TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเคล็ดลับในการถาม .... เมื่อคำถาม สำคัญกว่าคำตอบ

เคล็ดลับในการถาม …. เมื่อคำถาม สำคัญกว่าคำตอบ

ช่วงหลัง ๆ ผมได้ดูรายการสัมภาษณ์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสัมภาษณ์ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่ใกล้เข้ามา สัมภาษณ์บุคคลที่อยู่ในกระแสดราม่า หรือสัมภาษณ์ผู้บริหารต่าง ๆ

สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกต คือ การตั้งคำถาม และวิธีถาม บอกอะไรได้มาก ทั้งตัวคนถาม และสร้างความแตกต่างในการดึงคำตอบจากอีกฝ่าย

ในฐานะที่ผมมีโอกาสได้ใช้ทักษะการถามในการทำงานค่อนข้างเยอะ ผมเชื่อว่าการตั้งคำถามที่ดี และถามเป็นจะช่วยให้คุณทำงานได้ผลลัพธ์ และเป็นหนึ่งในทักษะที่จะช่วยให้คุณก้าวหน้าในการทำงานได้ไม่น้อยเลย

ถ้ามาลองถอดรหัสว่าการจะเป็นผู้ถามที่ดี และตั้งคำถามได้ดีควรต้องทำ หรือมีลักษณะอย่างไรบ้าง จากประสบการณ์ส่วนตัว และการศึกษาเทคนิคของคนเก่ง ๆ หลายคน พอสรุปได้เป็น 4 ข้อ คือ

  1. มีความสนใจอยากรู้ (Be curious) ซึ่งจะช่วยให้เราเตรียมทำการบ้าน เข้าใจบริบทของอีกฝ่ายซึ่งจะช่วยในการเตรียมคำถามได้ดีขึ้น ไม่ใช่คำถามกว้าง ๆ หว่าน ๆ ซึ่งคนฟังจะบอกได้ว่าคนถามมีความเข้าใจ หรือเตรียมตัวในประเด็นที่จะถามมาก่อนหรือไม่ อีกส่วนหนึ่งของการสนใจ อยากรู้ คือ ตอนที่ถามจริง ๆ ความสนใจเราควรอยู่ที่คนที่เราสนทนาอยู่ ไม่ใช่ข้อคำถามที่เตรียมมา หรือประโยคที่อยากจะพูดต่อไป
  2. ถามทีละคำถาม ปัญหานี้หลายคนอาจไม่รู้ตัว ตัวผมเองก็เคยคิดว่าเราถามทีละคำถาม จนกระทั่งมาดูเทปสัมภาษณ์ หรือการประชุม หรือคนที่เราถามไม่แน่ใจว่าเราจะถามอะไร ซึ่งวิธีการฝึกและพัฒนาง่ายคือการบันทึกและกลับมาดูคำถามของเราว่าเป็นการถามทีละคำถามหรือไม่ และค่อย ๆ ฝึกสติในการถามให้ช้าลง และถามทีละคำถาม ให้อีกฝ่ายได้ตอบได้ง่ายขึ้น
  3. พยายามหลีกเลี่ยงคำถามปลายปิด คำถามมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ คำถามปลายเปิด (ใคร อะไร ที่ไหน อย่างไร ทำไม) และคำถามปลายปิด (ใช่หรือไม่ จริงหรือเปล่า) ซึ่งคำถามทั้งปลายปิด และปลายเปิดก็มีวัตถุประสงค์การใช้ที่แตกต่างกัน ในการถาม ถ้าเราถามคำถามปลายปิดเป็นจำนวนมาก โอกาสที่จะเจอกำแพง และไปต่อไม่ถูกมีสูง แถมอีกฝ่ายอาจรู้สึกว่าเหมือนถูกสอบสวนอยู่ ยิ่งทำให้บรรยากาศการถามจะเปลี่ยนไปในทางลบได้
  4. เงียบให้เป็นและอย่าแย่งซีนคนตอบ ข้อนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่ผมใช้สังเกตและอาจใช้บอกความแตกต่างของคนที่เป็นมืออาชีพในการถามได้เลย คนส่วนใหญ่เวลาถามแล้วอีกฝ่ายนิ่ง อาจจะอึ้ง หรือใช้เวลาเพื่อคิดนานกว่าที่เราคาด คนถามจะเริ่มรู้สึกอึดอัด และพยายามจะพูดด้วยเจตนาดี บางคนอาจช่วยตอบ หรือคาดเดาว่าทำไมถึงใช้เวลาในการคิด ซึ่งสิ่งที่ควรทำคือเงียบ และรอให้อีกฝ่ายเรียบเรียงความคิด และตอบ (แม้จะต้องกัดลิ้นตัวเองก็ตาม) อีกเรื่องคือแย่งซีนคนตอบ หลายครั้งผู้ถามมีประสบการณ์ในประเด็นที่ถามมากกว่า เช่น หัวหน้าถามเพื่อช่วยฝึกวิธีการคิดของลูกน้อง แล้วพอลูกน้องกำลังคิดตามและจะได้คำตอบซึ่งจะเป็นจุดเรียนรู้ที่สำคัญของเขา หัวหน้ากลับรีบไปเฉลยก่อน ซึ่งจะทำให้ลูกน้องพลาดโอกาส AHA moment ของตัวเองอย่างน่าเสียดาย

นี่เป็นส่วนหนึ่งของเทคนิคในการถามที่สกัดมาฝาก ซึ่งผมเชื่อว่าการถามก็เป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนได้ และควรได้รับการฝึกฝนไม่แพ้ทักษะอื่น ๆ ซึ่งจะมีประโยชน์ทั้งเรื่องงาน และเรื่องส่วนตัว

คุณอยากถามให้ดีขึ้นหรือยังครับ?

ผู้เขียน: ชัชพล ยังวิริยะกุล

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

พลิกวิกฤติ Great Resignation ให้เป็นโอกาสสำหรับคุณ

Welcome back to the office: ผลกระทบและสิ่งที่ต้องเตรียมตัว

เมื่อ Perfectionist…. เนี้ยบเกิน จนเพื่อนร่วมงานเอือม… ทำอย่างไรดี ?

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ