TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeพลังคราฟต์เมืองแพร่ KANZ BY THAITOR แบรนด์เล็ก หัวใจไม่เล็ก

พลังคราฟต์เมืองแพร่ KANZ BY THAITOR แบรนด์เล็ก หัวใจไม่เล็ก

‘KANZ BY THAITOR’ แบรนด์เสื้อผ้าเล็ก ๆ จากเมืองแพร่ ที่คนในครอบครัวออกแบบและสร้างสรรค์ผลงานกันเองทุกขั้นตอน คือ 1 ใน 10 แบรนด์พลังหญิง ที่ผ่านการคัดเลือกจากผู้ประกอบการหญิงกว่า 200 ราย ที่สมัครเข้าร่วม โครงการพัฒนาผู้ประกอบการหญิง เพิ่มมูลค่าและคุณค่าของสินค้าด้วยความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีหรือ Women Made 2022 จัดโดย SEA ประเทศไทย จับมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา

กานต์ศิริ พิทยะปรีชากุล ผู้ประกอบการหญิง เจ้าของแบรนด์ KANZ BY THAITOR แบรนด์คราฟต์หนึ่งเดียวในโครงการ Women Made จะมาบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของของธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น สร้างสรรค์งานอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อม สนับสนุนช่างฝีมือชุมชน  หวังกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น และชักชวนคนมาเที่ยวเมืองรอง อย่างจังหวัดแพร่ 

ย้อนภาพจำ Thaitor ในวัยเยาว์

ความทรงจำในวัยเยาว์ของกานต์สิริ คือ ภาพที่ครอบครัวร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะบนผืนผ้า เด็กหญิงกิ๊กในวัย 10 ขวบ ได้หัดเขียนผ้าบาติกเป็นผืนแรกในชีวิต และในปี พ.ศ.2537 คุณพ่อเกรียงไกร และคุณแม่ศศิธร ได้เริ่มก่อกำเนิด แบรนด์ “ไททอ” ขึ้นในยุคที่ผ้าบาติกกำลังบูม เมืองไทยเต็มไปด้วยผ้าบาติกลายดอกไม้สีสันสดใส หรือไม่ก็ลวดลายท้องทะเล แต่ผ้าบาติกเมืองแพร่ที่คุณพ่อของเธอเป็นคนออกแบบลวดลายเองนั้นแตกต่างไม่เหมือนใคร กานต์สิริอธิบายว่า งานของคุณพ่อมีความเป็น Mixed Culture โดยผสมผสานลวดลายกราฟฟิกแบบตะวันตก หรือลายชนเผ่า เข้ากับลวดลายไทยแบบเดิม ๆ 

แบรนด์ไททอในยุคเริ่มต้น จึงมีผลิตภัณฑ์หลักเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นที่มาจากผ้าบาติกที่คุณพ่อออกแบบลวดลาย และมีคุณแม่เป็นคนทำแพทเทิร์น ออกแบบตัดเย็บเอง และเปิดเป็นหน้าร้านที่ตลาดนัดจตุจักร และเติบโตจนสามารถส่งออกสินค้าไปยังหลากหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอิตาลี ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น จนกระทั่งต้องมาสะดุดและหยุดตัวลง ด้วยผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจขาลงในช่วงที่มีการรัฐประหาร ปี 2549 ทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องขยับไปทำธุรกิจอื่น 

สิบกว่าปีของธุรกิจไททอยุคแรก เท่ากับเป็นการปูพื้นฐานความรู้ทางสิ่งทอและงานคราฟต์ ที่กานต์สิริได้รับจากครอบครัวมาแบบเต็มเปี่ยม ด้วยความตั้งใจลึกๆ ที่จะกลับมาสานต่อธุรกิจของครอบครัว ทำให้เธอเลือกเข้าศึกษาด้านแฟชั่นในระดับมหาวิทยาลัยที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบพัสตราภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อด้วยประสบการณ์สองปีในการทำงานเป็นดีไซเนอร์ในบริษัทเอกชน ที่ทำให้เธอฉุกคิดได้ว่า “ฉันก็ทำอย่างนี้เป็นของตัวเองก็ได้นี่” จึงเป็นจุดที่เธอตัดสินใจกลับบ้านเมืองแพร่ สมดังใจของคุณพ่อคุณแม่ที่อยากให้ลูกกลับมาอยู่บ้าน และหวังว่าอาจจะสานต่อธุรกิจที่ทิ้งร้างไปนาน

เริ่มต้นบทใหม่กับ Kanz by Thaitor

10 ปีที่แล้ว กานต์สิริในวัย 26 ปี จึงกลับบ้าน และได้เริ่มต้นรีแบรนด์ธุรกิจครอบครัว จาก ไททอ มาเป็น Kanz by Thaitor มีที่มาจากชื่อของเธอเอง เริ่มต้นศึกษาจากต้นทุนองค์ความรู้ของพ่อแม่ มีแรงบันดาลใจจากต้นแบบชิ้นงานเดิมที่เก็บสะสมไว้ ผ่านทำงานร่วมกันเป็นทีม “พ่อ-แม่-ลูก”  

“ช่วงแรกที่กลับมาทำก็ยากหน่อย กิ๊กคิดว่า เราจะกลับมาทำอะไรได้บ้าง จะทำยังไงให้คนรุ่นใหม่หรือแม้แต่ตัวเราเอง ใส่ผ้าไทยได้แบบไม่เคอะเขิน นี่คือ point ของเรา เราก็เริ่มทำจากผ้าธรรมชาติที่คิดว่าคนรุ่นใหม่น่าจะกล้าใส่ โดยที่ยังไม่ได้คิดเกี่ยวกับการพัฒนาผ้าบาติก  แต่กิ๊กมีแรงบันดาลใจ จากเสื้อผ้าที่คุณพ่อคุณแม่ส่งออกทั่วโลก ซึ่งทุกวันนี้ยังเก็บตัวอย่างทุกตัวที่เราทำขึ้นต้นแบบทำขาย เราก็จะรู้ว่า ส่งประเทศไหนบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นฝั่งยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น แต่ละที่มีแนวทางเป็นยังไงบ้าง เราเอามา study และปรับใหม่ ดีไซน์ให้ตอบโจทย์ปัจจุบัน”

กานต์สิริและคุณพ่อร่วมกันค้นหาเทคนิคใหม่ๆ ในการสร้างงาน ด้วยแนวคิด “แรงบันดาลใจทุกอย่างอยู่รอบตัว ไม่ต้องไปมองไกล” จึงเกิดการประยุกต์ใช้สิ่งต่างๆ รอบตัวเป็นเครื่องมือในการสร้างลวดลาย ไม่ว่าจะเป็น เศษฟองน้ำ เศษผ้า กิ่งไม้ มาทดลองสร้างลวดลาย และรวบรวมไว้เป็นเสก็ตช์บุ๊ค  จนกระทั่งได้เทคนิคและรูปแบบลวดลายที่ลงตัว พัฒนาออกมาเป็นผ้าบาติกที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ ในคอนเซ็ปต์ One of a Kind Piece  คือ มีหนึ่งเดียวชิ้นเดียวในโลกเท่านั้น

นอกจากการคิดค้นลายผ้าใหม่ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ กานต์สิริที่มีหน้าที่ในการดูภาพรวมทั้งหมดของแบรนด์  ทำงานพัฒนาคอลเล็กชันใหม่ๆ ร่วมกับคุณพ่อทุกๆ 3 เดือน และต้องแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ด้านดีไซน์การตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อปรับจูนกับคุณแม่ที่ดูแลด้านการทำแพทเทิร์น ในการผลิตให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่  เป็นการทำงานเป็นระบบครอบครัว โดย 3 คน พ่อ-แม่-ลูก แชร์ความคิดกันตลอด เปิดกว้างต่อกันและกันเหมือนร่วมกันสร้างงานศิลปะ ทำให้ได้งานที่สดใหม่ตลอดเวลา

“ถ้าลองเข้าไปดูใน Instagram ย้อนไปดูรูปแรกๆ กับตอนนี้ มันพัฒนามาไกลมาก ทำมา 10 ปี การเติบโตก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราเป็น Slow Fashion ไม่ใช่ Fast Fashion  เราจะคำนึงทุกอย่าง เราทำเสื้อผ้า 1 ตัว กระทบสิ่งแวดล้อมยังไงบ้าง เศษผ้าทุกชิ้นจะเก็บไว้ทั้งหมดเพื่อที่จะมาคิดต่อว่าทำยังไงให้มันเป็นขยะน้อยที่สุด นอกจากลายเส้นของผ้าบาติก ที่แต่ละลวดลายก็มีเรื่องราวของตัวมันเอง ผ้าแต่ละชิ้นที่เราทำมาเหมือนเป็นงานศิลปะ ที่เราจะตัดมันออก และคิดทุกอย่างให้สามารถเอามากลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นงานใหม่ๆ ที่กลายเป็นคาแรคเตอร์ของเรา โดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัว” 

ตลอดระยะเวลา 10 ปี Kanz by Thaitor มีการเติบโตทั้งในด้านการพัฒนาแบรนด์ กำลังการผลิต และรูปแบบดีไซน์ที่มีความเป็นสากลมากขึ้น รับรองคุณภาพผ้าทุกชิ้นผ่านการทดสอบ Finishing มาก่อนการตัดเย็บ กลุ่มเป้าหมายจะเป็นคนที่ชอบงานคราฟต์และงานศิลปะ มุ่งเน้นให้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกรูปร่าง สามารถใส่ได้โดยไม่เคอะเขิน เสื้อผ้าทุกแบบจึงผลิตเป็นขนาดฟรีไซส์ และเป็นดีไซน์แบบ unisex ด้วยฟังก์ชันการสวมใส่ที่ไม่สร้างกฎเกณฑ์ มีความอิสระ ไม่จํากัดเพศ อายุ และรูปร่าง 

“ด้วยความที่มีเพื่อนเป็น LGBT เยอะ บางทีเราอยากทำเสื้อผ้าให้เพื่อนใส่ จากที่เพื่อนไม่เคยใส่ผ้าไทยกลายเป็นเริ่มชอบ เลยรู้สึกว่าเป็นหนทางที่ทำให้คนรุ่นใหม่เอ็นจอยในการใส่ผ้าไทย  เราทำสัดส่วนแต่ละแบบเท่าๆ กัน ด้วยความที่เราอยากตอบโจทย์การไม่แบ่งแยกเพศ เวลาเราออกแบบจึงคิดว่าทำเป็นแบบลำลองกี่เปอร์เซ็นต์ ใส่ธรรมดากี่เปอร์เซ็นต์ สำหรับคนทำงานมีไอเท็มไหนบ้าง คนไปงานมีไอเท็มไหนบ้าง คือทุกอย่างจะต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้ เราออกไอเท็มเยอะมาก และมีการรีพีทไอเท็มตัวขายดี เช่น Ribbon Pant เป็นกางเกงแบบใส่ง่ายๆ ใส่ได้ทุกวัน แต่เราก็จะปรับดีไซน์ใน Detail อย่าง โบว์ กระเป๋า ความยาว ความสั้น หรือว่าสามารถสลับด้านใส่ได้ แล้วแต่ผู้ใส่ว่ามั่นใจแบบไหน กลุ่มลูกค้าเราจึงค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่คนอายุ 30 จนถึงคนอายุ 70 ก็มีที่ซื้อของเราใส่”

Sea ประเทศไทย พร้อมขับเคลื่อน ‘Digital Nation’ ผ่าน 3 ธุรกิจหลัก

สถานทูตอิตาลี- สำนักงานพาณิชย์อิตาเลียน จับมือ Shopee เปิดตัวแคมเปญ ‘Best of Italy ยกอิตาลีมาให้ช้อป’

WABI SAB! (แซ่บ) คอลเล็กชันพิเศษเสริมพลังหญิง

KANZ-BY-THAITOR

Kanz by Thaitor มีช่องทางการการจัดจำหน่าย 2 ช่องทางหลักคือ หน้าร้านที่อำเภอเมืองแพร่ และได้เริ่มจำหน่ายทางแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ Shopee ซึ่งเป็นผลจากการที่ได้เข้าร่วมโครงการ Women Made กับ Sea ประเทศไทย โดยมีการออกคอลเล็กชันพิเศษ WABI SAB! พร้อม Limited Festive Set กับ บรรจุภัณฑ์ถุงผ้าที่ทุกลายมีใบเดียวในโลก  

คอลเล็กชัน WABI SAB! แฝงความสนุกไว้ในความเรียบง่าย ได้แรงบันดาลใจมาจากแนวคิด WABI SABI ว่า ด้วยเรื่องความงามที่ไม่สมบูรณ์แบบ  นำเสนอความร่วมสมัยที่แปลกตา ผสมผสานความเป็นตะวันออกที่แสดงผ่านโครงเสื้อในสไตล์เฉพาะตัว มีความหวานซ่อนเปรี้ยว แฝงความสนุกในการใช้สีเข้ากับเทคนิคการตัดเย็บแบบ QUILT ที่มีความเป็นตะวันตก และที่สำคัญเกิดจากการสร้างสรรค์ร่วมกับช่างฝีมือในชุมชนจังหวัดแพร่

กานต์สิริบอกเล่าถึงประสบการณ์ดีๆ ในครั้งนี้ว่า “Women Made เป็นโครงการที่น่าสนใจ เพราะว่าเป็นโครงการสำหรับผู้ประกอบการผู้หญิง เราเป็นธุรกิจครอบครัว แต่เราทำงานร่วมกับชุมชนด้วย เป็นช่างที่มีฝีมือในชุมชนทั่วจังหวัดแพร่ มีประมาณ 4-5 เฮาส์ ที่เรากระจายงานไป บางเฮาส์เราต้องไปตื้อเค้าอยู่ 3 ปีกว่าเค้าจะยอมทำ และเก็บเศษแบบนี้ให้ทั้งหมด เราก็ค่อยๆ ทำให้เค้าเห็นว่าสิ่งที่เค้าทำให้เรา มันไปต่อได้ เค้าอาจจะเคยทำงานทั่วไปในราคาหนึ่ง เมื่อมาทำให้เราแล้วมันเพิ่มมูลค่าในความเป็นงานฝีมือที่เค้าทำเป็นอยู่แล้ว 

เราอยากรู้ว่าคนอื่นจะมองผลงานของเรายังไงกับสิ่งที่เราทำอยู่ เราก็คิดว่ามันเป็นโอกาสที่ดี ในการเข้าร่วมโครงการ มีคลาสที่น่าสนใจ มีผู้เชี่ยวชาญ ได้ร่วมงานกับนักสร้างสรรค์ ที่จะเติมเต็มสิ่งที่เราขาดตกบกพร่องด้วย สิ่งใหม่ๆ ที่ได้จากโครงการ คือเรื่อง Branding เกี่ยวกับ Identity ของแบรนด์ และสิ่งที่เราไม่ถนัดเลยคือ Online Marketing ช่องทางการขายออนไลน์ใน Shopee ก็เช่นกัน  ก่อนหน้านั้น เรายังผลิตไม่ได้เยอะแบบทุกวันนี้ ยังไม่เคยลองทำสต็อก พอได้ลองทำแล้วรู้สึกว่าลูกค้าสนใจ product เรามากขึ้น ยอดขายค่อนข้างดี”

กลับบ้านมาทำงานคราฟต์ เสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน

วันนี้ Kanz by Thaitor นอกจากการขายหน้าร้านที่อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ช่องทางออนไลน์ทางแพลตฟอร์ม Shopee ยังมีออกงาน Fair และร่วมงานกับกรมส่งเสริมการส่งออก โดยมีเป้าหมายระยะใกล้ในการนำพาแบรนด์ออกสู่ตลาดโลก โดยเริ่มต้นที่ตลาดญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดที่มีความชื่นชอบงานคราฟต์ มากกว่าทางยุโรป ซึ่งจากการได้มีโอกาสเข้าร่วมแสดงผลงานที่ มิลานดีไซน์วีค พบว่าทางฝั่งยุโรปนิยมแฟชั่นที่มีความ Luxury หรือเป็นงานอุตสาหกรรมมากกว่างานคราฟต์

กานต์สิริในวัย 36 ปีกับภารกิจการนำพาธุรกิจครอบครัว Kanz by Thaitor ก้าวสู่ปีที่ 11 เธอมีความสุขกับการทำงานที่ตัวเองรัก ได้อยู่บ้าน ได้ทำงานกับชุมชน โดยร่วมกับเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้านเกิด ส่งต่อให้คนรู้จักเมืองรองอย่างเมืองแพร่ และนี่เป็นเหตุผลที่เธอเลือกทำร้านที่แพร่

“เมืองแพร่ เป็นเมืองเล็กๆ ที่อบอุ่น ผู้คนน่ารักพร้อมต้อนรับขับสู้ อาหารก็อร่อย พอเราเปิดช็อปที่แพร่ กลายเป็นว่า ทำให้ทุกคนตั้งใจมาเที่ยวแพร่ หรือถ้ามาเที่ยวเหนือ ยังไงก็ต้องมาแวะหาเราเพื่อช้อปปิ้ง นอกจากนี้ กิ๊กยังทำโฮมสเตย์ ตั้งใจบอกต่อให้คนมาเที่ยวไปทำความรู้จัก Local People ลองไปชิมขนมร้านนี้ อาหารร้านนั้น มีวัดงาม ๆ เราต้องการที่จะให้คนรู้จักบ้านเรามากขึ้น และจริงๆ คือ อยากจะให้คนรู้สึกว่าการกลับบ้าน ไม่ได้เป็นเรื่องยากที่ทุกคนไม่มีหนทางหารายได้ อยากให้คนกลับมาอยู่บ้านได้ และดูแลครอบครัวได้จริงๆ”

สนใจช้อปงานคราฟต์พลังหญิง พลังชุมชน ทางออนไลน์ได้ที่ shopee.co.th/kansiripittayaprechakul หรือ FB: kanzbythaitor หากอยากไปช็อปถึงถิ่น หน้าร้านกับโฮมสเตย์ Homelynest อยู่ข้างๆ กัน นอนเล่นม่วน ๆ ของกิ๋นลำ มีของดีหื้อซื้อ และเที่ยวถิ่นเมืองแป้ให้อบอุ่นใจกันได้เลย

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
น้ำผึ้ง หัสถีธรรม – เรียบเรียง

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

Jubilee Diamond งัดไม้เด็ดมัดใจลูกค้า มั่นใจ ‘วาเลนไทน์มาร์เกตติ้ง’ ดันยอดขายโตกว่า 50%

7 วิธีวางแผนการเงิน สำหรับคนโสด สวย(หล่อ) และรวยมาก

เปิด 4 ข้อดี ChatGPT ใช้ประโยชน์จาก Generative AI ลดเวลาทำงาน ยกศักยภาพธุรกิจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ