TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnology'Hackulture นวัต..วัฒนธรรม' ถ่ายทอดวัฒนธรรมไทย…สู่โลกดิจิทัล

‘Hackulture นวัต..วัฒนธรรม’ ถ่ายทอดวัฒนธรรมไทย…สู่โลกดิจิทัล

สภาพสังคมที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว และการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ห่างไกลจากมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นศิลปะวัฒนธรรม วรรณกรรมต่าง ๆ อาหารการกิน รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั่งเดิม ที่นับวันยิ่งจะจางหายไป

สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และบริษัท Google (ประเทศไทย) จํากัด จึงร่วมกันจัดการแข่งขัน “Hackulture นวัต..วัฒนธรรม” : เรียงร้อยวัฒนธรรมไทย…สู่โลกดิจิทัล” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการ Digital Cultural Heritage Thailand ที่ต้องการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดก ทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล มีภารกิจเพื่ออนุรักษามรดกวัฒนธรรมไทยให้อยู่ในรูปแบบที่ยั่งยืน 

โดยเชิญชวนนิสิต นักศึกษา อายุ 16-24 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดภายใต้หัวข้อ/แนวคิด/ธีม “เห็น…แต่ไม่เคยรู้” เปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่โชว์ความสามารถด้านดิจิทัล แข่งขันถ่ายทอดมรดกวัฒนธรรมไทยในรูปแบบดิจิทัลคอนเทนต์รูปแบบใดก็ได้ เช่น YouTube, Film, App, VR, AR, 3D, Animation, Music ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัลรวม 110,000 บาท โดยปิดสมัครไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564  มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วม 66 ทีม โดยคัดเลือกเหลือ 20 ทีม เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม Bootcamp ผ่านช่องทางออนไลน์เป็นเวลา 3 วัน

ประกาศผลทีมผู้ชนะ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดงานประกาศผลรางวัล “Hackulture นวัต…วัฒนธรรม : เรียงร้อยวัฒนธรรมไทย…สู่โลกดิจิทัล” โดยได้รับเกียรติจาก ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน มามอบรางวัลชนะเลิศ และแสดงความยินดีกับนิสิตนักศึกษาทุกคนที่ได้รับรางวัล

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ในด้านของมรดกทางวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์ไว้ ทั้งในส่วนของโบราณวัตถุ ศิลปะวัตถุ โบราณสถาน อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ ตลอดจนวรรณกรรม ศิลปหัตถกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี การดำเนินชีวิต และมรดกทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่จับต้องไม่ได้ จนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าต่อประเทศ ซึ่งคนรุ่นหลังจำเป็นต้องร่วมกันธำรงค์รักษาไว้ เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้และถ่ายทอดวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป เพื่อเป็นการนำเสนอภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ และยังเป็นการสนับสนุนปัจจัยการท่องเที่ยวของประเทศ

ในขณะเดียวกัน บริบททางสังคมของโลกในยุคปัจจุบันและพลวัตทางเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ก็ส่งผลกระทบทางบวกและลบต่อการดำเนินชีวิตของพี่น้องประชาชน ตลอดจนระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

การสูญสลายของมรดกทางวัฒนธรรมของไทย ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายของประเทศที่กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์และความหลากหลาย เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของศิลปะวัฒนธรรมไทย โครงการ  Digital Cultural Heritage จึงเป็นต้นแบบของการแปลงมรดกทางวัฒนธรรมของชาติที่มีอยู่จำนวนมาก ให้มาอยู่ในรูปแบบดิจิทัล เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรม สามารถนำไปต่อยอดผลิตภัณฑ์หรือบริการอื่น ๆ ให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไป”

ผลิตสื่อดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า “นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2561 – 2580 มีแผนงานที่สำคัญประการหนึ่งในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนและภาคประชาชน ผลิตสื่อดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น การผลิตสื่อภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยประชาชนและชุมชน 

ดังนั้น สดช. จึงจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ หรือ Hackathon ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนหรือคนรุ่นใหม่หันมาสนใจวัฒนธรรมไทย และร่วมกันถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลคอนเทนต์ต่าง ๆ เช่น Animation, AR/VR, Game, Infographic, Mobile Application, VDO และ Website ถือเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตสื่อดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เป็นการช่วยธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของไทยให้สามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน”

ผลงาน 5 ทีมสุดท้ายที่ผ่านการคัดเลือก

รางวัลชนะเลิศ –  รับโล่รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง พร้อมเงินรางวัล 40,000 บาท
ทีม YOUTHTHINK มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  
ชื่อผลงาน MUSIAM

พัชริกา ชิมนาค ตัวแทนจาก YOUTHTHINK ทีมผู้สร้างแอปพลิเคชัน MUSIAM เล่าให้ฟังถึงที่มาของผลงานว่า ตนเป็นเด็กต่างจังหวัด การที่จะได้ไปพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นเรื่องไกลตัว เนื่องจากส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ เมื่อลองสำรวจแพลตฟอร์มต่าง ๆ ส่วนใหญ่ยังไม่มีเครื่องมือที่ทำให้เราเข้าถึงได้ จึงเห็น Pain Point ดังกล่าว และสร้างแอปพลิเคชัน MUSIAM A Mobile Application ขึ้นมา โดยมีจุดเด่นคือ

  • เป็นออนไลน์แพลตฟอร์ม สำหรับงานศิลปะไทยสามารถใช้งานง่าย สะดวก
  • เป็นพื้นที่ให้ศิลปินได้อวดผลงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไทย เพิ่มพื้นที่เสพงานศิลป์ มีช่องทางสำหรับซื้อขายผลงานศิลปะ
  • ผู้ใช้งานสามารถสนับสนุนศิลปิน และพิพิธภัณฑ์ที่ชื่นชอบ โดยการบริจาค Coin ให้กับเหล่าศิลปิน หรือพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆบนหน้าโปรไฟล์ที่เข้าเยี่ยมชม
  • ศิลปินสามารถขายผลงานศิลปะ ในรูปแบบ NFT บน Marketplace ที่อยู่บนแอปฯ ได้
  • สามารถใช้งานได้ฟรีบนมือถือระบบแอนดรอยด์

มีฟีเจอร์ที่น่าสนใจดังนี้

  • Virtual Tour สัมผัสพิพิธพรรณต่างๆ แบบ 360 องศา 
  • Hot & New & Nearby เช็คอัปเดตผลงานศิลปะ Event ที่อยู่ใกล้ไกลจากตัวเรา
  • Culture – เรียนรู้ศิลปะวัฒธรรมไทย
  • Artwork – แสดงผลงานศิลปะหลากหลายหมวดหมู่
  • Artist – ศิลปินสามารถอัปโหลดและขายผลงาน รวมถึงรับการบริจาค Coin ได้

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1  รับโล่รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท และประกาศนียบัตร
ทีม RAMAYANA จากมหาวิทยาลัยธนบุรี 
ชื่อผลงาน รามเกียรติ์

สุรพิชญา แย้มเนย​ ตัวแทนจาก ทีม RAMAYANA กล่าวว่า รามเกียรติ์ นอกจากจะเป็นวรรณคดีที่สำคัญของไทยแล้วยังเป็นมรดกร่วมทางศิลปะวัฒนธรรมที่ต่างชาติรู้จักเป็นอย่างมาก จึงสร้างสรรค์ผลงานออกมาในรูปแบบเกมแอนิเมชัน “ผจญภัยในดินแดนรามเกียรติ์” สร้างขึ้นโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา ต้องการสร้างการตระหนักรู้ ให้เห็นคุณค่าของวรรณคดีไทย แต่เนื่องจากการเรียนวรรณคดีในห้องเรียนค่อนข้างน่าเบื่อ เนื่องจากเนื้อเรื่องที่ยาวและคำประพันธ์ต่าง ๆ นั้นยากกว่าที่เด็ก ๆ จะเข้าใจ ทำให้ไม่อยากเรียน

สมาชิกในทีมจึงนำความชอบมาสร้างเป็นเกมที่ให้ความรู้ เพื่อย่อโลกของรามายนะ ให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างเรียบง่าย และไม่น่าเบื่ออีกต่อไป ทำให้ผู้เล่นได้จำลองประสบการณ์จากสถานการณ์ภายในเกม ได้เล่นเกมเพื่อความเพลิดเพลินและยังได้ความรู้

“เราใช้โปรแกรม Unity สร้างขึ้นมาเป็นเกม 2D มีรูปแบบง่าย ๆ คล้ายเกม Super Mario ตัวเกมสามารถดาวน์โหลดและเล่นได้ผ่านมือถือ ตัวไฟล์มีขนาดเล็ก และเป็นเกมออฟไลน์ เล่นได้อย่างสะดวก โดยเลือกตอน “ทศกัณฑ์ลักพาตัวนางสีดา” ทดลองสร้างขึ้นมา 5 ด่าน”

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 รับโล่รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง พร้อมเงินรางวัล 20,000 บาท และประกาศนียบัตร
ทีมง่วงนอน Studio จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ 
ผลงาน Muang Kung Pottery Forward to the new generation (เครื่องปั้นดินเผาของบ้านเหมืองกุง จังหวัดเชียงใหม่)

ใช้ Story Telling บอกเล่าความจริงอย่างสร้างสรรค์ผ่านเทคนิคของสื่อดิจิทัล

โดยมีจุดประสงค์ เพื่อต้องการถ่ายทอดเรื่องราว วัฒนธรรมชุมชนเหมืองกุง เพื่อสร้างความภาคภูมิใจ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ และสืบสานต่อยอดผ่านดิจิทัล คอนเทนต์

รางวัลชมเชยจำนวน 2 รางวัล รับโล่รางวัลชมเชย พร้อมเงินรางวัล ทีมละ 10,000 บาท และประกาศนียบัตร 

ทีม Knock Out จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม บริหารธุรกิจ สะพานใหม่ SBAC 
ผลงาน รำมวยไทย 

ภัทรดนัย กันพุมมา ตัวแทนจากทีม Knock Out เล่าว่า หากพูดถึงมวยไทย ทุกคนอาจคิดแค่ว่าเป็นการขึ้นชกบนเวที แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้ไปกว่าการชกมวยนั่นก็คือการรำมวยไทย และท่ารำที่ใช้รำ จึงเลือกนำเสนอผลงานเกี่ยวกับ “รำมวยไทย” ในรูปแบบแอนิเมชัน อินโฟ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวให้ผู้คนที่ไม่ชอบนั่งอ่านข้อความ ให้ได้รู้จัก และเข้ามาดูผลงานได้ดียิ่งขึ้น ผ่านดิจิทัลคอนเทนต์ โดยหวังเผยแพร่ออกไปสู่โลกโซเชียล ซึ่งมีอิทธพิลต่อคนในสังคม โดยสามารถติดตามผลงานได้จาก Facebook: Knock Out

ทีม Tomzaaap จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา 
ผลงาน ไม่มีฉันแล้วเธอจะไม่อร่อย(เครื่องแกงไทย)

พัฒนาแอปพลิเคชัน “Keaw Waan Cafe” ในรูปแบบ Virtual Reality (VR) เสมือนจริง

ตัวแทนจากทีมต้มแซ่บ กล่าวว่า “แกงเขียวหวาน เป็นอาหารที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติ ปี 2554 เว็บ NCC Travel.com จัดอันดับแกงเขียวหวานเป็นอันดับที่ 19 จาก 50 ของอาหารที่นิยมทั่วโลก ในฐานะที่พวกเราเป็นเด็กยุคใหม่ การหาข้อมูลต่าง ๆ สามารถหาได้ทางออนไลน์ แต่จะทำอย่างไรให้ข้อมูลเหล่านั้นน่าสนใจ จึงได้จำลองเทคโนโลยีเหล่านั้นขึ้นมาในรูปแบบ Virtual Reality (VR) ผ่านโปรแกรม Unity ที่จะทำให้เราได้มีส่วนร่วมอยู่ในแกงเขียวหวานนั้นจริง”

ภายในแอปพลิเคชันจะแบ่งเป็น 2 ห้อง ห้องแรกจะมีข้อมูลสูตรแกงโบราณ ห้องที่ 2 จะมีสูตรพริกแกงเขียวหวานของแต่ละภาคของไทย เมื่อเลื่อนไปใกล้ ๆ จะพบกับสูตรแกงเขียวหวาน ส่วนผสม และวัตถุดิบที่ใช้ เป็นการถ่ายทอดข้อมูลอาหารไทย ผ่านคอนเทนต์ดิจิทัล

โครงการ Digital Cultural Heritage

โครงการ Digital Cultural Heritage จัดตั้งเพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดมรดก ทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล โดยมีภารกิจเพื่ออนุรักษามรดกวัฒนธรรมไทยให้อยู่ในรูปแบบที่ยั่งยืน โดยสํานักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และมีงานแถลงข่าวเปิดตัวครั้งแรก เมื่อเดือตุลาคมปี 2564 

ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า “สดช. ในฐานะหน่วยงาน ที่มีพันธกิจในการกําหนดทิศทางและวางยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เห็นว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบเนื้อหาดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการธํารงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของไทยให้สามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน และสามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น 

จึงได้ดําเนินโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน พัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม”

โครงการ Digital Cultural Heritage แบ่งการดําเนินงานออกเป็น 2 ส่วนงานหลัก ประกอบด้วย 

  1. การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ (Policy Lab) เพื่อเป็นข้อริเริ่มทางนโยบายในการกระตุ้นให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ความสําคัญกับการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแผนงานสําคัญตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561– 2580) ภายใต้ยุทธศาสตร์สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึงเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 
  2. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ (Hackathon) การส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล เพื่อเชิญชวนเยาวชนคนรุ่นใหม่ร่วมกัน สร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content และเผยแพร่ผ่าน Digital Platform อันเป็นการธํารงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างจิตสํานึกให้คนรุ่นใหม่หวงแหนในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ

Google ประเทศไทย สนับสนุนด้านเทคโนโลยีสําหรับการจัดกิจกรรม

การดําเนินโครงการนี้ เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันระหว่างหลายภาคส่วน ทั้งในภาครัฐ เอกชนและ สถาบันการศึกษา ที่มีส่วนร่วมสนับสนุนดําเนินโครงการ 

โดยเฉพาะในส่วนของ บริษัท Google (ประเทศไทย) จํากัด ผู้สนับสนุนเทคโนโลยีสําหรับการจัดกิจกรรม รวมทั้งสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญเพื่อร่วมถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ในกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดโครงการ

จิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์และความสัมพันธ์ภาครัฐ บริษัท Google (ประเทศไทย) จํากัด กล่าวว่า “ ปัจจุบันในทุกภาคส่วนของสังคมได้มีการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น การทํางานด้านศิลปวัฒนธรรมก็สามารถใช้ประโยชน์จากดิจิทัลได้เช่นเดียวกัน บริษัท Google (ประเทศไทย) ยินดีสนับสนุนโครงการ Digital Cultural Heritage อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงและเข้าใจศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของไทยและต่อยอดในการสร้างโอกาสและประโยชน์เพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ดีงามต่อไป”

บริษัท Google (ประเทศไทย) ได้เริ่มสนับสนุนการ นําเนื้อหาศิลปวัฒนธรรมของไทยเข้าสู่ระบบดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์ม ของ Google Art and Culture ตั้งแต่ปี 2561 เช่น ในโครงการ Great and Good Friends ด้วยความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจําประเทศไทย และนิทรรศการ “วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งการเวลา” ในการทํางานกับกรมศิลปากร และหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร

ในส่วนการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ (Policy Lab) สัญญา เศรษฐกิจพิทยากุล ที่ปรึกษาด้านนโยบายสาธารณะ โครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ สู่รูปแบบดิจิทัล กล่าวว่า “ขณะนี้ได้คัดเลือกพื้นที่นําร่องแล้ว ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก หรือเมืองสองแคว เนื่องจากเป็นหนึ่งในพื้นที่ สําคัญของประเทศ ซึ่งมีมรดกทางวัฒนธรรรม (Cultural Heritage) ที่มีเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งวัฒนธรรมในอดีตและ วัฒนธรรมร่วมสมัย”

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ดีแทคเปิดตัว 3 โครงการ ต่อยอดศักยภาพผู้พิการ

อินโฟเฟด ชี้โควิดดันตลาดอีสปอร์ตโต เปิดโรดแมปเดินหน้าสู่ Metaverse

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ