TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistฟื้นธุรกิจ หลังโควิด-19 ลุยเทคฯ - จับมือพันธมิตร

ฟื้นธุรกิจ หลังโควิด-19 ลุยเทคฯ – จับมือพันธมิตร

การเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศในยุโรปและเอเชียเปิดทางให้กิจกรรมในภาคส่วนต่าง ๆ ขยับเขยื้อนได้อีกครั้งส่งผลให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนได้ฤกษ์ขับเคลื่อนเดินหน้ากิจการของตนอีกครั้งหลังจากนิ่งสงัดหยุดชะงักมานานกว่า 2-3 เดือน

-เปิดทิศทาง “การท่องเที่ยวในราคาที่เอื้อมถึง”
-เศรษฐกิจไทยหลัง COVID-19 ทิ้งแผลสาหัส ทำใจซบยาว

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ที่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงอยู่ อีกทั้งยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดอีกนานอย่างน้อยก็ลากยาวจนถึงสิ้นปีนี้ ทำให้หลายธุรกิจต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ต้องประคับประคองกิจการและอยู่ในรอดภายใต้ยุค “New Normal” นี้ 

China Daily สื่อท้องถิ่นชั้นนำของจีน ได้จัดสัมมนาออนไลน์รอบพิเศษ รวบรวมเหล่าผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ มาร่วมแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนถ่ายทอดกลยุทธ์และคำชี้แนะต่าง ๆ ที่จะช่วยให้บรรดาธุรกิจทั้งหลายรอดพ้นผ่านสถานการณ์และสารพัดความท้าทายที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ 

มองหาและใช้ประโยชน์จากมาตรการเยียวยาของภาครัฐ

ดอกเตอร์ Daniel Yip ประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง กล่าวว่า จนถึงขณะนี้รัฐบาลแทบทุกประเทศทั่วโลก ต่างงัดมาตรการเยียวยาฟื้นฟู และกระตุ้นเศรษฐกิจของตนอย่างเต็มที่ ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลของเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ที่มีทั้งมาตรการลดหย่อนภาษี โครงการประกันเงินกู้ การขยายเวลาชำระหนี้ และการให้ทุนเสริมสภาพคล่องกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) 

ผู้ประกอบการและเจ้าของกิจการต่าง ๆ จึงควรรีบประเมินสถานการณ์ของธุรกิจ และวางแนวทางนโยบายที่จะนำมาตรการของภาครัฐมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับกิจการของตนเองมากที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดแค่ในเรื่องของการกู้เงินดอกเบี้ยต่ำมาลงทุนเท่านั้น แต่อาจหมายถึงการขอคำปรึกษาเพื่อปรับปรุงกิจการ หรือฝึกอบรมบุคลากร

ทั้งนี้ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญมองว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 มีทั้งภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักมาก และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อยหรือแทบจะไม่ได้รับผลกระทบเลย อีกทั้งยังสามารถเติบโตได้ดี กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ภาคธุรกิจที่มีปัญหาจะไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ และภาคธุรกิจที่ไปได้ดีจะไปได้ยาวตลอดรอดฝั่ง

นอกจากนี้ สิ่งที่เจ้าของกิจการทั้งหลายพึงควรตระหนักในใจเสมอ ก็คือ การรู้ว่า ไวรัสโควิด-19 เป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวที่จะต้องจบลง ซึ่งอาจกินเวลายาวนานหน่อยคือ 1-2 ปี ดังนั้น จึงไม่ควรหมดกำลังใจหรือถอดใจที่จะเดินหน้าต่อ เพียงแค่ต้องทำใจรับกับสภาพนิ่ง ๆ ทรง ๆ แบบนี้ให้ได้ โดยให้อาศัยช่วงเวลานี้ในการพิจาณาใคร่ครวญถึงโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะตอบโจทย์โลกอนาคต โดยฉวยช่วงเวลาที่ภาครัฐออกสารพัดมาตรการกระตุ้นช่วยเหลือมาใช้ให้เกิดผลดีมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องไม่ลืมว่า สารพัดมาตรการช่วยเหลือของรัฐต่าง ๆ เป็นมาตรการเฉพาะหน้าระยะสั้นที่มีอายุการใช้งานจำกัดเช่นเดียวกันคือไม่เกิน 1-2 ปี ผู้ประกอบการจึงควรคิดหาแนวทางระยะยาวของตนเอง ในวันที่ มาตรการของภาครัฐไม่มีอยู่แล้วด้วย 

เปิดรับเทคโนโลยีกุญแจอยู่รอดในโลกหลังโควิด-19

ทั้งนี้ ในทัศนะของผู้เชี่ยวชาญที่มาร่วมแบ่งปันแลกเปลี่ยนบนเวที่สัมมนาในหัวข้อ 

Getting your business ready for a post COVID world เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการทั้งหลายยังควรฉวยโอกาสทึ่ธุรกิจได้หยุดพักอย่างไม่ตั้งใจนี้ คิดใคร่ครวญถึงแผนหรือโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่กำลังผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดมาใช้ 

โดย Dar Wong รองประธานสมาคมการค้าอาเซียน-จีน ฟันธงว่า ธุรกิจกิจการที่จะสามารถยืนหยัดอยู่รอดในโลกหลังยุคโควิด-19 ก็คือ กิจการที่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด ด้วยเพราะเทคโนโลยีจะเป็นกุญแจสำคัญในการลดปัญหาเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่าย และเข้ามาตอบโจทย์เรื่องข้อจำกัดที่มาจากมาตรการล็อกดาวน์ได้ดี

“ธุรกิจที่ปรับตัวรับกับเทคโนโลยีทันสมัยต่าง ๆ ได้ดี ไม่ว่าจะอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมไหนก็ตาม คือธุรกิจที่จะฟื้นตัวได้เร็ว และมีโอกาสอยู่รอดมากที่สุดในโลกหลังยุคโควิด-19” Dar Wong กล่าว

ขณะที่ Calvin Choi ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AMTD Group กล่าวว่า วิกฤติการระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ถือเป็นบททดสอบความแข็งแกร่ง (stress-test) ของบรรดาบริษัททั้งหลาย ดังนั้น จึงควรมองว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างขององค์กรเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะตอบโจทย์เศรษฐกิจโลกที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น 

“เราควรมีความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ และมีใจเปิดกว้างต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้” Calvin Choi กล่าว ก่อนชี้แนะว่า เทคโนโลยีที่ภาคธุรกิจทั้งหลายต้องให้ความสำคัญ ก็คือ Fintech เงินดิจิทัล การจัดการข้อมูล และ Internet of Things หรือ IoT

ด้าน Dar Wong เสริมว่า อีกหนึ่งนวัตกรรมที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม ก็คือ เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการติดต่อสื่อสารทั้งหลาย เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การประชุมหารือพูดคุย และดำเนินการเจรจาต่อรองหรือทำข้อตกลงทางการค้าต่าง ๆ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ด้วยระบบออนไลน์ 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรพิจารณาถึงการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องของการ Work From Home และการฝึกอบรมบุคลกรให้มีความพร้อมกับการทำงานท่ามกลางนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ว่านี้ให้มากขึ้น 

ทั้งนี้ สถานการณ์ของธุรกิจที่จะอยู่รอดได้มากที่สุดหลังยุคโควิด-19 ก็คือ ธุรกิจที่สามารถประยุกต์ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในแง่ของการเข้ามาช่วยลดต้นทุน และเพิ่มผลิตผลต่าง ๆ ด้วยระยะเวลาที่สั้นที่สุด 

รวมกันเราอยู่แยกหมู่รอดยาก

ความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญบนเวทีสัมมนาออนไลน์แห่งนี้ ยังมองอีกว่า บรรยากาศเศรษฐกิจและการลงทุนโลกในขณะนี้ กำลังเผชิญกับ Perfect Storm ลูกใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของไวรัสโควิด-19 สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน และความขัดแย้งทางการเมืองในหลายประเทศ 

ปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้น ไม่เพียงทำให้กิจกรรมการค้าการลงทุนหยุดชะงักเท่านั้น แต่ยังมีแนวโน้มเกิดมาตรการป้องกันและกีดกันทางการค้าต่าง ๆ มากมาย ดังนั้น การเผชิญหน้ากับอุปสรรคเหล่านี้เพียงลำพัง อาจทำให้อยู่ยาก หรือ รอดยาก การแสวงหาพันธมิตรที่พร้อมจะเดินหน้าไปด้วยกัน จึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล

ทั้งนี้ ทั้ง Daniel Yip, Dar Wong และ  Calvin Choi เห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจของจีน เอเชีย โดยเฉพาะ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) มีแนวจะฟื้นตัวจากไวรัสโควิด-19 ได้เร็วกว่าภูมิภาคยุโรปและอเมริกา ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องอย่างยิ่งที่นานาประเทศในเอเชียจะจับมือเป็นพันธมิตร แสวงหาความร่วมมือ และเกื้อหนุนกันและกันในด้านต่าง ๆ อย่าง การส่งเสริมเทคโนโลยี การร่วมมือวิจัยพัฒนา และการยกระดับทักษะของบุคลากร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 

โดย Daniel Yip เห็นว่า หลังจากนี้ จะมีการเคลื่อนย้ายโรงงานการผลิตจากจีน และฮ่องกง เข้ามาในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น เพราะยังเป็นตลาดที่ยังสามารถขยายตัวเติบโตได้อยู่ ขณะที่ Calvin Choi มองว่า

การรวมกลุ่มเป็นพันธมิตร เพื่อกระจายหรือแบ่งกระบวนการผลิตให้อยู่ในระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) จะช่วยทลายข้อจำกัด และผลักดันให้การฟื้นตัวและขยายตัวเติบโตเป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น 

ในส่วนของไทย แม้จะเสียเปรียบเพื่อนบ้านในเรื่องของแรงงานบ้าง แต่ด้วยความพร้อมในด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และทำเลภูมิศาสตร์ที่สะดวกต่อการเดินทางไปยังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 เห็นตรงกันว่า ไทยควรรีบวางแผนปูแนวทางนโยบายเพื่อตอบรับกับบทบาทศูนย์กลางของอาเซียนให้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงการผลักดันโครงการอย่าง EEC ให้เกิดเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ยังได้ทิ้งท้ายด้วยการคาดการณ์ระยะเวลาฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกว่า จะกลับมาตั้งหลักได้อย่างมั่นคงจริงจังอย่างเร็วที่สุดคือปี 2022 ดยมีศูนย์กลางการฟื้นตัวอยู๋ในจีนและเอเชียเป็นหลัก ขณะที่ การค้าการลงทุนและความร่วมมือต่าง ๆ จะขับเคลื่อนด้วยลักษณะของการกระจาย ไม่ผูกขาด และมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระดับภูมิภาคมากขึ้น และท้ายที่สุด การเปิดรับเทคโนโลยีนวัตกรรมจะเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

ที่มาภาพจาก cisco

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-ศก.ไทยเสือตัวที่ 5 …. กำลังเป็น “เต่าแห่งเอเชีย”
-หัวเว่ย ขึ้นนำซัมซุงในรอบ 9 ปี จากยอดจัดส่งสมาร์ทโฟนทั่วโลก
-ซีอันจ่อเปิดเส้นทางรถไฟสินค้าเชื่อมจีนกับยุโรปกลาง-ตะวันออกเพิ่มอีก
-ซัมซุง จับมือ AIS PLAY ส่งแอปพลิเคชันลงซัมซุงสมาร์ททีวี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ