TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistภาระหนักอึ้งของ “เศรษฐพุฒิ” บนเก้าอี้ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ

ภาระหนักอึ้งของ “เศรษฐพุฒิ” บนเก้าอี้ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ

หากไม่นับความเคลื่อนไหวเรื่องการเมืองและกระแส “บอส กระทิงแดง” แล้วข่าวที่ประชุมครม.วันอังคารที่ผ่านมามีมติตั้ง “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) คนใหม่ แทน “ดร.วิรไท สันติประภพ” ที่จะครบวาระ นับว่าน่าสนใจมิใช่น้อย 

ประวัติการศึกษาและเส้นทางการทำงานถือว่าอยู่ในระดับ “ไฮโปรไฟล์” มีวัตรปฏิบัติที่เรียบง่ายประเภท “โลว์โปร์ไฟล์” มีความเป็นตัวเองสูงชอบทำงานแบบเงียบ ๆ ด้วยคติ “ทำสิ่งที่ถูกต้องถึงคนอื่นจะไม่รู้… แต่เรารู้” ดีกรีนักเรียนทุนปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์เกียรตินิยมอันดับสูงสุดจาก Swarthmore College ปริญญาโทและเอกที่เยล มหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าระดับไอวีลีกของสหรัฐฯ

เคยทำงานบริษัทและองค์กรระดับโลกอย่าง “แมคคินซีย์ แอนด์คัมปะนี” บริษัทที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์อันดับต้น ๆ ของโลก นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารโลกเกือบ 10 ปี พอดีในช่วงที่ประเทศไทยเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง “ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์” รัฐมนตรีคลังในสมัยนั้น ทาบทามให้กลับมาช่วยงานที่กระทรวงคลังคู่กับกับดร.วิรไท ที่ถูกดึงตัวมาจากไอเอ็มเอฟ เพื่อประสานงานกับองค์กรการเงินระหว่างประเทศ 

นับตั้งแต่นั้นมาดูเหมือนทั้งคู่จะกลายเป็น “บัดดี้” เคยผ่านการทำงานในองค์กรเดียวกันแบบสลับขั้ว ทั้งแบงก์ไทยพาณิชย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ล่าสุดได้ออกมาตั้งบริษัทส่วนตัวเล็ก ๆ เรียกว่าผ่านงานมาโชกโชนครบเครื่องทั้งในประเทศ ต่างประเทศ ด้านการคลัง การเงิน ตลาดทุน บริษัทเอกชน งานที่ปรึกษา และงานวิจัยเศรษฐกิจ

ดร.เศรษฐพุฒิ ถือเป็นนักยุทธศาสตร์และนักวางกลยุทธ์มีความรู้รอบด้าน สนใจในเรื่องการศึกษา ความเหลื่อมล้ำและจุดประเด็นหนี้ครัวเรือนเตือนสติคนไทยอย่างต่อเนื่อง

ก่อนได้รับแต่งตั้งก็คลุกคลีตีโมงกับแบงก์ชาตินานถึง 6 ปี ในตำแหน่งกรรมการ เช่น คณะกรรมการแบงก์ชาติ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กรรมการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ จึงไม่ต้องห่วงเรื่องเรียนรู้งานและสานนโยบายต่อจากผู้ว่าฯ คนปัจจุบัน

แต่สิ่งที่ท้าทายกว่า นั่นคือ ภาระอันหนักอึ้งที่กำลังกวักมือเรียกผู้ว่าฯ คนใหม่อยู่ไหว ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ของแบงก์ชาติในสายตาเอกชนและคนทั่วไปที่มองการทำงานเป็นแบบ “อนุรักษณ์นิยม” ขณะที่แบงก์ชาติก็ยืนยันในบทบาท “รักษาเสถียรภาพทางการเงิน” เป็นภาระกิจหลักเพื่อรักษาระบบเศรษฐกิจในระยาว แต่เป็นคำที่บาดใจเอกชนและคนทั่วไปอย่างยิ่ง

หลาย ๆ นโยบายที่ผ่านมาจึงถูกวิพากษ์วิจารย์อย่างหนักไม่ว่าจะเป็น นโยบายคุมสินเชื่อบ้าน หรือ นโยบาย “ค่าเงินบาท” ที่ปล่อยให้ปีที่แล้ว “เงินบาทแข็งค่า” สูงสุดในภูมิภาค สวนทางเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องพึ่งพา “การส่งออก” และ “ท่องเที่ยว” การปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็ง เท่ากับไล่ลูกค้าหนี 

อีกเรื่อง คือ นโยบาย “ส่วนต่างดอกเบี้ย” ที่ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ เข้าไม่ถึงแหล่งทุนเพราะดอกเบี้ยเงินกู้ของแบงก์พาณิชย์สูง กลับกันผู้ฝากเงินก็เดือดร้อนเพราะดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ “ส่วนต่างดอกเบี้ยที่ถ่างกว้าง” ทำให้แบงก์ฟันกำไรปีละหลายหมื่นล้านบาท 

แต่ที่ถูกวิพากษ์วิจารย์อย่างหนักกรณีแบงก์ชาติออกนโยบายอะไรก็ตามมักปฏิบัติไม่ได้ ล่าสุด นโยบายเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาทที่ให้ผู้ประกอบการ SME กู้ ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าล้มเหลวไม่เป็นท่า สะท้อนจากตัวเลขในเดือนกรกฎาคมนี้ ยอดปล่อยกู้ยังอยู่ที่ 1 แสนล้านบาทหรือราว 20% ของวงเงินทั้งหมด เป็นเพราะกฏเกณฑ์ที่แบงก์ชาติกำหนดหยุมหยิมรัดกุมเกินไป จึงทำให้คนแบงก์ชาติถูกปรามาสว่าเป็น “นักรบในห้องแอร์” รู้แต่ทฤษฎี ปฏิบัติไม่เป็น ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่องธุรกิจ

เหนือสิ่งใดความท้าทายที่จะวัดฝีมือ ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนใหม่ อยู่ที่จะดำเนิน “นโยบายการเงิน” ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ จากพิษโควิด-19 อย่างไร ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจ “ฟื้นตัว” อย่างรวดเร็ว

รวมถึง” นโยบายการเงิน” ที่กำลังอัดฉีดเข้าสู่ระบบจำนวนมหาศาลจะให้ไปถึงมือคนส่วนใหญ่ได้อย่างไร ไม่ใช่ตกอยู่ในกระเป๋า “คนรวย” เจ้าของธุรกิจแค่หยิบมือเดียว เป็นการซ้ำเติม “ความเหลื่อมล้ำ” ทางศรษฐกิจให้ถ่างกว้างยิ่งขึ้น  

นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของภาระกิจที่ท้าทายซึ่งกำลังกวักมือเรียก “ดร.เศรษฐพุฒิ” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ.คนใหม่อย่างมิอาจปฏิเสธ

ทวี มีเงิน

ภาพประกอบจาก bot.or.th

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ