TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistศก.ไทยเสือตัวที่ 5 .... กำลังเป็น "เต่าแห่งเอเชีย"

ศก.ไทยเสือตัวที่ 5 …. กำลังเป็น “เต่าแห่งเอเชีย”

ครั้งหนึ่งราว ๆ ปี 2530-2537 ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งประเทศไทยกำลังอยู่ในยุคโชติช่วงชัชวาลเป็น “ยุคทองของการลงทุน” เมื่อนักลงทุนญี่ปุ่นไหลทะลักหาแหล่งแรงงานราคาถูก ไทยเป็นเป้าหมายหนึ่ง นักลงทุนส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนในไทย จนถูกจับตามองว่าเศรษฐกิจไทยจะพุ่งทะยานเป็น ”เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย” ต่อจาก 4 เสือเดิมมี ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ และไต้หวัน 

แต่วันนี้ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) บรรดานักวิเคราะห์และสื่อต่างชาติตัดเกรดเศรษฐกิจไทยให้อยู่ “อันดับบ๊วยของเอเชีย” เอาแค่อาเซียน เศรษฐกิจไทยก็รั้งท้ายติดลบมากที่สุด ไม่น่าเชื่อว่าแค่ 3 ทศวรรษ จากเสือตัวที่ 5 กำลังจะกลายเป็น “เต่าแห่งเอเชีย”

ทั้งนี้ ธนาคารโลกตัดเกรดจีดีพีไทยปีนี้ไทย -5% ถือว่าประเมินแบบถนอมน้ำใจ ขณะที่เวียดนามเติบโตได้ 2.8% เมียนมาโต 1.5% อินโดนีเซีย 0.0% กัมพูชา -1.0% ฟิลิปปินส์ -1.9 และมาเลเซีย -3.1% ตรงกันข้ามไอเอ็มเอฟประเมินเศรษฐกิจไทยแบบโหดสุด ๆ โดยคาดว่าจะหดตัวถึง -7.7% ต่ำสุดในบรรดากลุ่มประเทศอาเซียน อินโดนีเซีย -0.3% ฟิลิปปินส์ -3.6% และมาเลเซีย -3.8%

สององค์กรการเงินของโลกที่ประเมินเศรษฐกิจไทยไม่สวยหรูคงไม่เกินเลยความจริง ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยยังออกมาเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ของปีนี้ หดตัวลึกมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ อาจจะติดลบ 12-13% จากการปิดเมืองในช่วงที่ผ่านมา ตอกย้ำด้วยตัวเลขส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ในเดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่า 16,444.3 ล้านเหรียญสหรัฐ -23.17% “ขยายตัวลดลงมากที่สุด” ในรอบ 131 เดือน หรือในรอบ 11 ปี ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนสูงราว 15% ของจีดีพี แต่หลังจากที่รัฐบาลไทยจำเป็นต้องปิดกั้นการเดินทางเข้าสู่ประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาก็เกือบจะดับสนิท

วิกฤติเที่ยวนี้ได้ให้บทเรียนว่า ”การพึ่งพาต่างประเทศมาก ๆ” ทั้งการส่งออกและท่องเที่ยวที่เราไปผูกไว้กว่า 70% ของจีดีพี คือ ”จุดอ่อน” เศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง

ล่าสุด “นิกเคอิ เอเชียน รีวิว” รายงานบทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ไทยจะต้องเผชิญ 4 ประเด็นหลักไว้อย่างน่าสนใจ ได้แก่

  1. ภาวะช็อกทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศต่ำ และภาคการท่องเที่ยวหยุดชะงัก
  2. ค่าเงินบาทแข็งอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมาที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก
  3. หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงทำลายความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภค
  4. อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเกือบศูนย์ ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล

ปัจจัยเหล่านี้รุมเร้าเศรษฐกิจของไทยมาช้านาน ตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด เมื่อเกิดโรคระบาดก็ยิ่งซ้ำเติมให้หนักขึ้น คาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะตกต่ำรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี และเลวร้ายกว่าหลายประเทศรอบบ้าน ไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกกี่ปีกว่าจะฟื้นตัวกลับมาให้กลับมาเท่ากับก่อนเกิดโควิด-19

แม้ว่ารัฐบาลจะออกพ.ร.ก.การเงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อพยุงเศรษฐกิจที่เสียหายจากโควิด-19 แต่เม็ดเงินส่วนใหญ่กลับพุ่งเป้า ”เยียวยา” ผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แทนที่จะกู้มาเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการหรือพัฒนาความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานของประชาชนจะเป็นประโยชน์กว่า 

น่าสังเกตว่าประเทศในอาเซียนไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลย์ สิงคโปร์ที่โดนลูกหลงจากโควิดมีผู้ป่วยมากกว่าไทยหลายเท่า แต่เศรษฐกิจกลับบอบช้ำน้อยกว่า อาจเป็นเพราะประเทศเหล่านี้ ดำเนินนโยบายแบบสมดุลยึดทางสายกลางไม่สุดโต่ง ยอมให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นบ้าง เพื่อผ่อนคลายเปิดให้เศรษฐกิจมีการเคลื่อนไหว 

อย่างกรณีสิงคโปร์ซึ่งควบคุมการระบาดช้ากว่าไทยมากและเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกสูงเช่นเดียวกัน แต่รัฐบาลสิงคโปร์ ”เลี่ยงใช้ยาแรง” เพื่อรักษาเศรษฐกิจ ด้วยการใช้มาตรการอัดฉีดงบประมาณช่วยเหลือเยียวยาถึง 20% ของจีดีพีเพื่อรักษาเศรษฐกิจเอาไว้ 

แต่ที่น่าสนใจ คือ เวียดนาม ถือว่าบาดเจ็บน้อยกว่าใคร มีตัวเลขผู้ป่วยต่ำสุด เศรษฐกิจก็เสียหายน้อยที่สุด สะท้อนจากอัตราการเติบโตของค้าปลีกของเวียดนามในเดือนพฤษภาคม “ติดลบ” เพียง -4.7% ขณะที่ตัวเลขค้าปลีกของไทยคาดว่าจะ -20% เนื่องจากปัจจัย “หนี้ครัวเรือน” ค่อนข้างสูงค้ำคออยู่ ทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจจากการบริโภคในประเทศจึงเป็นไปด้วยความลำบาก

ขณะที่สถานการณ์ด้านสุขภาพเราดีขึ้นตามลำดับ แต่ดูเหมือนรัฐบาลยังเพลินกับการสะสมเลข 0 ไปเรื่อย ๆ ด้วยการกอดพรก.ฉุกเฉินไว้แน่นไม่ยอมปล่อย แม้จะแลกกับเศรษฐกิจต้องเสียหายอย่างหนักหน่วงอย่างที่เห็น ๆ ก็ตาม

ทวี มีเงิน

ภาพโดย ทรงกลด แซ่โง้ว

บทความอื่น ๆ ที่ น่าสนใจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ