TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeการีนา ผนึกกรมสุขภาพจิต สร้างภูมิคุ้มกันออนไลน์ รับมือ Cyberbully

การีนา ผนึกกรมสุขภาพจิต สร้างภูมิคุ้มกันออนไลน์ รับมือ Cyberbully

“ไซเบอร์บูลลี่” เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมายาวนาน นับตั้งแต่มีการใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งบางคนอาจรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว เพราะมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันที่คนในสังคมต้องทำใจยอมรับ ซึ่งนั่นไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง และหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง จะนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมา

ล่าสุด เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา มีข่าวชาวเกาหลีใต้กว่า 150,000 คน ออกมารวมตัวลงชื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาไซเบอร์บูลลี่ หลังนักวอลเล่ย์บอลชายวัย 28 ปี และ ยูทูปเบอร์หญิงวัย 27 ปี ชาวเกาหลี เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ซึ่งพวกเขาคาดว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการถูกโจมตีบนโลกไซเบอร์มาเป็นเวลานาน

สำหรับในประเทศไทย ที่ผ่านมาจะเห็นหลาย ๆ องค์กรหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาพูดคุยเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหา ยกตัวอย่าง ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา เครือข่ายโทรศัพท์ชั้นนำอย่างดีแทค (Dtac) ออกมาแถลงข่าว ลุยสร้างมาตรฐานปลอดภัยบนโลกออนไลน์ ชวนรัฐ-เยาวรุ่นไทยร่วมยุติ “ไซเบอร์บูลลี่” ล่าสุด การีนา (Garena) ผู้พัฒนาและให้บริการเกมออนไลน์ชั้นนำระดับโลก จับมือร่วมกับกรมสุขภาพจิต เปิดตัวโครงการ Game On: Digitally Safe and Sound มุ่งสร้างสังคมออนไลน์สีขาวที่ปลอดภัยต่อใจทุกคน เนื่องในโอกาสวัน Safer Internet Day เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

โดยมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “สร้างภูมิคุ้มกัน เสริมพลังบวก สานสัมพันธ์ครอบครัว พร้อมรับมือผลกระทบบนโลกออนไลน์ เพื่อสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัย (Be Strong, Be Kind, Be There)” โดยมี เบเบ้ – ธันย์ชนก ฤทธินาคา นักร้องและนักแสดงสาวสายเฮลท์ตี้ อาร์ตโตะ – วิศรุตต์ ปองธนพิสิฐ Assistant Manager Game Operation บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) ผู้แทนจากวงการเกมออนไลน์ และ หมอแน๊ต – ดร.นพ. วรตม์  โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นและโฆษกกรมสุขภาพจิต มาร่วมบอกเล่าประสบการณ์ และแนะนำการรับมือกับผลกระทบต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถนำไปปรับใช้กับการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมบนโลกออนไลน์ให้ปลอดภัย 

เบเบ้ กล่าวว่า สำหรับตัวเขารู้สึกว่าสังคมบูลลี่เป็นอะไรที่มีมาช้านาน ตั้งแต่สมัยก่อนที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต การวิจารณ์ ล้อเลียนผู้อื่น หรือหลอกลวงต่าง ๆ เกิดขึ้นมาโดยตลอด จนมีอินเทอร์เน็ต และมีการบูลลี่ผ่านอินเทอร์เน็ต (Cyberbully) ซึ่งช่วงนั้นหลาย ๆ คนอาจยังเข้าไม่ถึง ทำให้ไม่ต้องรับรู้ว่าถูกบูลลี่ แต่ปัจจุบันมีโซเชียลมีเดีย ทุกคนเข้าถึงง่าย คนที่ถูกบูลลี่ สามารถรับสารได้โดยตรง และรู้สึกว่ามีผลกระทบกับความรู้สึก การดำเนินชีวิตต่าง ๆ ส่วนตัวมองว่าเป็นปัญหาสำคัญ ที่ควรได้รับดูแล แก้ไข เพื่อป้องกันผลกระทบที่ตามมาภายหลัง 

“เบเบ้เริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 12-13 ปี เริ่มแคชติงเป็นนักแสดง ขณะแคสจิง ช่วงที่เราไปยืนแนะนำตัว คนที่แคชงานเรา มีสิทธิวิจารณ์ ไม่สวยพอ เตี้ยไป ผอมไป ซึ่งเราก็รู้สึกว่าเป็นอาชีพที่ต้องแลกมา เป็นคนของสังคม มีคนรักต้องมีคนเกลียด เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับให้ได้จากอาชีพนี้ ทำให้เรามีเกราะป้องกันการบูลลีค่อนข้างสูง เราสามารถเลือกเปิด-ปิดสวิตช์ได้ เปิดที่จะฟัง แต่ปิดที่จะไม่สนใจ โชคดีที่คุณแม่คอยบอกตลอดให้ฟัง ฟังเพื่อเขาติจะได้รู้ตัว จะได้ไม่เหลิง เป็นการติเพื่อให้ก่อ ให้ไปปรับปรุง แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่การติเลยเถิด ออกมาในรูปแบบข่าวรือ มีคนมาด่า ก็รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องที่ถูก” 

ในขณะที่ ‘อาร์ตโตะ’ โปรแกรมเมอร์ผู้คร่ำหวอดในวงการเกมส์ออนไลน์ มองว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นมีมานานแล้ว แต่ปัจจุบันทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น ปัญหาพวกนี้เลยถูกเปิดออกมาค่อนข้างมากขึ้น มุมที่ดี คือ คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ เป็นปัญหาของทุกคน การที่หยิบประเด็นนี้มาพูดในวัน Safer Internet Day ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ช่วยกันพัฒนาสร้างสังคมสีขาวให้เกิดขึ้นในประเทศ

“เราทำงานในวงการอีสปอร์ต คลุกคลีกับวัยรุ่นมานานกว่า 8 ปี ถูกบูลลี่มาเป็นเวลานาน โดยส่วนตัวเป็นคนชอบแต่งคอสเพลย์มาตั้งแต่ก่อนจะมาทำงานที่การีน่า การแต่งคอสเพลย์ต้องแต่งหน้า จะโดนล้อว่าเป็นตุ๊ด เป็นเกย์ ซึ่งคนที่เป็น LGBTQ จะโดนบูลลี่เรื่องพวกนี้มาโดยตลอด พอมาทำงานในวงการเกม หรืออินเทอร์เน็ต จะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามา ยกตัวอย่าง เวลาเราเล่นเกมไม่พอใจเขา เขาจะมาด่า ‘ทำไมเล่นกากขนาดนี้’ หรือเอาเราไปด่า ต้องเข้าใจว่าเป็น Game Master ของเกมนี้ เวลาเกมมีปัญหาเขาไม่รู้ว่าจะไปติดต่อกับใครเขาก็มาด่ากับเราก่อน การเอารูปไปตัดต่อ ไปทำให้เสียหายก็มี”

ด้านหมอแน๊ต จิตแพทย์เด็กที่ทำงานด้านการแก้ปัญหาไซเบอร์บูลลี่ให้กับกรมสุขภาพจิตมาโดยตลอดมองว่า อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ปัญหาที่มีอยู่ชัดเจน การบูลลี่มีมานานตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ เป็นการบูลลี่ที่เกิดขึ้นต่อหน้า เกิดขึ้นแค่กลางวัน ในพื้นที่ที่เราอยู่ แต่อินเทอร์เน็ตมาทลายกำแพงทุกอย่าง ทำให้มันเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้ เวลานอนหลับก็ได้ เกิดขึ้นข้ามโลกก็ได้ คนอยู่อีกทวีปหนึ่งสามารถเข้ามาบูลลี่ก็ได้ ทำให้ขอบเขตการบูลลี่ถูกขยายโดยไม่มีข้อจำกัด ปัญหาการบูลลี่ในปัจจุบันเลยเริ่มมากขึ้น คนส่วนหนึ่งไม่สามารถตามทันเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำไปจะเกิดผลกระทบย้อนหลังกับตัวเขาอย่างไร เมื่อทำไปแล้ว ต้องมานั่งนึกเสียใจทีหลัง

“จริง ๆ ผมที่ทำงานด้านการแก้ไขปัญหานี้ก็เคยถูกบูลลี่ ทำให้เราเห็นว่าแม้แต่คนที่ไม่คิดว่าจะถูกบูลลี่ ก็สามารถถูกบูลลี่เองได้โดยใครซักคน เราไม่สามารถควบคุมความคิดหรือคำพูดคนได้ สิ่งที่เราบอกในโครงการนี้ว่า สุดท้ายหากคุณไม่ไหว คุณต้องปิดจอ”

หมอแน๊ตแนะนำว่า สิ่งแรก คนที่ถูกบูลลี่ต้องรู้ตัวเองว่าถูกทำอะไร บางคนไม่รู้ตัว ด้วยความที่ภูมิคุ้มกันแข็งแรง แต่วันหนึ่งเราอาจจะอยู่ในช่วงเปราะบาง แผลที่เกิดจากการบูลลี่จะทำร้ายเรา ดังนั้น ต้องเตือนสติตัวเองว่าต้องแก้ไข บอกคนที่บูลลี่ว่าไม่ชอบ ไม่ตลก ไม่สนุกกับสิ่งที่เขากระทำ จะได้หยุด ถ้าหยุดไม่ได้ ต้องเก็บข้อมูลในส่วนที่ถูกบูลลี่ และหนีคนคนนั้นไป สุดท้ายหากเรารู้สึกว่าได้รับผลกระทบจากการถูกบูลลี่ การคุยกับคนรอบข้างเหมือนที่เบเบ้ และอาร์ตโตะทำ การได้รับกำลังใจจากคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ที่จะช่วยให้เราผ่านสถานการณ์นี้ไปได้

กำลังใจจากคนใกล้ชิดสำคัญ

เมื่อเจอสถานการณ์เช่นนี้กำลังใจจากคนใกล้ชิดสำคัญ เบเบ้ เล่าว่า เขามีแฟนคลับ มีผู้ติดตาม เวลาทำคลิปออกกำลังกาย ให้คนออกกำลังกายตามเรา เมื่อเราออกกำลัง ทำคลิปจนหมดแรง เวลาเข้าไปดูรีวิว เห็นคนมาคอมเมนต์ขอบคุณ ขอบคุณที่ทำให้พวกเขาลุกมาออกกำลังกาย ดูเป็นคนที่มีคุณค่ามากขึ้น เบเบ้เองก็มีกำลังใจมากขึ้นเช่นกัน เหมือนเราเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง เวลามีฟีตแบคดี ๆ แบบนี้เข้ามา เหมือนเป็นการเติมไฟให้เราเข้าไปอีก

และนับเป็นความโชคดีของ ‘อาร์ตโตะ’ ที่มีคนใกล้ชิดที่ดี เขาเล่าว่า “โชคดีที่ที่บ้านเป็นคนหัวสมัยใหม่ เปิดใจยอมรับในทุกเรื่อง ย้อนกลับไป 8 ปีก่อน วงการเกมเล็กมาก การจบโปรแกรมเมอร์มาเป็น Game Master ครอบครัวค่อนข้างยอมรับ หรือการแต่งคอสเพลย์ แต่งหน้า ช่วงที่แต่งคอสเพย์หนัก ๆ แม่ก็เข้ามาถามว่าเป็นหรือเปล่า ถ้าเป็นไม่เป็นไร  แม่เข้าใจ ในส่วนของการทำงานในอินเทอร์เน็ตมีคนเข้ามาด่า ในขณะเดียวกันก็มีคนมาให้กำลังใจว่า อย่าไปสนใจ ให้สู้ ๆ”

หมอแน๊ต กล่าวว่า ควรเริ่มสอนเยาวชนคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับเรื่องไซเบอร์บูลลี่ตั้งแต่เขาใช้อินเทอร์เน็ตเป็น เล่มเกมเป็น สอนให้รู้จักว่า Wi-Fi คืออะไร เชื่อมต่อกับคนอื่นอย่างไร ต้องเริ่มให้เขารู้แล้วว่ามีทั้งประโยชน์และโทษแฝง มีคนจะมาหาประโยชน์จากเขา

“เป็นเรื่องที่ควรสอนตั้งแต่เด็ก ๆ ให้เขารู้ว่าสิ่งนี้คืออะไร มีหน้าที่ทำอะไร ในขณะเดียวกัน ต้องบอกเขาว่า ข่าวสารที่ได้รับจะมีเฟกนิวส์ ไม่เป็นความจริง โซเชียลมีเดียใช้สร้างเพื่อนได้ แต่เราก็อาจเสียเพื่อนได้ในเวลาเดียวกัน เราสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ได้ ก็อาจมีคนนำภาพเราไปสร้างตัวตนของเขาไว้หลอกคนอื่น ทุกอย่างเป็นเหรียญสองด้าน ถ้าเราสอนว่าใช้ประโยชน์อะไร อย่าลืมสอนว่ามีโทษอะไร”

เปลี่ยนทัศนคติ ยอมรับความแตกต่าง ช่วยลดปัญหา

อาร์ตโตะ – อย่างที่หมอบอก ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนทัศนคติในเด็กและผู้ใหญ่ ที่สมัยก่อนเราอาจไม่ได้เห็นความสำคัญมาก ด้วยความที่ผู้ใหญ่บางท่านอาจไม่เปิดใจ อาจคิดว่าการที่เขาพูด หรือเปรียบเทียบลูกหลานกับคนข้างบ้านเป็นเรื่องธรรมดา แต่กลับไปสร้างผลกระทบทางจิตใจให้กับเด็ก เด็กก็ควรเข้าใจว่าผู้ใหญ่อาจต้องใช้เวลาในการเปลี่ยน ต้องค่อย ๆ เปิดใจเข้าหากัน พูดคุยกันให้สังคมได้เห็นถึงโทษจริง ๆ อย่าล่าสุด ที่ประเทศเกาหลีมีนักวอลเลย์บอล และยูทูปเบอร์ฆ่าตัวตาย เห็นแล้ว ไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นในไทย เอาเรื่องพวกนี้มาเป็นกรณีศึกษา ทำให้เขาเห็นว่าการบูลลลีหากมากันหลายคน อาจส่งผลต่อชีวิตคนถูกบูลลี่ได้ 

หมอแน๊ต – วิธีการมีเยอะมาก แต่ต้องใช้เวลาเนื่องจากเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ ไม่สามารถทำได้คนเดียว การบูลลี่บนโลกออนไลน์มีรากอยู่ที่ การไม่สามารถยอมรับความแตกต่างของแต่ละคนได้ ยกตัวอย่าง สมัยก่อนเวลาครอบครัวไปเจอกัน เด็กจะโดนทักว่า ทำไมอ้วน ทำไมเตี้ย ทำไมดำ ผอมไปหรือเปล่า โดนกันบ่อย จนกลายเป็นรากของความรู้สึกคนไทย เป็นจุดต่อเนื่องของการบูลลี่ เพราะเข้าใจว่านี่คือการทักทาย ไม่ใช่การบูลลี่

“แทนที่เวลาเจอกันจะทักทายกันว่าเป็นอย่างไร สบายดีไหม อากาศดีหรือเปล่า แต่กลับทักกันเรื่องความแตกต่างของรูปร่าง”

ดังนั้น ต้องเริ่มจากการที่คนแต่ละเจเนอเรชันสอนลูกหลานว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การทักทายที่ปกติ ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีความเป็นคนเหมือนกัน ถ้าทุกคนยอมรับความแตกต่างกันได้ ปัญหาบูลลี่จะลดลงได้ในอนาคต 

หมอแน๊ตเสริมว่า พวกเราต้องร่วมด้วยช่วยกัน เป็นที่พึ่งของคนที่โดนรังแก อย่าทำให้เขารู้สึกว่าเขาโดดเดี่ยว 

“คนที่ชอบบูลลี่คนอื่น ส่วนใหญ่เกิดจากการที่เขาเคยโดนบูลลี่มา ทำให้เขารู้สึกชินชา รู้สึกว่าเรื่องนี้ทำได้ จึงทำกับคนอื่นได้ หากเราคิดว่าตัวเองมีศักยภาพพอ อย่าลืมเป็นที่ปรึกษาให้กับคนที่ถูกบูลลี่ อย่ามองว่าเป็นเรื่องเล็ก คนยุคนี้ไม่สามารถบอกให้เขาเลิกเล่นโซเชียลมีเดียได้ แต่ต้องบอกวิธีการทำให้เขาเข้าใจ อย่ามองเป็นเรื่องตลก ถ้าเราทำแบบนี้กับทุกคนในสังคม สุดท้ายคนที่เขาถูกแกล้งจะไม่หวนไปแกล้งคนอื่น จะเป็นการช่วยกันผลักดันให้สังคมของเราเป็นสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัยขึ้นได้”

เรียนรู้วิธีจัดการ

เบเบ้ บอกว่า “ไซเบอร์บูลลี่ไม่ใช่เรื่อง positive การที่เราฝึกรับมือกับการอยู่ในสังคม ว่าเราไม่สามารถควบคุมความคิดเห็น การวิพากวิจารณ์ หรือ input  ที่คนอื่นใส่เข้ามาให้เราได้ ดังนั้นอยู่ที่ตัวเรา ต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ที่จะเปิดรับฟัง หรือหนีออกมา เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าเราแข็งแกร่งไม่พอ ควรหาอย่างอื่นทำ หากิจกรรมที่เราสนใจ ในขณะที่คนบูลลี่ก็ควรแสดงความารับผิดชอบ และควรคิดให้ดีก่อนจะบูลลี่ผู้อื่น”

ในมุมของอาร์ตโตะ เขาบอกว่า “เราได้วิธีเรียนรู้การจัดการ ต้องดูว่าเด็กที่เข้ามาบูลลี่เรา เข้ามาเพื่อเหตุผลใด บางคนอาจเรียกร้องความสนใจด้วยคำพูดหยาบคาย เราก็จะบล็อกทิ้ง บางคนอาจไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำเป็นการบูลลี่ ยกตัวอย่าง เข้ามาทักว่าเราอ้วนขึ้น ก็จะสอนเขาว่าการทักแบบนี้ไม่โอเค ลองเปลี่ยนวิธีทักกันไหม หรือบางคนที่ไหยาบครายม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับเขา ก็เลือกที่จะ ignore ทำให้เรามีภูมิคุ้มกันด้านจิตใจกับปัญหาไซเบอร์บูลลี่ได้”

หมอแน๊ต – หมอเชื่อว่าทุกคนมีโอกาสเรียนรู้ ถ้าร่วมมือกัน มีโอกาสเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ได้อย่างที่เบเบ้บอก เราหยุดเขาไม่ได้แต่ถ้าทุกคนช่วยกันปัญหานี้จะเบาบางลง เราสามารถปล่อยผ่านได้ แต่เราไม่ปล่อย เราใช้วิธีให้ความรู้กับทุกคน เพื่อให้เขาไม่ไปทำแบบนี้กับคนอื่น 

“สุดท้าย เราไม่สามารถห้ามคนมาพูดไม่ดีกับเราได้ เหมือนขยะที่คนมาขว้างใส่เรา ไม่สามารถห้ามให้เขาขว้างได้ แต่เราเลือกที่ปัดขยะทิ้งได้ หรือหากเขายังขว้างมาอยู่ สิ่งที่เรามองได้ คือการใช้ประโยชน์จากขยะ เอาขยะนั้นมาเผาเป็นพลังงาน ใช้ผลักดันชีวิตของเรา แค่เราปรับความคิด ไม่ใช่เราโลกสวย แต่เป็นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดในตอนนี้”

Be Strong, Be Kind, Be There

‘เบเบ้’ ตัวแทน Be strong กล่าวว่า “ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนใช้ชีวิตในทุกวันให้ดีที่สุด หากวันไหนที่รู้สึกว่าเข้าอินเทอร์เน็ตแล้วได้รับแรงลบ ให้ปิดออกมา ถอยห่างออกมา หากิจกรรมอย่างอื่นทำ หากิจกรรมทางร่างกาย (physical activity) ทำ การออกกำลังกายช่วยให้เรามีความสุขขึ้น ควบคุมอะไรบางอย่างในชีวิตได้ดีขึ้น เป็นความสำเร็จที่เราทำจากตัวเรา เป็นหนึ่งวิธีที่ทำได้ และสำเร็จจริง ๆ สุขภาพจิตดี ร่างกายแข็งแรง”

‘อาร์ตโตะ’ ตัวแทน Be Kind กล่าวว่า “คำว่า Be Kind (ใจดี) เป็นคำที่มีพลังบวกเยอะมาก ไม่จำเป็นต้องใช้บนโลกอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว การที่เราเจอกันทุก ๆ วัน แค่ใช้คำว่า Be Kind ก็ทำให้โลกน่าอยู่มากขึ้น ถ้าทุกคน Be Kind ให้แก่กัน จะทำให้สังคมเราดีขึ้น โดยเฉพาะบนโลกอินเทอร์เน็ตที่ทุกคนอาจไม่ได้เจอหน้ากัน การที่เราเห็นใจคนอื่น การที่เราให้กำลังใจตัวเองหลังโดนต่อว่ามา และนำเอากำลังใจตรนั้นไปส่งต่อให้คนอื่นด้วย จะทำให้สังคมที่เราอยู่ในอินเทอร์เน็ตน่าอยู่มากขึ้น”

สุดท้าย ดร.นพ. วรตม์ หรือหมอแน๊ต ตัวแทน Be There เขาบอกว่า คำแนะนำของกรมสุขภาพจิตและการีนา ออนไลน์ ไม่ได้คิดขึ้นมาเล่น ๆ แต่ถูกกลั่นกรองออกมา เมื่อเรา Be Strong มีเกราะป้องกันตัวแล้ว ไม่ใช่แค่หลบเลี่ยง แต่สามารถทำดี Be Kind ทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นโลกสีขาวน่าอยู่มากยิ่งขึ้น แค่คิดดี พูดดี ทำดี มีสติที่จะโต้ตอบ

“สุดท้าย Be There ตอนนี้อาจมีคนที่ไม่ได้ฟังงานเสวนานี้อยู่ มีคนที่ตกเป็นเหยื่อ ที่ต้องการความช่วยเหลือ อย่าลืมศึกษาและเปิดใจ ขยับเข้าไปหากัน ไม่ว่าจะเป็น ปู่ย่า ตายาย ที่เพิ่งหัดใช้อินเทอร์เน็ต เราไป Be There เขา ถ้าเรามีทั้ง 3 เสาหลักนี้ได้ ผมเชื่อว่าระยะยาวสังคมจะน่าอยู่มากขึ้นอีกมากมาย”

ภายในงานเปิดตัวโครงการยังได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการ Game On, Digitally Safe and Sound เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เสริมพลังบวก สานสัมพันธ์ครอบครัว พร้อมรับมือผลกระทบบนโลกออนไลน์ เพื่อสังคมออนไลน์สีขาวที่ปลอดภัยต่อใจทุกคน โดยมีวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มาร่วมเป็นประธานในพิธี

วัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณะสุขได้ลงไปพื้นที่รับทราบปัญหาต่าง ๆ จากผู้ปกครองโรงเรียนพบว่าจากการเรียนออนไลน์มากว่า 2 ปี เกิดปัญหาและเสียงสะท้อนมากมาย ทั้งเด็กนักเรียนมีพฤติกรรมก้าวร้าว และความไม่มีสัมพันธภาพทางครอบครัว บางครอบครัวพ่อแม่ออกไปทำงาน ปล่อยให้บุตรหลานอยู่กับโทรศัพท์มือถือเกือบ 24 ชั่วโมง ทางกรมเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว และมีทางการีน่า ประเทศไทยช่วยตอบโจทย์นำเสนอโครงการนี้ซึ่งเป็นที่มาของโครงการ

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ทั้งสังคมตระหนักกันมาระยะหนึ่งแล้วว่าเราไม่ได้มีแค่คนที่ถูกหลอกลวง ถูกทำร้ายบนอินเทอร์เน็ตเท่านั้น สิ่งที่เลวร้ายขนาดที่ว่ากระบวนการบูลลี่บนอินเทอร์เน็ตนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวเอง สิ่งนี้ไม่อยากปล่อยไว้และไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก คนที่เดินหน้าไปสู่อินเทอร์เน็ตเพื่อเรียนรู้ หาความสุข ผ่อนคลาย แต่กลับกลายเป็นเหยื่อของการล่อลวง ความทุกข์ การกดดันอื่นใด 

“การมี Safer Internet Day คงไม่ใช่แค่กระแสระดับโลก ที่เราจะเผิกเฉย เราต้องใช้โอกาสตรงนี้ในการรณรงค์ให้คนไทยทุกคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน รู้ว่าจะอยู่ในพื้นที่นี้อย่างไร ทุกคนมีทางเลือกที่จะใช้อินเทอร์เน็ตให้ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวเองอย่างไร ต้องขอบคุณทีมวิชาการ และการีนา ออนไลน์ ที่ทำให้เรามองเห็นหลักการสำคัญ ทั้ง 3 ป. คือ 1) เปิดใจ ที่จะเรียนรู้ระหว่างเด็กและผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ 2) เปลี่ยนแปลง ปรับตัวเข้าหากัน ปรับตัวต่อโลกที่จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ถ้าพบว่าพื้นที่ตรงนั้นอันตรายเกินไป ก็ต้องกล้าที่จะ 3) ปิดจอ ปฏิเสธการรับรู้ปัญหาและอันตรายนั้นได้  ต้องทำให้เด็กและเยาวชนตระหนักว่าทำได้และต้องทำ”

นอกจากนี้ การที่เด็กและเยาวชนจะมีภูมิคุ้มกันที่ดีบนพื้นที่ของอินเทอร์เน็ตหรือในชีวิตจริง เขาต้องถึงพร้อมด้วยความคิด คำพูด และการกระทำที่ดี ถ้าทำได้ครบถ้วน สิ่งเหล่านี้จะช่วยปกป้องพวกเขาให้เดินหน้าเรียนรู้ในสิ่งที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมได้ ซึ่งกลไกลนี้ทุกคนต้องปรับตัวเปิดใจเข้าหากัน 

“ทุกวันนี้พื้นที่อินเทอร์เน็ตเหมือนทุกคนเป็นปัจเจก ก้มหน้าตา แท้ที่จริงแล้วหากเราใช้กลไกลนี้ให้สามารถเติมเต็มกันและกันเพื่อขยับความรู้สึกเข้าหากัน ศึกษากัน เปิดใจตั้งแต่ อินเทอร์เน็ตจะเป็นพื้นที่ที่มีประโยชน์สูงสุด และควบคุมได้”

มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ ได้แก่ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney) กล่าวว่า เด็กและเยาวชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและโลกออนไลน์ที่มีข้อมูลหลากหลาย และมีจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่รูปแบบการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ น้อง ๆ ใช่เวลาอยู่กับโลกออนไลน์นานมาก ๆ มีโอกาสเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ บนโลกออนไลน์นานมาก กลายเป็นตัวเร่งให้น้อง ๆ เข้าสู่สังคมออนไลน์เร็วขึ้นมากกว่าที่ผ่านมา 

การที่จะสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างความรู้ ความเข้าใจ การอยู่บนโลกออนไลน์อย่างถูกต้อง มีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะครอบครัวที่เป็นปัจจัยหลักที่จะปลูกฝังเยาวชนเหล่านี้ ตรงนี้อาจช่วยลดผลกระทบ อาจทำให้ภัยออนไลน์ที่จะเข้ามาลดน้อย เบาบางลง ปลายปีที่ผ่านมา การีน่าได้ร่วมมือกับกรมสุขภาพจิตจัดโครงการ Game On, Digitally Safe and Sound มุ่งเน้นให้ความรู้ ความเข้าใจกับเด็กและเยาวชนในการสร้างสังคมออนไลน์สีขาว โดยใช้เกมเป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับเยาวชน รวมถึงสร้างพื้นฐานการสนทนาในครอบครัวให้เกิดขึ้น ทำให้น้องมีความเข้าใจ และรับมือกับสถานการณ์ที่เขาอาจเจอในตัวเขาเอง

จากผลการศึกษา Child Online Safety Index (COSI) ประจำปี 2563 โดย DQ Institute ที่วัดระดับความสามารถในการใช้เทคโนโลยีของเด็กอายุ 8-12 ปี จาก 30 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ได้สะท้อนให้เห็นว่า ด้านที่ไทยต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ คือ ด้าน “Cyber Risks” หรือ “การจัดการความเสี่ยงบนโลกออนไลน์” โดยควรให้ความสำคัญกับการให้ความรู้เกี่ยวกับการรับมือหากโดนคุกคามบนโลกออนไลน์ การติดต่อกับคนแปลกหน้าที่ไม่ปลอดภัย และพฤติกรรมออนไลน์ที่เสี่ยงต่อการเสียชื่อเสียง อีกด้านหนึ่งที่ต้องมุ่งเน้นพัฒนาเป็นพิเศษ ได้แก่ ด้าน “Digital Competence” หรือ “ความรู้และทักษะดิจิทัลที่จำเป็นบนโลกออนไลน์” โดยควรให้ความสำคัญกับทักษะเหล่านี้เป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ ทักษะการรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเองในโลกออนไลน์ (Digital Identity) การรับมือกับการโดนคุกคามบนโลกออนไลน์ การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์

วัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แนวทางการส่งเสริมสุขภาพจิต ตามนโยบายของ อนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข  ท่านให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจิตไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ล้วนมีภาวะตึงเครียด ไม่รู้จะปรึกษาใคร คนในครอบครัวก็มีความเครียดเช่นกัน ดังนั้น เมื่อคนเรามีความเครียด อาจขาดสติ กรมสุขภาพจิต เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น เร็ว ๆ นี้ แพทย์หญิงอัมพรจะทำโครงการวัคซีนใจในหลาย ๆ พื้นที่ เริ่มต้นที่ภาคกลางก่อน ให้รอรับฟังสิ่งดี ๆ และข่าวดี ๆ จากกรมสุขภาพจิต

“เราเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตมีประโยชน์ถ้าเราเข้าใจและใช้มันอย่างถูกต้อง การีนา พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้สังคมออนไลน์เป็นสังคมสีขาวที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน” มณีรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

สสส. เปิดตัวแคมเปญ “AIR YOU CAN EAT” ยกระดับอาหารสู่การเป็นสื่อการเรียนรู้

Coral NFT Marketplace by KX ยกงานศิลปะไทยที่แสดงที่ TDAF 2022 มาให้เป็นเจ้าของได้ง่าย ๆ ด้วยสกุลเงินทั่วไป

ไอเดียออกแบบการ์ดวาเลนไทน์สวย ๆ ด้วย iPad

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ