TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyBodiiRay เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัล นวัตกรรมไทยทำ เพื่ออุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ที่ยั่งยืน

BodiiRay เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัล นวัตกรรมไทยทำ เพื่ออุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ที่ยั่งยืน

แม้จะไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ของเครื่องมือทางการแพทย์ แต่เครื่องเอกซเรย์ ที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคย รวมถึงได้มีโอกาสใช้งานเมื่อต้องตรวจร่างกายเพื่อป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ เป็นสิ่งจำเป็นที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในโรงพยาบาลเกือบทุกแห่งทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ขณะที่เครื่องเอกซเรย์เหล่านี้มีการพัฒนามาเรื่อย ๆ จากระบบเดิมที่ใช้ฟิล์มซึ่งต้องล้างฟิล์มก่อนได้ภาพ หรือระบบที่ใช้ตลับบันทึกภาพซึ่งต้องอ่านภาพด้วยเลเซอร์ มาเป็นระบบดิจิทัลที่ได้ภาพทันทีหลังถ่ายในปัจจุบัน  โรงพยาบาลหลายแห่งของไทยก็ยังจำเป็นต้องใช้แบบเดิมต่อไป ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ แม้จะอยากเปลี่ยนไปใช้แบบดิจิทัลเพื่อให้การบริการตรวจรักษาสุขภาพของประชาชนคนไทยเป็นไปอย่างสะดวกมากแค่ไหนก็ตาม 

ข้อจำกัดดังกล่าวผลักดันให้ ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการวิจัยและพัฒนาเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย ของศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) และที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นแกนนำริเริ่มกับทีมนักวิจัย พัฒนาเครื่องเอกซเรย์สองมิติขึ้นมาใช้งานเอง และ BodiiRay (บอดีเรย์) ก็คือ ผลลัพธ์ของความทุ่มเทของทีมงาน 

ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช กล่าวว่า การวิจัยเครื่อง BodiiRay ดำเนินการมานานกว่า 2 ปีแล้ว โดยไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การคิดค้นสิ่งใหม่อย่างการสร้างเครื่องฉายรังสี แต่เป็นการต่อยอดเพิ่มมูลค่าจากสิ่งที่มีอยู่ โดยเป็นงานวิจัยที่สืบเนื่องต่อยอดมาจากการพัฒนา CT Scanner ซึ่งเป็นระบบแสดงภาพทางการแพทย์ 3 มิติที่ทางทีมวิจัยคิดค้นพัฒนาและผลิตใช้งานแล้วในโรงพยาบาลกว่า 50 แห่งทั่วประเทศไทย

“เราเริ่มสังเกตว่า CT Scanner เป็นเครื่องมือที่มีความซับซ้อน จำนวนใช้ไม่สูง แต่ถ้าเป็นเครื่องเอกซเรย์ BodiiRay แบบ 2 มิติ สำหรับถ่ายภาพทรวงอกหรืออวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย กลับจะเป็นที่ต้องการใช้งานมากกว่าและกว้างกว่า ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลในหัวเมืองใหญ่ ในต่างจังหวัด และอำเภอ อันนี้ถ้าเราทำวิจัยภายในประเทศได้ ก็จะเกิดผลดี เกิดประโยชน์ต่อประเทศ” 

แม้จะไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ใหม่ของโลก แต่ BodiiRay ก็เป็นเครื่องเอกซเรย์ขนาดกะทัดรัดตัวแรกที่ไทยพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาใช้งานเอง ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยของการผลิตเครื่องมือแพทย์ในระดับสากล ซึ่งเครื่องเอกซเรย์ดิจิทัล 2 มิตินี้มี 2 แบบด้วยกัน คือ BodiiRay S (Stationary) และ BodiiRay R (Retrofit)

ฟังดูอาจจะไม่ใช่ระบบที่ซับซ้อน แต่ศาสตราจารย์ดร.ไพรัช กล่าวว่า กว่าจะพัฒนาให้เครื่องมีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล ทัดเทียมกับเครื่องเอกซเรย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ก็ใช้เวลาปรับปรุงแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้ 3 ผ่าน คือ (1) มีคุณสมบัติใช้งานได้ ผ่าน  (2) ผ่านการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยต่าง ๆ  และ (3) ผ่านการทดสอบการใช้งานต่าง ๆ ตั้งแต่ทดสอบกับหุ่นจำลองส่วนร่างกาย (Phantom) และทดสอบทางคลินิกกับอาสาสมัคร จนถึงทดสอบการใช้งานกับคนไข้จริง จนมั่นใจ พร้อมเสียงตอบรับชมเชยยืนยันจากแพทย์และนักรังสีที่ได้ทดลองใช้งานจริง จึงนำมาเผยแพร่สู่สาธารณชน

“เวลาทำพวกนี้ เราจะรีบร้อนมากไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัย และภาพที่ออกมาต้องถูกต้อง แม่นยำ ชัดเจน ร่างกายเป็นอย่างไร ภาพที่ออกมาก็ต้องเป็นอย่างนั้น เรานำเครื่องไปใช้ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติได้ประมาณ 1 ปี โดยเริ่มติดตั้ง BodiiRay ตั้งแต่ปลายปี 2562 ใช้เอกซเรย์ผู้ป่วยไปได้เกือบ 5,000 คน และคุณหมอก็พอใจมาก จากนั้นก็ขยายการติดตั้งไปสู่โรงพยาบาลตามต่างจังหวัดที่มีการใช้งานอย่างหนักหน่วง อย่างโรงพยาบาลแม่ระมาด จังหวัดตาก และโรงพยาบาลห้วยยอด จังหวัดตรัง ซึ่งตอนที่นำมาเผยแพร่และติดตั้งก็ประจวบเหมาะกับที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาดพอดี”

ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช กล่าวว่า ความประจวบเหมาะนี้ ทำให้ BodiiRay กลายเป็นเครื่องมือที่ได้รับการตอบรับเพื่อช่วยในการตรวจคัดกรองเพื่อทำการกักตัวรักษาได้ทันท่วงที ลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต 

เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัล 2 มิติ BodiiRay S และ BodiiRay R

ดร.อุดมชัย เตชะวิภู นักวิจัย ทีมวิจัยระบบสร้างภาพทางการแพทย์ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. อธิบายว่า BodiiRay S จะเป็นเครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลที่ติดตั้งและใช้งานได้ง่าย เหมาะสำหรับถ่ายภาพปอดและการตรวจร่างกายประจำปี ขณะที่ BodiiRay R จะเป็นชุดเอกซเรย์ที่เข้าไปแทนที่ฉากรับรังสีของระบบเดิมซึ่งใช้ฟิล์มหรือตลับฟิล์ม โดยที่ตัวหัวจ่ายรังสีเอกซ์ยังคงเป็นตัวเดิม ทำให้การเอกซเรย์เร็วขึ้น ลดค่าใช้จ่าย และประหยัดเวลาเพราะภาพสามารถเห็นได้ทันทีหลังถ่ายเอกซเรย์

“มันอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญด้วยที่ทีมวิจัยเราทำเรื่องเอกซเรย์ปอดพอดี …แล้วโควิดก็มาระบาดทำให้มีความต้องการเครื่องที่จะมาถ่ายเอกซเรย์ปอดเพื่อจะใช้ในการวินิจฉัยโรค แล้วก็ใช้ในการคัดกรองผู้ติดเชื้อ เป็นเหตุให้เราสามารถนำเครื่อง BodiiRay ไปให้ใช้งานในสถานการณ์โควิดได้ทันท่วงที”

ด้าน ธนพล ศรีวงษา วิศวกรอาวุโส ผู้พัฒนาฮาร์ดแวร์ ทีมวิจัยระบบสร้างภาพทางการแพทย์ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. ชี้แจงว่า ในภาพรวมแล้ว ตัวเครื่อง BodiiRay จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ก็คือตัวที่เป็น ฮาร์ดแวร์ กับ ตัวที่เป็น ซอฟต์แวร์  โดยส่วนฮาร์ดแวร์ของ BodiiRay S จะประกอบด้วย 3 อุปกรณ์หลัก คือ (1) หลอดเอกซเรย์ (2) ฉากรับภาพรังสี และ (3) เครื่องกำเนิดไฟฟ้าความถี่สูง ขณะที่ BodiiRay R จะมีอุปกรณ์เพียงชิ้นเดียวก็คือเป็นแผ่นรับภาพรังสีดิจิทัล

“เครื่อง BodiiRay S ออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานง่าย ตัวเครื่องจึงออกแบบมาให้มีขนาดเล็ก ติดตั้งง่าย ใช้เวลาติดตั้งน้อย จึงสามารถหลีกเลี่ยงการติดเชื้อของผู้ติดตั้ง”

อย่างไรก็ตาม BodiiRay จะไม่สามารถทำงานและใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์เลย หากไม่มีทีมนักพัฒนาซอฟต์แวร์คิดค้นพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาใช้เพื่อควบคุมและประมวลผลการทำงานของเครื่อง โดย ดร. ณัฐวุฒิ สินสืบผล นักวิจัยพัฒนาซอฟต์แวร์ ทีมวิจัยระบบสร้างภาพทางการแพทย์ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. เปรียบเทียบว่า การไม่มีซอฟต์แวร์คุมระบบและประมวลผลภาพจากเครื่อง ก็เหมือนมีฟิล์มที่ดูภาพไม่ได้เพราะยังไม่ได้ล้าง 

ทั้งนี้ งานหลักของทีมนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ก็คือ การคิดหาวิธีประมวลผลภาพซึ่งเป็นสัญญาณดิจิทัลที่ได้รับจากการถ่ายเอกซเรย์ว่าทำอย่างไรจึงจะมีภาพคุณภาพดี เหมาะสมกับการใช้วินิจฉัยโรค ซึ่งกว่าจะได้ผลลัพธ์สุดท้ายที่เป็นภาพที่เนี้ยบ  ทีมนักพัฒนาต้องแก้ไขปรับปรุงหลายรอบ ขอคำปรึกษาจากรังสีแพทย์และนักรังสีการแพทย์หลายครั้ง และทดสอบใช้งานในสนามจริงเพื่อดูฟีดแบ็กอีกนับไม่ถ้วน

“โดยทั่วไปเครื่องเอกซเรย์สมัยก่อนจะใช้ฟิล์มหรือคาสเซ็ท ถ่ายก่อนค่อยนำฟิล์มหรือคาสเซ็ทไปล้างฟิล์มหรือสแกนเป็นภาพ แล้วถึงจะได้ภาพที่นำไปวินิจฉัยได้  แต่พอเป็นดิจิทัล ภาพทุกอย่างจะอยู่ในรูปดิจิทัลเลย ทำให้ต้องนำภาพดิจิทัลนั้นมาประมวลผลก่อนเทียบเท่ากับการล้างฟิล์ม เพื่อทำให้ภาพนั้นมีคุณภาพที่ดีขึ้น มีความคมชัด มีรายละเอียดที่ดีขึ้น ทำให้แพทย์อ่านภาพได้ง่ายขึ้น โดยภาพที่ดีจะทำให้เห็นรายละเอียดของรอยโรค หรือลักษณะเนื้อเยื่อได้ชัดเจน เพราะฉะนั้น หมอจะวินิจฉัยได้ดีขึ้น ผู้ป่วยก็จะได้รับการรักษาที่ถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น” 

นวัตกรรมไทยทำสกัดกั้นโควิด-19

ย้อนกลับไปช่วงปลายเดือนธันวาคมปี 2563 ทันทีที่มีข่าวการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 ที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเริ่มต้นในหมู่แรงงานข้ามชาติ และลุกลามอย่างรวดเร็ว โจทย์ใหญ่ที่ นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการ (ผอ.) โรงพยาบาลบ้านแพ้วหนึ่งโรงพยาบาลหลักของจังหวัด ก็คือ การจัดเตรียมสถานที่ อุปกรณ์เครื่องมือ บุคลากรและระบบการบริหารจัดการทั้งหมดให้พร้อมรองรับการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ และทำการรักษาให้ทันท่วงที 

หนึ่งในโซลูชันที่ทางโรงพยาบาลนำเสนอและได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในพื้นที่ก็คือการสร้างโรงพยาบาลสนามเพื่อรับผิดชอบการตรวจและดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโดยเฉพาะ แม้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างค่อนข้างปัจจุบันทันด่วน แต่ก็ไม่เกินความสามารถที่จะจัดการ กระนั้น ก็ยังมีโจทย์ปัญหาใหญ่ที่นอกเหนือจากการควบคุมและองค์ความรู้ที่มี นั่นคือ การที่ไวรัสโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่บนโลกที่ยังไม่มีวิธีการหรือแนวทางการรักษาที่ชัดเจน

“การดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มีความยากกว่า [ผู้ป่วยทั่วไป] เพราะต่อให้ติดเชื้อไปแล้วในระยะต้น ๆ ผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการใด ๆ เลย ดังนั้นจึงอาศัยการสังเกตอาการจากภายนอกไม่ได้ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือเอกซเรย์ เพื่อตรวจดูภายในปอด อย่างจริงจัง เพื่อดูอาการหนักเบาของผู้ติดเชื้อและกำหนดแนวทางในการรักษาต่อไป”

กระนั้น เครื่องเอกซเรย์ขนาดใหญ่ที่ติดตั้งในห้องเอกซเรย์ซึ่งเป็นพื้นที่ปิด ไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกนอกห้องได้  หรือแม้แต่เครื่องเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่ได้ ก็ยังต้องมีสารพัดอุปกรณ์ที่ตามมา บวกความยุ่งยากในการจัดท่าผู้ป่วยขณะถ่ายเอกซเรย์  และความล่าช้าในการถ่ายเอกซเรย์แต่ละครั้ง แล้วไหนจะความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ทำให้โรงพยาบาลบ้านแพ้วต้องหาทางออกเร่งด่วน โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นเครื่องเอกซเรย์ที่สามารถนำไปติดตั้งได้ในพื้นที่เปิด โดยที่ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปสัมผัสผู้ป่วยในพื้นที่ ลดโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อ และด้วยความโชคดีที่ประจวบเหมาะ เมื่อทีมวิจัยระบบสร้างภาพทางการแพทย์ (MIS) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ติดต่อเข้ามาเสนอความช่วยเหลือด้วยเครื่อง “BodiiRay”

โดดเด่นด้วยความคมชัดใช้งานง่ายและเหมาะกับสถานการณ์

ทันทีที่ได้เห็นเครื่อง BodiiRay S และ BodiiRay R ความประทับใจแรกสุดของ พญ.จริยา ถิระศักดิ์ หัวหน้ารังสีแพทย์ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว คือ ขนาดเครื่องที่เล็กกะทัดรัด สามารถติดตั้งได้ที่โรงพยาบาลสนาม คนไข้ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล และไม่ต้องใช้รถเอกซเรย์เคลื่อนที่ที่มีข้อจำกัดตรงที่เป็นพื้นที่ปิด และที่สำคัญ ตัวเครื่องสามารถบังคับสั่งงานจากระยะไกลได้ ลดโอกาสสัมผัสกับคนไข้ของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ขณะที่เมื่อถ่ายเอกซเรย์แล้ว ภาพก็จะมาปรากฏบนแท็บเล็ต ของรังสีแพทย์เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติ

“ภาพที่ส่งมาจากโรงพยาบาลสนามคมชัดมาก ช่วยให้หมออ่านฟิล์ม และวินิจฉัยโรคได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสงสัยโควิด หรือว่า สงสัยโรคร่วมอื่น ๆ หรือเป็นวัณโรค ซึ่งมีประโยชน์ เพราะเราจะช่วยคุณหมอที่ดูแลโรงพยาบาลสนามได้ว่าคนนี้มีความอาการผิดปกติทางปอด และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแล้ว”

สำหรับ มงคล ไชยพุฒ นักรังสีเทคนิค โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ในฐานะผู้ใช้งานเครื่อง BodiiRay S และ BodiiRay R โดยตรง กล่าวว่า เครื่องเอกซเรย์ 2 มิตินี้ ใช้งานได้ง่าย ไม่ซับซ้อนหรือยุ่งยาก โดย BodiiRay R มีฟีเจอร์หน้าต่างการใช้งานที่เห็นชัด เข้าใจได้ง่าย ส่วน BodiiRay S ก็ไม่ต่างจากเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป แต่ดีกว่าตรงที่ขนาดกะทัดรัด สามารถเอาเข้าในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดของขนาดสถานที่ได้ แถมมีรีโมทคอนโทรลที่เชื่อมระหว่างตัว Bucky Stand [ที่ตั้งฉากรับรังสี] กับ X-ray Tube [ที่ตั้งหลอดเอกซเรย์] ทำให้สามารถเคลื่อนที่ขึ้นลงได้พร้อมกัน นักรังสีเทคนิคจึงไม่ต้องไปสัมผัสกับคนไข้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่จำเป็นต้องเอกซเรย์ปอด และแม้จะเป็นเครื่องใหม่ที่ต้องเรียนรู้การใช้งานบ้าง แต่ก็ไม่ยุ่งยากอะไร ทำให้สามารถใช้งานได้ค่อนข้างคล่องในระยะเวลาอันสั้น จึงไม่ส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด

“คนไข้โควิดส่วนมาก แพทย์ต้องดูปอดเป็นสำคัญ แนวโน้มของการใช้เอกซเรย์จึงเพิ่มสูงขึ้นโดยตอนนี้แค่เพียงประมาณ 1 เดือน เราเอกซเรย์ [เฉพาะผู้ป่วยโควิด] ไปแล้วมากกว่าพันราย เนื่องจากทุกเคสที่ติดโควิด จำเป็นต้องเอกซเรย์ปอดทุกคน”

นอกจากจุดที่พบการระบาดในจังหวัดสมุทรสงครามแล้ว บริเวณพื้นที่ตามตะเข็บชายแดนก็เป็นอีกหนึ่งจุดเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน ซึ่ง โชคดีว่า นพ.สุธา ภัทรกิจรุ่งเรือง ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลแม่ระมาด จังหวัดตาก ได้มีการนำ BodiiRay R ไปใช้ตรวจเอกซเรย์คนไข้ก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19 เพียงไม่นาน ดังนั้น เมื่อสถานการณ์ส่อเค้ารุนแรงขึ้นจนโรงพยาบาลต้องเปิดวอร์ดแบ่งโซนระหว่างผู้ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ BodiiRay R จึงกลายเป็นโซลูชั่นที่ตอบโจทย์การทำงานของโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี 

“การใช้แผ่น BodiiRay R ทำให้แพทย์สามารถดูผลเอกซเรย์ผ่านเครื่องแท็บเล็ตในห้องทำงานได้ แต่ถ้ายังคงใช้เครื่องเดิม [ระบบซีอาร์] ก็น่าจะวุ่นวายกว่านี้ เพราะต้องเอาแผ่น [คาสเซ็ทที่ถ่ายเอกซเรย์แล้ว] ไปสแกน [ที่เครื่องสแกนซึ่งอยู่อีกที่หนึ่ง ก่อนจะนำคาสเซ็ทกับมาใช้กับผู้ป่วยคนต่อไปได้] ยุ่งยากเวลาเอาเข้าออก และทำความสะอาดลำบาก ต่อการแบ่งโซนติดเชื้อไม่ติดเชื้อ อันนี้ก็ช่วยให้เราทำงานเร็วขึ้นมาก แพทย์ไม่จำเป็นต้องรอ ยิงปุ๊ปภาพขึ้นปั๊บ แพทย์สามารถดูได้เลยว่าคนนี้มีปอดอักเสบ (Pneumonia) ไหม สามารถให้การรักษาได้เลย แล้วพอมี BodiiRay R การทำงานของเจ้าหน้าที่ก็ปลอดภัยมากขึ้น” 

ขณะที่ กัณฐกาญจ์ พรมขาว นักรังสีการแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลแม่ระมาด ฝากคำขอบคุณถึงทีมนักพัฒนาและนักวิจัย เพราะ BodiiRay R ช่วยลดระยะเวลาการทำงาน ขั้นตอนการใช้ง่ายไม่ซับซ้อน ทำให้งานลื่นไหลได้เร็วขึ้น ได้ภาพละเอียดคมชัดช่วยในการวินิจฉัยของแพทย์ และที่สำคัญก็คือการช่วยป้องกันเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการติดเชื้อโควิด-19

อีกหนึ่งก้าวของเทคโนโลยีทางการแพทย์ไทยเพื่อคนไทย 

ด้าน พญ.อมลชญา ขวัญเกื้อ อาจารย์แพทย์รังสีแพทย์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในฐานะโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทยที่นำเครื่อง BodiiRay มาใช้งาน กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ใช้เครื่อง BodiiRay มาแล้ว 2 รุ่น ปัจจุบันที่ใช้คือ รุ่นที่ 2 ทำให้เห็นพัฒนาการปรับปรุงของทีมนักพัฒนาจนได้ภาพที่คมชัดเทียบเท่าเครื่องเอกซเรย์ที่ผลิตและนำเข้าจากต่างประเทศบางรุ่น บางยี่ห้อ ดังนั้น จึงสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้มีการขยายการใช้งานเครื่อง BodiiRay ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

“ถ้าประเทศไทยสามารถที่จะสร้างหรือผลิตเครื่องพวกนี้ได้เอง มันก็จะเป็นประโยชน์มากทั้งในแง่ของงบประมาณ ไม่ต้องนำเข้าเครื่องจากต่างประเทศ แล้วถ้าเกิดทำให้ราคามันต่ำกว่าราคาที่ขายอยู่ตามท้องตลาดได้ มันก็จะสามารถช่วยวงการสาธารณสุขบ้านเราได้มากขึ้น”

เดินหน้าพัฒนาไม่หยุดต่อยอดประสิทธิภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์ 

ทั้งนี้ ด้วยประสิทธิภาพในการทำงานของเครื่องเอกซเรย์ดิจิทัล BodiiRay ทำให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว และโรงพยาบาลแม่ระมาด คิดวางแผนที่จะนำเครื่อง BodiiRay ไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในการให้บริการตรวจสุขภาพและคัดกรองโรค เช่น วัณโรค ในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์คุณภาพดี ทั่วถึง ในราคาที่เข้าถึงได้ ดังนั้นจึงติดต่อกับทางศูนย์วิจัยเพื่อนำไปติดตั้งเป็นการถาวรต่อไป

ในส่วนนี้ ทางศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ยอมรับว่า ด้วยความที่เป็นศูนย์วิจัยจึงไม่สามารถตอบสนองต่อคำร้องดังกล่าวได้โดยตรง แต่ก็ได้มีการช่วยประสานงานกับภาคเอกชน ให้ช่วยดำเนินงานผ่านมูลนิธิสภากาชาดไทย จนสามารถติดตั้งเครื่อง BodiiRay ไปตามโรงพยาบาลตามต่างจังหวัดได้สำเร็จลุล่วงแล้วหลายแห่ง 

แน่นอนว่า แหล่งกำเนิดรังสีและฉากรับรังสีดิจิทัล (detector) ประเทศไทยยังคงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ย้ำว่า ทางทีมวิจัยได้มีการเพิ่มมูลค่าในส่วนที่เป็นซอฟต์แวร์และชิ้นส่วนอื่น ๆ จากผู้ผลิตในประเทศ ทำให้มีข้อดีก็คือ สะดวกในการบำรุงรักษาซ่อมแซม และลดการสูญเสียเงินตราไปยังต่างประเทศ ทำให้ไทยสามารถพึ่งพาตนเองไปอีกขั้น 

แม้จะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช เผยว่า ทางทีมวิจัยกลับไม่ได้หยุดยั้งอยู่แค่นี้ ยังคงเดินหน้าพัฒนาเครื่อง BodiiRay ต่อไป โดยนอกจาก BodiiRay S และ BodiiRayR แล้ว ทางทีมกำลังทำรุ่นที่ 3 ที่เรียกว่า BodiiRay M (Mobile) ซึ่งเป็นรถเข็นเคลื่อนที่ได้ โดยทั้งแหล่งกำเนิดและตัวเอกซเรย์จะอยู่บนรถเข็น สามารถเข็นไปตามวอร์ดต่าง ๆ ได้เพื่อไปถ่ายภาพคนไข้ได้ถึงเตียง ซึ่งจะตอบโจทย์ความต้องการของโรงพยาบาลตามต่างจังหวัดได้ดี 

“เรากำลังทดสอบ  BodiiRay M อยู่คาดว่า น่าจะมีการนำมาใช้งานอย่างเป็นทางการภายใน 3-6 เดือนนี้”

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ยังกล่าวเสริมอีกว่า ทางทีมวิจัยยังพัฒนาต่อไปอีก โดยร่วมมือกับภาคเอกชนในการวิจัย BodiiRay กับปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้สามารถนำเครื่องเอกซเรย์ดิจิทัล ใช้งานได้กับระบบคลาวด์ ที่ใครอยากใช้ก็อัปโหลดเข้าไป 

“โครงการของเรา เราจะนำเอาซอฟต์แวร์ของไทยมาใส่ไว้ในตัวเครื่อง BodiiRay S, BodiiRay R และ BodiiRay M ซึ่งจะมีประโยชน์กรณีที่อยู่ห่างไกลมาก เข้าไม่ถึงสัญญาณเน็ต โดยปัญญาประดิษฐ์ตัวนี้ เราทดลองมานานหลายปีแล้ว และมีความแม่นยำสูงถึง 97-98% โดยเฉพาะสำหรับการเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อตรวจ TB [วัณโรค] คาดว่าในอีกประมาณ 1 ปีน่าจะได้นำออกมาใช้งานกัน”

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ย้ำว่า ปัญญาประดิษฐ์นี้ไม่ได้มาแทนที่มนุษย์ 100% แต่จะมาช่วยคุณหมอในการกลั่นกรอง เพื่อคัดอะไรที่ใช่และไม่ใช่ออก 

ในส่วนของทีมวิจัย ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช กล่าวว่า หลังงานวิจัยประสบผลสำเร็จด้วยดี ทางทีมวิจัยจะเปิดใบอนุญาตให้เอกชนที่สนใจเข้ามารับช่วงในการผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป เพราะเป้าหมายหลักของงานวิจัยทั้งหมดก็เพื่อ สร้างเครื่องมืออุปกรณ์เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ไทยคิดค้นพัฒนาขึ้นมาเอง 

“เราอยากสร้างธุรกิจนี้ [อุตสาหกรรมผลิตเครื่องเอกซเรย์] ให้เกิดขึ้นในไทย เมื่อธุรกิจนี้ตั้งตัวได้ ก็จะมีเครื่องมือแพทย์อื่น ๆ งอกตามออกมาได้ ถ้าเราไม่เริ่มก็จะไม่มีอะไร”

ขณะที่ ดร.อุดมชัย ยอมรับว่า ตัวงานวิจัย BodiiRay ยังมีส่วนที่ต้องปรับปรุงพัฒนา และส่วนที่สามารถขยายต่อยอดเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องของการติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเชื่อมต่อกับ IoT และระบบคลาวด์

“ถ้าเราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับเอกซเรย์ดิจิทัลได้ ในอนาคตเราก็สามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่มีความต้องการจะเปลี่ยนจากระบบเก่าให้เป็นระบบใหม่ [ดิจิทัล] ได้ ดังนั้น เราก็สามารถประหยัด ไม่ต้องอิมพอร์ตเครื่องต่าง ๆ จากต่างประเทศ เป็นนวัตกรรมไทย ใช้โดยคนไทย”  

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ