TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyนวัตกรรมสมองกลกำกับเบรกเกอร์ 4.0 แนวคิดใช้ไฟฟ้าปลอดภัยยุคดิจิทัล

นวัตกรรมสมองกลกำกับเบรกเกอร์ 4.0 แนวคิดใช้ไฟฟ้าปลอดภัยยุคดิจิทัล

ต่อให้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากค่ายผู้ผลิตต่าง ๆ จะตบเท้าเข้าสู่ตระกูล “สมาร์ท” มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ททีวี สมาร์ทตู้เย็น หรือสมารท์แอลอีดี แต่จนแล้วจนรอดอุปกรณ์สมาร์ทเหล่านี้ก็ไม่ทำให้ “บ้าน” หรือ “โรงงาน” ที่อุปกรณ์สมาร์ทเหล่านี้ติดตั้งอยู่กลายเป็น อาคารหรือที่อยู่อาศัยแบบสมาร์ทที่ชาญฉลาดสมชื่อ ซึ่งหมายรวมถึงปลอดภัยต่อการใช้งานได้อย่าง 100% ขึ้นมาได้

ชัชชม สุจริตโศภิต วิศวกรไฟฟ้าผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานคร่ำหวอดอยู่ในวงการไฟฟ้ามาอย่างยาวนาน กล่าวกับ The Story Thailand ว่า เป็นเพราะอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ยังขาดฟันเฟืองตัวหนึ่งที่จะคอยควบคุมแหล่งให้กำเนิดพลังงานอย่าง “ไฟฟ้า” และกลายเป็นแนวคิดที่มาที่ทำให้ชัชชมเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมบ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 ภายใต้ทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)

ทั้งนี้ ในแต่ละปีข้อมูลจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานครรายงานว่า สถานประกอบการและอาคารที่อยู่อาศัยภายในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา (ราวเดือนมิถุนายน – ธันวาคม 2564) มีเหตุอัคคีภัยเกิดขึ้นทั้งสิ้น 342 ครั้ง เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร 312 ครั้ง และจากการจุดธูปเทียน 39 ครั้ง 

กล่าวได้ว่า ในการเกิดไฟไหม้ในทุกครั้ง 62% เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ขณะที่อีก 28% มีสาเหตุมาจาก “ไฟ” จริง ๆ และเหตุที่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรมีต้นทางมาจากสายไฟฟ้า ปลั๊กไฟฟ้า สะพานไฟ และพัดลม เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานมานาน โดยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 10,000 ล้านบาท  

ในมุมมองของชัชชม สาเหตุของการเกิดไฟไหม้เพราะไฟฟ้าลัดวงจรข้างต้นล้วนเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ ด้วยนวัตกรรมที่ตนพัฒนาขึ้นมาภายใต้โครงการ “บ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 กับการปฎิวัติอุตสาหกรรมการใช้ไฟฟ้าและการป้องกันภัย” 

“นวัตกรรมบ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 คือการเล่นคำ ตัวอุปกรณ์ยังมีตัวป้องกันไฟฟ้าอยู่ คำว่าเบรกเกอร์ คือ การป้องกัน ถ้าเป็นคนทั่วไปเวลาพูดถึงเบรกเกอร์มักจะนึกถึงตัวคันโยกเพื่อสับไฟเวลาไฟรั่วที่อยู่ในบ้าน ดังนั้น เพื่ออยากให้คนหลุดพ้นจากภาพจำนั้นจึงใช้คำว่านวัตกรรมบ้านไร้เบรกเกอร์ เพราะจริง ๆ แล้วตัวที่จะมีมาแทนจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด โดยอิเล็กทรอนิกส์ในทีนี้หมายถึงสมองกล เป็นการเอาสมองกลมาแทนเบรกเกอร์” ชัชชม กล่าว

ชัชชมอธิบายเพิ่มเติมว่า โดยพื้นฐานแล้วการใช้ไฟฟ้าทุกชนิดต้องมีตัวตัดไฟ หรือตัวป้องกัน พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นคือในทุกการใช้ไฟฟ้าจะต้องมีตัวป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายจากการใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะป้องกันในรูปไหนก็ตาม เพราะฉะนั้นนวัตกรรมบ้านไร้เบรกเกอร์จึงไม่ได้หมายถึงการตัดเอาตัวป้องกันการตัดไฟอย่างเบรกเกอร์ทิ้งไป แต่เป็นการเปลี่ยน “การป้องกันนั้นให้เป็นรูปแบบดิจิทัล” 

ในส่วนของแนวคิดนวัตกรรมบ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 นี้ ชัชชม กล่าวว่า เป็นการต่อยอดมาจากความรู้ความชำนาญที่ตนเองมีในเรื่องของการป้องกันอันตรายที่เกิดจากฟ้าผ่า ไฟกระโชก เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย 100% 

“ความสามารถตรงนี้ทำให้เกิดแนวคิดต่อยอดมาว่า ทำไมเวลาไฟไหม้บ้านจึงไม่สามารถป้องกันได้ คำตอบที่ได้คือเนื่องจากว่าเวลาที่เกิดไฟไหม้นั้น กระแสไฟฟ้าไม่ได้เกิน ไฟไม่ได้รั่ว เรียกได้ว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นตัวเบรกเกอร์ไม่มีทางรู้ได้เองถ้าเราไม่ใส่สมองกลเข้าไป แต่การใส่สมองกลเข้าไปมันต้องทำงานมากกว่านั้น หมายความว่าแทนที่จะต้องทำงานเพียงแค่ตัดไฟ ตัวสมองกลนี้ต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นในบ้านหลังนั้นหรือสถานที่นั้น เรานำความรู้พื้นฐานทั่วไปทางวิชาการเกี่ยวกับไฟฟ้าใส่เข้าไปในสมองกล ทำให้มันฉลาด” ชัชชม กล่าว

เมื่อติดตั้งตัวอุปกรณ์ที่ทำให้บ้าน “สมาร์ท” ขึ้นแล้ว จะทำให้เจ้าของบ้านรู้ว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในบ้านทั้งหมดมีการใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสมหรือไม่ มาก-น้อยเกินไป มีไฟรั่ว ไฟเกิน หรือเกิดความร้อนในส่วนใด จนสามารถแจ้งเตือนเจ้าบ้านและจัดการตัดไฟได้ทันก่อนที่จะเกิดไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้นั่นเอง 

“สิ่งที่เราคิดค้นและผลิตขึ้นมา คือ ซีพียูเอาสิ่งที่เราต้องการทั้งหมดใส่เข้าไป และสร้างขึ้นมาเป็นซีพียู หรือสมองกล เราไม่อยากใช้คำว่าเบรกเกอร์เพราะจะทำให้คนเข้าใจว่าเราทำงานเหมือนเบรกเกอร์ ทำให้กรอบความคิดของคนแคบลงมา คิดแค่ว่ามันเป็นอุปกรณ์สำหรับตัดต่อไฟเท่านั้น และอาจทำให้คนสับสนกับ “สมาร์ทเบรกเกอร์” ที่เปิดตัวออกมาใหม่ โดยตัวสมาร์ทเบรกเกอร์นั้น ไม่มีกลไกอะไรที่ซับซ้อน เพราะเป็นการเอาตัวเบรกเกอร์มาติดไวไฟทำให้สามารถสั่งงานผ่านแอปพลิเคชัน โดยสมาร์ทโฟน และรับส่งสัญญาณแบบไร้สายเท่านั้น แต่อันนี้คือซีพียูที่เราพัฒนาขึ้นมา มีสมองกลที่ตั้งโปรแกรมให้เรียนรู้ได้ว่า กรณีไฟฟ้าแบบใดเป็นอันตรายและควรเข้าไปจัดการ ทำให้ป้องกันความปลอดภัยได้ 100%” ชัชชม กล่าว

สำหรับหลักการทำงานจะอาศัยจุดเริ่มต้นของการที่ทุกบ้านจะจุดศูนย์รวมของการใช้ไฟฟ้าอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเพียงนำ “ซีพียู” นี้ติดตั้งเข้าไปกลายเป็นระบบสมองกลดิจิทัล ที่นอกจากจะทำให้ทราบถึงสาเหตุของปัญหาไฟฟ้าขัดข้องที่เกิดขึ้นได้แล้ว ยังสามารถนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนการใช้พลังงานเป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายปี รวมทั้งแจ้งเตือนความผิดปกติของปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อช่วยในการประหยัดและเพื่อความปลอดภัย 

“เมื่ออุปกรณ์มี AI หมายความว่ามันมีปัญญา ดังนั้นเมื่อไปติดตั้งที่ไหนก็ตามที่มีกระแสไฟฟ้า มันจึงสามารถเรียนรู้และเข้าใจได้ว่าเกิดอะไรขึ้น มีอุปกรณ์ไฟฟ้าอะไรบ้างที่ติดตั้งอยู่ เกิดปัญหาอะไร โดยตัวซีพียูจะติดตั้งเข้าไปในตัวเบรกเกอร์ปกติทั่วไปมีชิพฝังอยู่ ทำให้สามารถสั่งงาน เรียนรู้และเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าทั้งหมด รวมถึงสามารถคาดการณ์ความเป็นไปได้ต่าง ๆ มากมาย แบบไม่จำกัดเพื่อความปลอดภัย” ชัชชม กล่าว

เรียกได้ว่า ระบบซีพียูจะทำงานร่วมกับสมองกลที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะคอยตรวจจับคลื่นไฟฟ้าและตัดสินใจตัดต่อวงจรไฟฟ้าก่อนเกิดภัยทางไฟฟ้าทุกชนิด ช่วยให้ผู้ใช้งานรู้สึกอุ่นใจปลอดภัย ขณะเดียวกันสามารถส่งผ่านข้อมูลพารามิเตอร์ทางไฟฟ้าไปยังแพลตฟอร์มที่เชื่อมไปยังสมาร์ทโฟนของเจ้าของผ่านระบบ WiFi โดยที่จะมีระบบบริหารจัดการให้บ้านสามารถคิดได้เอง หรือเป็นเสมือนคอมพิวเตอร์ที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเป็นองค์ประกอบในการทำงานผ่านเครื่องมือสื่อสารได้อย่างแท้จริงบนระบบเดียว

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักของชัชชมไม่ได้หยุดอยู่แค่การเปิดตัวนวัตกรรมบ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 ออกสู่ท้องตลาดในวงกว้าง แต่เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภค เหมือนกับที่สมาร์ทโฟนเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานของโทรศัทพ์ของผู้คนในทุกวันนี้ ดังนั้นนอกจากการคิดค้นตัวสมองกลกำกับเบรกเกอร์ และเข้าไปดำเนินการติดตั้งให้แล้ว ชัชชมยังต่อยอดไปถึงการให้บริการดูแลระบบไฟฟ้าของตัวอาคาร โรงงาน หรือที่อยู่อาศัยที่มีการติดตั้งระบบดังกล่าว 

“เช่น กรณีที่มีผู้ใช้งานติดตั้งระบบดังกล่าว 50 ราย ทุกรายจะฝากข้อมูลให้คอยดูแล กรณีที่เกิดปัญหาขึ้น เราก็สามารถดูแลให้ได้เลย โดยที่คุณไม่ต้องกังวลว่าถ้าเกิดไฟช็อตแล้วคุณทำงานอยู่อีกที่ คุณต้องทำอย่างไร ซึ่งเราดูให้มีปัญหาอะไรจะเข้าไปช่วยจัดการแก้ไขให้” ชัชชม กล่าว

ปัจจุบัน โครงการของชัชชมมีการติดตั้งไปแล้วประมาณกว่า 600 วงจร ครบตามเงื่อนไขของโครงการของทุนกทปส. เมื่อช่วงกลางปี 2564 ที่ผ่านมา บวกกับรุ่นแรกที่มีการติดตั้งแล้วกว่า 100 วงจร ทำให้ขณะนี้มีวงจรติดตั้งทั้งหมดกว่า 700 วงจร และคาดว่าจะติดตั้งได้อีกประมาณหนึ่งพันกว่าวงจรในอนาคตอันใกล้นี้ โดยลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาแสดงความจำนงต้องการใช้ มีตั้งแต่บ้านทั่วไป สมาร์ทฟาร์มมิง และบริษัทที่ดำเนินการเรื่องเหมืองขุดบิทคอยน์ 

อย่างไรก็ตาม ชัชชมยอมรับว่านวัตกรรมบ้านไร้เบรกเกอร์นี้ยังคงต้องมีการดำเนินการพัฒนาต่อยอดเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างครอบคลุมมากที่สุด รวมถึงบรรลุเป้าหมายของตนเองที่ต้องการทำให้ผู้ใช้งานได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของตนเอง ผ่านการใช้งาน “สมองกล” ตัวนี้ 

“ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเราเข้าใจดีว่าอุปกรณ์หนึ่งเครื่องไม่สามารถป้องกันครอบจักรวาลได้ แต่ชาวบ้านเขาไม่เข้าใจกับเรา ดังนั้น เราจึงตระหนักว่าเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องสร้างเครื่องมือที่จะสามารถป้องกันสารพัดปัญหาของผู้ใช้ไฟฟ้าให้ได้ นี่คือเหตุผลที่ทำให้เราทุ่มเทกับการทำงานวิจัยในครั้งนี้ เราต้องการผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นมาตรฐานใหม่ในการมีไฟฟ้าใช้ ซึ่งจะสามารถต่อยอดไปใช้ในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้ในอนาคต” ชัชชม กล่าว

ด้าน นฤเบศ วรรคดี กรรมการบริหาร บริษัท สิงโตพลาสติก จำกัด เจ้าของโรงงานรับฉีดพลาสติกในจังหวัดกาญจนบุรี ในฐานะผู้ใช้งานระบบจริงกล่าวว่า การติดตั้งระบบช่วยให้สามารถบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าของโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในแง่ของความปลอดภัยจากอุบัติภัยต่าง ๆ และการใช้ไฟอย่างประหยัด โดยที่ตนเองสามารถตรวจสอบระบบไฟฟ้าของโรงงานผ่านสมาร์ทโฟนจากที่ไหนก็ได้

“ระบบช่วยให้เรารู้จักตนเอง รู้จักพฤติกรรมการใช้ไฟของตนเอง และทำให้เราวางแผนการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการติดตั้งก็ทำได้ง่าย และสามารถทำได้เอง ซึ่งสำหรับตัวโรงงานก็ใช้เวลาเพียงครึ่งวันก็สามารถติดตั้งได้เสร็จสิ้นเรียบร้อย” นฤเบศ กล่าว

ในฐานะผู้ใช้งานจริง นฤเบศ เผยว่า กำลังหารือ (กับคุณชัชชม) เพื่อให้ตัวซีพียูดังกล่าวสามารถยกระดับประสิทธิภาพในการทำงานขึ้นไปอีกขั้น คือ จากเดิมที่สามารถระบุกำลังการใช้แบบกิโลวัตต์ แล้วคำนวณออกมาเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนได้แล้ว ให้ระบบดังกล่าวสามารถคำนวณการใช้ไฟแบบลงลึก จนกระทั่งสามารถระบุออกมาได้ว่า การฉีดพลาสติกหนึ่งชิ้นตามคำสั่งของลูกค้ามีต้นทุนค่าไฟที่เท่าไร เพื่อความเหมาะสมในการประเมินราคาผลิตของโรงงานได้อย่างถูกต้องแม่นยำขึ้นต่อไป

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

3 กูรู แนะ SMEs-สตาร์ตอัพไทย ปรับตัวรับ “ศตวรรษแห่งเอเชีย”

ประมวลสุดยอดข่าวสายเทคฯ ทั่วโลก ปี 2021

“นิพนธ์ บุญเดชานันทน์” ซีอีโอ WHAUP ตั้งเป้ายืนหนึ่งผู้นำตลาดพลังงานสะอาดแห่งภูมิภาคเอเชีย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ