TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistSmart Museum พิพิธภัณฑ์ไทยจากของจริงสู่โลกเสมือน

Smart Museum พิพิธภัณฑ์ไทยจากของจริงสู่โลกเสมือน

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ต่อเนื่องมาเป็นเวลานานนับปี มีผลให้แหล่งเรียนรู้มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของไทยในความดูแลของกรมศิลปากรจำเป็นต้องปิดให้บริการชั่วคราวหลายครั้งหลายหน ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑสถานหรืออุทยานประวัติศาสตร์ต่าง ๆ การเปิดให้บริการเข้าชมผ่านระบบออนไลน์ในรูปแบบโลกเสมือนนับเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้สะดวกและน่าตื่นตัวตื่นใจ 

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 (ปรับปรุงปี 2553) กำหนดให้การจัดการศึกษายึดหลักการที่สำคัญประการหนึ่ง คือ เป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน โดยให้ความสำคัญกับการศึกษาในแหล่งเรียนรู้ทางสังคม ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 25 ว่ารัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานและการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ

กล่าวได้ว่า “พิพิธภัณฑ์” เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในฐานะที่เป็นสถานที่เก็บรวบรวม และจัดแสดงสิ่งต่าง ๆ ที่มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือความรู้อื่น ๆ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา และให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้เข้าชม

คำว่า “พิพิธภัณฑ์” แปลตามรูปศัพท์จะมีความหมายเพียง “สิ่งของนานาชนิด” เท่านั้น (“พิพิธ” แปลว่านานาชนิด กับ “ภัณฑ์” แปลว่าสิ่งของ) หากจะให้มีความหมายเป็นสถานที่จัดแสดงวัตถุสิ่งของต้องใช้คำว่า “พิพิธภัณฑสถาน” ซึ่งแปลว่า “สถานที่สำหรับสิ่งของนานาชนิด” โดยเรานำไปเปรียบเทียบกับคำว่า “มิวเซียม” (museum) ที่เป็นสถานที่สิงสถิตของคณะเทพธิดามูซา (Musa) ของกรีก-โรมัน ซึ่งเป็นคณะแห่งสรรพวิชาด้านต่าง ๆ จึงมีความหมายว่า “หอแห่งสรรพวิชา” นั่นเอง

แต่ในทางพิพิธภัณฑวิทยาจะมีความหมายกว้างกว่าแค่สถานที่จัดเก็บและจัดแสดง แต่ถือเป็น “แหล่งเรียนรู้” โดยสภาการพิพิธภัณฑสถานระหว่างชาติ หรือ ICOM (International Council of Museum) ได้ให้ความหมายคำว่า มิวเซียมมีหน้าที่รวบรวม สงวนรักษา ค้นคว้าวิจัย เผยแพร่ความรู้ และจัดแสดง วัตถุอันเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ เพื่อจุดประสงค์ทางการค้นคว้า การศึกษา และ ความเพลิดเพลินใจ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าประเทศต่าง ๆ ในโลกตะวันออกจะให้คำจำกัดความคำว่ามิวเซียมไว้เพียงแค่ “สถานที่จัดเก็บและจัดแสดงสิ่งของนานาชนิด” เท่านั้น รวมทั้งประเทศไทยด้วย 

การพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยเริ่มต้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อทรงจัดพระที่นั่งราชฤดีเป็นที่เก็บรวมรวมโบราณวัตถุ เครื่องราชบรรณาการ ของแปลกและของสะสมส่วนพระองค์ ต่อมาทรงให้สร้างราชมณเฑียรหมู่หนึ่งประกอบด้วยพระที่นั่งจำนวน 11 แห่ง รวมเรียกว่า “พระอภิเนานิเวศน์” แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2402 มีพระที่นั่งหลังหนึ่งนามว่า “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” สำหรับจัดเก็บสิ่งของต่าง ๆ แทนพระที่นั่งราชฤดี ไว้ทอดพระเนตรส่วนพระองค์และรับรองพระราชอาคันตุกะและทูตานุทูตเพื่อแสดงความเป็นอารยะของประเทศสยาม 

นี่เป็นการปรากฏขึ้นของคำว่า “พิพิธภัณฑ์” เป็นครั้งแรก แม้จะยังไม่ใช่การเรียกอย่างที่ใช้ในปัจจุบัน แต่มีพระราชประสงค์ให้ทำหน้าที่เหมือนกันมิวเซียมตามแบบโลกตะวันตก โดยมีบันทึกทูตต่างชาติว่าภายในอาคารมีป้ายเป็นภาษาอังกฤษว่า Royal Museum 

ครั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้สร้างอาคารสโมสรทหารมหาดเล็กตามอย่างสโมสรทหารบกในเมืองปัตตาเวีย ที่ได้รับแนวคิดจากการเสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา เรียกว่า “หอคองคอเดีย” ต่อมาจัดตั้งเป็น ”หอมิวเซียม ในวันที่ 19 กันยายน ปี พ.ศ. 2417 โดยย้ายวัตถุจากพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์มาจัดแสดง ณ หอคองคอเดีย กรมศิลปากรจึงถือเอาเป็นวันกำเนิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกของไทย ต่อมาได้ประกาศให้วันที่ 19 กันยายน เป็น “วันพิพิธภัณฑ์ไทย”

หอมิวเซียมนี้อยู่ในความดูแลของกรมทหารมหาดเล็ก จัดแสดงเป็นนิทรรศการชั่วคราวเฉพาะในโอกาสสำคัญ การเปิดให้สาธารณชนเข้าชมเป็นครั้งแรกได้รับความสนใจอย่างมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแสดงเป็นพิเศษเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของทุกปี 

จนกระทั่งปี พ.ศ.2430 หลังจากยกเลิกตำแหน่งวังหน้า ทรงโปรดเกล้าฯ ได้ย้ายมิวเซียมไปใช้พระราชวังบวรสถานมงคลเป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ภายในพระที่นั่งส่วนหน้าคือ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน และพระที่นั่งพุทธไธสวรรย์ เรียกกันว่า “พิพิธภัณฑ์วังหน้า” หรือ มิวเซียมหลวงที่วังหน้า” 

ปี พ.ศ.2433 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้โอนมิวเซียมมาสังกัดกรมศึกษาธิการ และในปี พ.ศ.2444 ตั้งเป็นกรมพิพิธภัณฑ์ ในสังกัดกระทรวงธรรมการ มีหน้าที่ดูแลโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่จัดแสดงอยู่ในมิวเสียม  โดยเวลานั้นมิวเซียมหลวงที่วังหน้าเปิดให้ประชาชนเข้าชมเฉพาะในวันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้รวมการช่างปราณีตศิลปจากกระทรวงโยธาธิการ และกรมพิพิธภัณฑ์จากกระทรวงธรรมการเป็น “กรมศิลปากร” ในปี พ.ศ.2454 มีผู้บัญชาการกรมขึ้นตรงต่อพระเจ้าแผ่นดิน เป็นจุดเริ่มต้นของงานพิพิธภัณฑสถานภายใต้สังกัดกรมศิลปากร

ช่วงเวลานั้น คำว่า “พิพิธภัณฑ์” เริ่มนิยมใช้ในภาษาพูดมากขึ้น ส่วน “พิพิธภัณฑสถาน” ใช้ในหนังสือราชการเรื่อยมา จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีประกาศจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานวังหน้าเป็น “พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร” ตามพระราชประสงค์ให้รวมการพิพิธภัณฑสถานเข้ากับหอพระสมุดสำหรับพระนครขึ้นเป็นราชบัณฑิตยสภา เรียกว่า “ศิลปากรสถาน” ดังนั้นกรมศิลปากรจึงถูกยกเลิกไป

จนถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ.2476 มีพระราชบัญญัติจัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นมาใหม่ สังกัดกระทรวงธรรมการ มีการเปลี่ยนสังกัดของพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมศิลปากรภายใต้ชื่อ “กองพิพิธภัณฑ์และโบราณคดี” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “กองพิพิธภัณฑ์และโบราณวัตถุ” และกลายเป็น “กองโบราณคดี” มีหน้าที่ดำเนินงานพิพิธภัณฑสถานและดูแลโบราณสถานทั่วพระราชอาณาจักร

ปี พ.ศ.2477 เริ่มใช้คำว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” เป็นครั้งแรก โดยพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครเปลี่ยนชื่อเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร” จนมีพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504  ทำให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทุกแห่งอยู่ในความดูแลของกองโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ และจัดตั้งกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ.2518 แยกออกจากกองโบราณคดี มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม

ข้อมูลจากเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) พบว่าปี พ.ศ.2563 ประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์ทั้งที่จัดตั้งโดยหน่วยราชการ สถานศึกษา วัด ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ องค์กรเอกชน และส่วนบุคคล จำนวนทั้งสิ้น 1.531 แห่ง ปิดถาวรไปแล้ว 30 แห่ง ปิดปรับปรุง 20 แห่ง (ข้อมูลเดือนพฤศจิกายน 2564) ในจำนวนนี้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในสังกัดกรมศิลปากร ทั้งที่อยู่ในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้งหมด 42 แห่ง 

แต่เดิมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเน้นการจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ โดยไม่ได้มีข้อมูลสนเทศให้ความรู้แก่ผู้ชม และจัดแสดงแบบถาวรเป็นเวลานานจนมีการกล่าวในเชิงเปรียบเทียมว่าเป็นเสมือนโกดังเก็บของเก่ามากกว่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชน

ต่อมาเมื่อมีพิพิธภัณฑ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขององค์กรเอกชน หรือองค์การมหาชน เช่น พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ (มิวเซียมสยาม) หรือพิพิธภัณฑ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งจัดแสดงในลักษณะที่เน้นการให้ความรู้ด้วยรูปแบบหลากหลาย ส่งผลให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มีการปรับปรุงสภาพสถานที่และออกแบบการจัดแสดงให้ทันสมัยและมีข้อมูลสนเทศเพื่อประโยชน์ด้านการเรียนรู้มากขึ้น 

ส่วนที่ถือเป็นความก้าวหน้าอย่างชัดเจนก็คือการนำระบบดิจิทัลเข้ามาสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาบริการทางออนไลน์ด้วยรูปแบบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลมรดกศิลปวัฒนธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แม้อยู่ที่บ้านก็สามารถเข้ามาชมได้ฟรี และไม่มีวันหยุดราชการ

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 เป็นต้นมา กรมศิลปากรได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้และพัฒนาการให้บริการข้อมูลระบบต่างๆ 6 เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับงานพิพิธภัณฑ์โดยตรงมี 2 เรื่องคือ ระบบ Virtual Museum และระบบ Smart Museum

ระบบ Virtual Museum หรือพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง เป็นระบบจัดเก็บข้อมูลและนำเสนอข้อมูลพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศผ่านเว็บไซต์ในรูปแบบสื่อการเรียนรู้เสมือนจริง มีทั้งข้อมูลอาคารจัดแสดง และนิทรรศการที่เคยจัดแสดงจริงในแบบ virtual tour 360 องศา ข้อมูลการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และภาพโบราณวัตถุชิ้นสำคัญในแต่ละพิพิธภัณฑ์แบบ Interactive หมุน 360 องศา รวมทั้งมีคลังข้อมูลรูปภาพ วิดีโอและอีบุ๊คด้วย โดยผู้สนใจสามารถเช้าชมได้ที่เว็บไซต์ www.virtualmuseum.finearts.go.th

นอกจากนี้ กรมศิลปากรยังได้พัฒนาระบบVirtual Historical Park หรืออุทยานประวัติศาสตร์เสมือนจริง ควบคู่กันไป โดยรวบรวมข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์ทั่วประเทศมาไว้ที่เว็บไซต์ http://virtualhistoricalpark.finearts.go.th บอกเล่าประวัติความเป็นมา มีภาพแผนที่ และภาพโบราณสถานให้ได้ชม รวมทั้งภาพมุมสูงที่ทำให้มองเห็นอุทยานประวัติศาสตร์โดยรอบ

พัฒนาการอีกขั้นที่เปิดให้บริการล่าสุดคือ Smart Museum เป็นระบบการให้บริการข้อมูลพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่ช่วยให้ผู้สนใจสามารถเดินชมเล่นไปกับพิพิธภัณฑ์เสมือนผ่านทางโทรศัพท์มือถือ Smart Phone หรือ Tablet โดยดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นได้ทั้ง iOS และ Android เพื่อสนองตอบวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ให้สนใจงานด้านมรดกวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น

ระบบจะทำการอ่านข้อมูล QR และ AR Code แสดงข้อมูลโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ.พระนคร ในห้องจัดแสดงต่างๆ ในรูปแบบวัตถุเสมือนจริง 360 องศา รวมถึงข้อมูลอาคารโบราณสถานภายใน ได้แก่ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ หมู่พระวิมาน ในรูปแบบ 3D Model ชมนิทรรศการภาพวาด “จิตรกรรมมีชีวิต” ที่เชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมกับแมชชีนเลิร์นนิง และนิทรรศการหมุนเวียนที่น่าสนใจผ่านเทคโนโลยี AR และ VR

นอกจากเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ.พระนคร ได้แบบทุกที่ทุกเวลาแล้ว ปัจจุบันยังสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ได้อีก เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ.เรือพระราชพิธี, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ.ศิลป พีระศรี อนุสรณ์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ.หอศิลปเจ้าฟ้า, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ.ปราจีน, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ.พระปฐมเจดีย์ และในเร็วๆ นี้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ.บ้านเก่า ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนภูมิภาคแห่งแรกของไทยที่มีเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเก่าแก่ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คนทุกเพศทุกวัยต้องการการเรียนเพื่อพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา การสร้าง “แหล่งเรียนรู้” ที่หลากหลายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ หากสามารถพัฒนาให้พิพิธภัณฑ์เป็นห้องเรียนเพื่อชีวิตที่เปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่เท่าเทียมกัน ก็จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาคนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

สมชัย อักษรารักษ์ … อดีตบรรณาธิการ ผู้มีประสบการณ์ 20 ปี ในวงการงานข่าวการตลาด-ไอที แต่มีความสนใจในประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ จนได้ใช้ทำงานสารคดีนาน 10 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ