TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistประคองตัวเองไม่ให้ burnout หลัง Omicron บุกอย่างไรดี?

ประคองตัวเองไม่ให้ burnout หลัง Omicron บุกอย่างไรดี?

สวัสดีปีใหม่ผู้อ่านทุกท่านนะครับ

เปิดปีใหม่มาหลังจากที่หลายคนตั้งใจว่าจะได้กลับมาทำงาน และใช้ชีวิตปกติมากขึ้นจากสถานการณ์โควิดที่เริ่มดูคลี่คลายในทางที่ดีขึ้นช่วงปลายปี ปรากฎว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ Omicron ได้เพิ่มจำนวนอย่างน่าเป็นห่วงในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งในไทย

ไม่แปลกใจที่หลายคนจะจิตตก หลังจากอดทน ไม่ให้การ์ดตก ประคองตัวเองในช่วงสองปีที่ผ่านมาทั้งระวังสุขภาพกายไม่ให้ตัวเอง และคนในครอบครัวติดโควิด ระวังสุขภาพจิตจากผลกระทบของวิกฤตินี้ต่อการทำงาน และการดำรงชีวิต

ผู้เชี่ยวชาญบางท่านมองสิ่งที่เราเผชิญอยู่ไม่ได้เป็นแค่ความลำบากกับการปรับตัวในการทำงานหรือใช้ชีวิต แต่เทียบได้กับผลของ Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD) ซึ่งมักเกิดกับคนผ่านเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง เช่น คนที่ผ่านสงคราม หรือถูกทำร้ายร่างกาย แต่ในกรณีนี้สิ่งที่แตกต่าง คือ เหตุการณ์วิกฤติโควิดยังไม่เห็นจุดสิ้นสุดที่ชัดเจน และไม่มีสถานที่ที่เราสามารถหลบแล้วรู้สึกว่าปลอดภัยจากโควิดนี้

เนื่องจากเราทุกคนยังต้องใช้ชีวิต และปรับตัวในการทำงาน ระหว่างเผชิญวิกฤติไปด้วย ผมขอแบ่งปัน 2 มุมมองที่จะช่วยให้คุณประคองตัวเองผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปได้

  1. การตระหนักรู้ในตัวเองและสถานการณ์ 

ตัวผมเองก็ประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานทั้งแบบ Work from Home และ Hybrid Workplace ต่ำกว่าที่เกิดขึ้นจริง ยิ่งสถานการณ์มีความผันผวน ไม่แน่นอนทำให้ความสามารถในการ ‘ทน’ เกือบถึงขีดจำกัด ทั้งระยะเวลาทำงานที่ยาวขึ้น และเส้นแบ่งระหว่างงาน เวลาส่วนตัว เวลาครอบครัว ไม่เพียงหายไป แต่การทำงานกลายเป็นส่วนใหญ่และแทบจะเป็นส่วนเดียวของชีวิตในช่วงที่ผ่านมา 

การหมั่นเช็คจิตใจตัวเองทั้งเรื่องอารมณ์ ความเครียด และการใช้เวลากับความสัมพันธ์รอบตัวอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เรารู้ตัวว่าผลกระทบที่เกิดกับตัวนั้น เราสามารถที่จะจัดการได้อยู่หรือไม่ 

ถ้ารู้สึกว่าผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงมีแนวโน้มในทางที่ไม่ดีอย่างต่อเนื่อง อย่ารอที่จะคุยกับหัวหน้าเพื่อหาทางออกร่วมกัน ในสถานการณ์ที่ Work from Home ไม่เจอกันที่ทำงานเหมือนเดิม ถ้าเราไม่บอกหัวหน้าก็คงยากที่จะคาดหวังว่าหัวหน้าจะทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเราและช่วยหาทางแก้ก่อนที่จะสายเกินไป  

  1. การให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเอง (self-care)

ถ้าคุณมีโอกาสได้ขึ้นเครื่องบิน อาจจะคุ้น ๆ ถึงกฎ ใส่หน้ากากออกซิเจนให้ตัวเองก่อนใส่ให้กับเด็กที่มาด้วย ที่ลูกเรือสาธิตเรื่องความปลอดภัย เช่นเดียวกันการดูแลตัวเองที่ดีจะช่วยให้เราพร้อมกับการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว ไม่ใช่โหมทำงานเพื่อให้ได้ผลงานในระยะสั้น แต่ส่งผลกระทบกับทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิตในระยะยาว

การดูแลตัวเองเริ่มต้นจากสุขภาพกาย ทั้งการออกกำลังกาย โภชนาการ การพักผ่อนซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนทราบ แต่มักจะเลื่อนออกไปเพราะงาน หรือยังคิดว่าไม่สำคัญ

การหาวิธีผ่อนคลายในแบบของตัวเองไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ทำอาหาร เล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือสิ่งที่เราทำแล้วรู้สึกดี รู้สึกผ่อนคลาย ก็จะช่วยให้เราไม่รู้สึกล้าจากการทำงานเพียงอย่างเดียว

นอกจากสุขภาพกายที่ควรต้องดูแลแล้ว สุขภาพจิต และอารมณ์ของเราก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เรารักษาสุขภาพจิตให้แข็งแรง ซึ่งทำได้จากการที่เรามีสติ และตระหนักรู้ถึงอารมณ์ของเรา คอยสังเกตว่าสถานการณ์ ปัจจัย หรือคนแบบไหนที่ทำให้เรารู้สึกไปในทางลบ และหาวิธีออกห่าง หรือตัดการเสพ หรือสัมผัสสื่อ 

ถ้าพบว่าคนที่เราทำงานด้วย ลักษณะงาน หรือวัฒนธรรมองค์กรเป็นสาเหตุที่ทำให้เราจิตตก ลองปรึกษาหัวหน้า หรือคนที่ไว้ใจถึงสิ่งที่เราพอควบคุม และปรับได้ แต่ถ้าเกินสิ่งที่เราควบคุมได้ และส่งผลกับสภาพร่างกาย และจิตใจของเรา เราก็ยังสามารถตัดสินใจเป็นคนเลือกที่จะทนอยู่ หรือก้าวออกมา

เพราะสุดท้ายไม่มีงานไหนที่คุ้มกับสุขภาพกายและใจของเราที่จะเสียในระยะยาวหรอก จริงไหมครับ

ผู้เขียน: ชัชพล ยังวิริยะกุล

บทความอื่น ๆ จากผู้เขียน

เปลี่ยนจาก trend watcher เป็น trendsetterใน 3 ขั้นตอน

การเขียน … ทักษะถูกมองข้ามในการทำงานยุค Hybrid Workplace

คำถามก่อนประชุม … “จะปิดหรือเปิดกล้องดีนะ?”

เมื่อ Hybrid Workplace จะเป็น New Normal คุณพร้อมแล้วหรือยัง?

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ