TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyเอทีซีไอ ผลักดันงานประกวด TICTA ดันผลงานคนรุ่นใหม่สานสัมพันธ์รุ่นเก่า

เอทีซีไอ ผลักดันงานประกวด TICTA ดันผลงานคนรุ่นใหม่สานสัมพันธ์รุ่นเก่า

ในยุคที่ไอทีกลายเป็นปัจจัยที่จำเป็นของการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน มีสมาคมที่เกี่ยวข้องกับไอทีมีแตกแขนงออกไปหลากกลุ่มหลายสมาคม 

เอทีซีไอ หรือสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย ซึ่งมีความเป็นมาค่อนข้างยาวนานนับ 4 ทศวรรษ จากกลุ่มผู้ค้าในธุรกิจคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ รวมตัวกันจัดงานนิทรรศการ เผยแพร่และส่งเสริมการจำหน่ายคอมพิวเตอร์ ก่อนจะตั้งเป็นสมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย และเปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบันเมื่อปี 2548 เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง ยังคงมุ่งมั่นสานสัมพันธ์คนไอทีเก่า-ใหม่ผ่านเวทีประกวด TICTA พร้อมร่วมมือ ASOCIO ขยายความสัมพันธ์ข้ามประเทศ

สุภัค ลายเลิศ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (เอทีซีไอ) คนล่าสุด เล่าถึงบทบาทปัจจุบันของสมาคมว่า คือการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี พยายามผลักดันเรื่องรางวัล การจัด TICTA (Thailand ICT Awards) ซึ่งเป็นงานประกวดซอฟต์แวร์ระดับชาติ เพื่อเป็นการกระตุ้นเพื่อให้สตาร์ตอัพขึ้นมาอยู่สายตาของพี่ ๆ หรือบริษัทขนาดใหญ่ในวงการไอทีมากขึ้น 

“เบื้องหลังความสำเร็จ” ​TICTA Awards

TICTA รันเวย์ส่งนักพัฒนาไทยไปไกลระดับภูมิภาคของโลก

“จากก่อนหน้านี้ มีน้อง ๆ หลาย ๆ เจ้าที่เก่ง แต่พี่ ๆ อาจไม่รู้ แต่การประกวด TICTA ทำให้เกิดการ raise funds กันไปหลายเจ้า เป็นการจับโลกเก่ากับโลกใหม่มาพบกัน”

พร้อมย้ำว่า กิจกรรมหลักของสมาคมที่เป็นงานใหญ่ประจำปีคือ TICTA เพื่อดึงน้อง ๆ ขึ้นมาอยู่สปอตไลต์

ฟื้นฟูความสัมพันธ์บริษัทไอที

“บทบาทสมาคมในปัจจุบันยังค่อนข้างจำกัดอยู่ที่การรวมตัวกลุ่มคนในอุตสาหกรรมไอทีของประเทศ”

อย่างไรก็ตาม สมาคมจะพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ ความร่วมมือของบริษัทในอุตสาหกรรมไอทีด้วยการจัดกิจกรรมให้คนในวงการได้มาพบปะกัน กลับสู่แวดวงด้วยกันมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา การประกวด TICTA บริษัทไอทีต่าง ๆ ได้ส่งตัวแทนเข้าพูดคุยกับผู้เข้าประกวด เรื่องระดมทุน เป็นต้น

ส่วนการจัดงานนิทรรศการคอมพิวเตอร์เช่นในอดีตนั้น ถือว่าพ้นยุคที่จะจัดแล้ว

งานที่ทำยุคหลัง ได้แก่ การสัมมนาการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศแก่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบท.) ได้แก่ อบต. ทั่วประเทศ ซึ่งปีนี้จะต้องดูว่า จะจัดงานรูปแบบใดได้บ้าง ซึ่งหน่วยงานขนาดเล็กเหล่านี้มีความกระตือรือร้นที่จะใช้เทคโนโลยี และมีบริษัทหลายแห่งที่โซลูชันให้แก่หน่วยงาน อบท. ต่าง ๆ แต่ไม่ค่อยแสดงตัว จากนี้จะต้องเจรจาว่าควรร่วมมือกันอย่างไร

ร่วมมือไอทีต่างประเทศ

อีกด้านหนึ่งคือ กรรมการของสมาคมจะหมุนเวียนออกไปร่วมงานกับสมาพันธ์ ASOCIO (Asian-Oceanian Computing Industry Organization) ซึ่งเป็นองค์กรระดับภูมิภาค ที่มีสมาชิกเป็นสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและบริการจาก 24 ประเทศในภาคพื้นเอเชีย-โอเชียเนีย ซึ่งปีนี้ได้ประธานใหม่จากไต้หวัน (Dr. Brian Shen) แทนประธานเดิมจากมาเลเซียที่หมดวาระลง

กิจกรรมระหว่างประเทศจะเพิ่มมากขึ้น เช่น การร่วมงาน SMART CITY SUMMIT & EXPO – SCSE 2023 มีไต้หวันเป็นผู้จัด

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชะลอความร้อนแรง

นายกสมาคมเอทีซีไอ ยังมองภาพรวมของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีปัจจุบันว่า ธุรกิจเริ่มชะลอความร้อนแรงลง จะเห็นภาพจากตลาดโลกเริ่มการเลย์ออฟ เรียกได้ว่า บางบริษัทที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นการเลย์ออฟก็ได้เห็น เช่น กูเกิล ไมโครซอฟท์ เซลสฟอร์ซ 

สาเหตุมาจากก่อนหน้านี้ ต่างเล็งเห็นอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคตจึงรับคนเข้ามาจำนวนมาก แต่สภาพจริงไม่เป็นไปตามนั้นจึงต้องเกิดการเลิกจ้างตามมา ซึ่งการทำธุรกิจของทุกเจ้าแม้มั่นใจเพียง 40-50% ก็ต้องรับคนเข้ามาก่อน เพราะหากอนาคตเติบโตเร็วจะรับคนไม่ทัน เป็นเหตุให้เสียโอกาส

แม้การปรับลดคนจะเกิดขึ้น แต่ในส่วนธุรกิจที่เติบโต เช่น คลาวด์ก็มีรับคนเพิ่ม

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ผลกระทบโดยตรงหลังโควิด เพราะช่วงโควิดบริษัทไอที แฮปปี้ทุกราย ยกเว้น ส่งของไม่ได้ ผลิตไม่ทัน แต่เป็นไปได้ที่การคาดการณ์เติบโตผิดพลาด จึงรับคนเพิ่มไว้จำนวนมาก เมื่อถึงเวลาจริงจำเป็นต้องปรับลดคนลง

Amazon สร้างสถิติใหม่ ซื้อพลังงานหมุนเวียนมากที่สุดโดยบริษัทเดียว

ไทยใช้จ่ายไอทีต่อเนื่อง

ขณะที่ประเทศไทย การใช้จ่ายด้านไอทียังมีต่อเนื่อง ยอดรายได้ยังไม่ตก เพียงลูกค้ารายใหญ่หลายแห่งได้รับสัญญาณให้ใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า 

“การลงทุนเพื่อใช้งานจริงยังมี แต่ไม่ใช่ลงทุนเพื่อชื่อเสียง โดยการลงทุนจะมุ่งไปทางคลาวด์ คอมพิวติ้งค่อนข้างมาก ลูกค้าหลายเจ้าบอกว่า โครงการไหนไปคลาวด์ได้จะขึ้นคลาวด์แน่นอน แต่ในฐานะคนที่เคยขายเครื่องมาก่อน ในที่สุดต้องมีจุดสมดุล การไปคลาวด์ 100% ในเวิร์กโหลดบางอย่างจะแพง ลูกค้าหลายเจ้าบอกว่าเวิร์กโหลดใดที่เสถียร นิ่งแล้วนำกลับเข้ามาดูแลเองจะดีกว่า”

ดังนั้น มองว่า ในที่สุดสถานการณ์จะกลับเข้าสู่โหมดไฮบริดคลาวด์ ซึ่งเริ่มเห็นภาพดังกล่าวในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาคลาวด์ของค่ายใหญ่ ๆ ระบบล่ม ฉะนั้น จะไปสุดโต่งไม่ได้ ต้องกลับมาดูระบบประเภทไหนเหมาะกับคลาวด์ เช่น บีทูซี เหมาะกับคลาวด์ บีทูบีบางจุดเหมาะกับคลาวด์ แต่บางจุดอาจไม่เหมาะ

ขณะที่ผู้ค้าจะผลักดันไปทางคลาวด์ เพราะในแง่การทำธุรกิจ ระบบสมาชิกจะทำให้รายได้แน่นอน การคาดการณ์รายได้ทำได้ดีกว่า การลงบัญชีเสถียรกว่า “การขายแบบเดิมเหมือนหนูถีบจักร วิ่ง ๆ ไป พอถึง 1 มกราคมจะรีเซ็ตศูนย์อีกแล้ว ถ้าเป็นระบบสมาชิกเหมือนน้ำซึมบ่อทราย”

ส่วนยอดจำหน่ายอุปกรณ์ปลายทางหลังสถานการณ์โควิดจะมีคำสั่งซื้อลดลงแน่นอน เพราะธุรกิจกลับเข้าสำนักงาน ลดการ WFH การประชุมทางไกลมีน้อยลง

แกร็บ เตรียมให้บริการข้อมูลแผนที่จาก GrabMaps สำหรับลูกค้า AWS ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ถนนทุกสายมุ่งสู่เอไอ

ด้านแนวโน้มของเทคโนโลยีที่จะได้เห็นหลัก ๆ คือ ตระกูลเอไอ ผู้ผลิตทุกรายล้วนมาทางนี้ การออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาจะทำงานร่วมกับเอไอ ยกตัวอย่างสมัยก่อนใช้งานแชตบอต เมื่อลูกค้าคีย์ถามไปสักพักจะตอบไม่ได้ หรือโต้ตอบได้เฉพาะปัญหาพื้น ๆ แต่ยุคใหม่เพิ่มความสามารถของเอไอเข้าไปจะนำไปใช้งานได้มากขึ้น

ยกตัวอย่างตั้งแต่ต้นปีมา ChatGPT เป็นกระแสขึ้นมาก ทำให้เห็นความสามารถของเอไอที่ใช้การประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ และความสามารถทางภาษาที่อยู่ในระดับไม่ธรรมดา อีกส่วนที่น่าจะมาแรงคือ EV แม้จะไม่เกี่ยวกับไอทีโดยตรง แต่ระบบหลังบ้านเป็นไอที

ส่วนแนวโน้มราคาสินค้าไอทีจะขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสำคัญ ซึ่งตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2565 ค่าเงินอ่อนค่าลง แล้วกลับมาแข็งค่าขึ้นต้นปี 2566 แต่ราคาสินค้าในกลุ่มเอนเตอร์ไพร์ซที่สุดแล้วจะจบที่การต่อรองแต่ละโครงการไป 

จับตาสมรภูมิใหม่ ChatGPT vs Bard และ Ernie Bot สงคราม AI Chatbot ดิสรัปยุคชีวิตดิจิทัล

บริษัทขนาดเล็กเพิ่มขึ้น

นายกสมาคมเอทีซีไอยังให้มุมมองต่อระบบนิเวศธุรกิจเทคโนโลยีในไทยว่า แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ บริษัทใหญ่ ๆ เก่าแก่ และบริษัทขนาดเล็กที่เพิ่งก่อตั้ง เช่น บริษัทที่เข้าร่วมประกวด TICTA เป็นบริษัทที่เติบโตสูง และเงินจะไหลไปกลุ่มบริษัทขนาดเล็กเจาะเฉพาะธุรกิจเพิ่ม

ส่วนบริษัทใหญ่จะได้เปรียบบางกรณี แต่ระยะหลัง ๆ จะเห็นว่า บริษัทเล็ก แต่มีความชัดเจนในธุรกิจแนวลึก จะเข้าแย่งชิงตลาดไปได้มาก แนวโน้มจะเป็นการเกิดบริษัทเล็ก ๆ ทำเฉพาะด้านรวมตัวกัน 8-10 คนตั้งบริษัททำเฉพาะด้าน ไม่ใช่ conglomerate

บริษัทขนาดใหญ่จะอยู่ได้ด้วยธุรกิจที่เป็นแกนสำหรับดำเนินโครงการขนาดใหญ่ แต่บทบาทจะน้อยลงเมื่อเทียบกับอดีต หากต้องการความสามารถด้านเทคโนโลยีสูง ๆ ต้องเป็นบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น อัตราการเติบโตมีประมาณ 10-15% บนฐานลูกค้าที่นิ่งแล้วไม่ได้มียอดเติบโตสูงๆ เช่นเดิม

“ปัจจุบันบริษัทใหญ่ยังมีความสามารถด้านเทคโนโลยีระดับสูงอยู่ แต่การที่ตลาดกว้างมากขึ้น เช่น เรื่อง Security โปรดักส์มีรายละเอียดมาก หรือเรื่องใหม่ ๆ สายดาต้า อนาไลติกส์ บริษัท SI ใหญ่ ๆ ยังมีผู้เชี่ยวชาญ แต่จะรีสกิลเพื่อไปสู้กับน้อง ๆ บางทีก็ไปไม่ได้ทุกจุด จึงต้องพาร์ตเนอร์กันมากขึ้น” 

‘ปิยธิดา ตันตระกูล’ ขายไอที ซีเคียวริตี้ ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ให้ลูกค้าเชื่อใจ

แนวโน้มเพิ่มลงทุนความปลอดภัย

ส่วนแนวโน้มเทคโนโลยีที่จะได้พบในปีถัด ๆ ไป ณ ปัจจุบันอาจมองได้ไม่ชัด แต่ที่แน่ ๆ คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้จะเพิ่มมากขึ้น จากปี 2020 เป็นต้นมาการลงทุนเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัย (Security) จะมีมากขึ้น ทั้งภาครัฐ และเอกชนต้องห้ามลืมความปลอดภัยของระบบ ซึ่งเหตุการณ์ในต่างประเทศกระตุ้นมาโดยตลอด ระบบต้องครอบคลุมรอบด้าน ไม่เพียงอุดเป็นจุด ๆ เช่นเดิมเพราะการโจมตียุคใหม่มาจากหลายทิศทาง ไม่ใช่ป้องกันเซิร์ฟเวอร์อย่างเดียวก็ปลอดภัย เพราะอาจโจมตีเซอร์เฟซ หรือเข้าผ่านพีซีก็ได้ แล้วค่อยย้อนกลับ หลอกเก็บข้อมูลผ่านช่องทางต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ และเมื่อป้องกันรอบด้านจะต้องนำมาบริหารจัดการจากจุดเดียวกัน เปรียบเทียบให้เห็นว่าอาจเป็นเหตุการณ์เดียวกัน เพื่อตอบสนองความเสี่ยงที่เกิดขึ้นให้ได้ 

ธุรกิจด้านความปลอดภัยมาทั้งรูปแบบที่เป็นเครื่องมือ เช่น XDR (eXtended Detection Response) EDR (Endpoint Detection and Response) และบริษัทที่เข้ามาดูแล ดังนั้น การบริหารจัดการความปลอดภัยจะมีความซับซ้อน ฝ่ายโจมตีก็มีความแข็งแรงขึ้น จากผลตอบแทนที่สูงจึงจูงใจกว่าเดิม

ที่น่าสังเกตคือ ผู้ประกอบการใหญ่ ๆ เช่น โอเปอเรเตอร์ต่าง ๆ จะไม่เชื่อ SI เฉพาะรายใดรายหนึ่ง แต่ตัดสินใจซื้อระบบป้องกันของหลากหลายเจ้าไปลองผิดลองถูกใช้งานเอง เพราะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น มัลติเวิร์ส เอไอ เข้ามาผสมผสานการใช้งานในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น หากเจ้าไหนดีก็ไปต่อ เจ้าไหนไม่ดีก็หยุด

อีกกลุ่มที่เป็นผลพวงคือ กลุ่มที่มีภารกิจสำคัญจะไม่ป้องกันการโจมตีแบบเดิมๆ เท่านั้น เพราะคู่ต่อสู้ยุคใหม่เป็นมืออาชีพ การป้องกันมีโอกาสพลาดได้ ไม่มีใครอุดช่องโหว่ได้สมบูรณ์แบบ จึงนำไปสู่การหาทางกู้คืนที่รวดเร็ว ซึ่งบริษัททำแบ็กอัปจะได้รับอานิสงส์ค่อนข้างมาก การใช้ immutable storage เป็นแบ็กอัปที่แก้ไขไม่ได้มาป้องกันปัญหาให้แรนซัมแวร์เข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลไม่ได้ กู้ข้อมูลคืนได้เร็ว

อีกด้านคือ ระบบเครือข่ายโทรคมนาคมเติบโตขึ้น 5G ที่เร็ว แรง และครอบคลุม แต่ยังไม่เห็นผลิตภัณฑ์เด่น ๆ ออกมา ยังคงเป็นการใช้ 5G ลดความคับคั่งของ 4G แต่น่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอีกไม่นาน

AIS Academy ต่อยอดเสริมทักษะดิจิทัลครูไทยต่อเนื่อง กับ “THE EDUCATORS THAILAND” EP2

ดีลอยท์ ชี้โอกาสการพัฒนาระบบนิเวศ Startup ไทย แก้ปัญหาการเข้าถึงเงินทุนในระยะเริ่มต้น

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ