TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistจาก Tik Tok สู่ WeChat ถามใจ "ทรัมป์" ทำไมต้องแบน

จาก Tik Tok สู่ WeChat ถามใจ “ทรัมป์” ทำไมต้องแบน

สะเทือนไปทั้งยุทธภพเทคโนโลยีจีนเมื่อจุดยืนต่อต้านของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ ByteDance บริษัทแม่เจ้าของเครือข่ายสังคมออนไลน์ยอดนิยม ณ วินาทีนี้ อย่าง Tik Tok อีกต่อไป เพราะเจ้าตัวยังเดินหน้าประกาศกร้าวแสดงเจตจำนงชัดเจนต้องการแบน WeChat แอปพลิเคชันสื่อสารยอดนิยมในแดนมังกรเช่นเดียวกัน 

ความเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีทรัมป์ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาส่งผลให้ภาพความสัมพันธ์หวานชื่นระหว่างสหรัฐฯกับจีนในตอนต้นปีหลังสองชาติมหาอำนาจสามารถบรรลุข้อตกลงเฟสแรกยุติสงครามการค้ากลายเป็นภาพที่เลือนรางห่างไกลออกไปทุกที และแทนที่ด้วยความตึงเครียดมึนตึงจนผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักกล่าวตรงกันว่าจะไม่เป็นเรื่องน่าแปลกใจเลยหากรัฐบาลประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนจะออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ 

ขณะที่หลายฝ่ายพากันลุ้นต่อไปว่า จีนจะแก้เกมเอาคืนอย่างไร และค่ายยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีอย่าง Microsoft หรือ Twitter จะเจรจาขอควบรวมกิจการของ Tik Tok ได้สำเร็จลุล่วงหรือไม่ อีกหนึ่งคำถามที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ก็คือ WeChat คืออะไร ทำไมสหรัฐฯ ถึงต้องแบน WeChat และการแบนครั้งนี้จะส่งผลอย่างไรต่อไป

แล้ว WeChat คืออะไร?

สำหรับประเทศไทยบ้านเรา ชื่อแอปพลิเคชัน WeChat น่าจะค่อนข้างเป็นที่คุ้นหูพอสมควรในฐานะอีกหนึ่งแอปพลิเคชันสื่อสารออนไลน์ยอดนิยมที่มีอยู่ในท้องตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน แต่ทว่าหากมองลงลึกไปในรายละเอียดแล้ว สามารถกล่าวได้ว่า WeChat เป็นมากกว่าพื้นที่สื่อสารสำหรับประชากรแทบจะทั้งหมดที่อาศัยอยู่บนจีนแผ่นดินใหญ่

เพราะ WeChat หรือที่ชาวจีนเรียกว่า Weixin (เวยซิน) ทำหน้าที่เหมือนกับ Facebook ผสมกับ LinkedIn, Uber, Instagram และอีกหลายแอปลิเคชันอื่น ๆ รวม ๆ กัน ดังนั้น

WeChat สำหรับคนจีน คือ สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เพื่อใช้ในการติดต่อเชื่อมโยงกับสังคมรอบข้างและสังคมโลก

เรียกได้ว่าเป็นแอปลิเคชันที่ประสบความสำเร็จไม่น้อย โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Tencent บริษัทแม่ของ WeChat ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของจีน แถมยังควบตำแหน่งบริษัทเกมที่ใหญ่ที่สุดในโลก เปิดเผยว่า ณ ห้วงเวลานี้ มีผู้เข้าใช้บริการ WeChat ต่อเดือนมากถึง 1,200 ล้านคน โดยแม้จะไม่ได้ระบุชัดเจนว่าในจำนวนนี้เป็นผู้ใช้งานในจีนและต่างประเทศในสัดส่วนเท่าใด แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ตัวเลขผู้ใช้งานWechat ส่วนมากอยู่ในจีนแน่นอน

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ยังมองต่อไปอีกว่า ความสำเร็จของ WeChat ส่วนหนึ่งยังเป็นผลจากความช่วยเหลือของรัฐบาลที่จัดการสกัดคู่แข่ง โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Google และ Twitter ไม่ให้เข้าจีน ทำให้ WeChat สามารถขึ้นแท่นเป็นแอปลิเคชันยอดนิยมได้อย่างง่ายดายปราศจากคู่แข่ง อีกทั้งแอปลิเคชันดังกล่าวยังได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 2011

WeChat ทำอะไรได้บ้าง?

คงไม่ผิดนักหากกล่าวว่า WeChat คือ แอปลิเคชันอเนกประสงค์ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานในจีนได้หลายอย่างเมื่อเทียบกับในสหรัฐฯ โดยในจีน นอกจาก WeChat จะเป็นแอพลิเคชั่นเรียกรถโดยสารสาธารณะ, เล่นมินิเกมส์, โอนเงิน ติดต่อสื่อสารและโพสต์บอกเล่าเรืองราวส่วนตัวในแต่ละวันแล้ว 

WeChat ยังเปรียบเสมือนกระเป๋าเงินของคนจีน ที่คอยทำหน้าที่จ่ายเงินและชำระค่าบริการต่าง ๆ ในร้านค้าทุกหนทุกแห่งทุกเมืองทั่วประเทศ สามารถใช้ตรวจสอบเมนูอาหารต่าง ๆ ของร้าน ค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจกับเพื่อนฝูง นัดหมายตรวจร่างกายกับคุณหมอ เป็นช่องทางติดต่อทำการค้าการลงทุน แจ้งหรือร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ติดตามอ่านข่าวสาร และเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของธนาคาร 

การตัดสินใจของประธานาธิบดีทรัมป์ คือ อะไร ทำไมต้อง WeChat?

สรุปแบบที่เห็นชัดเจนชนิดที่ไม่ต้องตีความเบื้องหลังให้ลึกซึ้งวุ่นวาย การลงนามในคำสั่งผู้บริหาร (executive order) ของประธานาธิบดีทรัมป์ ช่วงดึกของวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา คือ ต้องการบีบให้บริษัทจีนขาย Tik Tok และ WeChat ให้กับบริษัทของสหรัฐฯ 

ทั้งนี้ เงื่อนไขของผู้นำสหรัฐฯ ระบุชัดว่า สหรัฐฯ จะแบนแอปลิเคชันทั้งสองไม่ให้ดำเนินการในประเทศภายใน 45 วันนับตั้งแต่มีคำสั่ง หากบริษัทแม่ทั้งสองแห่งไม่ขายแอปลิเคชันดังกล่าวให้กับสหรัฐฯ โดยคำสั่งแบนนี้จะส่งผลให้ WeChat ไม่สามารถให้บุคคลหรือนิติบุคคลที่ใช้งาน WeChat ทำธุรกรรมใด ๆ ภายใต้กฎหมายคุ้มครองของสหรัฐฯ 

ในส่วนเหตุผลที่ว่า ทำไมต้องแบน WeChat ประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวอย่างชัดเจนว่า แอปลิเคชันดังกล่าวเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้งานในทุกมิติ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นภัยคุกคามอันตรายที่เปิดทางให้รัฐบาลจีนสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลสำคัญอื่น ๆ ของประชาชนและบริษัทสัญชาติอเมริกัน ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่อาจยินยอมให้เกิดภัยที่จะสั่นคลอนความมั่นคงของชาติได้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเด็นเรื่องข้อมูลผู้ใช้งานเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายกังขาใน Wechat มาโดยตลอด และเป็นประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นมาโจมตี WeChat อย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าทางต้นสังกัดอย่าง Tencent จะออกมายืนยันหนักแน่นว่า บริษัทให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานมากที่สุด แต่ในรายงานขององค์กรนิรโทษกรรมสากล เกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานออนไลน์ พบว่า WeChat ได้ศูนย์คะแนนในแง่ของการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นของผู้ใช้งาน และได้ศูนย์คะแนนในแง่ของการเปิดเผยรายละเอียดของการเข้ารหัส (encryption) ที่องค์กรอื่น ๆ สามารถนำไปตรวจสอบการใช้งานข้อมูลของ WeChat ได้ ทำให้ WeChat ไม่อาจหลุดพ้นข้อกล่าวหาในเรื่องที่มีการส่งข้อมูลของผู้ใช้งานให้กับรัฐบาลจีนได้ 

คำสั่งแบนจะส่งผลกระทบถึง Tencent อย่างไรบ้าง?

บรรดากูรูและนักวิเคราะห์ทั้งหลายมองว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ น่าจะมีผลในเชิงสัญลักษณ์มากกว่า เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า WeChat มีส่วนแบ่งตลาดที่เล็กน้อยมากในสหรัฐฯ 

อย่างไรก็ตาม หากคำสั่งแบนนี้มีผลขยายไปถึงบริการอื่น ๆ ของ Tencent บริษัทแม่ของ WeChat โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจเกม คำสั่งแบนดังกล่าวอาจเป็นวิกฤติหายนะครั้งใหญ่ของ Tencent

ธุรกิจเกม คือ หนึ่งในแหล่งรายได้หลักและแหล่งรายได้มหาศาลของ Tencent ปัจจุบัน

บริษัทเป็นเจ้าของ Riot Games ผู้ผลิตพีซีเกมที่ใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง “League of Legends” อีกทั้ง Tencent ยังถือหุ้นในบริษัท Epic Games บริษัทแม่ของ Fortnite หนึ่งในบริษัทเกมยอดนิยม

นอกจากนี้ Tencent ยังมีธุรกิจเกมโทรศัพท์มือถืออีกหลายอย่าง รวมถึงกำลังวางแผนขยายกิจการ ภายใต้ความร่วมมือกับ Pokemon Company ในการผลิตเกม Pokemon Unite ที่ผสานโลกของ Pokemon กับ League of Legends เข้าไว้ด้วยกัน และผู้เล่นสามารถเล่นผ่าน Nintendo Switch หรือ โทรศัพท์มือถือได้

ทั้งนี้ หากคำสั่งแบนส่งผลครอบคลุมถึงธุรกิจเกมจริง นักวิเคราะห์มองว่า Tencent ต้องมีกระอักแน่นอน เพราะก่อนหน้านี้ ในปี 2018 ที่บริษัทเจอมาตรการของรัฐบาลจีนหยุดออกใบอนุญาตเกมใหม่เป็นเวลา 9 เดือน หุ้นของบริษัทในตลาดมีมูลค่าลดลงไปถึง 25% เลยทีเดียว  

WeChat ว่าอย่างไรแล้วจีนว่าอย่างไร

จนถึงขณะนี้ ทาง WeChat และรัฐบาลจีน ยังไม่ได้ออกมาตรการใด ๆ ออกมาตอบโต้การตัดสินใจของรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ โดยทางโฆษกของ Tencent บริษัทแม่ของ WeChat ระบุเพียงว่า ทางบริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาทำความเข้าใจคำสั่งผู้บริหารของประธานาธิบดีโดยละเอียด

ด้านกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้ออกโรงประณามและแสดงท่าทีต่อต้านการตัดสินใจของผู้นำสหรัฐฯ โดยโต้ว่า สหรัฐฯ กำลังใช้ข้ออ้างด้านความมั่นคง และใช้อำนาจรัฐในการข่มเหงธุรกิจต่างชาติ และว่าความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ หวังผลทางการเมืองมากกว่า

งานนี้ยังคงเร็วเกินไปที่จะตอบได้ว่าใครจะได้ใครจะเสีย โดยผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายมองว่าศึกนี้ยังคงต้องมองกันไปยาว ๆ 

กระนั้น เมื่อพิจารณาจากท่าทีของรัฐบาลจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายฝ่ายเชื่อว่าจีนย่อมไม่ยอมอยู่เฉยให้สหรัฐฯ เป็นผู้กระทำอยู่ฝ่ายเดียว และท่าทีต่อไปของรัฐบาลแดนมังกรอาจทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีสัญชาติสหรัฐฯ รู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ ได้แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลานี้ ที่บริษัทเทคโนโลยีแดนมะกันกำลังบอบช้ำจากไวรัสโควิด-19 และหวังพึ่งพากำลังบริโภคจากจีนที่แม้จะชะลอตัวแต่ก็ยังขยับเคลื่อนได้ดีกว่าสหรัฐฯและที่อื่น ๆ ของโล 

ที่มา : CNN 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ