TH | EN
TH | EN
spot_imgspot_imgspot_img
หน้าแรกBusinessทีวีดิจิทัลปรับ รับศึกหลังโควิด

ทีวีดิจิทัลปรับ รับศึกหลังโควิด

การลาออกของ “สุรินทร์ กฤติยาพงศ์พันธุ์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ผู้บริหารช่อง PPTV ที่จะมีผลในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ แม้เจ้าตัวจะยังไม่ได้ออกมายืนยันอย่างเป็นทางการ แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะกลับถิ่นเดิมอย่างช่อง 3 ที่ก่อนหน้านี้ “อริยะ พนมยงค์” ได้ยื่นหนังสือลาออก และจะมีผลวันที่ 20 มิ.ย.นี้

สุรินทร์ เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีโทรทัศน์ PPTV เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 หลังจากมีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ในช่อง 3 ในเดือนมีนาคม 2560 โดยประชุม มาลีนนท์ ขึ้นรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท บีอีซีเวิลด์ ดูแลแทน ประวิทย์ มาลีนนท์ ที่ลาออก ซึ่งขณะนั้น สุรินทร์ ดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนต์ ผู้บริหารช่อง 3

การปรับโครงสร้างของช่อง 3 ในครั้งนั้น เพื่อรับมือกับคลื่นลูกใหญ่ที่ถาโถมธุรกิจทีวีดิจิทัล ทั้งการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีสู่ดิจิทัล พฤติกรรมของผู้ชมที่หันไปบริโภคคอนเทนต์ในช่องทางสื่อใหม่ ที่สำคัญจำนวนช่องที่มากขึ้น เข้าไปแย่งชิงงบโฆษณาผ่านสื่อทีวีก้อนเดิมที่มีมูลค่าปีละ 7 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มลดลงทุกปี ส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างครั้งนั้นต้องการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ในด้านเทคโนโลยี และนิวมีเดีย พร้อมกับทีมบริหารจากกลุ่มอินทัช นำโดย สมประสงค์ บุญยะชัย

ช่อง 3 ขาดทุนต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างครั้งนั้นไม่ได้ทำให้ผลประกอบการของช่อง 3 ดีขึ้น โดยปี 2561 บีอีซีเวิลด์ มีรายได้รวม 10,375 ล้านบาท ขาดทุน 330 ล้านบาท ถือเป็นการขาดทุนครั้งแรกนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2539 จากช่วงก่อนหน้านี้ปี 2556-60 บีอีซีเวิลด์มีกำไรสูงถึง 5,580 ล้านบาท และลดลงต่อเนื่องจนถึงปี 2561 มีผลขาดทุน จากการบริหารทีวีดิจิทัลรวม 3 ช่อง จนนำไปสู่การตัดสินใจคืนช่อง ได้แก่ ช่อง 3 แฟมิลี่ และช่อง 3 เอสดี ในปี 2562

ช่วงต้นปี 2562 อริยะ พนมยงค์ ได้เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการคนใหม่ของบีอีซีเวิลด์ ท่ามกลางพายุดิจิทัล ดิสรับชั่นที่ทีวีดิจิทัลยังต้องเผชิญอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2562 บีอีซีเวิลด์มรายได้รวม 8,310 ล้านบาท ลดลง 17.9% และมีผลขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปี 2561 เป็น 397 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2563 บีอีซีเวิลด์ยังเลือดไหลไม่หยุด โดยมีผลขาดทุนต่อเนื่องอีก 275.16 ล้านบาท จากรายได้ค่าโฆษณาที่ลดลงเกือบ 20% จากสถานการณ์โดยรวมของธุรกิจทีวีดิจิที่งบโฆษณาลดลงอย่างต่อเนื่องและจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่อง 3 ยังคงเป็นสถานการณ์ต่อเนื่องที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ที่ยังต้องดิ้นรน แข่งขัน ฝ่าพายุดิสรัปชั่นที่ยังคงกระหน่ำไม่หยุดยั้ง จนกว่าจะเหลือผู้ที่แข็งแกร่งที่สุด มีเงินทุนและสายป่านที่ยาวเพียงพอที่จะอยู่รอดในอนาคต

ปัจจุบันคณะผู้บริหาร ช่อง 3 นำทีมโดยนายหญิง ได้แก่ รัตนา มาลีนนท์ ดูแลกลุ่มงานสนับสนุนทั้งหมด อัมพร มาลีนนท์ ดูแลกลุ่มงานผลิต งานข่าว งานรายการ และการออกอากาศ ส่วนกลุ่มงานขาย การตลาด และธุรกิจดิจิทัลจะดูแลโดย รัชนี นิพัทธกุศล ที่มีข่าวว่าได้ทาบทาม สุรินทร์ กลับมาช่วยกันบริหารช่อง 3 ซึ่งคาดว่าจะมีผลอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม 2563 นี้

ปัจจุบันในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ มีดิจิทัลแพลตฟอร์มจำนวนมากในต่างประเทศ ที่ให้ความสนใจคอนเทนต์ของไทย โดยเฉพาะละคร ล่าสุดละครอกเกือบหักแอบรักคุณสามี ของช่อง 3 มียอดวิวทางช่อง Tencent Video รวม 100 ล้านวิว และมีละครอีกหลายเรื่องที่ให้รับชมทาง Netflix ดังนั้น เมื่อผู้ชมมีความพร้อม การขยายไปแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ไม่ใช่เรื่องยาก

สำหรับธุรกิจทีวี สิ่งสำคัญที่สุด คือ คอนเทนต์ เมื่อคอนเทนต์ดี จะได้รับความสนใจจากผู้ชม แม้รายได้จะยังไม่มาก แต่ก็เป็นอนาคตของธุรกิจทีวี

ดังนั้น สิ่งที่แต่ละช่องยังคงให้ความสำคัญ คือ การชิงเม็ดเงินโฆษณาในประเทศ เพราะถึงแม้เค้กจะก้อนเล็กลง แต่ก็เป็นรายได้หลัก การดึง สุรินทร์ กลับมาครั้งนี้ จะได้คอนเนคชั่น หรือสายสัมพันธ์ที่ยาวนานในวงการตลาด โฆษณา สินค้าอุปโภค-บริโภค ที่เป็นกลุ่มหลักที่ใช้งบโฆษณาต่อเนื่อง ความเข้าใจและการตอบโจทย์ทางการตลาดในช่วงที่การแข่งขันเข้มข้น จะช่วยฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้

พายุโควิดซ้ำเติมทีวีดิจิทัล

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จากมาตรการล็อกดาวน์ แม้จะมีตัวเลขเชิงบวกของอุตสาหกรรมสื่อ โดยเฉพาะทีวีที่มีคนดูเพิ่มขึ้นถึง 15% คนเสพสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น 40% แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามีเม็ดเงินโฆษณาไหลเข้าธุรกิจสื่อ โดยไตรมาสแรกของปีนี้ งบโฆษณาโดยรวมติดลบ 6% และในช่วงไตรมาสสองจะติดลบมากขึ้น เนื่องจากเข้าสู่มาตรการคุมเข้ม โดยบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ คาดการณ์ว่าเม็ดเงินโฆษณาโดยรวมในปีนี้จะติดลบ 15-20% หรือมีมูลค่ารวม 7.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมโฆษณาในประเทศไทยจะมีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท ขณะที่สื่อโทรทัศน์เม็ดเงินโฆษณาโดยรวมในปีนี้จะเหลือเพียง 4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

“เค้กก้อนเดิมของทีวีดิจิทัลยิ่งเล็กลงไปอีก ขณะที่จำนวนผู้แข่งขันยังมีจำนวนมาก สถานการณ์ของทีวีดิจิทัลจะยิ่งแย่ลง และอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก เชื่อว่ายังมีคนอยากที่จะคืนช่องเพิ่ม หากภาครัฐเปิดโอกาส” ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในวิกฤติมีโอกาส เพราะโควิดที่เกิดขึ้น เป็นตัวเร่งให้เกิดพฤติกรรม Next Normal บางอย่างของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การที่คนหันกลับมาดูทีวีที่บ้านมากขึ้น เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการทีวีต้องหันกลับมาพัฒนาคอนเทนต์เพื่อแข่งขันกับสื่อออนไลน์ รวมถึงการที่คนต้องหันมาดูโฮม เอ็นเตอร์เทนเมนต์ หรือ บริการวิดีโอ ออน ดีมานด์ เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่โรงภาพยนตร์ปิดบริการ

ประเด็นสำคัญ คือ ขนาดของธุรกิจโทรทัศน์ที่เหมาะสมสำหรับตลาดเมืองไทย อยู่ที่ไม่เกิน 6 ช่อง ถ้ายังมีจำนวน 15 ช่อง เชื่อว่ายังขาดทุน นี่ถือเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับผู้ประกอบทีวีดิจิทัลที่ยังต้องเผชิญต่อไป

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ