TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเศรษฐกิจไทยหลัง COVID-19 ทิ้งแผลสาหัส ทำใจซบยาว

เศรษฐกิจไทยหลัง COVID-19 ทิ้งแผลสาหัส ทำใจซบยาว

อาจกล่าวได้ว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ของไทยในห้วงเวลานี้ เริ่มคลี่คลายลงไปในระดับหนึ่ง ในแง่ที่ภาคธุรกิจสามารถขยับเขยื้อนได้อีกครั้ง ภายใต้สภาวะการณ์ “ปกติใหม่” (New Normal) ที่มีหลายอย่างที่ต้องปรับตัวให้คุ้นชินให้ได้เพื่อความอยู่รอด

หนึ่งในคำถามสามัญที่ผุดขึ้นในใจผู้คนส่วนใหญ่ แต่ก็ยังยากที่จะหาคำตอบที่ชัดเจนได้ในเวลานี้ ก็คือ เศรษฐกิจไทยนับต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร จะเดินหน้าไปในทิศทางไหน และจะสามารถประคับประคองทรงตัว จนรอดพ้นจากวิกฤติเหมือนที่แล้วมาอีกหรือไม่

ตอบแบบกำปั้นทุบดิน ก็คือ ยังไม่มีใครรู้ และไม่มีใครกล้าฟันธง แต่สิ่งเดียวที่รู้แน่ชัด ก็คือ วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ รุนแรงหนักหนา และกินเวลายาวนานแน่นอน

ดร.กิริฏา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) อธิบายระหว่างการเข้าร่วมวงเสวนา “Thailand’s post-Covid-19 economy and the most vulnerable” ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondents Club of Thailand : FCCT) ว่า แนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยและทั่วโลกจะสามารถลืมตาอ้าปากตั้งหลักได้อย่างมั่นคงอีกครั้งน่าจะกินระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปีนับจากนี้

เหตุผลเพราะ หลักประกันความปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 อย่างวัคซีน ยังไม่มีการพัฒนาได้สำเร็จ โดยหลายฝ่ายประเมินเบื้องต้นว่าวัคซีนที่ได้ผลในการจัดการกับโควิด-19 น่าจะคิดค้นได้เร็วที่สุดภายในเดือนกันยายนปีหน้า

อย่างไรก็ตาม กว่าที่วัคซีนจะเข้าถึงประชากรส่วนใหญ่ทั่วโลกและประเทศกำลังพัฒนา อย่างน้อยก็น่าจะลากยาวไปจนถึงปี 2022 ดังนั้น แนวโน้มที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่เทียบเท่าก่อนเกิดการระบาด ก็น่าจะอยู่ในช่วงปลายปี 2022 หรืออีกประมาณ 2 ปีนับต่อจากนี้

โดยธนาคารโลก (World Bank) ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 5.2% ในปีนี้ และเศรษฐกิจของซีกโลกตะวันตกจะหดตัวลงถึง 7% เลวร้ายกว่ามากเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตการเงินในช่วงปี 2008-2009 อีกทั้งการฟื้นฟูยังเป็นไปในแบบที่ค่อนข้างเชื่องช้าอย่างมาก

ย้อนกลับมาดูที่สถานะของเศรษฐกิจไทยในห้วงเวลานี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักคาดการณ์ว่า การหดตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะหนักหนาสาหัสมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยคาดว่า การเติบโตของไทยในปี 2020 จะหดตัวลงอย่างน้อย 5 -10%

สาเหตุเป็นเพราะ ตัวขับเคลื่อนที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโต อย่าง การท่องเที่ยว การส่งออก และกำลังการบริโภคภายในประเทศ ล้วนอยู่ในสถานะแช่แข็งจากมาตรการล็อกดาวน์ที่นานาประเทศนำมาใช้เพื่อสกัดกั้นการระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่ล้วนมีแนวโน้มขัดขวางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย

สำหรับการท่องเที่ยว ก็คือ ความหวาดกลัวไวรัสโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง รายได้หลักของไทยอย่างการท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 15-20% ของจีดีพีประเทศจึงลดน้อยลงไป ซึ่งจนกว่าที่ประชากรโลกจะได้รับวัคซีน เมื่อนั้นการท่องเที่ยวไทยก็ทำได้เพียงแค่ประคองตัว ไม่ให้ล้ม โดยอาศัย “ไทยเที่ยวไทย” เป็นหลักไปก่อน

ทว่าจะหวังเพียง “ไทยเที่ยวไทย” หรือ “ไทยทำ ไทยใช้” ให้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ บวกกับเงินอัดฉีดก้อนใหญ่จากรัฐบาล ก็เป็นเรื่องยาก เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจในห้วงเวลานี้ ทำให้รายได้ของภาคครัวเรือนหดหาย หลายครอบครัวโดนเบียดตกให้อยู่ในสภาะยากจน

ทีดีอาร์ไอ ประเมินว่า รายได้ลด และภาระหนี้เพิ่ม ทำให้ครัวเรือนต้องหันมาประหยัดอดออม ลดการใช้จ่าย กำลังการบริโภคภายในประเทศจึงมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นอีกครั้งก็อีก 1 ปีให้หลัง ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)ในภาคธุรกิจจจะทำให้เอกชนทั้งหลายชะลอการลงทุน ขยายกิจการไปจนปี 2022

กำลังการบริโภคภายในประเทศของไทยจึงจะชะลอตัวยาวนานอย่างน้อย 1-2 ปี ยิ่งเมื่อมีแววว่าจะถูกซ้ำเติมจากบรรดานายจ้างที่ล้ม เลิก หรือ ปิดกิจการ ทำให้เกิดภาวะว่างงานหรือตกงานเป็นจำนวนมาก การหวังพึ่งกำลังการบริโภคภายในประเทศให้ช่วงพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้โดยไว จึงเป็นเรื่องยากพอควร

ในส่วนของการค้าขายส่งออกกับต่างประเทศของไทย ก็ย่ำแย่ไม่แพ้กัน เพราะการระบาดทำให้โรงงานการผลิตและการส่งออกของทั่วโลกต้องเผชิญภาวะชะง้กงัน ไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตโลกจึงต้องชะลอตัวตาอย่างเลี่ยงไม่ได้

ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์การค้ากับต่างประเทศ ยังมีปัจจัยซ้ำเติมจากความขัดแย้งกีดกันระหว่างสองชาติมหาอำนาจอย่างจีนกับสหรัฐฯ และแนวโน้มที่หลายประเทศอาจงัดมาตรการด้านกฎหมาย และภาษี เพื่อจำกัดควบคุมการค้า ก็ยิ่งทำให้ความหวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาพริบหรี่

ทั้งนี้ ดร.กิริฏา จากทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ความรุนแรงของวิกฤติเศรษฐกิจไทยในครั้งนี้ อาจจะรุนแรงมากกว่าเมื่อครั้งเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เนื่องจากอย่างน้อยในเวลานั้น เศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ ในต่างแดนยังเติบโตได้ดีอยู่ ยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวไทย ไทยจึงยังมีฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปได้ แต่ทว่าเวลานี้แทบทุกประเทศ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็กต่างก็เจอฤทธิ์ของโควิด-19 อาละวาดใส่จนจุกกันทั่วหน้า

นอกจากนี้ ภาคการเกษตรที่เคยเป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้เสริมจากงานประจำของครัวเรือนส่วนใหญ่ของไทยยังได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งซ้ำเติมเข้ามา จนกำลังการบริโภคภายในลดน้อยมากยิ่งขึ้นไปอีก

ด้าน Dr.Bergit Hansl ผู้จัดการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยเวลานี้ก็คือ การประคับประคองกำลังการบริโภคภายในประเทศไทยให้ได้ เพราะไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มจะทำให้คนไทยเผชิญกับความไม่มั่นคงทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 9.7 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การแจกจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้เดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายรวมถึง การให้ความช่วยเหลือในด้านอื่น ๆ ด้วย

ซึ่ง ดร.กิริฏา จากทีดีอาร์ไอ เสริมว่า การช่วยเหลือดังกล่าว หมายรวมถึง การเตรียมงบประมาณช่วยเตรียมความพร้อมให้คนไทยและภาคเอกชน สามารถตั้งหลักให้ได้เร็วที่สุด หลังจากที่วิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไป

ยกตัวอย่างเช่น การให้เงินช่วยเหลือแลกกับการที่ประชาชนที่เดือดร้อนต้องเข้ารับการฝึกอบรมทักษะอาชีพตามกำลังความสามารถและความถนัดของรัฐฯ หรือการออกมาตรการด้านภาษีกระตุ้นให้เอกชนรักษาหรือเพิ่มตำแหน่งงาน

ทั้งนี้ แม้ภาพรวมของเศรษฐกิจอาจดูแย่ เพราะตัวขับเคลื่อนหลักไม่อาจทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ แถมต้องอาศัยระยะเวลาฟื้นตัวค่อนข้างยาว แต่นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งก็มองว่า เศรษฐกิจไทยก็แค่ซวนเซเท่านั้น ยังไม่ถึงกับล้มครืนไปเสียทั้งหมด และยังมีธุรกิจบางส่วนบางเสี้ยวที่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพียงแค่ผู้มีอำนาจบริหารจัดการจะสามารถรักษาสมดุลระหว่างการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ กับการกระจายโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเท่าเทียมทั่วถึงกัน

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ