทยประกาศแผนลดขบวนเที่ยววิ่งรถไฟเข้าสู่หัวลำโพงจากจำนวน 118 ขบวนต่อวัน เหลือสายชานเมือง-หัวลำโพง 22 ขบวนต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2564 โดยขบวนรถไฟทางไกลทั้งหลายให้หยุดที่สถานีบางซื่อ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวว่ากระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้หยุดวิ่งทุกขบวนสู่หัวลำโพงจนสร้างความไม่สบายใจแก่ผู้ใช้บริการมาแล้ว

เหตุผลสำคัญเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดในเขตเมืองช่วงจากบางซื่อ-หัวลำโพง อันเนื่องจากมีจุดตัดถึง 7 จุด และช่วงมักกะสัน-หัวลำโพง 3 จุด ซึ่งจะลดการปิดกั้นถนนได้ 826 ครั้งต่อวัน โดยจะมีผู้โดยสารได้รับผลกระทบประมาณ 3,126 คนต่อเที่ยวต่อวัน หรือรวมไปกลับจำนวน 6,252 คนต่อเที่ยวต่อวัน ตามผลการศึกษาจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) 

ทั้งยังต้องการเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และช่วงบางซื่อ-หัวหมาก ที่จะมีการก่อสร้างแบบขุดเปิดหน้าดินสร้างเป็นทางรถไฟแบบคลองแห้ง ซึ่งทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่จะต้องสร้างอุโมงค์ในช่วงนี้เผื่อสายสีแดงช่วง Missing Link ด้วย

พร้อมกันนี้ได้เปิดเผยแนวคิดว่าจะพัฒนาพื้นที่รอบสถานีในเชิงพาณิชย์เป็นคอมมูนิตีแบบมิกซ์ยูส โดยปรากฎภาพโมเดลจำลองที่แสดงให้เห็นอาคารขนาดใหญ่ทรงทันสมัยตั้งตระหง่านด้านหลังของอาคารสถานีที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิกซึ่งอยู่คู่กับสังคมไทยมานานถึง 105 ปี

ท่ามกลางข่าวการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับสถานีรถไฟหัวลำโพงซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ใช้บริการรถไฟจำนวนหนึ่งอย่างแน่นอน ประกอบกับความไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับตัวสถานีรถไฟเก่าแก่แห่งนี้จนกลายเป็นความเข้าใจผิดไปในทำนองว่าการรถไฟฯ จะรื้อทิ้งตัวอาคารสถานีไปด้วย ทำให้เกิดกระแสคัดค้านขึ้นจากหลายฝ่าย จนรัฐบาลต้องลดแรงต่อต้านด้วยการเปิดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ก่อนเดินหน้าต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงกับสั่งการให้เปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อรวบรวมความเห็นและข้อแนะนำมาประกอบการพิจารณาหาแนวทางการเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพงที่เหมาะสมและส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด รวมทั้งการพัฒนาสถานีหัวลำโพงจะเป็นไปทิศทางใด โดยทำในรูปแบบออนไลน์มีการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊กและช่องยูทูปของของการรถไฟแห่งประเทศไทยและสำนักข่าวไทย เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564

ในเวทีสาธารณะ “อนาคตสถานีหัวลำโพง ประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา” มีตัวแทนจากภาคประชาสังคมหลายฝ่ายเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนวทางการพัฒนา มีสองประเด็นสำคัญคือเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ต้องการเดินทางเข้าสู่หัวลำโพงเพื่อความสะดวกในการเดินทางด้วยเครือข่ายคมนาคมในเมือง โดยเห็นว่าการหยุดเดินรถสู่หัวลำโพงเป็นการปิดประตูสู่ระบบรางอื่น ๆ ทำให้การเดินทางด้วยระบบรางไม่ราบรื่น ซึ่งอดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย “ประภัสร์ จงสงวน” ให้ความเห็นว่ารถไฟเป็นบริการที่จำเป็นต่อประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว ดังพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ผู้ให้กำเนิดบริการรถไฟของไทยที่ว่า รถไฟจะต้องอำนวยความสะดวกของประชาชนให้ได้มากที่สุด

อีกประเด็นที่สำคัญคืออนาคตของอาคารสถานีหัวลำโพงและพื้นที่โดยรอบรวมทั้งหมด 132 ไร่ จะเป็นอย่างไร โดย “ไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล” กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด บริษัทลูกที่จัดตั้งขึ้นมาบริหารสินทรัพย์ของการรถไฟฯ กล่าวว่าเบื้องต้นมีแนวคิดที่ศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 จะพัฒนาเป็นคอมมูนิตีขนาดใหญ่ใจกลางเมือง โดยการแบ่งโซนมีพื้นที่สีเขียวสำหรับการทำกิจกรรมของประชาชน มีพื้นที่ให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และพื้นที่เชิงพาณิชย์ 

แต่ภาพโมเดลจำลองที่ถูกเผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ได้สร้างความรู้สึกผิดหวังกับหลายภาคส่วนในประเด็นที่เหมือนลดคุณค่าของสถานที่อันมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่ง “รสนา โตสิตระกูล” อดีตวุฒิสมาชิกกรุงเทพมหานครกล่าวว่า สถานีรถไฟหัวลำโพงถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าแรกของก้าวสู่ความทันสมัยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 และมีบทบาทรับใช้ประชาชนมายาวนานจนถึงปัจจุบัน การออกแบบตามภาพที่ปรากฎเป็นการลดทอนคุณค่าให้อาคารสถานีแห่งนี้กลายเป็นเพียงแค่ซุ้มประตูทางเข้าห้างสรรพสินค้า ถือเป็นเรื่องไม่สมควร

ปรากฎว่าหลังจากการรับฟังความคิดเห็นแล้ว ในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2564 “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้การรถไฟฯ เปิดให้บริการรถไฟทั้งสายสั้นและสายยาวจำนวน 118 ขบวนต่อวัน เข้าสู่สถานีรถไฟหัวลำโพงเหมือนเดิม และเพื่อให้การดำเนินการต่อไปมีความรอบด้าน จึงมอบหมายให้การรถไฟฯ จัดทำสำรวจผลกระทบกับประชาชน และตรวจสอบในทุกด้าน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมต่อของประชาชน การอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและความปลอดภัยในการเดินรถ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

การตัดสินใจครั้งนี้เท่ากับว่ากระทรวงคมนาคมตัดสินใจถอยเพื่อลดกระแสต่อต้านที่กำลังมีเสียงกระหึ่มมากขึ้นเพราะไม่เพียงเสียงจากภาคประชาสังคมเท่านั้น หากยังมีการคัดค้านของสหภาพรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้าร่วมด้วย 

อย่างไรก็ตาม จากท่าทีของรัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคมที่เคยประกาศชัดเจนว่า การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงย่อมต้องมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หากตนไม่เริ่มนับหนึ่งก็ไม่รู้จะเริ่มเมื่อไร ซึ่งจะมีผลต่อหนี้สินของการรถไฟฯ ที่เพิ่มขึ้น จึงเข้าใจได้ว่าโครงการพัฒนาพื้นที่หัวลำโพงที่วางแผนไว้จะเดินหน้าต่อไปอย่างแน่นอน

สำหรับแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณหัวลำโพงตามที่ บริษัท เอสอาร์ที เเอสเสท จำกัด ได้เสนอแนวทางไว้จะแบ่งออกเป็น 5 โซน คือ โซน A เนื้อที่ 16 ไร่ เป็นอาคารสถานีหัวลำโพงและพื้นที่สาธารณะ โซน B เนื้อที่ 13 ไร่ จะปรับปรุงอาคารให้เป็นไปตามแนวทางอนุรักษ์ โซน C เนื้อที่ 22 ไร่ บริเวณโรงซ่อมรถกำหนดเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ร้านค้า ร้านอาหาร และพื้นที่กิจกรรมที่เน้นทำเป็นพื้นที่สีเขียว ต้นแบบไอเดียจากเวนิส ประเทศอิตาลี

ส่วนพื้นที่โซน D คือบริเวณชานชาลา ทางรถไฟ และย่านสับเปลี่ยนการเดินรถ เนื้อที่ 49 ไร่ จะพัฒนาเป็นรูปแบบมิกซ์ยูส ประกอบด้วยโรงแรม อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย ห้างสรรพสินค้า ต้นแบบจาก โตเกียว มิดทาวน์ และโซน E ที่เป็นอาคารสำนักงานการรถไฟฯ และตึกคลังพัสดุเดิม เนื้อที่ 20 ไร่ มีแผนพัฒนาเป็นมิกซ์ยูส โรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์กิจกรรม ไอเดียตามแบบโครงการ Suzhou Creek เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน 

โครงการทั้งหมดนี้มีมูลค่าประเมินราว 48,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่จับตาของสังคมว่าจะมีกลุ่มธุรกิจใดบ้างเข้ามาแข่งขันชิงสิทธิพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่กลางเมืองแห่งนี้

ทั้งนี้ จากการศึกษา “โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)” เมื่อปี พ.ศ.2563-2564 ของคณะนักวิจัยจาก 5 สถาบัน ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันอาศรมศิลป์ จากการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พบว่า ประชาชนมีความคาดหวังอยากให้หัวลำโพงพลิกโฉมสู่บทบาทเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เป็นศูนย์กลางอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงย่านเมืองเก่าของกรุงเทพฯ เช่น เยาวราช วงเวียน 22 กรกฎาคม ตลาดน้อย ฯลฯ และเชื่อมโยงกับย่านการค้าใหม่ที่เรียงรายบนถนนพระราม 4 ไปจนถึงเขตคลองเตย รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และพื้นที่สาธารณะที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนที่หลากหลาย

อีกส่วนที่สังคมให้ความสนใจไม่น้อยคือ อาคารสถานีซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามและมีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นแลนด์มาร์คสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร หลังจากไม่เป็นสถานีกลางของรถไฟแล้วจะถูกใช้ประโยชน์อย่างไรต่อไป เนื่องจากมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์กว่า 100 ปี

สถานีรถไฟหัวลำโพงมีผังอาคารเป็นรูปตัว E คล้ายกับสถานีรถไฟเมืองแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิกยุคเรอเนสซองส์ มีจุดเด่นที่โถงชานชาลาเป็นหลังคาโค้งประดับกระจกสีช่องระบายอากาศทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และมีนาฬิกาบอกเวลาขนาดใหญ่ทั้งด้านหน้าและด้านใน มีความสวยงามเทียบชั้นสถานีรถไฟเก่าในยุโรปหลายแห่ง ทำให้เป็นที่คาดหวังว่าจะถูกใช้ประโยชน์เป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟของไทยในอนาคต ซึ่งเราอาจเห็นภาพไอเดียเบื้องต้นได้จากงาน Hua Lamphong in Your Eyes ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดขึ้นที่สถานีแห่งนี้ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ถึง 16 มกราคม 2565

โดยในงานไม่เพียงมีจัดแสดงนิทรรศการเท่านั้น ยังมีกิจกรรมเรียนรู้ประวัติศาสตร์สำคัญ 10 จุดของสถานีหัวลำโพง ที่ยามปกติเราจะไม่ได้สัมผัสหรือเข้าถึงได้ และมีการนำขบวนรถไฟที่น่าสนใจมาให้ชมอย่างใกล้ชิด คือ รถจักรไอน้ำแปซิฟิกรุ่นเลขที่ 824, 850 ที่ถูกใช้การหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งปัจจุบันการรถไฟฯ ใช้เป็นขบวนรถนำเที่ยวในโอกาสพิเศษปีละ 6 ครั้ง และขบวนรถพิเศษ Prestige ที่ตกแต่งภายในหรูหราไว้บริการให้เช่า

อย่างไรก็ดี จากกรณีศึกษาในต่างประเทศจะพบว่าสถานีรถไฟเก่าของหลายเมืองจะพยายามรักษาสภาพการใช้งานของสถานีให้คงมีชีวิตชีวาดังเดิม แม้จะลดความสำคัญโดยการลดจำนวนขบวนรถที่เช้ามาใช้สถานีก็ตาม ทำให้การใช้ประโยชน์แบบใหม่ เช่น เป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟ อยู่ร่วมกับการใช้งานเป็นสถานีรถไฟในรูปแบบพิพิธภัณฑ์รถไฟที่มีชีวิต (Railway Living Museum) ได้ ดังตัวอย่างสถานีรถไฟ King’s Cross สถานี Victoria หรือ สถานี Liverpool ในประเทศอังกฤษ ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งการใช้งานจริงและเป็นแหล่งหาความรู้ไปด้วย

สมชัย อักษรารักษ์ … อดีตบรรณาธิการ ผู้มีประสบการณ์ 20 ปี ในวงการงานข่าวการตลาด-ไอที แต่มีความสนใจในประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ จนได้ใช้ทำงานสารคดีนาน 10 ปี

ขอขอบคุณภาพจากเพจ “ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ยูเนสโก ขึ้นทะเบียนการละเล่น “โนรา” ของไทย เป็นมรดกวัฒนธรรม ที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

Smart Museum พิพิธภัณฑ์ไทยจากของจริงสู่โลกเสมือน

จาก “ละมุนภัณฑ์” ถึง “จักรวาลนฤมิต” คำศัพท์สะท้อนเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ