TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview2021 ปีแห่งคริปโตเคอร์เรนซี?

2021 ปีแห่งคริปโตเคอร์เรนซี?

จากกระแสของคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ที่เกิดขึ้นทั่วโลกช่วงวิกฤติโควิด-19 ในปี 2020 ที่ผ่านมา จะส่งผลให้ได้เห็นหลายสิ่งเกิดขึ้นในปี 2021 ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ขณะเดียวกันผู้ให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยจะต้องเริ่มปรับตัวจากการตื่นตัวของนักลงทุน และการที่มีผู้ประกอบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเกิดขึ้นหลายราย

-Cryptocurrency กำลังจะกลายเป็น Common Industry
-โซเชียล โทเคน (Social Token) เทรนด์เปลี่ยนโลกบันเทิง-โฆษณา-สื่อ

ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้ง และกรรมการ บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวกับ The Story Thailand ว่า กระแสจากต่างประเทศในปี 2020 จะเห็นว่าเหรียญบิทคอยน์ (Bitcoin) ที่มีราคาอยู่ที่ประมาณ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 บิทคอยน์ พอเกิดวิกฤติโควิด-19 คนก็เทขายเหรียญออกและนำเงินไปใช้ในชีวิตประจำวันทำให้ แต่เมื่อมีข่าวเรื่องมีวัคซีนก็ทำให้คนมีมุมมองของตลาดดีขึ้นและกลับมาซื้อเหรียญเหมือนเดิมจนเมื่อปลายปีมูลค่ามาแตะที่ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 บิทคอยน์ และยังคงขึ้นไปอีกในช่วงต้นปีที่ผ่านมา (ราคาวันที่ 13 ม.ค. 2021 ประมาณ 34,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 บิทคอยน์)

ผลกระทบที่จะส่งมาที่ประเทศไทยคือเรื่อง “ไทยบาทดิจิทัล” ที่หลายคนบอกว่าอีกนานกว่าจะเกิดขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการศึกษาและทำอย่างจริงจัง รวมถึงอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทำให้การเงินในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง รวมไปถึงระเบียบข้อบังคับ (Regulation) ที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลก็จะมีการเปลี่ยนเพื่อให้ตอบโจทย์การเติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง

ในต่างประเทศจะได้เห็นการทำโทเคน (Tokenization) หุ้น ให้คนสามารถซื้อหุ้นผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนได้ เหมือนกันนำหุ้นมาแปลงเป็นคริปโตเคอร์เรนซี อีกส่วนหนึ่ง คือ การออกหุ้นและทำเป็น “Dual Listing” ทำให้คนซื้อขายหุ้นได้จาก 2 ตลาด ใน 2 ประเทศโดยใช้บล็อกเชน ซึ่งจะทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลจะเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากหุ้นที่คนซื้อขายกันในปัจจุบัน

Paypal ร่วมมือกับ Visa ให้คนซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ส่วน Libra ที่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นสมาคม “Diem” เมื่อมีเหรียญออกมาได้จริง จะทำให้คนเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลได้อีกมหาศาล

รวมถึง “ดิจิทัลหยวน” ที่จะลืมไม่ได้ เพราะมีการใช้งานเรียบร้อยแล้วในประเทศจีน ที่จะมีการใช้งานอย่างแพร่หลายภายในปีนี้ แต่ก็ยังมีข้อกังวลในเรื่องของเรื่องความเป็นส่วนบุคคล เพราะรัฐบาลจีนต้องการรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับประชาชน ดังนั้น การใช้ดิจิทัลหยวนจะเป็นการที่มอบความเป็นส่วนตัวให้กับรัฐบาลจีนอย่างแน่นอน

ฝั่งสหรัฐฯ ก็มองว่า “ดิจิทัลดอลลาร์” จะต้องมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทางสหรัฐฯ ไม่ได้มีแนวโน้มเหมือนกับทางจีน โดยอาจจะให้แต่ละธนาคารเป็นผู้ออกเหรียญดิจิทัลดอลลาร์กันเอง แต่ก็ยังไม่ได้ข้อตกลงกันภายในสหรัฐฯ

“ปีนี้จะเป็นปีที่การยอมรับจำนวนมาก หรือ Mass Adoption เกิดขึ้น คนจะเข้าถึงคริปโตเคอร์เรนซีได้ง่ายขึ้น”

ปรมินทร์ กล่าวต่อว่า การที่แนวโน้มในต่างประเทศจะเข้ามาถึงเมืองไทยได้นั้น ขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายต่าง ๆ เพราะคนไทยก็มีส่วนหนึ่งที่ใช้ PayPal, Visa หรือ Facebook ขึ้นอยู่กับว่าแบงก์ชาติจะต้องมีระเบียบข้อบังคับให้คนไทยใช้ได้หรือไม่ ซึ่งถ้าไม่มีจะสามารถเข้ามาให้คนไทยใช้ได้ภายในปีนี้

สตางค์ ปรับกลยุทธ์ดึงลูกค้า

สตางค์ (Satang) เป็น 1 ในแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับผลกระทบในส่วนของ “ส่วนแบ่งตลาด” ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อจะคงส่วนแบ่งตลาดเอาไว้เท่าเดิม หรือ พยายามเพิ่มโดยใช้วิธีการขยายตลาด

ปี 2020 ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเกิดขึ้นหลายราย ไม่ต่างจากแอปฯ ส่งอาหาร ส่งผลให้เกิดผลกระทบในด้านส่วนแบ่งตลาด ที่ลูกค้าสามารถเลือกใช้งานผ่านแอปพลิเคชันได้หลากหลาย สามารถเปรียบเทียบได้ว่าจะเลือกซื้อผ่านแพลตฟอร์มไหน

ปรมินทร์ กล่าวว่า แพลตฟอร์มแต่ละรายจะมีไอเดียที่แตกต่างกันในการที่จะได้มาซึ่งลูกค้า ส่วนตัวมองว่าการที่มีคู่แข่งเข้ามาหลาย ๆ ราย สุดท้ายแล้วผลประโยชน์จะไปตกอยู่กับลูกค้า เพราะลูกค้ามีสิทธิ์เลือก 

ซึ่งจุดแข็งของสตางค์ คือ การที่เป็นพาร์ทเนอร์ กับ Exchange อันดับ 1 ของโลก ซึ่งจะทำให้การทำธุรกรรมระหว่างการซื้อขายแลกเปลี่ยนไร้รอยต่อ สามารถที่จะโอนสินทรัพย์ดิจิทัลจากสตางค์ไปที่พาร์ทเนอร์ได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องเสียเวลารอ และแทบจะไม่เสียค่าธรรมเนียม ขณะที่คู่แข่งไม่สามารถที่จะทำรูปแบบนี้ได้ เพราะการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเรื่องเวลาเป็นเรื่องที่สำคัญ ในช่วงเวลาสั้น ๆ ราคาของเหรียญ (Coin) อาจจะมีความเคลื่อนไหวอย่างมาก

“เพราะฉะนั้น การที่เราโอนสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่าน Exchange ยิ่งทำได้เร็วจะยิ่งดีซึ่งเป็นจุดแข็งของเรา”

ด้านธุรกิจของ สตางค์ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2017 สร้างการเติบโตมาในปีแรก 10 เท่า และในปีต่อมาเติบโตประมาณ 3 เท่า ปรมินทร์ ตั้งเป้าว่าในปี 2021 จะมีการเติบโตขึ้นไปอีก เพราะจำนวนนักลงทุนหน้าใหม่ที่เข้ามามากขึ้นจากปรากฏการณ์ที่บิทคอยน์ทำสถิติขึ้นไปสูงถึงเหรียญละ 1 ล้านบาท ช่วยดึงดูดคนให้คนรู้จักเข้ามาซื้อขายมากขึ้น และนักลงทุนอีกส่วนหนึ่งเป็นคนที่เรียนจบใหม่ หรือเพิ่งเข้าทำงาน ที่เข้ามาหาช่องทางลงทุนเพื่อทำกำไรในระยะสั้นและระยะยาวนอกจากการเล่นหุ้น

ปัจจุบัน สตางค์ มีลูกค้ามาเปิดบัญชีประมาณ 200,000 ราย ทั้งคนไทยและต่างประเทศรวมกัน และมีปริมาณการซื้อขายรวมกันประมาณ 1-2 พันล้านบาทต่อเดือน

บิทคอยน์ การลงทุนหรือการพนัน?

ถึงแม้ว่ากระแสคริปโตเคอร์เรนซีจะร้อนแรงอย่างต่อเนื่องจากปี 2020 มาจนถึงปีนี้ แต่ก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งมองว่าคริปโตเคอร์เรนซี โดยเฉพาะ “บิทคอยน์” ไม่ใช่การลงทุน แต่เป็นการพนัน

ปรมินทร์ แสดงความเห็นในกรณีนี้ว่า ในฐานะที่อยู่ในวงการคริปโตเคอร์เรนซี ต้องบอกว่าไม่ผิดที่มีคนมองว่าบิทคอยน์เป็นการพนัน เพราะจากราคาที่มีความผันผวนอย่างรวดเร็วมาก แต่ถ้ามองแบบนี้ก็ต้องบอกว่าตลาดหุ้นเองก็เป็นตลาดพนันเหมือนกันหรือไม่ เพราะก็มีหุ้นบางตัวที่มีความผันผวนสูงเช่นราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง ก.ล.ต. ก็ยังเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้

ขณะที่ปัจจุบัน สินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาตอบโจทย์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนที่มีรายได้จัดแบ่งเงินส่วนหนึ่งเข้ามาถือดีกว่าที่จะเก็บเงินไว้เฉย ๆ และค่าของเงินลดลงไปเรื่อย ๆ ด้านสถาบันใหญ่ ๆ เองก็พยายามที่จะเข้าไปซื้อคริปโตเคอร์เรนซีไว้มากขึ้นโดยเฉพาะบิทคอยน์ ทั้งนี้ ปรมินทร์ มองว่าบิทคอยน์จะกลายเป็นสินทรัพย์คงคลังของบริษัทใหญ่ ๆ

ปรมินทร์ กล่าวต่อว่า อีกส่วนหนึ่ง คือ คนอาจจะมองว่าบิทคอยน์ไม่มีอะไรมารองรับ แต่มูลค่าที่จะเข้ามารองรับมันเกิดจากต้นทุนการที่จะได้มาซึ่งบิทคอยน์มันมีการลงทุนเพื่อที่จะขุดเหรียญขึ้นมา ซึ่งเครื่องขุดก็มีมูลค่าเป็นต้นทุนเช่นเดียวกัน

“บิทคอยน์ไม่ได้เกิดขึ้นจากอากาศ และมีจำนวนจำกัด นอกจากนี้ยังไม่ได้ขึ้นกับรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง จึงมีความเป็นกลางสูง” ปรมินทร์ กล่าวย้ำ

ปรมินทร์ เชื่อว่าบิทคอยน์จะเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก ถึงแม้ว่าจะมีคนส่วนหนึ่งยังไม่เห็นด้วย แต่ถึงจุดหนึ่งที่คนเข้าใจ ราคาบิทคอยน์ก็จะไม่ใช่ราคาในปัจจุบันนี้อย่างแน่นอน

ในอนาคตจะมีโอกาสที่ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการร่วมลงทุนใน Utility Token หรือ Investment Token จะมีโอกาสที่ตลาดจะใหญ่กว่าคริปโตเคอร์เรนซี เพราะในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมามีหลายบริษัทในประเทศไทยพยายามสร้าง Investment Token ขึ้นมา โดยนำสินทรัพย์ที่มีในมือไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือที่ดินมา Tokenize เพียงแต่ว่าที่ยังไม่เกิดเพราะข้อจำกัดของ ก.ล.ต. ซึ่งอาจจะต้องกลับไปแก้ไขกฎหมายก่อน แต่เมื่อทำการแก้เสร็จแล้วเชื่อว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกที่นำมา Tokenize ยังไงก็มีมูลค่ามากกว่าตลาดคริปโตเคอร์เรนซี และจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้

“สิ่งที่อยากจะฝากถึงคนที่ยังใหม่อยู่ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี ตลาดนี้เพิ่งเกิดขึ้นมาแค่ 10 ปี ซึ่งยังใหม่มาก ๆ ในอนาคตมันจะไปได้ไกลอีกมาก ถ้าเราศึกษาและทำความเข้าใจกับมัน อย่างน้อยจะทำให้เราไม่พลาดโอกาส และประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นตอนนี้ เราไม่ควรมองข้ามมันไปและเลือกที่จะไม่ศึกษามัน เหมือนกับที่เราเลือกจะไม่สนใจ AI เมื่อ 40 ปีที่แล้ว”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ