TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyDentiiScan นวัตกรรม Dental CT สัญชาติไทย (ตอนที่ 1)

DentiiScan นวัตกรรม Dental CT สัญชาติไทย (ตอนที่ 1)

การรักษาฟันเป็นสิ่งที่มนุษย์เลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างต้องเข้ารับการดูแลสุขภาพปาก และในงานทันตกรรมที่มีค่าใช้จ่ายสูงจนคนที่มีฐานะยากจนเข้าไม่ถึงนั้น คือ การฝังรากฟันเทียม ซึ่งทาง A-MED, เนคเทค, เอ็มเทค สวทช. ได้เล็งเห็นถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยรักษาการฝังรากฟันเทียม จึงได้ทำงานวิจัย และผลิตเครื่องมือที่มีชื่อว่า DentiiScan เข้ามาช่วยให้การฝังรากฟันเทียมทำได้ง่ายขึ้น ลดการนำเข้าเครื่องมือราคาแพงจากต่างประเทศ และช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียม

การดูแลสุขภาพในช่องปากและการเข้ารับบริการทางทันตกรรมเป็นปัจจัยส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่สำคัญในทุกช่วงชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต การเข้ารับบริการทางทันตกรรมนั้น มีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสวัสดิการที่ผู้ใช้บริการได้รับและค่าบริการทางทันตกรรมที่กำหนดโดย หน่วยงานที่ให้บริการ

การผ่าตัดฝังรากฟันเทียม  คือ การรักษาเพื่อทดแทนฟันธรรมชาติที่เสียไปด้วยรากฟันเทียมที่ทำจากวัสดุไทเทเนียม เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการรักษา  รากฟันเทียมที่ใส่ไปจะสามารถทดแทนฟันที่ขาดหายไปได้ใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ การฝังรากฟันเทียมสามารถทดแทนการใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้หรือสะพานฟันซึ่งอาจหลวมหรือไม่พอดี การผ่าตัดฝังรากฟันเทียมเป็นหนึ่งในการบริการทางทันตกรรมที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่ทำให้ผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวได้

จากปัญหาด้านการเข้าถึงบริการทางทันตกรรม-การผ่าตัดฝังรากเทียมที่มีราคาสูงนี้ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (เอเม็ด-A-MED) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-NECTEC) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค-MTEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.-NSTDA) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีการบริการทางทันตกรรม-การผ่าตัดฝังรากเทียม จึงได้ร่วมมือศึกษาวิจัยและพัฒนาเครื่องมือ DentiiScan ที่สามารถส่งเสริมงานบริการทางทันตกรรม-การผ่าตัดฝังรากเทียม และลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าเครื่องมือราคาแพงจากต่างประเทศ นำไปสู่การส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางทันตกรรม-การผ่าตัดฝังรากเทียมแก่ประชาชนชาวไทย

ศาสตราจารย์ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการงานวิจัยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย ภายใต้ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) และที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า หลังกลับจากต่างประเทศเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ได้เคยศึกษาเรื่อง Digital Signal Processing หรือการประมวลสัญญาณดิจิทัลมาเป็นอย่างดี ช่วงที่ทำวิทยานิพนธ์ก็รู้ว่ามันจะต้องมาอยู่ในกล้องหรืออุปกรณ์เล็ก ๆ แน่ เพราะวิชาอิเล็กทรอนิกส์กับคอมพิวเตอร์มีความมหัศจรรย์ สามารถแปลงสิ่งเหล่านี้ให้เป็นสัญญาณนำเข้าสู่คอมพิวเตอร์ จากนั้นคอมพิวเตอร์ก็ประมวลผลได้ทุกอย่าง

ตอนอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้ทำวิจัยกับลูกศิษย์ และพิมพ์ Paper ไปมากมาย จนได้เป็นศาสตราจารย์ ขณะเดียวกันก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้มีเทคโนโลยีเป็นของประเทศไทยบ้าง และพบว่าถ้าทำ CT Scanner จะสามารถใช้คณิตศาสตร์ที่ส่วนตัวมีความเข้าใจและนักวิจัยก็เข้าใจ

จึงได้ทดลองเขียนอัลกอริทึม (Algorithm) และลองถ่ายตั้งแต่ไม้ไผ่แยกจากอากาศได้ จนลูกศิษย์จบไป 5 รุ่น ก็สามารถถ่ายหนูและสามารถเห็นหัวใจหนูเต้นได้เลย จนได้รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น

“จากนั้นเราเริ่มรู้ว่าทำต่อไม่ได้ ส่วนหนึ่ง คือ ไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะวิจัยต่อ อีกส่วนหนึ่งคืออุปกรณ์ที่มีสามารถถ่ายได้แค่อย่างมากคือหนู ไม่สามารถถ่ายคนได้” ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช กล่าว หลังจากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช  ได้รับทาบทามให้มาเป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารคนแรกของเนคเทคจนกระทั่งเป็นผู้อำนวยการ สวทช. สุดท้ายเป็นปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนเกษียณอายุราชการ ซึ่งหลังจากเกษียณก็พบว่ามีเครื่อง CT Scanner แบบลำรังสีทรงกรวยที่สามารถจะใช้ถ่ายศีรษะและใช้ประโยชน์ในการฝังรากฟันเทียมได้ ซึ่งเครื่องนี้มีวางขายและมีชิ้นส่วนขายทั่วไป จึงไปชวนนักวิจัยโดยเฉพาะ ดร.เสาวภาคย์ ธงวิจิตรมณี ให้จำลองและเขียนอัลกอริทึมใหม่ ซึ่ง ดร.เสาวภาคย์ ทำออกมาได้ จึงทำให้มั่นใจว่าจะสามารถทำ CT Scanner ใช้กับศีรษะได้ 

ในที่สุด ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัชและทีมนักวิจัยจากเนคเทคและเอ็มเทค ก็สามารถพัฒนาเครื่อง CT Scanner ออกมาได้สำเร็จในชื่อ DentiiScan สามารถถ่ายรูปตามเรขาคณิต พัฒนาจนกระทั่งเสถียร และหลังจากนั้นก็ไปทดลองกับหุ่นจำลองที่มีความหนาแน่นเทียบเท่ากับเนื้อเยื่อหรือกระดูก และทดสอบความละเอียดของภาพ (Resolution)

“เราก็สามารถทดลองได้ตรงทุกอย่าง ทั้งคุณภาพและทางวิศวกรรม เราทำได้หมด” ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช กล่าว

เครื่อง DentiiScan ที่พัฒนาออกมาผ่านมาตรฐานมากมาย เช่น การแผ่รังสีของเอกซเรย์ตามหลักเกณฑ์ของสำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยศาสตร์การแพทย์ ความปลอดภัยทางกลศาสตร์ ความปลอดภัยทางไฟฟ้า รองรับโดยหน่วยงานอย่าง ศูนยทดสอบพลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) ได้รับ ISO 13485 จาก ทูฟ ซูด ที่เข้ามาตรวจสอบ

หลังจากผ่านมาตรฐานแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ได้นำเครื่องไปลองประสิทธิภาพกับอาสาสมัครจนกระทั่งสำเร็จ ก่อนจะนำไปใช้กับคนไข้จริง โดยรายแรกที่นำเครื่องไปใช้ คือ คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ก่อนจะเดินหน้าผลิตเพิ่มอีกเกือบ 10 ตัว จากนั้น ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปี พ.ศ. 2561) ได้เห็นผลงานและนำงบประมาณรัฐเข้ามาสนับสนุนในการผลิตเพิ่ม 50 เครื่องโดยให้บริษัทเอกชนที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก สวทช. เป็นผู้ผลิต

“ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เครื่องที่ผลิตออกมาโดยเอกชนทำงานได้ดีมาก” ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช กล่าว

ขณะที่พัฒนาเครื่อง DentiiScan  ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ก็มีโครงการขนานกัน คือ การฝึกทันตแพทย์และบุคลากรทางทันตกรรมในการฝังรากฟันเทียมที่ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลทางทันตกรรม มีเป้าอยู่ที่ 500 คน ฝึกให้ใช้การฝังรากฟันเทียมแบบครบวงจร

“ซึ่งเครื่อง DentiiScan ที่เราทำเป็นแพลตฟอร์มที่ดีมาก ปัจจุบันผลิตออกมาแล้ว 50-60 เครื่อง มีการใช้งานรวมกันเกิน 17,000 ครั้ง และทำรากฟันเกือบ 3,000 ราก หมอฟันก็มีจำนวนมากขึ้นมาก เอกชนก็ขายรากฟันเทียมได้” ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช กล่าว

ทำได้มากกว่างานทันตกรรม

DentiiScan เป็นเครื่องที่ผลิตในประเทศไทยเองได้ และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับเอกชนไปแล้ว ซึ่งนอกจากฝังรากฟันเทียมแล้วยังใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ด้วย เช่น ศัลยกรรมช่องปาก ขากรรไกร และใบหน้าได้

ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช กล่าวว่า มีคุณหมอนำ DentiiScan ไปใช้กับโรคมะเร็งกรามช้าง หรือขากรรไกร คุณหมอโรงพยาบาลแพร่ นำไปรักษาคนที่ล้มรถจักรยานยนต์และขากรรไกรหัก ถ้าใช้เครื่องเอกซเรย์ปกติจะถ่ายไม่เห็นตำแหน่ง แต่ DentiiScan สามารถถ่ายออกมาได้เห็นเป็น 3 มิติ ทำให้สามารถรักษาได้เลย ซึ่งดีทั้งคนไข้และคุณหมอ

นอกจากนี้ยังนำไปช่วยแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ สามารถช่วยเด็กที่เกิดมาและโชคไม่ดี เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ หรือใบหน้าบิดเบี้ยว ก็สามารถนำ DentiiScan ไปถ่ายและวางแผนว่าจะแก้ไขอย่างไร

เปิดแนวคิดนักวิจัยก่อนจะมาเป็น DentiiScan

เครื่อง DentiiScan คือ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติแบบลำรังสีทรงกรวยสำหรับงานทันตกรรมและศัลยกรรมบริเวณช่องปาก ขากรรไกรและใบหน้า ซึ่งเครื่องนี้ถูกพัฒนามาตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การออกแบบตัวเครื่อง เครื่องกล ระบบไฟฟ้า จนมาถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์ มีหลายส่วนด้วยกัน ได้แก่ ซอฟต์แวร์บริหารจัดการเครื่องที่เชื่อมต่อกับฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ส่วนต่าง ๆ ซอฟต์แวร์สั่งถ่ายภาพรังสี ซอฟต์แวร์สร้างภาพตัดขวาง 3 มิติ ซอฟต์แวร์แสดงผลภาพ 3 มิติ ซอฟต์แวร์ปรับเทียบเครื่องให้ได้ระนาบ รวมถึงซอฟต์แวร์นำออกข้อมูลที่เป็นไฟล์ไดคอม (DICOM)

ดร.เสาวภาคย์ ธงวิจิตรมณี นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยระบบสร้างภาพทางการแพทย์ (MIS) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) กล่าวว่า เครื่อง DentiiScan มีการพัฒนามา 2 รุ่นด้วยกัน คือรุ่น 1.1 และ 2.0 และมีการติดตั้งใช้งานประมาณ 60 แห่ง ใช้ไปมากกว่า 17,000 ครั้ง เป็นเครื่องที่มีความซับซ้อนพอสมควร นับเป็นเครื่องมือแพทย์ขั้นสูง

เครื่อง DentiiScan จะใช้รังสีเอกซ์และฉากรับรังสีชนิดแบนราบ หรือที่เรียกว่า Flat Panel Detector อุปกรณ์ทั้งสองจะหมุนพร้อมกันรอบศีรษะผู้ป่วย 1 รอบเพื่อเก็บข้อมูลดิบที่เป็นภาพถ่ายรังสี 2 มิติในแต่ละมุม จากนั้นก็สร้างเป็นภาพตัดขวาง 3 มิติของอวัยวะภายในช่องปากผู้ป่วย

ภาพตัดขวางที่ได้จะเป็นมุมมองจากบนลงล่าง และเนื่องจากข้อมูลเป็นข้อมูล 3 มิติ ก็จะสามารถตัดในระนาบต่าง ๆ ได้ เช่น จากหน้าไปหลัง จากซ้ายไปขวา และสามารถตัดในมุมมองตามแนวโค้งของฟัน เป็นภาพพาโนรามิก นอกจากนี้ยังสามารถขึ้นเป็นภาพ 3 มิติของกระดูกขากรรไกรและใบหน้าผู้ป่วยได้ สามารถนำไปใช้ในการวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษา เช่น งานทันตกรรมรากฟันเทียม การผ่าตัดฟันคุด ฟันฝัง และการดูเนื้องอก ถุงน้ำ มะเร็ง หรือจะเป็นการดูความผิดปกติของขากรรไกร รวมถึงการดูความผิดปกติของไซนัสได้

“การพัฒนา DentiiScan มีความท้าทายตั้งแต่การออกแบบเครื่องกลและระบบควบคุมที่มีความเสถียรและแม่นยำขณะถ่ายภาพรังสี การพัฒนาซอฟต์แวร์ส่วนต่าง ๆ ที่ต้องใช้งานง่าย ประมวลผลเร็ว ภาพมีความถูกต้องและชัดเจน โดยผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีที่น้อย  ตลอดจนการผ่านมาตรฐานความปลอดภัยและมาตรฐานการผลิตเครื่องมือแพทย์ การพัฒนาอย่างต่อเนื่องก็เป็นสิ่งสำคัญ ความสำเร็จของการพัฒนาเครื่อง DentiiScan ต้องใช้ความร่วมมือหลายฝ่ายทั้งภายในและภายนอก สวทช. ไม่เพียงแต่ทีมผู้พัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายความร่วมมือกับทันตแพทย์ในหลายโรงพยาบาลที่ช่วยสนับสนุนผลงานวิจัยของไทย” ดร.เสาวภาคย์ กล่าว

ด้าน อัฐศักดิ์ เกียงเอีย วิศวกรอาวุโส ทีมวิจัยระบบสร้างภาพทางการแพทย์ (MIS) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) กล่าวว่า DentiiScan 2.0 เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากรุ่น 1.1 ด้วยการเก็บข้อเสนอแนะของทางโรงพยาบาลที่ใช้เครื่องมาปรับปรุง โดยรุ่น 2.0 จะมีการลดขนาดให้เล็กลงครึ่งหนึ่งเพื่อลดพื้นที่ในการติดตั้ง แต่ประสิทธิภาพดีกว่าเดิม และขนย้ายสะดวก

ในส่วนของระบบกลไก มีการปรับปรุงให้เครื่องมีการหมุนที่นิ่งขึ้นเพื่อให้ได้ภาพที่ดีขึ้น รวมถึงลดปริมาณรังสีของผู้ป่วยที่ได้รับจากเดิม ซึ่งเครื่อง DentiiScan ได้มาตรฐานระบบการจัดการเครื่องมือแพทย์ ISO 13485 มาตรฐานความปลอดภัยทางไฟฟ้าสำหรับเครื่องมือแพทย์ และยังได้ตรวจมาตรฐานความปลอดภัยทางรังสีโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

“การจะได้มาตรฐานต่าง ๆ มานี้ค่อนข้างยากเพราะเป็นข้อกำหนดที่เพิ่มขึ้นจากการออกแบบตัวเครื่อง ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ป้องกันไม่ให้ตัวเครื่องมีปัญหาหรือเกิดจากสิ่งที่เราไม่คาดคิดในการออกแบบ จึงต้องศึกษาใหม่และพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อให้ทำได้ตามมาตรฐานของเครื่องมือแพทย์” อัฐศักดิ์ กล่าว

ดร.เสาวภาคย์ กล่าวต่อไปว่า ถึงแม้ว่าปัจจุบันเครื่อง DentiiScan  มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและบำรุงรักษาให้บริษัทเอกชนแล้ว แต่ทีมวิจัยยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น ปรับปรุงซอฟต์แวร์สร้างภาพตัดขวาง 3 มิติ ที่ปกติใช้เวลาในการประมวลผล 2 นาทีครึ่ง ซึ่งถือว่าทัดเทียมกับต่างประเทศ ให้ประมวลผลเหลือเพียง 18 วินาที เพราะฉะนั้นเวลาผู้ป่วยถ่ายเสร็จ ทันตแพทย์จะสามารถดูภาพได้ทันที ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นที่สำคัญมากและทำได้ดีกว่าเครื่องจากต่างประเทศ

อีกส่วน คือ ซอฟต์แวร์แสดงภาพ 3 มิติ สามารถพัฒนาให้ผ่านระบบคลาวด์ (Cloud) ได้ ทันตแพทย์สามารถดูภาพสามมิติได้ทุกที่ทุกเวลาโดยที่ไม่ต้องเขียนไฟล์ใส่แผ่นซีดี นอกจากนี้ยังสามารถปรึกษาเคสต่าง ๆ กับทันตแพทย์ต่างโรงพยาบาลได้

ซอฟต์แวร์กับ DentiiScan และการพัฒนาสู่เครื่องมือแพทย์ยุคดิจิทัล

DentiiScan คงจะเป็นได้แค่เครื่องสแกนที่ไม่สมบูรณ์แบบหากขาดซอฟต์แวร์เข้ามาช่วย ซึ่งทีมวิจัยได้คิดและพัฒนาระบบซอฟต์แวร์เพื่อรองรับการใช้งานจริงของทันตแพทย์, เจ้าหน้าที่รังสี และผู้ช่วยทันตแพทย์ รวมถึงเกิดประโยชน์กับผู้ป่วย เช่น การรับรายการถ่ายจากระบบ Worklist ของโรงพยาบาลหรือการลงทะเบียนผู้ป่วยที่หน้าเครื่อง การสั่งถ่ายภาพรังสีหรือสแกน กระบวนการสร้างภาพตัดขวางที่มีความถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว ซอฟต์แวร์การแสดงภาพ (DentiPlan) และการนำออกข้อมูลภาพในรูปแบบต่าง ๆ เช่นการนำออกข้อมูลภาพพร้อมซอฟต์แวร์ด้วยแผ่นซีดี การนำออกข้อมูลเข้าสู่ระบบ PACS และการนำออกข้อมูลเข้าสู่ระบบคลาวด์ รวมถึงการแสดงภาพผ่านคลาวด์ RadiiView  

ดร.วลิตะ นาคบัวแก้ว นักวิจัย ทีมวิจัยระบบสร้างภาพทางการแพทย์ (MIS) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) หนึ่งในทีมวิจัย RadiiView และ DentiPlan กล่าวว่า RadiiView เป็นคลาวด์แอปพลิเคชัน (Cloud Application) ที่ใช้สำหรับการแสดงภาพ 3 มิติ ที่ได้จากเครื่อง DentiiScan จุดประสงค์ คือ ให้ทันตแพทย์เข้าถึงภาพได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านระบบที่มีความปลอดภัย มีระบบการยืนยันตัวบุคคล และสามารถใช้ในอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ โดยที่ไม่ต้องติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ตัวเครื่อง เป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทันตแพทย์ รวมถึงยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการปรึกษาทางไกลระหว่างทันตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญได้อีกด้วย

เมื่อผู้ป่วยเดินทางมาถึงที่ตัวเครื่องจะมีการลงทะเบียนผู้ป่วยที่ผูกกับแพทย์ผู้ให้การรักษาเพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ความเป็นเจ้าของผู้ป่วย เมื่อทำการสแกนผู้ป่วยเสร็จแล้วข้อมูลจะถูกส่งขึ้นไปในระบบคลาวด์ แยกแต่ละโรงพยาบาล จากนั้นจะมีอีเมลส่งไปที่แพทย์เพื่อแจ้งว่าสามารถเข้าดูข้อมูลได้ผ่านทางเว็บไซต์ โดยแพทย์ต้องยืนยันตัวตนเพื่อเข้าใช้งานก่อนจึงก็จะสามารถดูภาพ หรือดาวน์โหลดภาพมาที่เครื่องเพื่อจะวินิจฉัยต่อก็ได้

“คุณหมอสามารถดูประวัติข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกนำขึ้นสู่ระบบคลาวด์ สามารถดูภาพสามมิติในมุมตัดระนาบจากบนลงล่าง จากหน้าไปหลัง จากซ้ายไปขวา หรือที่เป็นมุมเฉียงต่าง ๆ ก็สามารถทำได้แบบเรียลไทม์” ดร.วลิตะ กล่าว

ดร.วลิตะ กล่าวต่อว่า ส่วน DentiPlan เป็น Desktop Application Software ที่ช่วยวางแผนการผ่าตัดรากฟันเทียม โดยนำเข้าข้อมูลภาพ DICOM ที่ได้จากเครื่อง DentiiScan เมื่อสแกนเสร็จจะได้ภาพตัดจากบนลงล่าง ของข้อมูลบริเวณช่องปาก จากนั้นซอฟต์แวรจะตัดภาพในมุมมองหน้าไปหลัง (Coronal) และซ้ายไปขวา (Sagittal) โดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังรองรับการสร้างภาพในระนาบตัดอื่น ๆ อีก เช่น ระนาบตัดมุมเอียงใด ๆ (Oblique) ระนาบตัดตามแนวโค้งขากรรไกร (Panoramic) ระนาบตัดตั้งฉากกับแนวส่วนโค้งขากรรไกร (Cross-Sectional) รวมถึงการแสดงภาพแบบจำลอง 3 มิติ เพื่อให้ทันตแพทย์วิเคราะห์ได้ว่าจะทำการฝังรากเทียมในตำแหน่งใด ซึ่งจะสอดคล้องกับตำแหน่ง 3 มิติ ที่มีความแม่นยำในการระบุพิกัดดีกว่าแบบ 2 มิติ อีกทั้งยังสามารถนำไฟล์สามมิติจากเครื่อง Intraoral scanner หรือไฟล์ที่ได้จากสแกนพิมพ์ปาก มาซ้อนทับกับภาพ CT เพื่อใช้ประกอบการวางแผนการฝังรากฟันเทียมให้มีความแม่นยำมากขึ้น ซึ่งหลังจากวางแผนเสร็จแล้วก็จะสามารถพิมพ์เป็นรายงานออกมา และสามารถนำแผนไปส่งต่อ ห้องปฏิบัติการทางทันตกรรม เพื่อที่จะทำตัวนำร่องการเจาะขณะผ่าตัด (Surgical Drill Guide) หรือขึ้นรูปชิ้นงาน 3 มิติเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ต่อไปได้

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ