TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewWealth Management วิชาการเงินที่ต้องมี ในยุคดิจิทัล

Wealth Management วิชาการเงินที่ต้องมี ในยุคดิจิทัล

นอกจากทักษะการใช้เครื่องมืออุปกรณ์เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงความรู้ที่เท่าทันโลกดิจิทัลแล้ว ความสามารถในการบริหารจัดการเงินและทรัพย์สินส่วนบุคคล หรือ “Wealth Management” เป็นอีกหนึ่งความรู้ที่จำเป็นต้องมีคู่กายและขาดไม่ได้ในฐานะพลเมืองแห่งโลกยุคดิจิทัล

ทั้งนี้ การบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล หรือ “Wealth Management” นี้ ไม่ใช่สิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้วในต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้ความเข้าใจแก่บุคคลในการจัดการบริหารทรัพย์สินเงินทองที่ตนเองมีอยู่เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขในยามบั้นปลายแก่ชรา

เป็นทักษะที่สำคัญที่ไม่จำเป็นและไม่ได้จำกัดอยู่แค่ว่าต้องเป็นเศรษฐี คนรวยหรือคนมีเงินเท่านั้นจึงจะต้องมาเรียนเรื่อง Wealth Management

สมเกียรติ ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) เว็ลธ์ เมจิก จำกัด ในฐานะหนึ่งในบุคคลที่บุกเบิกเรื่อง Wealth Management ในประเทศไทย กล่าวกับ The Story Thailand ว่า จริง ๆ แล้วมีความพยายามที่จะผลักดัน Wealth Management ในไทยมาตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อนแล้ว เพียงแต่ด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี และยังเป็นแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับแผนการธุรกิจของสถาบันการเงินการธนาคารในห้วงเวลานั้น ทำให้ Wealth Management เป็นกระแสความเคลื่อนไหวเงียบ ๆ แต่ก็มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นที่รู้จักและยอมรับจากสังคมในวงกว้างมากขึ้น

สมเกียรติ อธิบายว่า สาเหตุที่ทำให้ตนมองเห็นความสำคัญของ Wealth Management ตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เพราะเล็งเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงของกระแสสังคมโลก ประการแรก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งหลายจะส่งผลให้ “คนกลาง” ลดบทบาทความสำคัญและความจำเป็น โลกจะไม่ต้องการคนกลางอีกต่อไป ประการต่อมา คือ สภาพสังคมที่ผู้คนจะมีอายุยืนยาวขึ้น ทำให้มีความจำเป็นต้องคิดวางแผนการใช้เงินให้รอบคอบรัดกุม

ส่งผลให้คนที่ทำงานด้านการเงินส่วนหนึ่งในเวลานั้นมองเห็น Business Model ในภาคการเงินการธนาคารที่จะต้องปรับจาก Asset Management ไปเป็น Wealth Management ที่แม้จะเรียกว่าเป็นการบริหารสินทรัพย์เหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่ Wealth Management จะให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นหลัก ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และมุ่งทำให้คน ๆ นั้นบริหารสินทรัพย์ได้ดีขึ้น ไม่ใช่บริการที่จะทำให้คนรู้สึกมีสิทธิพิเศษ (Privilege) แต่อย่างใด

ที่ Wealth Management ได้รับความสนใจอย่างล้มหลามในตอนนี้ เป็นเพราะนโยบายการเงินที่นำมาใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิโลกในห้วงเวลานี้ ทำให้มูลค่าของเงินลดน้อยลง และเพราะโลกการเงินที่ซับซ้อนมากขึ้น

“ต่อให้เป็นนักการเงินเก่ง ๆ หรือเถ้าแก่เก่ง ๆ ที่มีความรู้เรื่องการเงินเป็นอย่างดี แต่ตามข้อมูลที่ซับซ้อนและรวดเร็วมากไม่ทัน ก็ต้องใช้บริการ Wealth Management มาช่วยตนเอง” 

ยิ่งห้วงเวลานี้ที่ดอกเบี้ยต่ำ คนที่เคยวางแผนวางใจว่าจะเลี้ยงตนเองหลังเกษียณด้วยเงินฝาก ย่อมต้องคิดวางแผนหาแนวทางอื่น ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีเวลาและความชำนาญในการติดตามบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่นับวันจะยิ่งมีแต่ความซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น ตามระดับของเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ก้าวหน้ามากขึ้น 

ดังนั้น ตัวเลือกอย่างการพึ่งพาบริการ Wealth Management จากบรรดาผู้ให้บริการ Private Bank ที่มีอยู่จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม 

สมเกียรติ กล่าวว่า บริการ Wealth Management ในไทยมีมานานแล้ว แต่ช่วงเวลานั้น ต้นทุนค่าดำเนินการโดยเฉพาะในส่วนของเทคโนโลยีอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ไม่คุ้มค่าที่จะดำเนินการ ทว่าปัจจุบันที่ค่าใช้จ่ายในด้านอินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์เทคโนโลยี รวมถึงระบบการบริหารจัดการข้อมูล ปรับตัวลงมาอยู่ในระดับราคาที่เอื้อมถึงได้ และพร้อมจะให้บริการกับประชาชนคนทั่วไป 

ขณะเดียวกัน เมื่อ 30 ปีที่แล้ว คนยังมองว่า Wealth เป็นเรื่องของคนรวย และมุ่งแต่จะฝากเงินเอาดอกเบี้ย

Wealth for the Mass

ทั้งนี้ ในฐานะผู้ที่ผลักดันโมเดลธุรกิจ “Wealth Management” ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยมานานหลายสิบปี สมเกียรติ มองว่า ด้วยสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไป ทำให้เกิด Low Cost Producer ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจแบบ “Long Tail” หรือ รูปแบบการทำธุรกิจที่เสนอทางเลือกไม่รู้จบให้กับผู้บริโภค โดยไม่จำกัดกลุ่มเป้าหมายเพราะเงื่อนไขข้อจำกัดด้านเวลา สถานที่ หรืองบประมาณ เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ 

กุญแจหลักของความสำเร็จของธุรกิจ Wealth Management คือ ต้องมี “Confidential” (ความน่าเชื่อถือไว้วางใจ) “Trust” (ความเชื่อมั่น) และ “Compliance” (ความยินยอมพร้อมใจ) 

ไม่จำเป็นต้องเป็นคนร่ำรวยมั่งมี ก็สามารถเข้ามาใช้บริการ Wealth Management ได้ และ Wealth Management for the Mass เกิดขึ้นได้เพราะเทคโนโลยีและระบบสารสนเทศต่าง ๆ เข้ามาช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ 

ขณะที่คนในสังคมก็เริ่มปรับเปลี่ยนมุมมองและพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีทางการเงินในแง่ที่ยอมรับได้มากขึ้น ทำให้เรื่องของ ​Wealth ไม่ใช่เรื่องเอกสิทธิ์ (Privilege) ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกแล้ว

ทิศทางการลงทุน

ทิศทางการลงทุนของคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย หลัก ๆ ยังคงอยู่ที่เงินฝาก รองลงมา คือ กองทุนรวม และตามด้วยตลาดหุ้น 

โดยตลาดหุ้นถือเป็นทางเลือกที่นิยมน้อยสุดเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรทั้งประเทศ แต่ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ สถานการณ์การเงินโลกในปัจจุบันที่บีบให้ดอกเบี้ยเงินฝากลดลง รัฐบาลหลายประเทศเศรษฐกิจชั้นนำโลกใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ทำให้เงินท่วมระบบ

การฝากเงินที่ดอกเบี้ยลดต่ำลงเรื่อย ๆ จนกินเงินต้น กลายเป็นการบีบให้คน ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ ต้องออกไปเผชิญกับความเสี่ยงในการลงทุนในกองทุนรวมและตลาดหุ้นมากขึ้น ดีกว่าต้องไปเผชิญกับความเสี่ยงยิ่งกว่าในช่วงบั้นปลาย 

“ถ้าคุณไม่ศึกษาการลงทุนแบบใหม่ หรือไม่สนใจศึกษาเรื่อง ​Wealth Management ให้มากขึ้น น่าจะอันตรายในบั้นปลาย” 

สมเกียรติ กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนจะเป็นแบบ DCA (Dollar Cost Average) คือ ลักษณะการลงทุนแบบหยอดกระปุก คือมีเท่าไรก็ทยอยลงทุนไปเท่านั้น ตามกำลังความสามารถของตนเองสั่งสมไปเรื่อย ๆ และการลงทุนเหล่านี้ก็ไม่จำกัดอายุ เด็กนักเรียนที่เรียนอยู่ก็สามารถเรียนรู้ที่จะเข้าไปลงทุนด้วยตนเองได้ โดยเริ่มต้นที่กองทุนรวมก่อนเป็นก้าวแรก

เทคโนโลยี คือ จุดเปลี่ยน Wealth Management

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ ​Wealth Management กลายเป็นวิชาเชิงบังคับที่คนในสังคมต้องมีติดตัวเป็นความรู้ คือ การเปลี่ยนแปลงพัฒนาเทคโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจที่ไม่เคยคิดว่าจะทำได้ในอดีตเพราะมันแพง เช่น Private Bank ถูกลงจนสามารถให้บริการการเงินให้แก่คนทั่วไปในอย่างทั่วถึง เหมือนกับที่เทคโนโลยีเปิดโอกาสความเป็นไปได้ต่าง ๆ ให้คนทุกคนได้อย่างเท่าเทียม

Big Data และ AI (ปัญญาประดิษฐ์) คือ การให้เห็นความสำคัญของกระแสโมเดลของธุรกิจที่ต้องดำเนินไปโดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) เป็นที่ตั้ง ไม่ใช่สินค้าและกระบวนการผลิตเหมือนในยุคปฎิวัติอุตสาหกรรม

ดังนั้น ใครที่สามารถเข้าใจลูกค้าได้มากที่สุดย่อมเป็นผู้ชนะ

สำหรับการธุรกิจเพื่อให้เข้าใจลูกค้า สมเกียรติ แนะนำว่า ข้อมูลด้านสถิติอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องประกอบด้วยข้อมูลจาก 3 ฝ่าย 

  • คนแรก คือนักธุรกิจในฐานะคนที่ต้องตั้งโจทย์ปัญหาที่ถูกต้อง  
  • สอง คือ นักสถิติที่เก่งกาจในฐานะคนที่สามารถนำข้อมูลมาใช้ได้ดี อย่างถูกต้องแม่นยำ เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดในการป้อนข้อมูลซึ่งจะทำให้ระบบผิดพลาดแทบทั้งหมด ทั้งยังต้องตระหนักว่าสถิติทุกอย่างล้วนมีข้อจำกัดของตนเอง 
  • คนสุดท้ายก็คือ ผู้ชำนาญการด้านไอที ที่จะสามารถบริหารจัดการข้อมูลมหาศาลมาเขียนโปรแกรม ล้างข้อมูลให้สะอาด และประมวลผลให้เสร็จรวดเร็ว 

ดังนั้น ถ้าผู้บริหารไม่เข้าใจ Data Sciences อย่างถ่องแท้ในแง่มุมต่าง ๆ  จึงเป็นเรื่องที่อันตราย ขณะที่ปัญหาในเรื่องไอทีของเมืองไทย คือ ขาดคนเก่งในการสร้างซอฟท์แวร์ใหญ่ระดับธุรกิจ (Enterprise Architect) อีกทั้งการใช้ Data Sciences ยังต้องคำนึงถึงระเบียบข้อบังคับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

สิ่งหนึ่งที่ต้องพึงตระหนัก คือ บรรดาธนาคารหรือธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงมีอยู่ในตลาด ถ้ายักษ์ใหญ่เหล่านี้ตื่นขึ้นมาแล้วลงมาเล่นด้วย การแข่งขันในรอบที่สองย่อมหนักหน่วงรุนแรงกว่า ซึ่งถ้าเกิดตอนนั้นกระสุนของบลน.หมดแล้ว สถานการณ์ย่อมแย่จนบรรยายไม่ได้ 

“แบงก์ใหญ่เริ่มมีการขยับลงมาบ้างแล้ว ดังนั้น ฟินเทคทั้งหลายต้องเตรียมเงินอีกก้อนหนึ่งเพื่อสู้กับยักษ์ตื่น”

แม้สถานการณ์จะฟังดูแย่สำหรับผู้ประกอบการฟินเทคทั้งหลาย แต่สำหรับผู้บริโภค การตื่นของยักษ์ จะทำให้ได้ประโยชน์ไปเต็ม ๆ เพราะแบงก์ใหญ่น่าจะพิจารณาอย่างจริงจังแล้วว่าจะปล่อยให้ลูกค้ารายย่อยอยู่ในกำมือของฟินเทคดีแล้วหรือไม่ 

อีกทั้งธนาคารขนาดใหญ่ทั้งหลายน่าจะรู้ตัวแล้วว่าตนเองสามารถปรับเพื่อเป็น Low Cost Producer ได้ ทำให้ธนาคารขนาดใหญ่เห็นโอกาสที่จะเข้ามาในตลาด เห็นได้จากความเคลื่อนไหวของสถาบันการเงินชั้นนำระดับโลกอย่าง Goldman Sachs ก็ได้ลงสนามมาเล่นแล้ว 

ดังนั้น แนวโน้มต่อไปข้างหน้าก็คือคนจะทำ Wealth Management มากขึ้น โดยเริ่มจากธนาคารขนาดใหญ่ ตอนนี้บริษัทหลักทรัพย์ก็ทำ Wealth Management มาขายกองทุน ทำ Private Fund ที่เป็น AI กลายมาเป็นคู่แข่งของบลน. ที่เริ่มมีหน้าใหม่เข้ามาเยอะขึ้น แต่ก็ต้องมองไกลว่าจะอยู่รอดและเติบโตต่อไปหรือเปล่า

ขณะที่ในส่วนของลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าที่ฝากเงินจะนำเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนในกองทุนรวมมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะถูกบีบให้ต้องเลือก ซึ่งสถานการณ์ต่อไปของไทยข้างหน้าจะคล้ายกับสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1990 ที่แม้เศรษฐกิจจะแย่ แต่ธุรกิจกองทุนรวมโตเร็ว 

“ธุรกิจกองทุนรวมประเทศไทยก็คงจะโตเร็วสักพักหนึ่ง และหลังจากนั้นก็จะเริ่มตระหนักว่า บลจ.เรามีเยอะเกินไปเหมือนกัน”

ในส่วนของ WealthMagik กำลังอยู่ในระหว่างการขยายตลาดไปสู่ Robowealth ที่มุ่งบริหารจัดการข้อมูลการเงินการลงทุนให้เข้าใจง่ายและคนทั่วไปเข้าถึงได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็มุ่งเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันให้แข็งแกร่ง โดยเน้นไปที่เทคโนโลยีซอฟต์แวร์การจัดการ แทนที่จะแข่งที่การขยายสาขาหรือกำลังคน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มต้นทุนการดำเนินการ

“ส่วนใครก็ตามที่สนใจจะขยับเข้ามาบริหารจัดการสินทรัพย์ของตนเอง ขอเพียงแค่ศึกษา Wealth Management อย่างเข้าใจจริงก็เพียงพอแล้ว เพราะการลงทุนในส่วนนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนเยอะ”

ภาพประกอบจาก wealthmagik

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ