TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessการพิมพ์-บรรจุภัณฑ์ไทย โตตามอีคอมเมิร์ซ แนะธุรกิจเร่งยกเครื่องมุ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การพิมพ์-บรรจุภัณฑ์ไทย โตตามอีคอมเมิร์ซ แนะธุรกิจเร่งยกเครื่องมุ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

HIGHLIGHT

  • เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ บริษัทจัดงานแสดงสินค้าชั้นนำระดับโลกของเยอรมนี ชี้อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ของไทยมีโอกาสเติบโตในทิศทางที่สดใส
  • ได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ บวกกับการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ต้องการใช้กระดาษและบรรจุภัณฑ์มาใช้จัดส่งสินค้า
  • แนะนำผู้ประกอบการไทยเร่งยกเครื่องปรับตัวเสริมแกร่งธุรกิจด้วยนวัตกรรม เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่มุ่งเน้นเรื่องการอนุรักษ์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย กล่าวว่า หลายประเทศทั่วโลกในขณะนี้ รวมถึงประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีทั้งการลงทุนใหม่ ๆ ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยหนึ่งในนั้นก็คืออุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ที่มีสถานะเป็นเสมือนองค์ประกอบสำคัญในฐานะตัวสนับสนุนการขยายตัวเติบให้กับหลากหลายธุรกิจ โดยเฉพาะ ธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ และยา

เพิ่มขีดความสามารถด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม

ด้าน เกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความท้าทายของอุตสาหกรรมไทยในขณะนี้ ก็คือการเดินหน้าแสวงหาช่องทางที่จะเดินต่อไปข้างหน้า ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เข้ามาฉุดรั้งการเติบโตหรือทำธุรกิจหยุดชะงัก ไม่ว่าจะเป็น ราคาน้ำมัน หรือภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้ธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมเคลื่อนไปได้ คือการเพิ่มขีดความสามารถด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและระบบดิจิทัล รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพทางการผลิต หมั่นพัฒนาทักษะการจัดการ และพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ทำการคาดการณ์ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในปี 2565 นี้ มีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวได้ด้วยอัตราขยายตัวเฉลี่ย 3.5 – 4.5%

ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำจากกระดาษ

ขณะที่ มานิตย์ กมลสุวรรณ นายกสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย กล่าวเสริมว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดความต้องการใน “บรรจุภัณฑ์วิถีใหม่” หรือ The New Normal for Packaging Design ซึ่งมีองค์ประกอบหลายอย่างด้วยกัน ดังนั้น จึงแนะนำให้ผู้ประกอบการต้องแสวงหาทางเลือกใหม่เพื่อความยั่งยืน หนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำจากกระดาษเพื่อบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ลดความเสี่ยงจากปัญหาภัยคุกคามจากธรรมชาติที่นอกเหนือการควบคุม ทั้งยังเป็นการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดประโยชน์ใช้สอยสูงสุด โดยมีเป้าหมายในระยะยาวเพื่อให้อุตสาหกรรม บรรจุภัณฑ์โลกสามารถก้าวหน้าดำเนินการพัฒนาต่อไปได้อย่างไม่หยุดยั้ง

มานิตย์กล่าวว่า บรรจุภัณฑ์มักตกเป็นวายร้ายต่อสิ่งแวดล้อมเสมอ โดยที่หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในฝั่งตะวันตกอย่างยุโรปและสหรัฐฯ ต่างก็ออกกฎหมายเรียกเก็บค่าคาร์บอนฟุตปริ๊นท์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการรับมือกับภาวะโลกร้อน ดังนั้น ถ้าผู้ประกอบการบรรจุภัณฑ์ไทยไม่รีบปรับตัวเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ตอนนี้ ก็อาจจะสายเกินไปได้

ด้าน พงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช นายกสมาคมการพิมพ์ไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมการพิมพ์เปรียบได้กับพระรอง คือเป็นอุตสาหกรรมที่รับบทสนับสนุน (supporting) ในทุกอุตสาหกรรม ครอบคลุมถึงสินค้าปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตไม่ว่าจะเป็น อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่มและยากรักษาโรค โดยแบ่งเป็นธุรกิจการพิมพ์ 40% และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ 60% และมีแนวโน้มจะโตตามจีดีพีของประเทศ ซึ่งสำหรับปีนี้คาดว่าอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์จะโตได้ 1.8% หรือมูลค่าขยับขึ้น 300,000 ล้านบาท

โดยตัวเลขดังกล่าวเติบโตขึ้นจากมูลค่าตลาดรวมของธุรกิจบริการสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ในปี 2564 ที่ผ่านที่ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 150,000 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นถึง 5% เมื่อเทียบกับปี 2563 ก่อนหน้า เพราะได้อานิสงค์จากปัจจัยการเติบโตของอีคอมเมิร์ซที่ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

แนะลงทุนเครื่องจักรใหม่ รับการเติบโตอีคอมเมิร์ซ

พงศ์ธีระกล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ปริมาณการพิมพ์ ทั้งการพิมพ์บนฉลากและบรรจุภัณฑ์ดิจิทัล มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเทคโนโลยีของการพิมพ์ในปัจจุบัน ที่มีคุณภาพสูงขึ้น ทำให้หลายธุรกิจเริ่มหันมาสนใจเรื่องการพิมพ์ฉลากแบบกำหนดเอง การพิมพ์ฉลากแบบปรับได้ การใส่คิวอาร์โค๊ดบนบรรจุภัณฑ์ลูกฟูกและบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่อุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยและเครื่องพิมพ์เชิงพาณิชย์ของไทยจะเริ่มมองหาการลงทุนในเครื่องจักรใหม่ ๆ และเครื่องพิมพ์ดิจิทัลเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของตลาดอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้สมาร์ทแพ็กเกจจิ้ง

ส่วน ชูศักดิ์ ดีตระกูลวัฒนผล นายกสมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย กล่าวว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปัจจุบันทำให้คาดการณ์ได้ว่าอุตสาหกรรมกระดาษลูกฟูไทยปีนี้จะมียอดการเติบโตไม่ต่ำกว่า 30% โดยมีแรงหนุนสำคัญมาจากจุดเปลี่ยนด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาสั่งสินค้าออนไลน์กันมากยิ่งขึ้น ทำให้  “กล่องกระดาษลูกฟูก” เป็นบรรจุภัณฑ์กล่องพัสดุที่ได้รับความนิยมอย่างมากในการใช้บรรจุสินค้า

ภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่ ธุรกิจค้าปลีก ตลอดจนถึงกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ และผู้ประกอบการรายย่อยก็ต่างหันมาปรับปรุงพัฒนารูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์ หีบห่อ ให้ดูมีความน่าสนใจและมีคุณภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้สามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปีได้ ด้วยการพัฒนากระบวนการผลิตให้ใช้เวลาสั้นลง ส่งมอบสินค้าได้เร็วขึ้นและใช้ทรัพยากรในการผลิตให้คุ้มค่ามากที่สุด เพื่อตอบโจทย์ต่อความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ทางสมาคมฯ ยังแนะให้ผู้ประกอบนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้ธุรกิจเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและสาธารณะชน โดยยกตัวอย่างกิจกรรมผลิตเตียงสนามจำนวนกว่า 60,000 หลัง ให้แก่หน่วยงานสาธารณสุขที่ขาดแคลน ในช่วงวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา

ดันไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์

ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย กล่าวว่า สินค้าแทบทั้งหมดในแทบทุกอุตสาหกรรมต่างต้องการการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย ดึงดูดสายตา พกพาได้ง่าย ใช้งานสะดวก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ชั้นนำในภูมิภาค ทาง เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ จึงร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB  สมาคมการพิมพ์ไทย สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย และสมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย จัดงาน “Pack Print International 2022 และ Corrutec Asia 2022” เพื่อแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์การพิมพ์ และกระดาษลูกฟูกแห่งภูมิภาคเอเชีย

การจัดงานครั้งนี้ มีเป้าหมายหลักอยู่ที่การส่งเสริมกาเข้าถึงนวัตกรรมในอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ พร้อมเปิดพื้นที่ให้กับสาขาอุตสาหกรรมการพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ และกระดาษลูกฟูกได้มีโอกาสนำเสนอความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน เศรษฐกิจดิจิทัล การพิมพ์ 3 มิติ ฯลฯ ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ผู้จัดแสดง สามารถต่อยอดให้ธุรกิจเติบโตได้มากยิ่งขึ้น

ภายในงานยังมีการเปิดฟื้นที่จับคู่การเจรจาธุรกิจ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานมีโอกาสเชื่อมต่อกับผู้ผลิต หรือพันธมิตรในการต่อยอดสิ่งใหม่ ๆ ร่วมกันในอนาคต การให้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในวงการอุตสาหกรรมและนวัตกรรม ซึ่งจะมาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ และการเตรียมตัวตั้งรับกระแสการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่ผู้ประกอบการ นักออกแบบ รวมถึงบุคลากรในภาคการผลิตสามารถนำไปลงมือปฏิบัติกับธุรกิจของตนเอง ผ่านนวัตกรรมการจัดงานไมซ์ (MICE) ภายใต้สนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB โดยงานจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 ตุลาคมนี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา

“ในฐานะบริษัทจัดงานแสดงสินค้า ผมเชื่อมั่นว่าในท้ายที่สุดแล้วการพูดคุยเจรจาทำธุรกิจจำเป็นต้องมีการพูดคุยกันแบบพบปะเห็นหน้ากัน ไม่มีธุรกิจไหนบนโลกบรรลุข้อตกลงหลายหมื่นล้านผ่านระบบบอท หรือหุ่นยนต์ ดังนั้นจึงหวังให้การจัดงานครั้งนี้เป็นหนึ่งของการส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ และกระดาษลูกฟูกของไทย ตลอดจน ตอกย้ำศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางการจัดแสดงสินค้า หรือการประชุมของอุตสาหกรรมต่างๆ ในภูมิภาคได้เป็นอย่างดีอีกด้วย” ริงลิ่งกล่าว

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ฮัทชิสัน พอร์ท เปิดบ้านโชว์ระบบปฏิบัติการท่าเทียบเรือสุดอัจฉริยะ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง

สพฉ. ผนึก A-MED และพันธมิตร ปฏิรูประบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการแพทย์ฉุกเฉิน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ