TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness3 กูรู แนะ SMEs-สตาร์ตอัพไทย ปรับตัวรับ "ศตวรรษแห่งเอเชีย"

3 กูรู แนะ SMEs-สตาร์ตอัพไทย ปรับตัวรับ “ศตวรรษแห่งเอเชีย”

สามผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจ ตลาดเงิน และเทคโนโลยีของไทยร่วมแบ่งปันความเห็นเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2565 พร้อมคำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมปรับตัวสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) และสตาร์ตอัพของไทย

ความเห็นครั้งนี้มีขึ้นในระหว่างงานประชุมออนไลน์ จัดโดย อินโนสเปซ ไทยแลนด์ (Innospace Thailand) เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ “การปรับตัวของ SMEs และสตาร์ตอัพไทยหลังวิกฤติโควิด-19 และการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุค Next Normal” ที่ 3 ผู้ทรงคุณวุฒิ มาร่วมแบ่งปันแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีหน้า รวมถึงคำแนะนำเกี่ยวกับการปรับตัว การเตรียมความพร้อม และการระดมทุนสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) และเหล่าสตาร์ตอัพไทย

ทั้งนี้ สำหรับทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2565 ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า สิ่งที่มองเห็นอย่างแน่ชัดในตอนนี้ คือ ความพร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่ เข้าสู่ยุค Next Normal ของบรรดาเอกชนและเจ้าของธุรกิจทั้งหลาย ซึ่งอานิสงส์จากการเร่งกระจายการฉีดวัคซีน บวกกับการเดินหน้าพัฒนาวัคซีนป้องกันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2565 นี้จะเป็นไปได้อย่างยั่งยืน เพียงแต่อาจจะต้องเฝ้าระวังในเรื่องของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตัวกลายพันธุ์โอมิครอนบ้าง

“มองในแง่บวก การระบาดของโอมิครอน จะกลายเป็นตัวเร่งให้คนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้เราตั้งอยู่บนพื้นฐานการฟื้นตัวที่ดีได้ ทั้งหมดนี้ ถ้าโอมิครอนไม่แย่ หมายความว่าเราใกล้จะออกจากอุโมงค์แล้วหัวใจสำคัญในขณะนี้คือการเตรียมการออกจากอุโมงค์ว่าเราจะรับมือกับสิ่งที่เรียกว่า Next Normal ได้อย่างไร” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

ในมุมมองของ ดร.กอบศักดิ์  Next Normal นี้จะเต็มไปด้วยความท้าทายและโอกาส ความเสี่ยงเดิม ๆ ที่อยู่ก่อนโควิด จะกลับมา พร้อมโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเปิดขึ้น โดย Next Normal จะเป็นโลกของ 4 อย่างด้วยกัน คือ หนึ่งโลกของดิสรัปชันที่เป็นตระกูล 4.0 ทั้งหลาย เป็นโลกใหม่ที่หลายอย่างที่ไม่เคยได้ยินก็ปรากฎชื่อขึ้นมาให้ได้ยินได้เห็น เช่น เมตาเวิร์ส หรือ จักรวาลนฤมิต ซึ่งดร.กอบศักดิ์ มองว่า โลกใหม่มุมนี้ คือ โลกใหม่ที่จะพัฒนาไปได้เร็วกว่า และไกลกว่าเดิม หลังจากที่สั่งสมพลังมา 2 ปี สร้างฐานจากโควิด ทำให้เกิดการพัฒนาในเรื่องของการประยุกต์ใช้ดิจิทัล (Digital Adoption) อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เทคโนโลยีนวัตกรรมที่เคยคิดว่าจะใช้เวลา 10 ปี กลับใช้เวลาสั้น ๆ เพียงแค่ 2 ปี ก็พัฒนาสำเร็จ ทั้งหมดนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4 ที่จริง ๆ แล้วกำลังค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นก่อนหน้าโควิด-19 จะระบาด 

“สภาวการณ์ของการพัฒนาข้างต้นจะกลับมา และกลับมาแรงกว่าเดิม ซึ่งผมกลัวว่าเราที่อุตส่าห์ลอดอุโมงค์รอดมาได้จะไปตายตอนจบครับ อันนี้ผมขอเตือนไว้เลยว่าถ้าเราไม่เตรียมการให้ดีในวันนี้ อาจจะไปตายตอนจบได้เมื่อออกจากอุโมงค์แล้ว”

ส่วนโลกอันที่ 2) ที่ดร.กอบศักดิ์ มองว่า ทุกภาคส่วนต้องเตรียมการต้อนรับ คือ โลกของความขัดแย้ง (Conflict) ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือความขัดแย้งของสองชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งกำลังเข้าสู่ตอนที่สอง 

“ทุกคนเข้าใจว่า คุณทรัมป์ไปแล้ว ทุกอย่างจะดีขึ้นใช่ไหม แต่จะแย่ยิ่งกว่าเดิม เพราะว่ามีการเกณฑ์กันมาถล่มเมืองจีนครับ อย่างเกณฑ์ G7 หรือหน่วยงานต่าง ๆ พยายามรวมหัวกันมากดดันจีน และขณะเดียวกันก็มีการต่อสู้ ซึ่งทั้งหมดนี้ดีกับไทย เพราะว่าจะมีเรื่องของการโยกย้ายถิ่นฐาน (Relocation) ที่บริษัทต่าง ๆ อยากจะโยกย้ายออกจากเมืองจีนเข้าสู่ที่ใหม่ คือ อาเซียน และที่สำคัญ คือ ยังมีปัญหาในเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่หมดจากจีน ก็มีอิสราเอล-ปาเลสไตน์ แล้วต่อด้วยอัฟกานิสถาน ต่อมาก็คุยกันเรื่องของไต้หวัน ขณะนี้ก็มีคุยกันเรื่องของยูเครน โลกมันเริ่มกลับไปเหมือนเดิม ผันผวนปั่นป่วนกันไปหมด” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว 

ขณะที่โลกใบที่ 3 คือ โลกสีเขียว เป็นโลกที่ผู้คนพูดคุยให้ความสำคัญกับภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ถือเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ให้กับเอสเอ็มอีกับบรรดาสตาร์ตอัพใหม่ ๆ ของไทย 

ส่วนโลกที่ 4 โลกสุดท้ายจะเป็นโลกของเอเชีย ซึ่งดร.กอบศักดิ์ กล่าวอย่างมั่นใจว่า โลกเอเชียคือโลกที่จะมาในยุค Next Normal โดยจะเป็นโลก ASIAN Century หรือศตวรรษแห่งเอเชีย โดยหลายประเทศในเอเชียจะอยู่ในช่วงของการสั่งสมพลังต่อยอดตั้งแต่ก่อนเกิดไวรัสโควิด-19 ระบาด 

“โควิด-19 เป็นเหมือนโฆษณาคั่น ทำให้ทั้งโลกมัวดูโฆษณาจนลืมปัจจัยดังกล่าวไป แต่ตอนนี้โฆษณากำลังจะจบ หนังม้วนเดิมกำลังจะกลับมา ม้วนเดิมที่ว่าก็คือโลกของเอเชีย ที่จะดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียและอาเซียน ไม่ใช่เฉพาะในส่วนที่ออกจากจีน แต่ยุโรป สหรัฐฯ ทุกคนอยากจะมา ซึ่งจะทำให้ต้องมีการแข่งขันมากขึ้นเรื่อย ๆ เอสเอ็มอี แม้กระทั่งองค์กรขนาดใหญ่ต่าง ๆ หรือบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ จะแข่งกันลำบากมากขึ้น เพราะว่ามีผู้เล่นใหม่ ๆ เข้ามาอีกเยอะ และที่สำคัญ อีกกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าจะเข้ามาคือกลุ่มของสตาร์ตอัพ เพราะกลุ่มสตาร์ตอัพเขามองแล้วว่าเขาอยากจะมาเอเชีย แต่ว่าเขาคิดแล้วว่าไปเมืองจีนก็ยาก ขนาดบริษัทใหญ่ ๆ ไปยังไม่รอดเลยครับ ถ้าสตาร์ตอัพไปคงยากแน่ ๆ แล้วอินเดียก็เป็นที่ ๆ ปราบเซียน แต่ว่าเอเชียกำลังจะมี Asian Century เขาก็ต้องเข้ามาอยู่จุดนี้ให้ได้” 

ดร.กอบศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า เพราะไม่อยากพลาดที่จะเข้าร่วมศตวรรษแห่งความรุ่งเรืองของเอเชีย สตาร์ตอัพทั่วโลกย่อมมองหาพื้นที่ใหม่ ๆ ที่จะสามารถเข้ามาได้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ย่อมเป็นทางเลือกที่เหมาะสม โดยมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในตัวเลือกสำคัญ 

ความเป็นไปได้ของโลกทั้ง 4 ใบข้างต้นจึงหมายความว่าทุกฝ่ายในไทยต้องเตรียมการรับมือกับความผันผวนของโลกแห่งดิสรัปชัน โลกแห่งความขัดแย้ง โลกสีเขียวเพื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และเรื่องของกระบวนการต่าง ๆ ที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในยุคของ Asian Century 

ดร.กอบศักดิ์มองว่า สตาร์ตอัพเป็นหัวใจสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศ ถ้าไม่สามารถสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมสตาร์ตอัพให้เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ได้ ไทยจะตกขบวนรถไฟขบวนที่สำคัญที่สุดในรอบหลายสิบปี ก่อนยกตัวอย่าง สหรัฐอเมริกา ที่บริษัทที่มีส่วนแบ่งทางการตลาด 10 อันดับแรกล้วนเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น แอ็ปเปิ้ล อัลฟาเบท แอเมซอน เทสลา และเมตา (เฟซบุ๊กเดิม) 

“ลำพังแค่แอ็ปเปิ้ลก็มีมูลค่าตลาดสูงถึง 2.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่อันดับที่ 8 ก็คือ เบิร์กเชียร์ แฮทอะเวย์ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1 ใน 4 ของบริษัทที่เคยเป็นสตาร์ตอัพมาก่อน เห็นได้เลยว่าสตาร์ตอัพทำมูลค่าให้เกิดขึ้นได้มากมายมหาศาลเพียงใด แล้วสตาร์ตอัพก็เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดในทุกประเทศ สร้างรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่ม และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4 ที่มีการบอกล่าวกันว่า เทคโนโลยีในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมา เท่ากับนวัตกรรมในรอบ 2,000 ปีที่ผ่านมา โดยได้แรงหนุนจากการเกิดขึ้นของสตาร์ตอัพ สิ่งที่น่าคิดก็คือว่า สตาร์ตอัพคือผู้เล่นหลักของการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0”

แต่ปัญหาที่น่าวิตก คือ ถ้าไทยตกเทรนด์นี้ ไทยจะมีปัญหาในระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่อุตสาหกรรมดั้งเดิมที่เคยรุ่งเรืองอย่างยานยนต์ เทคโนโลยีสันดาปภายใน โรงงานอุตสาหกรรมการผลิตแบบเดิม ๆ กำลังลดทอนความสำคัญลงเรื่อย ๆ ดังนั้น การช่วยให้สตาร์ตอัพใหม่ ๆ เกิดขึ้น และยืนอยู่ได้อย่างแข็งแรงจึงเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ ที่ทุกภาคส่วนต้องหันมาใส่ใจก่อน หลังจากที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีสตาร์ตอัพไทยล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก และมีเพียงส่วนน้อยที่รอดพ้น เนื่องจากจับกระแสตลาดในทิศทางเทรนด์ยุคใหม่ได้อย่างถูกต้อง 

ด้าน ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงทิศทางแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2565 โดยอิงจากการฟื้นตัวตลอดทั้งปี 2564 ซึ่งแตกต่างจากการฟื้นตัวแบบเดิม ๆ เพราะเป็นการฟื้นในรูปแบบตัว “เค” (K-shape) ที่เศรษฐกิจในส่วนที่พึ่งพาการส่งออกและต่างประเทศฟื้นตัวกลับมาได้เร็วมากและดีกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด ขณะที่เศรษฐกิจในด้านที่พึ่งพาการท่องเที่ยว อาหาร การคมนาคมขนส่งและกำลังการบริโภคภายในประเทศต่าง ๆ กลับฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า 

“เศรษฐกิจในส่วนที่เป็นเคขาล่างนี้ ในอนาคตจะต้องมีการปรับตัว จะต้องมีการใช้เทคโนโลยี ไม่ใช่เป็นการขายธุรกิจ ขายการให้บริการแบบ Low-value added แต่อาจจะต้องเป็น High-value added ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ  จะเข้ามาช่วยในส่วนนี้ค่อนข้างมาก จุดแข็งของประเทศไทย คือ การท่องเที่ยว อาหาร เพราะฉะนั้น ควรจะคิดกันว่าเป็น ควิกวิน โซลูชันได้อย่างไร ในการที่เราจะฟื้นตัวจากผลกระทบจากสถานการณ์ประเภทนี้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น ดิจิทัล ดิสรัปชัน หรือการระบาดของโรคต่าง ๆ” ดร.ภาสกร

นอกจากนี้ ดร.ภากร ยังแสดงความเห็นสนับสนุนแนวคิดของดร.กอบศักดิ์เกี่ยวกับความสำคัญของการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยส่วนนี้ถือเป็นจุดแข็งของบริษัทไทยที่มีการทำเรื่องของความยั่งยืน เรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาลมากขึ้น โดยไทยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1997 ไม่ได้เพิ่งมาเริ่มทำแต่อย่างใด 

“ตรงนี้ถือเป็นจุดขายของธุรกิจไทย ต่างชาติต่างรู้ดีว่า ธุรกิจของเราทำเรื่องนี้ (ความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน” ได้อย่างดีมาก ๆ เราเป็นประเทศที่มีบริษัทเข้าไปอยู่ใน Dowjones Sustainability Index อยู่ใน MSCI ESG อยู่ใน FTSE For Good มากที่สุดในอาเซียน และมากเป็นเบอร์ต้น ๆ ในเอเชีย และบางบริษัทของเราเป็นผู้นำ (Leader) ของโลกเลย ซึ่งผมคิดว่าจุดนี้เราจะสามารถใช้ในการฟื้นตัวได้”

ยิ่งไปกว่านั้น ดร.ภากร ยังเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจโดยรวมของไทยจะสามารถฟื้นตัวได้ดีเนื่องจากนโยบายการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ค่อนข้างครอบคลุมของภาครัฐ ที่เอสเอ็มอี และสตาร์ตอัพ จะสามารถใช้ประโยชน์และความได้เปรียบในส่วนนี้ มาก่อร่างปั้นกิจการของตนให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในยุค Next Normal ได้

ทั้งนี้ ในฐานะพื้นที่ส่วนกลางที่ทำหน้าที่ระดมทุน ดร.ภากร กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ได้เตรียมวางนโยโบายและมาตรการที่หลากหลาย รวมถึงการจัดเตรียมทีมงานเพื่อคอยช่วยประสานเชื่อมโยงให้เอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพของไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือเข้าถึงนักลงทุนในชาวไทยและชาวต่างชาติที่จะให้ความสนใจเข้ามาลงทุน 

อย่างไรก็ตาม ดร.ภากรได้ใช้โอกาสนี้ส่งคำเตือนหรือข้อควรระวังที่ภาคธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน นั่นคือการเปลี่ยนแปลงของทิศทางนโยบายการเงินหลังจากที่สภาพคล่องในตลาดได้รับแรงกระตุ้นจากอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำมาเป็นเวลานาน

“ตอนนี้สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นก็คืออัตราดอกเบี้ยกำลังจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้น จากการที่เราได้เห็นในหลายประเทศที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะเห็นว่าจะเกิดขึ้นก็คือ สภาพคล่องต่าง ๆ ที่เคยมีมากจะลดน้อยหายไป และก็จะทำให้เกิดความเคลื่อนไหวของเงินทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศกันมากขึ้น  เราจะเห็นความผันผวนกันเยอะขึ้นมากในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้น การที่เราสามารถสร้างจุดแข็ง มีจุดขายได้ จะเป็นตัวที่ทำให้เศรษฐกิของประเทศ บริษัทจดทะเบียนในประเทศจะสามารถ ดึงเงินทุน ดึงความสนใจในการลงทุนเข้ามาได้ เป็นประเด็นหลักใหญ่ที่เราควรจะให้ความสำคัญว่าเราควรจะปรับตัวอย่างไรบ้าง แล้วก็คิดว่าบริษัทต่าง ๆ บริษัทใหญ่ ๆ ที่จะเข้ามาลงทุนต่าง ๆ บริษัทที่จะเข้ามาระดมทุนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเอสเคิร์ฟ หรือบริษัทที่สามารถพึ่งโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานใหม่ ๆ  สตาร์ตอัพ หรือเอสเอ็มอีต่าง ๆ จะเข้ามาใช้ตลาดทุนให้มากขึ้นได้อย่างไร”

ดร.ภากร แนะนำให้สตาร์ตอัพศึกษาข้อมูลที่ทางตลาดหลักทรัพย์จัดทำไว้ให้เพื่อประเมินตัวเอง รวมถึงเตรียมความพร้อมในการเขียนโครงงานเสนอขอทุน โดยทางตลาดหลักทรัพย์มีพันธมิตรมากมายกว่า 10 รายที่พร้อมจะลงทุนสนับสนุนสตาร์ตอัพไทย 

ขณะที่ รศ.ดร. สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการลงทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวถึงแนวทางของการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีให้เข้ามาช่วยส่งเสริมสนับสนุนการปรับเปลี่ยน (ทรานส์ฟอร์ม) อุตสาหกรรมในภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทยว่า ในฐานะผู้ให้ทุนสนับสนุนผลงานวิจัยให้ต่อยอดเข้าสู่อุตสาหกรรมได้อย่างราบรื่น กุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพของไทยโดดเด่น คือการพัฒนาเรื่องดีพเทค (Deep Technology) หรือเทคโนโลยีขั้นสูง ที่จะต้องอาศัยการสนับสนุนทั้งทุนรอนและตัวเทคโนโลยีตั้งต้นจากทุกฝ่าย 

ทั้งนี้ การระบาดของไวรัสโควิด-19 กลายเป็นโอกาสที่เร่งเร้าให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ เร่งพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงออกมาใช้ เช่น เทคโนโลยีทางการแพทย์อย่างชุดตรวจโควิดที่ใช้เวลาพัฒนาเพียง 6 เดือนเท่านั้น ขณะเดียวกัน โควิด-19 ทำให้ภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่ รายเล็ก หรือสตาร์ตอัพ หันมาให้ความสนใจลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) กันมากขึ้น สำหรับการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทั้งในเรื่องของการทำงาน และดิจิทัลต่าง ๆ ระบบอัตโนมัติ (Automation) 

“ทุกคนต้องการเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ สิ่งที่เราอยากจะเห็นและสนับสนุน คือ เทคโนโลยีที่จะสามารถช่วยให้เอสเอ็มอีทรานส์ฟอร์ม เพราะเราไม่อยากให้มีช่องว่างระหว่างบริษัทใหญ่กับบริษัทเล็ก และน่าประหลาดใจที่มีบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางก็เห็นประเด็นนี้เช่นเดียวกัน เพราะถ้าบริษัทใหญ่อยู่ได้แต่บริษัทเล็กอยู่ไม่ได้ เศรษฐกิจของประเทศอยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน ทำให้มีบริษัทใหญ่เสนอตัวเข้ามาร่วมสนับสนุนทุนกับทางบพข. เพื่อที่จะพัฒนาตัวเทคโนโลยีที่จะทรานส์ฟอร์มเอสเอ็มอีให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลแบบใหม่ได้ ซึ่งพอเสร็จสิ้นในส่วนของบพข. ก็จะส่งต่อให้กับทางดีป้า หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะพัฒนาให้เป็นธุรกิจต่อไป” รศ.ดร. สิรี กล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไทยต้องเร่งดำเนินการ คือ การมุ่งหน้าพัฒนาดีพเทค โดย รศ.ดร.สิรี กล่าวว่า ดีพเทค ณ ปัจจุบัน ได้เข้าไปแทรกซึมอยู่ในทุกอุตสาหกรรม ไม่มีอุตสาหกรรมไหนที่จะไม่ใช้ โดยเฉพาะในยุคโควิด ที่เหมือนกับเป็นการตั้งต้นที่ศูนย์ (Set Zero) ดังนั้นถ้าไทยไม่สามารถดึงเทคโนโลยีขั้นสูงหรือดีพเทคเข้ามาใช้ในธุรกิจได้ ก็ย่อมมีโอกาสถูกประเทศที่คิดว่าเดินตามหลังแซงหน้าขึ้นมาได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม กัมพูชา 

“จริง ๆ เวียดนามเขาก็แซงเราไปแล้วนะ เพราะว่าเขาประยุกต์ใช้ดีพเทคด้วยอัตราที่เร็วกว่าเรามาก ในส่วนของประเทศไทย ดีพเทคได้เข้าไปอยู่ในทุกอุตสาหกรรมแล้ว แต่สองส่วนหลักที่จะเป็นตัวพลิกโฉมธุรกิจในประเทศไทยอย่างมากและสามารถแทรกตัวไปในทุกธุรกิจทุกประเภท คือ จีโนมส์ และดิจิทัล” รศ.ดร. สิรี กล่าว

กระนั้น ประเด็นปัญหาหลักของไทยที่ขวางการเกิดของดีพเทค ซึ่งต่างประเทศก็มองเห็นก็คือระบบนิเวศด้านวิทยาศาสตร์ของไทยที่ไม่ค่อยดี และไม่ค่อยพอ เพราะไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในด้านอื่นมาก และให้ความสำคัญกับด้านวิทยาศาสตร์ในสัดส่วนที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น  เพราะฉะนั้น กว่าที่ผู้ประกอบการ (ดีพเทค) จะเกิดขึ้นมาสักรายหนึ่ง จะต้องขวนขวายอย่างมากถึงจะไปต่อได้ แต่เข้าใจว่าในอนาคตภาครัฐจะเห็นความสำคัญของการสร้างระบบนิเวศดังกล่าวให้มากขึ้น ส่วนอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ระบบแนวคิด (Mindset) ของคนไทยที่ไม่กล้าเสี่ยง จนกระทั่ง หลายชาติออกปากว่าคนไทยไม่กล้าเสี่ยง ไล่เรียงตั้งแต่นักวิจัย หน่วยงานให้ทุน ธนาคาร

ทั้งนี้ รศ.ดร.สิรี อธิบายว่า ความไม่กล้าเสี่ยงดังกล่าวทำให้ถึงแม้จะมีสตาร์ตอัพในเมกะเทรนด์ที่ตอบโจทย์ต่อโลกอนาคต แต่สตาร์ตอัพเหล่านี้ก็ไม่สามารถก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้ เพราะไม่มีใครกล้าพอจะเสี่ยงให้เงินกับธุรกิจหน้าใหม่ เรียกได้ว่า การที่มีแนวคิดไม่กล้าเสี่ยงแล้วหวังจะให้เกิดนวัตกรรมในประเทศจึงเป็นไปได้น้อยมาก สตาร์ตอัพไทยส่วนหนึ่งจึงเบนเข็มไปหาทุนในต่างประเทศ และได้รับแรงสนับสนุนพร้อมเม็ดเงินอัดฉีดอย่างรวดเร็ว จนไปตั้งกิจการในต่างประเทศ แต่กลายเป็นว่าประเทศไทยเสียโอกาสทางธุรกิจให้กับนักลงทุนต่างชาติไปแล้ว 

นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ดีพเทคไทยเกิดได้ยากเพราะทางผู้ประกอบการไม่ได้คิดเผื่อไปถึงตลาดในต่างประเทศ หรือตลาดในระดับโลก โดยรศ.ดร.สินี กล่าวว่า การมองเฉพาะตลาดในประเทศไม่เพียงพอ เช่น กรณีสิงคโปร์ที่สั่งยุบหน่วยงานดูแลเอสเอ็มอีในประเทศ เพราะมองว่า ถ้าเอสเอ็มอีของสิงคโปร์ไม่สามารถที่จะไปโตในตลาดต่างประเทศได้ โอกาสที่จะอยู่รอดในยุคถัดไปย่อมเป็นไปได้ยาก ดังนั้น จึงอยากให้ผู้ประกอบการสตาร์ตอัพของไทยมีแนวคิดที่ขยายกว้างไปถึงตลาดระดับโลกด้วย

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

“นิพนธ์ บุญเดชานันทน์” ซีอีโอ WHAUP ตั้งเป้ายืนหนึ่งผู้นำตลาดพลังงานสะอาดแห่งภูมิภาคเอเชีย

เปิดผลสำรวจ ESG ธุรกิจไทยปี 64

2021 ปีแห่ง “คริปโทเคอร์เรนซี” กับบทบาทใน 3 อุตสาหกรรมหลัก “การเงิน-ไลฟ์สไตล์-เกม”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ