TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview“นวนุรักษ์” ... แพลตฟอร์ม “อนุรักษ์และเพิ่มมูลค่า” มรดกวัฒนธรรมไทย

“นวนุรักษ์” … แพลตฟอร์ม “อนุรักษ์และเพิ่มมูลค่า” มรดกวัฒนธรรมไทย

ก่อนจะมาเป็น นวนุรักษ์​ เนคเทค-สวทช. เรียกแพลตฟอร์มนี้ว่า “อนุรักษ์” (anurak.in.th) ทำหน้าที่เป็นเสมือนหลังบ้านโดยทำงานควบคู่ไป Museum Pools ที่เป็นแอปพลิเคชันไกด์อิเล็กทรอนิกส์ ไกด์ เพื่อช่วยในการนำชมพิพิธภัณฑ์ 

หลังจากนั้นได้ปรับชื่อแพลตฟอร์มมาเป็น “นวนุรักษ์” ซึ่ง “นว” แปลว่า ใหม่ กับ “นุรักษ์” ที่มาจาก อนุรักษ์ รวมเป็นคำว่า นวนุรักษ์ คือ การอนุรักษ์ในแนวทางใหม่ โดยมีทั้งแพลตฟอร์มและเว็บไซต์ navanurak.in.th

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติหรือ NECTEC  (เนคเทค) กล่าวว่า แพลตฟอร์มข้อมูลทางวัฒนธรรมนวนุรักษ์นี้ นอกจากมีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของไทยให้คงอยู่แล้ว ยังเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 

“ถ้าเราไม่มีข้อมูลดิจิทัลเหล่านี้ คุณค่าที่เราจะเอาไปขาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสินค้า มันผูกกับข้อมูลทางวัฒนธรรมทั้งหมด โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเหมาะมากที่จะทำข้อมูลเหล่านี้ออกไปรองรับให้กับภาคการท่องเที่ยว และสินค้าชุมชน”

แนวคิดการนำข้อมูลทางวัฒนธรรมาจัดเก็บและจัดทำให้เห็นระบบในรูปดิจิทัลไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ หรือเกิดขึ้นที่ไทยเป็นที่แรกในต่างประเทศทั่วโลกต่างก็มีการจัดทำโครงการที่คล้ายคลึงนี้เช่นกัน โดยเฉพาะที่ภูมิภาคยุโรป ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ใหญ่มาก ชื่อว่า “ยูโรเปียนา” (Europeana) ที่เป็นแหล่งข้อมูลของวัฒนธรรมขนาดใหญ่ที่รวมเอาหลายประเทศเข้าไว้ด้วยกัน 

ดร.ชัย กล่าวว่า นอกจากจะเป็นแพลตฟอร์มที่มีความหลากหลายแล้ว ยังมีเว็บไซต์ที่แสดงผลการจัดเก็บข้อมูลที่น่าประทับใจ โดยเมื่อเข้าไปชม สิ่งแรกที่เห็น คือ แผนที่ยุโรป ที่แสดงจุดของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในนั้นทั้งหมด 

อีกทั้งข้อมูลดังกล่าวยังเปิดเผยอย่างเสรี พร้อมเปิดทางให้คนสามารถนำไปต่อยอด เอาไปสร้างเป็นนวัตกรรม เช่น เป็นแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ หรือ อื่น ๆ เช่น สตอรี่ โดยมีทั้งข้อมูลฟรีที่สามารถเข้าถึงได้ไม่จำกัด และข้อมูลที่มีลิขสิทธิซึ่งจะมีระเบียบขั้นตอน และขอบเขตของการใช้ข้อมูลติดลิขสิทธิ์ การทำงานบริหารจัดการระบบทุกอย่างเป็นมาตรฐานทางสากล

“ผมอยากเห็นภาพนั้น ภาพแผนที่ประเทศไทย ทุก ๆ พิพิธภัณฑ์ “

“นวนุรักษ์” ... แพลตฟอร์ม “อนุรักษ์และเพิ่มมูลค่า” มรดกวัฒนธรรมไทย

ในช่วงเริ่มต้นของการจัดทำนวนุรักษ์ จึงมุ่งเก็บข้อมูลที่พิพิธภัณฑ์หลักของประเทศก่อน ด้วยการลงพื้นที่ไปพูดคุยทำความเข้าใจกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม และชุมชน และเริ่มต้นจัดทำกับเครือข่ายขนาดใหญ่ทางภาคเหนือของไทย โดยเริ่มจากจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะค่อย ๆ ขยายขอบเขตไปพิพิธภัณฑ์ชุมชนรอบจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง เป็นต้น

ขอบเขตของเครือข่ายที่ขยายวงกว้าง ทำให้ปัจจุบันแพลตฟอร์มนวนุรักษ์ มีเครือข่ายเข้าร่วมแล้วกว่า 70 หน่วยงานทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ขณะที่ในส่วนของข้อมูลที่เป็นวัตถุชิ้นงานก็อยู่ในหลักหลายหมื่นชิ้นงาน

“ต้องบอกว่าวัฒนธรรมประกอบด้วยหลายแบบมาก ทั้งที่เป็นวัตถุ ทั้งที่เป็นสตอรี่ เป็นประเพณีวัฒนธรรม ตลอดจนเรื่องของเชื้อชาติ ชนชาติ ชีวภาพ อัตลักษณ์ทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นพวกสัตว์ พืชที่อยู่ในพื้นที่ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มีมูลค่า”

แม้จะทุ่มเททำงานกันอย่างเต็มที่มาโดยตลอด กระนั้น เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ต้องการให้”นวนุรักษ์” ยืนหยัดเทียบเคียงได้กับ Europeana นวนุรักษ์ยังคงอยู่ห่างไกลจากเป้าที่ตั้งไว้มาก ดร.ชัย กล่าวว่า นวนุรักษ์ ยังไม่ได้ถึง 10% ของวัฒนธรรมไทยทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศ 

“การพัฒนาข้อมูลวัฒนธรรมในระดับชุมชน เราต้องทำให้ชุมชนลงมือทำด้วยตนเองให้ได้ จึงเป็นที่มาของ แพลตฟอร์ม “นวนุรักษ์” เพื่อเก็บข้อมูลวัฒนธรรม บริหารจัดการข้อมูลวัฒนธรรม ในแบบที่หน่วยงานย่อยหรือชุมชนสามารถทำได้ด้วยตนเอง” 

“นวนุรักษ์” ... แพลตฟอร์ม “อนุรักษ์และเพิ่มมูลค่า” มรดกวัฒนธรรมไทย

หลายคนอาจมองว่า ข้อมูลทางวัฒนธรรมมีผลโดยอ้อมในการสร้างรายได้ แต่ในมุมมองของผู้ที่ทำงานรวบรวมและสร้างฐานข้อมูลทางวัฒนธรรม ดร.ชัย กล่าวอย่างชัดเจน ว่า ข้อมูลทางวัฒนธรรมเหล่านี้ คือ แหล่งรายได้ทางตรง เพราะนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวส่วนหนึ่งก็เพราะได้เห็นเรื่องราวทางวัฒนธรรมไทยแล้วจึงอยากเดินทางมาสัมผัสด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม ลำพังแค่ข้อมูลทางวัฒนธรรมที่มีอยู่อย่างอัดแน่นเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาได้ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกำลังคนที่จะนำข้อมูลทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ออกมาสร้างเรื่องราวเรียงร้อยให้น่าสนใจ 

“เหมือนที่ได้เห็นความสำเร็จกันมาบ้างแล้วในหลายประเทศ ที่การดูซีรีส์บางเรื่อง ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจก็กลับทำให้น่าสนใจได้ ทั้งยังดึงคนให้เดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศนั้น ๆ”

ยิ่งไปกว่านั้น การที่เรื่องราวผูกโยงกับสินค้าในชุมชน เช่น อาหาร ก็ย่อมทำให้สินค้าในพื้นที่นั้น ๆ ขายได้ มีเงินไหลเวียนเข้ามา จึงถือเป็นแหล่งรายได้โดยตรง ซึ่งอาหารของไทยก็โดดเด่นไม่แพ้ชาติใด แต่ยังขาดกระบวนการที่จะดึงเรื่องราวเหล่านี้ออกมาให้โดดเด่น 

“นวนุรักษ์” ... แพลตฟอร์ม “อนุรักษ์และเพิ่มมูลค่า” มรดกวัฒนธรรมไทย

ดร.ชัยมองว่า “นวนุรักษ์” จะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในการผลักดันให้คนเข้ามาคิดต่อยอดเพื่อนำเรื่องราวที่เปรียบเสมือนวัตถุดิบที่อัดแน่นอยู่ในคลังของนวนุรักษ์ ไปปรุงแต่ง ต่อยอดให้มีรสชาติน่าสนใจต่อไป เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามา สร้างมูลค่าให้แก่การท่องเที่ยวของประเทศไทยได้ในที่สุด 

Digitize ข้อมูล … ต่อยอดสร้างมูลค่า:

บทบาทหลักของเนคเทค-สวทช. คือ การรวบรวมข้อมูลมาจัดทำในรูปแบบของดิจิทัลให้ครบถ้วนทั่วถึงครอบคลุมทั้งประเทศ และสนับสนุนให้เกิดการนำข้อมูลที่แปรเป็นดิจิทัลแล้วไปต่อยอดสร้างประโยชน์ และเกิดมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจต่อไป

เป้าหมายมี 2 ลำดับ คือ  การทำให้ข้อมูลวัฒนธรรมพื้นบ้านเข้าไปอยู่ในระบบคลังข้อมูลให้ได้ แล้วก็สามารถที่จะแชร์ข้อมูลได้ และทำอย่างไรให้ข้อมูลวัฒนธรรมที่แชร์ได้แล้วนี้ถูกนำไปใช้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือทางสังคมต่อได้

ซึ่งเนคเทค-สวทช.ได้เชิญชวนหลายกระทรวงที่เป็นพันธมิตรที่จะเอาไปใช้งาน โดยเฉพาะการนำข้อมูลวัฒนธรรมมาสู่สายตาชาวโลกผ่านอุตสาหกรรมคอนเทนต์บันเทิง ที่ประเทศไทยถือได้ว่ามีฝีมือและศักยภาพที่เก่งกาจไม่แพ้ชาติใดในโลก เพียงแต่ยังขาดการสนับสนุน และต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร

เนคเทค-สวทช.พยายามต่อยอดให้เกิดการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มนวนุรักษ์ ด้วยการลงพื้นที่จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยใช้นวนุรักษ์เป็นฐานในการสร้างข้อมูลดิจิทัลให้กับชุมชนหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ และแต่ละปีก็จะมีการจัดโครงการประกวดเพื่อเฟ้นหาสุดยอดฝีมือนักสร้างคอนเทนต์มาโดยตลอด

“นวนุรักษ์” ... แพลตฟอร์ม “อนุรักษ์และเพิ่มมูลค่า” มรดกวัฒนธรรมไทย

ทั้งนี้ 2 ปีที่ผ่านมา เนคเทค-สวทช.จัดการแข่งขันโดยการนำข้อมูลไปสร้างเป็นนวัตกรรมทางด้านดิจิทัล เช่น แอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่น่าสนใจ น่าสนุกสนาน และสร้างความแปลกใหม่ ถือเป็นมุมที่เกี่ยวข้องกับเนคเทค-สวทช.โดยตรงในฐานะที่สนับสนุนให้เกิดการสร้างเทคโนโลยี 

“การสร้างแอปพลิเคชันบางครั้งไม่ได้ตอบโจทย์ได้ทันที ทั้งยังกลายเป็นว่าสิ่งที่คนสนใจไม่ใช่ตัวแอปพลิเคชัน แต่เป็นเนื้อหาในตัวแอปพลิเคชันนั้น ๆ และเป็นคอนเทนต์ที่น่าสนใจต่างหากที่ดึงดูดให้คนเข้าใช้แอปพลิเคชันนั้น ๆ ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ๋ที่อยู่ในเนคเทค-สวทช.แทบทั้งหมดคือ ข้อมูลทางวิชาการที่น่าสนใจ แต่ไม่น่าดึงดูดใจ”

ดังนั้น ปีนี้จึงเป็นปีแรกที่เราจัดการแข่งขันในพื้นที่เพื่อนำประโยชน์มาสู่ชุมชนด้วย และทำให้ทีมงานที่เข้ามาแข่งขันได้เห็นข้อมูลที่แท้จริงของชุมชนด้วย เข้าถึงวัฒนธรรมจริง ๆ 

“เราเปลี่ยนมุมมองว่า แทนที่เราจะแข่งขันพัฒนาแอปพลิเคชัน เป็นการแข่งขันพัฒนาสตอรี่ หรือแข่งขัน Story Creator ที่ทีมแต่ละทีมที่ได้มีโอกาสลงพื้นที่ คลุกคลีใกล้ชิดชุมชนจะเก็บเกี่ยวสิ่งที่ได้ทั้งหมดไปสร้างเรื่องราวที่น่าสนใจ”

ดร.ชัย มองว่า Story Teller หรือ Story Creator คือ ขุมกำลังหลักในการที่จะสร้างข้อมูลดิจิทัลเหล่านี้ไปสู่ผู้ที่สนใจใช้งาน หรือนำไปต่อยอดใช้งานต่อ ๆ ไปเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ดร.ชัย กล่าวว่า โคกสลุงมีความเข้มแข็งอย่างยิ่งในเชิงของการสร้างอัตลักษณ์ชุมชน และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่แม้ไม่หวือหวา แต่ก็มีคนเข้ามาท่องเที่ยวอยู่ตลอดเวลา และยังสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวโดยที่ชุมชนและคนในชุมชนไม่บอบช้ำ โคกสลุงยังคงสามารถคงความเป็นอัตลักษณ์ของตนเองไว้ได้อย่างเหนียวแน่นมาตลอด 20-30 ปีที่ผ่านมา

“นวนุรักษ์” ... แพลตฟอร์ม “อนุรักษ์และเพิ่มมูลค่า” มรดกวัฒนธรรมไทย

เนคเทค-สวทช.และเครือข่ายนวนุรักษ์ อยากจะบอกให้กับประชาชนคนไทย และแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ให้รู้ว่า การที่จะทำให้แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ชุมชนต้องเข้มแข็งด้วยตนเอง ต้องสร้างอัตลักษณ์ด้วยตนเอง 

“การสร้างการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ใช่การท่องเที่ยวที่เปลี่ยนตามความต้องการของนักท่องเที่ยว แต่ต้องทำให้นักท่องเที่ยวเข้าใจในการที่จะมาท่องเที่ยวที่นี่ อนุรักษ์ในสิ่งที่มันเป็นอยู่ นี่คือ การท่องเที่ยวที่มีคุณค่าที่จะทำให้เติบโตต่อ ๆ ไปได้อย่างไม่เสียหาย อยากให้ที่โคกสลุงเป็นต้นแบบ”

เทคโนโลยีคือเครื่องมือในการอนุรักษ์

ที่ผ่านมา การอนุรักษ์ คือ การรักษาวัตถุโบราณ ภาษาและวัฒนธรรมให้คงอยู่ ซึ่งวิธีการรักษา หากเป็นวัตถุโบราณ คือ เก็บไว้ไม่ให้ใครไปแตะต้อง ส่วนวิธีการรักษาภาษาและวัฒนธรรม คือ การถ่ายทอดสืบต่อไปยังคนรุ่นต่อไป

แต่หลายครั้ง พบว่า ภาษาบางภาษาได้ตายไปเพราะไม่มีการสอนหรือไม่มีคนให้สอน ขณะเดียวกัน ก็ได้เห็นการสูญหายไปของวัตถุโบราณหรือสถานที่โบราณ เพราะรักษาไว้ไม่ได้

สถานการณ์ดังกล่าว จึงเกิดเป็นคำถามว่า การรักษาด้วยวิธีแบบดั้งเดิมที่เป็นมานี้จะสามารถอยู่ยืนยาวได้นานแค่ไหน และจุดประกายให้เนคเทค-สวทช.ฉุกคิดเรื่องการตอบโจทย์การรักษาอนุรักษ์วัฒนธรรมทั้งหลายว่าแท้จริงแล้วเทคโนโลยีดิจิทัลคือกลจักรสำคัญ

เนื่องจากสถานการณ์การสูญหายไปของวัตถุโบราณและวัฒนธรรมได้บ่งชี้ให้เห็นแล้วว่า แนวทางการอนุรักษ์ที่แท้จริง คือ การทำอย่างไรให้ภาษาหรือวัตถุโบราณเหล่านั้นเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น

วิธีการ คือ ทำให้มันเป็นข้อมูลดิจิทัล และเปิดเผยไปในมุมมองที่เหมาะสมในสังคม พอคนเริ่มรู้จักมากขึ้นจะมีคนสนใจเพิ่มขึ้น พอคนสนใจเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นการกลั่นกรอง ทำให้มีคนที่จะเข้ามาสืบต่อ ถึงแม้เปอร์เซ็นต์จะน้อยมากก็ยังมี ส่วนข้อมูลวัตถุโบราณต่าง ๆ ถูกแปรรูปเป็นดิจิทัลเก็บไว้ เพราะฉะนั้น จะไม่มีวันหายไป เทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มจะมาช่วยในการอนุรักษ์ข้อมูลเอาไว้ได้

การจัดประกวดคือการสร้างคน

นอกจากจะเดินหน้าขยายพันธมิตรสร้างเครือข่ายเพื่อรวบรวมข้อมูลวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัลเพื่อการอนุรักษ์ให้ทั่งถึงครอบคลุมที่สุดแล้ว สิ่งสำคัญที่เนคเทค-สวทช.ให้ความใส่ใจ ก็คือการสร้างขุมกำลังหรือทรัพยากรบุคคลให้เกิดขึ้น 

“นวนุรักษ์” ... แพลตฟอร์ม “อนุรักษ์และเพิ่มมูลค่า” มรดกวัฒนธรรมไทย

เพราะความสำเร็จของการสร้างเรื่องราว ความสำเร็จของการนำข้อมูลดิจิทัลไปใช้ หรือความสำเร็จของการสร้างแอปพลิเคชันต่าง ๆ ล้วนเกิดขึ้นได้จากการที่เนคเทค-สวทช.สามารถเฟ้นหาบุคคลเหล่านั้นออกมาใช้งาน

ดังนั้น เวทีการประกวดจึงเป็นเวทีที่ดีมาก สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่อาจจะยังไม่มีโอกาส แต่ว่ามีฝีมือมีความสามารถได้เข้ามาท้าทายตัวเอง

“เราค้นพบเขา เหมือนเจอเพชร หลายเวทีน้อง ๆ ที่ชนะเลิศที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ได้อาชีพไปเลย แล้วอาชีพเป็นอาชีพที่ตรงกับที่เขาเชี่ยวชาญ คนที่เข้ามาสนับสนุนเรามาเป็นสปอนเซอร์ก็ได้คนที่ตรงไปทันที ผมว่ามันเป็นวิธีการที่ดีมาก ๆ แล้วผลพลอยได้ ก็คือ ชุมชนที่นั่นเกิดประกาย เป็นที่รู้จัก ทำให้เราเกิดความสามารถที่จะใช้เวทีแบบนี้สื่อสารออกไปข้างนอกได้ เราก็ได้สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนไปพร้อม ๆ กันด้วย ดังนั้น จริงๆ แล้ว งานแบบนี้ ยิ่งนกนัดเดียว แต่ได้นกหลายตัวเลยทีเดียว” ดร.ชัย กล่าว

ขณะที่สิ่งที่คาดหวังจากการดำเนินการทั้งหมด ดร.ชัย กล่าวว่า ต้องการจะเห็น Thailand 4.0 เกิดขึ้นได้จริง ให้สังคมที่อยู่บนฐานรากของเทคโนโลยีเกิดขึ้นจริง 

เนคเทค-สวทช. ตั้งเป้าสร้างเทคโนโลยีที่นำไปใช้ได้จริง หมายความว่า เนคเทค-สวทช.ไม่ใช่นักวิจัยที่จบแค่ว่าสามารถทำงานได้ หรือระบบทำงานได้แล้วจบ เพราะระบบที่ทำงานจะสามารถนำไปใช้งานจริงได้จะต้องมีระบบนิเวศน์ (Ecosystem)

“คาดหวังไว้ขนาดไหน ผมบอกกับทีมงานว่า เป็นไปได้ไหมที่ข้อมูลเหล่านี้จะถูก discover ขึ้นมา แล้วถูกเอาไปในซีรีส์ ที่ไปอยู่บนแพลตฟอร์มดัง ๆ ได้ อาจจะเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในความสำเร็จของทั้งชุมชน ทั้ง Story Creator ทั้งตัวนักวิจัย” 

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ