TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeโชว์พลัง 10 แบรนด์ผู้ประกอบการหญิง Women Made ... Women Empowerment

โชว์พลัง 10 แบรนด์ผู้ประกอบการหญิง Women Made … Women Empowerment

วันนี้หากคุณเข้าไปที่ แอปพลิเคชัน Shopee และพิมพ์ค้นหาด้วยคำว่า “Womenmade” จะปรากฏดรอปดาวน์แสดงผลคำว่า “Women Made ชวนมาช้อป 10 แบรนด์พลังหญิง” และแสดงหน้าพิเศษที่รวบรวมรายการสินค้า มากกว่า 130 รายการ ทั้งที่เป็นสินค้าอุปโภคและบริโภค ซึ่งมีจุดร่วมกันคือเป็นผลิตภัณฑ์จากธุรกิจขนาดเล็กที่ดำเนินธุรกิจโดยผู้ประกอบการผู้หญิงทั้งสิ้น และพวกเธอคือ 10 แบรนด์พลังหญิง ที่ผ่านการคัดเลือกจากผู้สมัครกว่า 100 ราย เข้าร่วม โครงการพัฒนาผู้ประกอบการหญิง เพิ่มมูลค่าและคุณค่าของสินค้าด้วยความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี – Women Made จัดโดย Sea (ประเทศไทย) จับมือกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ Creative Economy Agency (CEA) 

และในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ช่วงเวลาเดียวกับงาน Bangkok Design Week 2023 ทาง Sea (ประเทศไทย) และ CEA ได้ร่วมกันเปิดเวทีประกาศความสำเร็จของโครงการ Women Made จัดแสดงโชว์เคสผลงานผู้ประกอบการหญิง 10 แบรนด์ จัดเป็นงานแถลงข่าวสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ในร้านเล็ก ๆ ย่านถนนทรงวาด FLVR Creative Grocery หรือ ร้านชำ เพื่อจะบอกเล่าถึงเรื่องราวที่มาที่ไปของโครงการ ทำไมต้องเป็นแบรนด์พลังหญิง พลังของความคิดสร้างสรรค์เมื่อมารวมกับเทคโนโลยี แนวคิดที่ใช้ในการพัฒนาผู้ประกอบการ และผลสำเร็จที่มีทั้งรูปธรรมเป็นโชว์เคสสินค้า องค์ความรู้จากโครงการที่จัดทำเป็นคอร์สออนไลน์ และเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างทางของโครงการ เป็นแรงบันดาลใจที่พร้อมส่งต่อ

แบรนด์พลังหญิง พลังแห่ง She Economy

Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ ได้แก่ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney) ได้เล็งเห็นถึงการเข้ามามีบทบาทและมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ของเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งในแง่การใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงเรื่องการทำงานและการทำธุรกิจ จึงมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้คนไทยทุกกลุ่มเขาถึงเทคโนโลยีและใช้เป็น ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มคนทำงาน กลุ่มผู้สูงวัย รวมถึงกลุ่มผู้หญิง ซึ่งแต่ะละกลุ่มเผชิญปัญหาที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิดหลายปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายย่อยและรายเล็กในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในหลายมิติ และผลกระทบอาจรุนแรงขึ้นไปอีกในกลุ่มผู้ประกอบการหญิง

รายงาน Thai Digital Generation 2021 ‘ฉายภาพอนาคตประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19’ จาก Sea (Group) และ World Economic Forum พบว่า กลุ่มผู้หญิงพบปัญหาการลดลงของรายได้และสุขภาพจิตที่แย่ลงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งอาจเกิดมาจากความเครียดของผู้หญิงที่ต้องทำงานและรับบทบาทดูแลสมาชิกในครอบครัวด้วยในเวลาเดียวกัน ทั้งยังขาดการเข้าถึงทักษะและแหล่งเงินทุนที่จำเป็นในการทำธุรกิจ รายงาน Global Entrepreneurship Monitor ยังชี้ว่า 70% ของผู้ประกอบการหญิงในประเทศไทยขาดความมั่นใจและกลัวความล้มเหลว ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตทางธุรกิจและการสร้างนวัตกรรมในธุรกิจของตน

พลังคราฟต์เมืองแพร่ KANZ BY THAITOR แบรนด์เล็ก หัวใจไม่เล็ก

มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) อธิบายถึงที่มาของโครงการ Women Made ว่า “จริง ๆ แล้ว ผู้หญิงไทย มีศักยภาพ มีความสามารถ แต่อาจจะมีเส้นบาง ๆ ที่กั้นไว้อยู่ ทำให้มีความกลัว และขาดความมั่นใจ รวมไปถึงอาจจะต้องยอมรับว่าในสังคมปัจจุบันผู้หญิงอาจจะยังไม่ได้รับโอกาสบางอย่าง หรือการสนับสนุนที่เหมาะสมเพียงพอ ที่จะทำให้สามารถก้าวข้ามเส้นบาง ๆ นั้นออกมาได้  นอกจากนั้นยังมี Global Trend เรื่องของ ‘She Economy’ ในประเทศไทยก็มีประชากรหญิงมากกว่าประชากรชาย ในแง่ผู้บริโภค ผู้หญิงมักจะเป็นคนที่ตัดสินใจ ว่าจะซื้ออะไรใช้จ่ายยังไงในครัวเรือน และรวมไปถึงในแง่การทำงาน เราจะเห็นบทบาทของผู้หญิงในงานต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น”

ดร.ชาคริต พิชญางกูร (ซ้าย) มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ (ขวา)

ทาง Sea ประเทศไทย จึงจับมือกับ สำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ริเริ่มโครงการ Woman Made เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการหญิงในประเทศไทย ให้สามารถใช้เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ ในการต่อยอดธุรกิจและสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมมุ่งทลาย ‘ความกลัว’ ที่เป็นอุปสรรคสำคัญของผู้หญิงในฐานะผู้ประกอบการ สร้างการเติบโตทางธุรกิจได้อย่างเต็มศักยภาพ และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีทางสังคมผ่านธุรกิจของตน จากการเปิดตัวโครงการในช่วงปลายปี 2022 ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการหญิง สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 100 แบรนด์ มีการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการอย่างเข้มข้น ทั้งด้านความโดดเด่นของธุรกิจหรือสินค้า ศักยภาพในการขยายธุรกิจบนช่องทางออนไลน์ และความตั้งใจในการสร้างอิมแพคให้สังคมไม่ว่าจะในด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อม จนได้ผู้ร่วมโครงการทั้ง 10 แบรนด์

“การจะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ มีปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 ปัจจัยสำคัญในยุคปัจจุบัน คือ เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี ถ้าเรามีแค่ความคิดสร้างสรรค์อย่างเดียว ก็อาจจะไปได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ไกลมาก แต่ถ้ามีแค่เทคโนโลยีเป็นเพียงแค่ Tool อย่างเดียว ก็ไม่ได้สร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ ทาง Sea เราเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซเทคโนโลยี เรารู้จัก Digital Tools ต่าง ๆ และต้องขอบคุณพันธมิตรดีๆอย่าง CEA ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านความคิดสร้างสรรค์ ส่งผู้เชี่ยวชาญและนักสร้างสรรค์หลายท่านเข้ามาช่วยใน Workshop ของโครงการนี้ ทำให้น้อง ๆ ผู้หญิงในโครงการ Woman Made ได้เทคนิค และความรู้ต่าง ๆ มากมายเอาไปประยุกต์ใช้” มณีรัตน์กล่าว

Design Thinking Workshop เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการหญิงให้บรรลุศักยภาพสูงสุด

ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ได้อธิบายถึงบทบาทของ CEA ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อให้เป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจที่สมดุลและยั่งยืน และปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เกิดการเติบโต นอกจากความคิดสร้างสรรค์แล้ว ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นอีกมิติที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องตระหนักและปรับตัว พร้อมใช้ต้นทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีเอกลักษณ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ตลาดมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนโดยรอบ ทั้งในมิติของเศรษฐกิจท้องถิ่นและการท่องเที่ยวเอื้อให้เกิดระบบนิเวศสร้างสรรค์อย่างแท้จริง

“ในวันนี้ CEA ได้ร่วมมือกับ Sea (ประเทศไทย) ผลักดันให้มีการนำความคิดสร้างสรรค์ ไปพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการ หลาย ๆ คนอาจคิดว่า การนำความคิดสร้างสรรค์ไปใช้กับธุรกิจ เป็นเรื่องของ Marketing เพียงอย่างเดียว หรือมักคิดว่านวัตกรรมเกิดจากเทคโนโลยีใหม่อย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้ว การนำเทคโนโลยี และ ความคิดสร้างสรรค์ มาทำงานร่วมกัน ผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบหรือ Design Thinking เพื่อพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ เกิดเป็นนวัตกรรมที่สมบูรณ์แบบและตอบโจทย์ มีโอกาสประสบความสำเร็จในตลาดมากที่สุด” 

อาจารย์เรวัฒน์ ชำนาญ ที่ปรึกษาโครงการ Women Made – ผู้เชี่ยวชาญด้านความคิดสร้างสรรค์และอดีตบรรณาธิการบริหาร Wallpaper Thai Edition ได้อธิบายความร่วมมือของ Sea (ประเทศไทย) และ CEA ในโครงการ Women Made ว่ามีเป้าหมายในการสร้าง digital ecosystem ที่สมบูรณ์ สร้างกระบวนการผ่านแนวคิด Design Thinking เพื่อลดช่องว่างทั้งทางด้านเทคโนโลยีและการออกแบบ ส่งเสริมผู้ประกอบการให้ไปได้ไกลกว่าการขายหน้าร้าน ซึ่งการขายหน้าร้านเพียงช่องทางเดียว อาจจะไม่เพียงพอแล้วกับยุคนี้ ต้องมีการเพิ่ม revenue stream ให้ธุรกิจในหลากหลายช่องทางมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องทางออนไลน์

สำหรับผู้ประกอบการหญิงที่ได้รับคัดเลือกทั้ง 10 แบรนด์นั้น ล้วนมีศักยภาพในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจ และสร้างคุณค่าต่อสังคมไปพร้อมกัน ทางโครงการ Women Made จึงได้ออกแบบกระบวนการอบรม โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก คือ Women Made Masterclass การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการหญิงทั้งด้านธุรกิจและการพัฒนาแบรนด์ ด้วยกระบวนการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ จากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำ ในรูปแบบการอบรมออนไลน์ 2 วันเต็ม ในหัวข้อเนื้อหาดังต่อไปนี้

  • Brand & Project pitching Presentation skills โดย อาจารย์เรวัฒน์ ชำนาญ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Design Thinking และการออกแบบสื่อสารธุรกิจ
  • Empowering Women โดย ผศ.ดร.สามมิติ สุขบรรจง อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม ม.ศรีนครินทรวิโรฒ และเข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดง นักพัฒนาสิ่งแวดล้อมและชุมชน
  • Branding & Storytelling โดย ศรันย์ เย็นปัญญา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเล่าเรื่อง ผู้ก่อตั้งร้านชำ FLVR Creative Grocery
  • Design Thinking & Business Model Canvas โดย ดร.วีรินยาอร เหลืองบริบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Design Thinking และการสร้างแผนธุรกิจ
  • 10 Types of innovation – Creative marketing โดย ดร.ฐิสิรักษ์ โปตะวณิช ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจและการตลาด Online/ อาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • Digital Marketing and e-commerce strategy โดย กฤตกาญจน์ กังวานพรศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการตลาดออนไลน์

ตลอดจน เนื้อหาเรื่องโอกาสในโลก e-commerce โดยผู้เชี่ยวชาญจาก Shopee University

ช่วงที่สอง One on One Consulting ผู้ประกอบการมีโอกาสพบกับผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ การตลาดและประชาสัมพันธ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ

จำนวน 4 ครั้ง ในระยะเวลา 5 สัปดาห์ รวมถึงได้ทำงานร่วมกับนักสร้างสรรค์ จากเครือข่าย Connect by CEA เพื่อเสริมแกร่งผู้ประกอบการ พัฒนาธุรกิจและสร้างอัตลักษณ์ใหม่ ประยุกต์ใช้ความรู้จาก Masterclass และทดลองไอเดียใหม่ ๆ โดยใช้ seed-funding มูลค่า 25,000 บาทจากโครงการ ในการออกคอลเล็กชันพิเศษที่ทดลองขายบน Shopee ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมา

โชว์เคสผลงานผู้ประกอบการหญิง 10 แบรนด์ หลัง ซ่อมเสริมสร้าง

“จริง ๆ แล้ว 10 แบรนด์ที่มีอยู่ ต้องชมว่าทุกคนดีอยู่แล้ว เรา respect โดยไม่แตะต้องในการปรับตัวผลิตภัณฑ์เลย เราไม่พยายามไปเปลี่ยนดีไซน์สินค้าของเขา แพทเทิร์นมายังไงอย่างนั้นเลย เพราะของเขาดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราช่วยได้ คือเรื่องของ marketing ตอนปลายปี ซึ่งทุกแบรนด์จะมีการออกของขวัญพิเศษ สิ่งที่จะช่วยมาร์เก็ตติ้งได้ คือเรื่อง gift box เราจึงให้โจทย์กับผู้ประกอบการในการทำ special package สำหรับช่วง gift time”

อาจารย์เรวัฒน์กล่าว ก่อนจะบอกเล่าถึงเรื่องราวการ ซ่อม – เสริม – สร้าง ที่มากไปกว่าการทำบรรจุภัณฑ์สวย ๆ แต่เป็นการรวมความรู้ทุกศาสตร์ มาใช้ทรานสฟอร์มธุรกิจ ผ่านกระบวนการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ และด้วยพลังผู้ประกอบการหญิงที่ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยหัวใจ ทั้ง 10 แบรนด์

กานต์ศิริ พิทยะปรีชากุล

Kanz by Thaitor

ผู้ประกอบการ: กานต์ศิริ พิทยะปรีชากุล

นักสร้างสรรค์: นภัทรชนนันท์ นันท์ทปรีชา

แบรนด์เสื้อผ้าเล็ก ๆ จาก จ.แพร่ ที่คนในครอบครัวออกแบบลายและทำกันเองทุกขั้นตอน เป็นการต่อยอดผ้าบาติกเทคนิคเฉพาะที่คุณพ่อกับคุณแม่ทำกันมาตั้งแต่ 15 ปีที่แล้วให้ร่วมสมัยและใส่ง่ายในชีวิตประจำวัน มีการทำคอลเล็กชันพิเศษโดยได้แรงบันดาลใจมาจากแนวคิด WABI SABI ว่าด้วยเรื่องความงามที่ไม่สมบูรณ์แบบ ควบคู่ไปกับความร่วมสมัยที่แปลกตา ด้วยการผสมผสานความเป็นตะวันออกที่แสดงผ่านโครงเสื้อเข้ากับเทคนิคการตัดเย็บแบบ QUILT ที่มีความเป็นตะวันตก จนกลายเป็นคอลเล็กชัน WABI SAB! ที่แฝงความสนุกไว้ในความเรียบง่าย โดยทางผู้เชี่ยวชาญได้ให้โจทย์เพิ่มในการทำบรรจุภัณฑ์ใหม่ ในรูปแบบของถุงสูทที่มาจากผ้าและกล่องของขวัญที่ใช้ผ้าในการหุ้มกล่อง โดยผ้าที่นำมาใช้แต่ละชิ้นมีเพียงผืนเดียว ลวดลายไม่เหมือนกันเลยสักผืน

ฐนาพร สุกัญจนศิริ

Pick Me Please

ผู้ประกอบการ: ฐนาพร สุกัญจนศิริ

นักสร้างสรรค์: ปิติ อมรเลิศวัฒนา

หมูหยองกรอบที่ใช้กรรมวิถีคั่วบนเตาถ่านสูตรโบราณ โดยปราศจากการใช้เครื่องจักร ปรุงรสจนได้หมูหยองกรอบที่กรอบอร่อย รสชาติไม่เหมือนใคร ปราศจากผงชูรสเเละสารกันเสีย ทางโครงการได้เสนอโจทย์ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ และทำการเสนอขายแบบ Bundle Sale ในรูปแบบ Gift Set “Spiral of Happiness” เหมาะสำหรับการซื้อเป็นของขวัญหรือทานเล่นร่วมกับครอบครัวและเพื่อน ๆ ในเทศกาลสังสรรค์ช่วงปีใหม่

Slip to sleep

ผู้ประกอบการ: อมลานันท์ สังสิทธิวงศ์

นักสร้างสรรค์: อุ้มบุญ ลิ้มน้ำคำ

แบรนด์ Braless Pajamas หรือชุดนอนสำหรับสาว ๆ ที่มาพร้อมกระเป๋าหนาสามชั้นด้านนอก ทำให้ไม่ต้องกลัวโป๊แม้จะไม่ได้ใส่บรา มีความฝันที่ยิ่งใหญ่คือ อยากเป็นที่จดจำของคนไทย ในฐานะที่เป็นเเบรนด์เเรกที่ผลิตชุดนอนโนบราโดยผู้ประกอบการหญิงคนไทย  ทางโครงการให้โจทย์คอลเล็กชั่นพิเศษนี้ ด้วยแนวคิดสร้างคุณค่าต่อจิตใจและยืดอายุการใช้งานของกล่องบรรจุภัณฑ์สินค้า นอกจากการส่งต่อความสุขด้วยแพคเกจจิงที่น่ารักแล้ว ลูกค้ายังสามารถนำส่วนของกล่องไปใช้เป็นที่คั่นหนังสือได้อีกด้วย ซึ่งผลปรากฏว่า คอลเล็กชั่นนี้ขายดีจนหมดเกลี้ยงในเวลาอันรวดเร็ว และจนทางแบรนด์ต้องผลิตเพิ่มอีกครั้งเพื่อส่งผลงานให้กับทางโครงการ

Ales Thailand

ผู้ประกอบการ: ชลธิชา ทองบริสุทธิ์แท้

นักสร้างสรรค์: นภัทรชนนันท์ นันท์ทปรีชา

แบรนด์สกินแคร์ที่อยากช่วยให้การดูแลผิวเป็นเรื่องง่าย โดย Ales เกิดจากความตั้งใจของเพื่อน 3 คน (พลอย – เภสัชกรที่มีความรู้ด้านงานวิจัยสารสกัด หยก-ทายาทธุรกิจนำเข้าเคมีภัณฑ์เครื่องสำอาง แพร-Influencer ที่สนใจด้านธรรมชาติและสุขภาพ) ที่อยากทำสกินแคร์แบรนด์ไทยที่มีคุณภาพ และส่งต่อความรู้ในการดูแลสุขภาพที่ดีให้กับผู้บริโภค คอลเล็กชั่นพิเศษของ Ales ในโครงการนี้ มาจากแนวคิดที่ต้องการสนับสนุนความหลากหลาย และอยากให้ทุกคนมีผิวที่สวยในแบบที่เป็นตัวเอง จึงได้จับมือกับ @abouttongpic ศิลปินในการออกแบบ Limited Gift Box  ที่มีแนวคิดเบื้องหลังคือ The Beauty Of Difference แสดงความเป็นตัวตนที่แตกต่าง และมี “ความสวยในแบบของตัวคุณเอง”

วาสนา แซ่ฉั่ว

Pethology+

ผู้ประกอบการ: วาสนา แซ่ฉั่ว

นักสร้างสรรค์: ปิติ อมรเลิศวัฒนา

แบรนด์ผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับสัตว์เลี้ยง โดยต่อยอดแชมพูกำจัดเหาของเด็กมาเป็นแชมพูสมุนไพรสำหรับสุนัขและแมว พัฒนามาจากใบถอบแถบซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามแนวป่าชายเลน ผ่านการทดลองในห้องทดลองโดยผู้เชี่ยวชาญ จนได้เป็นแชมพูและสเปรย์สมุนไพรที่ปลอดภัยสำหรับสัตว์ คอลเล็กชั่นพิเศษนี้จะมาในแพคเกจจิ้งที่สนุกสนานมากยิ่งขึ้น พร้อมผ้าพันคอสุนัขและแมวที่ทำจากผ้ามัดย้อม โดยสีที่ใช้ทำผ้ามัดย้อมนี้ก็มาจากใบของพืชที่เป็นส่วนผสม

อัมภานุช บุพไชย

ขนมทันจิตต์

ผู้ประกอบการ: อัมภานุช บุพไชย

นักสร้างสรรค์: นัยญดา ผิวดำ

ต่อยอดตำนานครอบครัวนักรังสรรค์ขนมที่มีประวัติยาวนานกว่า 40 ปี เริ่มต้นจากพัฒนา “เผือก” ที่คุณพ่อรังสรรค์ออกมาเป็น เผือกกรอบรูปตะแกรง (Waffle Cut Taro Chips) พร้อมส่งต่อความสุขที่ทานได้ แบบ Non Stop มาพร้อมแพคเกจจิ้งน่ารัก จะมอบให้คนพิเศษหรือจะจัดเป็นปาร์ตี้เซทก็ได้ กับกล่อง Happiness Gift Set “ทันจิตต์” ของขวัญที่อัดแน่นไปด้วยความสุขแบบกินได้

Sureeya

ผู้ประกอบการ: มีนา ระเด่นอาหมัด / สุริยา ชูละ

นักสร้างสรรค์: นัยญดา ผิวดำ

แบรนด์ผลิตภัณฑ์กระเป๋าและ Accessories จากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีผ้าพื้นถิ่น คือ ผ้าปาเต๊ะ เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ มีการปรับแบรนดิ้ง และผลิตคอลเล็กชั่นพิเศษ เพื่อเล่าเรื่องราวความสวยงามผ่านลวดลาย “ดอกดาหลา” ที่นิยมปลูกในพื้นที่จังหวัดยะลาและจังหวัดนราธิวาส เริ่มต้นกระบวนการผลิตจากฝืมือของผู้ประกอบการหญิงจังหวัดนราธิวาส “มุสบาปาเต๊ะ” ในการผลิตผ้าปาเต๊ะ (Batik) ด้วยบล๊อคไม้ลายดอกดาหลา แล้วจึงส่งต่อผ้าให้ “Sureeya” ผู้ประกอบการหญิงจังหวัดยะลา ตัดเย็บเป็นกระเป๋า เพื่อส่งต่อความงามสู่ลูกค้าในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย

Mediherb Tea

ผู้ประกอบการ: ภญ.ชัญญานุช พันธุ์ประเสริฐ

นักสร้างสรรค์: ธิรดา ชนาวิโชติ

แบรนด์ชาจากดอกไม้และสมุนไพรไทย ที่มีทั้งกลิ่นหอมและคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยการผสมผสานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และแพทย์ทางเลือก นำเสนอคอลเล็กชั่นชา ซีรี่ย์ All Day Flower Tea เซตชาดอกไม้ออแกนิก ปราศจากคาเฟอีน ไม่มีน้ำตาล ทั้งยังเปี่ยมไปด้วยแอนตี้ออกซิแดนท์ ประกอบไปด้วยชาเบลนด์ 3 รสชาติ ได้แก่ Morning Bloom ชาดอกไม้สีแดงจากดอกชบา กระเจี๊ยบแดง และกุหลาบ Golden Noon ชาดอกไม้สีเหลืองทองจากดอกคำฝอย มะตูม และดอกกระดังงา  Starry Night ชาดอกไม้สีน้ำเงินจากดอกอัญชัน มะลิ และเปปเปอร์มินต์ และได้ดีไซเนอร์ไทย ที่ทำงานให้เอเจนซี่ที่ New York ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ 

Happy Flows TH

ผู้ประกอบการ: เรืองระวี เลิศเดชเดชา

นักสร้างสรรค์: ธิรดา ชนาวิโชติ

แบรนด์ผ้าอนามัยออร์เเกนิกและผ้าอนามัยสมุนไพร ที่มุ่งมั่นช่วยให้ผู้หญิงรักษาอนามัยอย่างปลอดภัยได้ในทุก ๆ วัน และต้องการร่วมขับเคลื่อนสังคม ช่วยเหลือให้ผู้หญิงที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงผ้าอนามัยดี ๆ ได้ เมื่อซื้อ 1 กล่อง แบรนด์จะมอบอีก 1 กล่องให้เพื่อนผู้หญิงที่ขาดโอกาสเข้าถึงผ้าอนามัยที่ถูกสุขลักษณะเพื่อเป็นอีกพลังหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนความสุข ความเท่าเทียมด้านสุขอนามัยของผู้หญิงทุกคน ทางโครงการได้ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ โดยปล่อยเซ็ตผ้าอนามัยสมุนไพร “Happy Together” ประกอบด้วย ผ้าอนามัยแบบกลางคืน 24 แผ่น กระเป๋าใส่ผ้าอนามัย และ Period Tracker นอกจากนั้นกล่องผ้าอนามัย Happy Flows สามารถ D.I.Y. เป็นกล่องใส่ผ้าอนามัยอีกด้วย

วิไลพร ศิรินภาพันธ์

Veraparis

ผู้ประกอบการ: วิไลพร ศิรินภาพันธ์

นักสร้างสรรค์: อุ้มบุญ ลิ้มน้ำคำ

อีกหนึ่งแบรนด์สุดท้ายจากโครงการ Women Made แบรนด์กระเป๋าตัวแทนของชีวิตผู้หญิงในมหานคร ที่ออกแบบให้มีฟังก์ชันที่เข้าใจไลฟ์สไตล์ชีวิต “Lundi Pie” คอลเลกชันพิเศษครั้งนี้ได้แรงบันดาลใจจากการคิดถึงวันเบา ๆ ในหน้าหนาว กับการกินพายร้อน ๆ เมื่อได้กลิ่นหอมของพาย ก็รีบเปิดออกทาน จึงเอารูปทรงกล่องหมอน Geometric ผสมกับ Curve ได้อย่างลงตัว ซึ่งเป็นการเอาจุดเด่นของฝาโค้งแบบไม่มีรอยต่อ ของกระเป๋า Lundi ที่เป็น Signature ของแบรนด์ VERAPARIS มาใช้ และเนื่องจากเป็นแบรนด์ที่ขายดีอยู่แล้ว ทางโครงการจึงทำเพิ่มแค่บรรจุภัณฑ์

ส่งต่อแรงบันดาลใจและองค์ความรู้

ทาง Sea (ประเทศไทย) ได้เผยผลสำเร็จของโครงการ Women Made 2022  จากข้อมูลการทำแบบสอบถามโดยผู้เข้าร่วมหลังเสร็จสิ้นโครงการฯ  ผู้ประกอบการหญิงทุกแบรนด์ระบุว่า มีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้นในฐานะผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยังได้รับทักษะใหม่ ๆ ได้แก่ หนึ่ง การทำธุรกิจโดยรวม สอง การทำธุรกิจบนดิจิทัลแพลตฟอร์มและโลกออนไลน์ และ สาม ด้านการสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับสินค้าและบริการ สะท้อนเป็นยอดขายที่เพิ่มขึ้นบนช่องทางออนไลน์ โดยเพิ่มขึ้นราว 20% ในช่วงเวลาเพียงแค่ 1 เดือน นอกจากนี้ ทุกแบรนด์ยังได้ค้นหาแนวทางการดำเนินธุรกิจของตัวเองให้มีความยั่งยืนในรูปแบบที่ทำได้จริงและมีความหมายต่อแบรนด์อีกด้วย

ดร.ชาคริต ได้ให้มุมมองถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จของโครงการนี้ว่าส่วนหนึ่งมาจากความเข้าใจในตลาด “ทาง Sea ประเทศไทยที่ทำโครงการนี้ขึ้นมานั้นเป็นเจ้าของ Marketplace คนที่เข้าใจตลาดมาเป็นลีดของโครงการ เมื่อเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ รวมกับความเข้าใจตลาด ประกอบกับการนำผู้คนจากหลากหลายศาสตร์มาทำงานร่วมกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้โครงการมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง  เพราะของจะดีแค่ไหน สวยแค่ไหน ถ้าไม่เข้าใจตลาดก็ขายไม่ได้ ในปัจจุบัน มีสินค้าในตลาดเยอะแยะมากมาย ที่ไม่รู้ติดอะไร อาจจะติดที่ราคา อาจจะผิดที่บรรจุภัณฑ์ไม่ตรงกลุ่ม หรืออาจจะผิดที่ story ไปวางขายที่ mass แต่เรื่องราว luxury เกินไปคนก็ไม่ซื้อ เพราะฉะนั้น ผมว่าตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ เป็นโครงการที่ตอบโจทย์ เติมเต็มช่องว่างได้ดี”

ดร.ชาคริตฝากถึงผู้ประกอบการไทยว่า ความคิดสร้างสรรค์ หรือ creativity คือ การสร้างสิ่งใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสินค้า ผู้บริโภคอยากได้ของใหม่ไม่เหมือนใคร ผู้ประกอบการต้องทำในสิ่งที่แตกต่าง โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือ โครงการนี้เอาคนหลากหลายศาสตร์มานั่งคุยกัน ใช้เครื่องมือทางความคิดสร้างสรรค์ กระบวนการคิดเชิงออกแบบ Design Thinking เข้าไปแตะทุกจุด ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ การสร้างแบรนด์ รวมไปถึงการสื่อสารอัตลักษณ์ของแบรนด์ ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญกับเรื่องแบรนด์เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้แล้ว ยังมีอีกหลายส่วน การทำโฆษณา ทำคลิปลง TikTok  สร้าง Content ให้โดด ให้โดน ล้วนต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทั้งกระบวนกานร

โครงการ “Women Made” จึงเป็นอีกหนึ่งในโครงการแห่งความภาคภูมิใจของ Sea (ประเทศไทย) ที่ส่งเสริมให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการในประเทศไทยมีความรู้และทักษะดิจิทัลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ศักยภาพในการทำธุรกิจ ตลอดจนรองรับการปรับตัวและเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสริมสร้างความมั่นใจให้กลุ่มผู้ประกอบการหญิงในประเทศไทย ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้สินค้าและบริการของตนเอง และใช้เทคโนโลยีในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจและความยั่งยืนทางสังคม

องค์ความรู้จาก Master Class ที่ผู้ประกอบการทั้ง 10 แบรนด์ได้เรียนรู้จากโครงการฯ ได้ถอดบทเรียนออกมาเป็น คอร์สอีคอมเมิร์ซสำหรับผู้ประกอบการหญิง วิดีโอซีรีส์สั้น ๆ 5 ตอน และเผยแพร่ให้ผู้ประกอบการหญิงท่านอื่น ๆ และผู้ที่สนใจเข้าไปเรียนรู้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย บนเว็บไซต์ Sea Academy ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการแต่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ ก็สามารถเข้าไปศึกษาคอร์ส E-commerce สำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ หลักสูตรพื้นฐานในการขายและใช้เครื่องมือการตลาดบน Shopee

นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรสำหรับคนหลากหลายกลุ่มวัย เช่น  E-commerce สำหรับวัยเกษียณ และคอร์ส Digital Finance 101 แหล่งเรียนรู้การเงินดิจิทัลสำหรับบุคคลทั่วไป เพื่อการใช้เครื่องมือทางการเงินดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ และหลักสูตร  Gaming & Esports แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพในวงการเกมและอีสปอร์ต รวบรวมคำแนะนำการเล่นและใช้เกมอย่างสร้างสรรค์เด็ก เยาวชน และบุคลากรทางการศึกษา

“ต้องขอบคุณทุกคนที่ให้ความสนใจกับโครงการ ส่งใบสมัครเข้ามามากมาย ขอบคุณน้อง ๆ ทั้ง 10 แบรนด์ที่เต็มที่มาก ๆ ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา สิ่งที่อยากจะฝากคือ ไม่อยากให้ตรงนี้เป็น end of journey แต่อยากให้มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจดี ๆ สิ่งที่ Sea ตั้งใจมาโดยตลอด คือ การส่งต่อความรู้ออกไปในวงกว้างมากที่สุด เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการ Women Made จะสามารถจุดไฟแรงบันดาลใจ และส่งต่อความรู้เพื่อเสริมความมั่นใจและสนับสนุนผู้ประกอบการหญิงให้ประสบความสำเร็จได้ เพราะเราเชื่อว่าผู้หญิงมีพลังและจะเป็นอีกแรงสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต” มณีรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สนใจสนับสนุน 10 แบรนด์พลังหญิง ได้ที่แอปพลิเคชัน Shopee พิมพ์คำว่า “Womenmade” ในช่องค้นหา หรือทางช่องทางเว็บไซต์ www.shopee.co.th/WomenMade

หนึ่งทศวรรษ Sea (ประเทศไทย) กับ 3 ธุรกิจหลัก เกม-อีคอมเมิร์ซ-การเงินดิจิทัล

เปิดมุมมอง “นก มณีรัตน์” CEO แห่ง Sea (ประเทศไทย) กับการปรับเพื่ออยู่รอดในยุคดิจิทัล ที่เริ่มต้นจากคำว่า “ทำไม?”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ