TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyWEDO กับผลงานนวัตกรรมเชิงประจักษ์ หนุน SCG-CBM คว้า “องค์กรนวัตกรรมดีเด่น” ปี 2565 จาก NIA

WEDO กับผลงานนวัตกรรมเชิงประจักษ์ หนุน SCG-CBM คว้า “องค์กรนวัตกรรมดีเด่น” ปี 2565 จาก NIA

เมื่อการประกาศผลรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2565 ด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น มีชื่อ SCG เป็นหนึ่งในสองของผู้ที่ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ (Distinction Prize – Large Orgnanization) อาจจะไม่เป็นที่สะดุดใจ เพราะ SCG ถูกรับรู้ในวงกว้างว่าเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมมาโดยตลอด ทั้งผ่านการประกาศวิสัยทัศน์​แผนพันธกิจ รวมถึงการลงมือทำ และเป็นหนึ่งในองค์กรเอกชนหลักองค์กรหนึ่งที่ช่วยขยับสัดส่วนการลงทุนในการทำวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยมาแตะที่ 1.12% ในปี 2562 และจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ไปแต่ที่ 2% ในปี 2570 ตามเป้าหมายของประเทศ 

แต่ทว่าการได้รับรางวัลในครั้งนี้ เป็นบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ – ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด จากผลงานการมุ่งเข้าสู่การทำธุรกิจแบบ Experience Economy หรือเศรษฐกิจยุคประสบการณ์​เพื่อสนองความต้องการลูกค้าในทุก ๆ ด้าน โดยได้จัดตั้ง Digital Office ที่รู้จักในนาม WEDO ขึ้นเป็นหน่วยงานนวัตกรรมที่นำดิจิทัลเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานต่าง ๆ ทำให้เอสซีจีสามารถปรับโฉมรูปแบบการทำธุรกิจในยุคดิจิทัลได้รวดเร็ว พร้อมสร้างคุณค่า (Value) ประสบการณ์ (Experience) ในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและการทำธุรกิจในยุคดิสรัปชันด้วยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านออกแบบ (Design), ธุรกิจ (Buiness) และ เทคโนโลยี (Technology)

ซึ่งเกณฑ์การตัดสิน พิจารณา 2 ประเด็นใหญ่ คือ ประเด็นเรื่องศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กร ประกอบด้วย 8 มิติ ได้แก่ ยุทธศาสตร์นวัตกรรม การมุ่งเน้นธุรกิจ บุคลากร องค์ความรู วัฒนธรรมองค์กร ทรัพยากร กระบวนการวัฒนธรรม และผลิตผลจากนวัตกรรม และประเด็นการเติบโตและความยั่งยืนองค์กร ประกอบด้วย  4 ด้าน คือ หลักบรรษัทภิบาล ความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ การจัดการความเสี่ยง และนโยบายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

WEDO หน่วยงานด้านนวัตกรรมของบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ – ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ก่อตั้งได้ราว 3 ปี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นการสร้างปรากฏการณ์ในการสร้าง talent แห่งอนาคตเข้าสู่อุตสาหกรรมภายใต้โครงการ WEDO Young Talent Program ทั้ง 2 รุ่น 

ภายใต้โครงการ WEDO Young Talent Program จะมีกระบวนการสำคัญ คือ Boot Camp, Hell Day และ Hell Week หลังจากรับสมัครนักศึกษาจากทุกสาขามาจะนำเข้าสู่กระบวนการอบรม Boot Camp คลาสเรียนเสริมทักษะสุดเข้มข้นด้าน Design Business และ Technology จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนออดิชัน ด่านทดสอบ เพื่อคัดเลือกเฟ้นหา Young Talent ที่เหมาะกับ WEDO Young Talent Program คือการเข้าฝึกงานที่ WEDO คือร่วมทำงานจริงร่วมกับทีมงานของ WEDO ในรูปแบบ Micro Enterprise เป็นเวลา 13 สัปดาห์ 

ที่ผ่านมามีการจัดโครงการไป 2 รุ่น ได้แก่ WEDO Young Talent Program 2021 และ WEDO Young Talent Program 2022 

WEDO Young Talent Program 2021 มีนักศึกษาสมัคร 700 คน ผ่าน Hell Day เข้าฝึกงานจริงจำนวน 50 คน เป็นเวลา 10 สัปดาห์ ได้ผลสัมฤทธิ์ของการฝึกงาน 13 โครงการ และมี 5 โครงการที่ทำต่อเป็นธุรกิจจริง อาทิ โครงการ BCI เพื่อผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น

WEDO Young Talent Program 2022 มีนักศึกษาสมัคร 400 คน ได้ผลงาน11 ผลงาน สามารถต่อยอดได้เกือบครึ่ง บางผลงานพร้อมนำไปลงทุนทำธุรกิจได้เลย บางผลงานปรับนิดเติมหน่อยก็สามารถออกเป็นผลิตภัณฑ์ได้เลย ซึ่งเป็นตัวอย่างให้สังคมเห็นว่า เด็กมหาวิทยาลัยที่เพิ่งมาเรียนรู้นวัตกรรม 6 เดือน สามารถใช้เวลา 10 สัปดาห์ บ่มเพาะให้กลายเป็นสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ได้ 

อภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า ตอนที่ตั้งหน่วยงานดิจิทัลออฟฟิศ “WEDO” เป็นแบรนด์ที่แอบปั้นมาตลอด “การคิดล้ำ ทำแปลก” โดยไม่มีผลงานที่จับต้องได้ในวันนั้น แต่ผลงานสองปีจากการทำโครงการ WEDO Young Talent Program นี้ ทำให้องค์กรและสังคมเห็นว่า คนไทยทำได้ถ้าตั้งใจพัฒนานวัตกรรมเป็นของตนเอง และ WEDO พร้อมสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีไฟและใจรักมาขับเคลื่อนสานต่อภารกิจนี้

ผลงานเชิงประจักษ์ตัวอย่างแรก เช่น  Offline Thai NLP Engine ที่ถูกวิจัยและพัฒนาให้เป็นส่วนประกอบหลักของระบบสั่งการด้วยเสียง ไม่ว่าจะเป็นในรถยนต์ ระบบผู้ช่วยอัจฉริยะ เช่น สิรี (Siri) หรือ อเล็กซา (Alexa) หรืออุปกรณ์ในบ้าน เช่น ก๊อกน้ำ ก็สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่อคลาวด์หรืออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา แต่เป็นการใช้งานผ่าน Offline Thai NLP Engine ที่รันบนคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการใช้งานในพื้นที่อับสัญญาณสื่อสาร โดยยังคงคุณภาพการโต้ตอบได้ดีระดับเดียวกับ Siri หรือ Alexa ซึ่งมีการนำไปขยายผลต่อเป็น “แว่นตาคนตาบอดที่ติดตั้งกล้องขนาดเล็ก” เพื่อแจ้งทิศทางการเดินแบบออฟไลน์โดยไม่เสียค่าอินเทอร์เน็ต รวมถึงต่อยอดไปสู่อุปกรณ์ไอโอทีเพื่อการใช้งานในบ้านและอุตสาหกรรมต่าง ๆ  เทคโนโลยี “ทรินิตี้ ไอโอที อีโคซิสเท็ม” (Trinity IOT Ecosystem) จากแนวคิดเรื่องสมาร์ทโฮมหรือบ้านอัจฉริยะในการดูแลและควบคุมสภาพอากาศ คุณภาพชีวิตในบ้านพักอาศัย ซึ่งสามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีอย่างอเมซอน เว็บ เซอร์วิส (AWS) ได้ เป็นโซลูชันที่เอสซีจีทำงานร่วมกับนักพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์หลายแห่ง และเริ่มมีการติดตั้งใช้งานแล้ว รวมถึงยังมีแผนในการจับมือพาร์ทเนอร์จากประเทศจีน ซึ่งจะทำให้มีอุปกรณ์ที่หลากหลายพอในการใช้งานกับโครงการที่พักอาศัยระดับต่าง ๆ

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี (SCG) เคยกล่าวกับ The Story Thailand ว่า Digital Office หรือ WEDO เป็นหน่วยงานที่เอสซีจีจัดตั้งขึ้นเพื่องานด้านดิจิทัลโดยเฉพาะ มีหน้าที่ในการช่วยส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา การสร้างการใช้งานจริง (Used Case) เกี่ยวกับโซลูชันต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีระบบสุขภาพสำหรับเชื่อมต่อโรงพยาบาลและผู้ป่วยให้เชื่อมต่อกันได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งเอสซีจีหวังว่า หน่วยงาน WEDO จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับประเทศและสังคม

ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลถือเป็นอาวุธสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยเอสซีจีในการบรรลุเป้าหมาย ESG (Environmental, Social, Governance) ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้ได้ภายในปี 2593 การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ไปเสริมประสิทธิภาพในภาคการผลิตหรือกระบวนการจัดการด้านซัพพลายเชน ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรม หรือเสาะหาโซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้ลูกค้าและพันธมิตรร่วมสร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน

และ SCG ยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ ในการทำโครงการด้านความยั่งยืน ทั้งในการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และจัด Mentor ให้กับน้อง ๆ เหล่านี้ SCG ได้นำเอาผลงานของคนรุ่นใหม่เข้ามานำเสนอในงาน Sustainability Expo 2022 เช่น การนำเสนอ Solution การชาร์จไฟรถยนต์ EV ในอาคารหรือคอนโดมิเนียม เป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อทำให้ชีวิตของผู้บริโภคมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2565 เป็นปีที่ 18 ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จัดต่อเนื่องมาตั้งแตปี 2548 ซึ่งมีพิธีมอบรางวัลนวัตกรรม ประจำปี 2565ในวันนวัตกรรมแห่งชาติ คือ 5 ตุลาคม เพื่อเชิดชูเกียรติแก่นวัตกรไทยผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมอันโดดเด่น และเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร สังคม และประเทศ พร้อมทั้งยังเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะ ‘พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย’ ปีนี้มีผลงานส่งเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 821 ผลงาน และผลงานที่ได้รับรางวัลรวม 52 ผลงาน แบ่งเป็น  

รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ ด้านสื่อและการสื่อสาร และด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น มีผลงานส่งเข้าร่วมประกวด 504 ผลงาน และมีผลงานที่ได้รับรางวัลรวม 44 ผลงาน โดยผลงานที่ได้รับรางวัลนั้น มีความโดดเด่นในหลากหลายมิติและสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนในวงกว้าง 

รางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย โดย NIA ร่วมจัดกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมในระดับเยาวชนในการพัฒนาผลงานให้สามารถต่อยอดเป็นธุรกิจนวัตกรรม ประกอบด้วย 2 ระดับการแข่งขัน ได้แก่ ระดับปริญญาตรี หรือ ปวส. และ ระดับมัธยมศึกษา หรือ ปวช. มีผลงานส่งเข้าร่วมประกวด 317 ผลงาน โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จะได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

แฟชั่นรักษ์โลกของคนรักโลก SHE KNOWS และ Maddy Hopper “แตกต่างอย่างลงตัว”

อยากสร้าง NFT ของตัวเอง ต้องทำอย่างไร มาดูกัน!

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ