TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeA-MED สวทช. กับภารกิจสร้างความเท่าเทียมเด็ก LD

A-MED สวทช. กับภารกิจสร้างความเท่าเทียมเด็ก LD

Learning Disabilities หรือ LD คือ ความบกพร่องทางการเรียนรู้ที่มีหลายประเภททั้งด้านการอ่าน การเขียน และการคิดคำนวณ แต่ส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะพบว่า เป็นด้านการอ่านและการเขียนมากที่สุด และจากสถิติที่สำรวจโดยกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศไทยมี “เด็ก LD” มากถึง 3 แสนกว่าคน ใน 2 หมื่นกว่าโรงเรียน และคาดการณ์ว่าจะมีเด็ก LD เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทรวงศึกษาธิการจึงให้ความสำคัญกับเด็กกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก ทาง A-MED สวทช. จึงสนใจจะพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้เด็กมีศักยภาพในการอ่านออกเขียนได้ที่ดีขึ้น

ปิยนาถ น้อยพงษ์ (ครูนิ่ม) ตำแหน่งก่อนเกษียณครูคศ. 2 สังกัดศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลางกรุงเทพมหานคร เล่าให้ฟังว่า การสอนเด็ก LD ที่สมัยก่อนที่จะมีเทคโนโลยีจะต้องใช้สมุด หนังสือ ให้เด็กฝึกเขียนคำยากหนึ่งหน้ากระดาษ ทำให้เด็กเบื่อหน่าย คนทั่วไปที่ไม่เข้าใจเด็กก็จะสอนได้ยากมาก เพราะเด็กแต่ละคนก็มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ไม่เท่ากัน ฉะนั้นความยากในการสอนเด็กแต่ละคนถือว่าเป็นปัจเจกบุคคลของเด็กแต่ละคน จะต้องวิเคราะห์เด็กแต่ละคนว่าเขาควรจะพัฒนาเริ่มต้นจากตรงไหน

ในสมัยที่ “ครูนิ่ม” ทำงานที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) ทางสถาบันได้มีบันทึกข้อตกลง (MOU) กับทาง สวทช. ที่จะนำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ มาใช้กับเด็กที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็น LD และมารับการฟื้นฟูหรือได้รับการฝึกที่โรงพยาบาลเด็ก

นอกจากฝึกเด็กแล้วยังฝึกกับผู้ปกครองด้วย เพราะเด็กอยู่โรงเรียนแค่ 8 ชั่วโมง ถ้าเด็กมีโอกาสได้ฝึกมากกว่าก็จะมีประโยชน์ จึงนำโปรแกรมนี้ไปให้ผู้ปกครองใช้ที่บ้านฝึกกับเด็ก หรือนำไปช่วยเด็กในการเรียนหรือทำการบ้านที่บ้าน

“เราให้เด็กใช้โปรแกรมโดยอาจจะฝึกให้ใช้โปรแกรมตามคำที่เรากำหนดเพื่อที่เด็กจะได้เรียนรู้คำที่อาจจะยังอ่านไม่ได้ เขียนไม่ได้ และให้การบ้านกับผู้ปกครองไปว่าเด็กควรจะฝึกต่อ กี่คำหรือกี่ครั้ง เพื่อให้เด็กมีทักษะการเรียนอยู่ที่ดีขึ้น” ครูนิ่ม กล่าว

ครูนิ่ม กล่าวต่อว่า โปรแกรมที่ทาง A-MED สวทช. พัฒนาเข้ามาช่วยเด็กที่มีปัญหาเรื่องการเขียนได้มาก เพราะการเขียนพัฒนายากกว่าการอ่าน เด็กบางคนอ่านได้แต่เมื่อเขียนกลับเขียนไม่ถูก โปรแกรมนี้เป็นสื่อสิ่งอำนวยความสะดวก ถ้าเด็กมีไว้ที่บ้านก็เหมือนกับเด็กมีผู้ช่วย เพราะปกติเวลาเด็กมีปัญหาก็จะถามผู้ปกครองหรือคนใกล้ตัวก่อน แต่ถ้าเด็กมีโปรแกรมนี้ก็จะสามารถเข้าไปหาคำที่เขาอยากจะรู้หรืออยากจะเรียนได้ด้วยตัวเอง

“เด็กกลุ่มนี้สมองดีถ้าเราให้เขาจำเขาจะจำได้ แต่จะมีข้อจำกัดในการจำ ซึ่งการที่จะฝึกเขียนหรือฝึกอ่านคำ ก็อาจจะช่วยได้ไม่มากพอ โปรแกรมนี้ก็จะเข้ามาช่วยให้เด็กหาคำไปใหม่ได้เรื่อย ๆ หรือเขียนคำที่ใหม่หรือยากขึ้นได้ตามความต้องการของเขา” ครูนิ่ม กล่าว

A-MED สวทช. เดินหน้าแก้ปัญหาเด็ก LD

ดร.อรอินทราภู่ประเสริฐนักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มพัฒนาเด็ก LD กล่าวว่า การพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อพัฒนาการอ่านการเขียนเด็ก LD เริ่มตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งก่อนหน้านี้นักวิจัยยังไม่มีความรู้เรื่องเด็ก LD มาก่อนเลย แต่เมื่อได้รับโครงการนี้มาก็รู้สึกว่าเป็นโอกาสที่ดี ตอนเริ่มโครงการก็ลำบากใจแต่เมื่อทำมาได้สักระยะก็รู้สึกชอบ และมีกำลังใจที่จะทำงานวิจัยด้านนี้ต่อ เมื่อทราบว่าเด็กเขียนดีขึ้น อ่านได้ดีขึ้น มีพัฒนาการที่ดีขึ้น และจากข้อมูลที่ได้ศึกษาเด็กจะเริ่มตรวจพบได้ว่าเป็น LD หรือไม่จะเริ่มประมาณ ป. 3 หรือประมาณ 9 ขวบ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีไอคิวเหมือนกับเด็กทั่วไป ถ้าไม่มีการเขียนการอ่านเขาจะสามารถตอบโต้ได้ดีมาก

ในระยะแรกทางทีมวิจัยได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “ช่วยการเขียน” ขึ้น ซึ่งในระยะแรกจะประกอบไปด้วย 4 แอปพลิเคชัน ย่อย ทำงานบนระบบปฏิบัติการ Windows ชื่อ ค้นหาศัพท์ไทย (Thai Word Search) เลือกศัพท์ไทย (Thai Word Prediction) ตรวจคำผิดไทย (Thai Spell Checker) และพิมพ์ไทย (Thai Word Processor)

“แอปพลิเคชันจะช่วยให้เด็กเขียนได้ดีขึ้นโดยการแก้ไขคำผิดที่เด็กเขียนผิดแบบ LD ให้เป็นคำที่ถูกต้อง สำหรับเลือกศัพท์ไทยจะทำงานคล้ายกับการทำนายคำศัพท์ สามารถให้เด็กเลือกคำศัพท์ไปใช้ได้เหมาะสมขึ้น” ดร.อรอินทรา กล่าว 

A-MED สวทช. ได้ทำงานร่วมกับทั้งนักวิจัย ครู ผู้ปกครอง ผู้ที่ดูแลเด็ก LD และนักภาษาศาสตร์ โดยการพัฒนาเริ่มแรก ได้มีการให้สิทธิในเทคโนโลยีกับทาง สพฐ. นำไปใช้งานในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศผ่านค่ายอบรม ประมาณ 3,900 โรงเรียน เป็นโรงเรียนในสังกัด สพฐ. และกทม. ตั้งแต่ประถมต้นถึงประถมปลาย และได้รับคำแนะนำจากครู นักเรียน ผู้ปกครอง ว่าต้องการที่จะได้เวอร์ชันที่ทำงานบน Android ด้วยเพื่อสามารถดาวน์โหลดลงมาบนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้ จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาใหม่อีก ใช้ชื่อว่า พิมพ์ใจ “LD Keyboard” สำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้ ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยแก้ไขคำที่เด็กเขียนผิด เช่น คำว่า “ธรรมชาติ” เด็กกลุ่มนี้จะเขียนเป็น “ทำมะชาด” ในแอปพลิเคชันก็จะแก้เป็นคำที่ถูกต้องให้ หรือหาคำที่ใกล้เคียงกรณีที่เด็กพิมพ์มาไม่สมบูรณ์ 100% ซึ่งจะใช้เสียงมาช่วยโดยเด็กสามารถเลือกคำศัพท์จากเสียงที่ได้ยิน ในกรณีที่มีคำใกล้เคียงขึ้นมาหลายคำ เด็กก็จะสามารถฟังเสียงและฟังความหมายได้ว่าคำแต่ละคำมีความหมายว่าอย่างไร หากเป็นคำพ้องเสียง

หลังจากนั้นได้พัฒนาระบบ “บริการช่วยเขียนภาษาไทยตามจินตภาพ” จะช่วยให้เด็กเขียนได้มากขึ้นเขียนเป็นประโยค เขียนบรรยาย โดยนำคลังรูปภาพใส่เข้าไปในแอปพลิเคชัน เด็กก็จะสามารถเขียนบรรยายรูปภาพ เมื่อเด็กพอใจกับประโยคที่แต่งก็สามารถแปลงการเขียนของเขาให้เข้าไปอยู่ใน Microsoft Word ได้ จากนั้นครูก็สามารถเข้ามาตรวจและเข้ามาแก้ไขได้

“เราดูงานวิจัยจากต่างประเทศของนักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกัน เขาฝึกเด็ก LD โดยใช้คำถามนำ และให้เด็กตอบคำถาม เราจึงนำมาประยุกต์เป็นภาษาไทย โดยการใช้คำถามนำเข้าไปในแอปพลิเคชัน เพื่อถามเด็กว่ารูปภาพนี้คือรูปอะไร มีจำนวนเท่าไร ขนาด รูปร่างเป็นอย่างไร เป็นต้น เด็กก็จะตอบคำถาม และแอปพลิเคชันก็จะช่วยเรียงคำให้เป็นประโยค” ดร.อรอินทรา กล่าว

นอกจากแอปพลิเคชันช่วยเขียนแล้ว ทาง A-MED สวทช. ยังพัฒนาแอปพลิเคชัน “เด็กอ่านได้” เป็นแพลตฟอร์มช่วยอ่านแบบ “แจกลูกสะกดคำ” จะใช้งานคู่กับ “บัตรคำศัพท์” ที่จะมีคำศัพท์และ QR code  บรรจุรหัสลับ เมื่อนำสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตมาสแกน ที่ QR code ก็จะแสดงให้เห็นถึงการอ่านแบบแจกลูกสะกดคำที่ถูกต้องของคำศัพท์นั้นพร้อมกับการอ่านออกเสียง เด็กสามารถนำติดตัวไปฝึกฝนได้ทุกที่ ตลอดเวลา โดยไม่ต้องมีคุณครูอยู่ช่วย ซึ่งนักวิจัยเตรียมพัฒนาต่อโดยการใส่ไฮไลท์เข้าไป เพื่อให้เด็กได้ตามได้ทันว่าอ่านไปถึงไหนแล้ว

แอปพลิเคชันช่วยพัฒนาเด็กได้จริง

หลังจาก ครูนิ่ม ได้นำแอปพลิเคชันต่าง ๆ ไปให้เด็ก LD ได้ใช้แล้วนั้น ครูนิ่ม เล่าว่า กรณีที่เด็กนำไปใช้ต่อเนื่อง จะเห็นผลว่าเด็กอ่านคำและเขียนคำได้ เพราะโปรแกรม LD ส่วนมากจะเน้นในเรื่องของการเขียน ถ้าเด็กอ่านคำได้แต่เขียนคำผิดก็จะไม่ถูกต้อง แต่เมื่อเด็กเรียนรู้ผ่านโปรแกรมนี้ก็จะเขียนคำได้บ่อยขึ้น ทำให้เขียนได้มากขึ้น เรียนรู้คำเพิ่มขึ้นตามทักษะการฝึก ซึ่งการเรียนรู้ต่อเนื่องหมายความว่าจะต้องทำทุกวัน แค่ 20-30 นาทีต่อวัน เด็กก็จะมีการพัฒนาทางสมองเพิ่มมากขึ้นแน่นอน

ด้านผู้สอนจะต้องปรับตัวทางเทคโนโลยี เข้าใจอย่างถี่ถ้วน ทั้งครูและผู้ปกครอง ที่จะนำโปรแกรมไปใช้ จะต้องเข้าใจว่าโปรแกรมช่วยเหลือเด็กได้อย่างไร

“มีเคสที่ภูมิใจมากคือเขาใช้โปรแกรมเป็นเหมือนพจนานุกรมของเขา เวลาเขียนคำไหนไม่ได้เขาก็จะไปค้นหา ว่าคำที่จะเขียนมันเขียนอย่างไร ทำให้สามารถเรียนรู้เองได้เมื่อผู้ปกครองไม่อยู่” ครูนิ่ม กล่าว

จุดเด่นของงานวิจัยนี้ คือ การมีคำศัพท์ที่หลากหลาย ไม่ว่าเด็กจะเขียนผิดหรือสะกดไม่ถูก เมื่อเข้าไปหาในโปรแกรมก็จะสามารถเลือกคำที่ถูกต้องได้ ถึงแม้ว่าจะเขียนผิดไวยากรณ์ หรือผิดวรรณยุกต์ เด็กก็จะสามารถหาคำที่ถูกต้องได้ เพราะในระบบมีคําเป็นล้านคํา อีกส่วน คือ การอ่านออกเสียงให้เด็กได้ ซึ่งบางโปรแกรมสามารถช่วยให้เด็กสามารถเขียนเรียงความได้เลย

“จากการสอบถามเด็กแต่ละคน เขาใช้โปรแกรมและมีความสุข เพราะสามารถนำไปใช้เองได้ พัฒนาตัวเองได้ เด็กภูมิใจที่สามารถใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ได้” ครูนิ่ม กล่าว

ดร.อรอินทรา กล่าวเสริมว่า ในประเทศไทยยังไม่มีแอปพลิเคชัน ที่จะช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้อย่างจริงจัง ในรูปแบบภาษาไทย ทาง A-MED สวทช.  อยากให้เด็กได้ใช้แอปพลิเคชันของคนไทยซึ่งเป็นการประหยัดงบประมาณของโรงเรียน และไม่ต้องซื้อจากต่างประเทศ

“ประโยชน์ของแอปฯ คือ ทำให้เด็กได้เพิ่มศักยภาพการอ่านการเขียนได้ดียิ่งขึ้น เด็กมีความมั่นใจในการอ่านและเขียนงานส่งครู ด้านครู จะมีเวลาไปดูเด็กกลุ่มอื่นแทนที่จะใช้เวลาทั้งหมดมาดูเด็กกลุ่มเดียว นอกจากนี้ยังทำให้ครูมีเวลาที่จะไปพัฒนาศักยภาพด้านวิชาการให้ตัวเองเพิ่มขึ้นได้” ดร.อรอินทรา กล่าว

ดึงมหาวิทยาลัย – สพฐ. ขยายผลวิจัย

หลังจากที่ผลวิจัยทำงานได้ในระดับหนึ่ง ทาง A-MED สวทช. ได้วางแผนขยายผลแอปพลิเคชันทั่วประเทศ โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ และ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

รองศาสตราจารย์ ดร.ดารณี ศักดิ์ศิริผล หัวหน้าศูนย์พัฒนาศักยภาพมนุษย์บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ผู้ร่วมวิจัยและนำงานวิจัยไปใช้ กล่าวว่า การออกแบบการจัดกระบวนการจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนของการทำวิจัยที่ได้ทำร่วมกับ A-MED สวทช. กับส่วนของการนำผลงานวิจัยไปใช้

ในเรื่องของการวิจัยการออกแบบของการนำผลการวิจัยไปใช้จะมีหลากหลาย จะมีเรื่องการอ่านและการเขียน นำแอปพลิเคชัน เข้าไปพัฒนาเด็กที่มีความต้องการพิเศษในชั้นเรียน ทั้งที่เป็นชั้นเรียนเฉพาะและชั้นเรียนรวม ซึ่งเด็กที่มีความต้องการพิเศษ “เด็ก LD” จะมีความบกพร่องในเรื่องของการอ่านและการเขียน รวมถึงการคิดคำนวณ

การออกแบบงานวิจัยจะเป็นการนำสื่อนวัตกรรมที่ต้องการตรวจสอบประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในเรื่องของการช่วยพัฒนาเด็กในเรื่องของการอ่านและการเขียนหรือไม่ ซึ่งกระบวนการวิจัยก็จะมีการเลือกกลุ่มตัวอย่าง มีกระบวนการได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่างหลายขั้นตอน ทั้งการให้คุณครูที่ใกล้ชิดกับเด็กเป็นคนสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ว่ามีปัญหาเรื่องการอ่านการเขียนหรือไม่ ดูผลสัมฤทธิ์ของการเรียน จากนั้นจะเป็นการดูเรื่องของสติปัญญา และก็จะมีเครื่องมือคัดกรองที่ใช้คัดกรองเด็กที่มีปัญหาในด้านการเรียนรู้ บางส่วนที่ผู้ปกครองยินยอมให้ไปพบแพทย์ ก็จะให้ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย

อีกส่วนหนึ่ง คือ การนำผลวิจัยที่ได้ไปใช้ในห้องเรียนเพื่อให้เด็ก LD สามารถพัฒนาการเรียนการสอนของครู สามารถช่วยเหลือเด็กโดยใช้สื่อนวัตกรรมที่ได้จากงานวิจัยไปใช้ในการพัฒนา

“เราจะมีการประเมินความสามารถพื้นฐาน ว่าเด็กกลุ่มตัวอย่างของเรามีความสามารถในการอ่านสะกดคำอยู่ในระดับใด หลังจากนั้นก็จะนำแอปพลิเคชันที่ตรวจสอบคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญแล้ว นำไปให้เด็กใช้ จากนั้นเราก็จะประเมินอีกว่าเด็กมีพัฒนาการโดยมีความก้าวหน้าในเรื่องของการอ่านและสะกดคำมากขึ้นหรือไม่” รศ.ดร.ดารณี กล่าว

รศ.ดร.ดารณี กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของงานวิจัย คือ เพื่อพัฒนาสื่อให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมและพัฒนาทักษะที่เด็กบกพร่องการมีนวัตกรรมที่มีคุณภาพจะเป็นประโยชน์ ช่วยแก้ข้อบกพร่อง พัฒนาในส่วนที่เด็กต้องการให้สอดคล้องกับปัญหา ทำให้เด็กสามารถอ่านสะกดคำได้และมีความพึงพอใจอย่างมาก เด็กมีความสุขในการเรียนรู้ 

“เราสามารถนำไปใช้กับการเรียนการสอนเพื่อช่วยเด็กพัฒนาการอ่านการเขียนได้ดี ซึ่งเป็นประโยชน์ นอกจากนี้ยังช่วยให้ครูไม่ต้องคอยประกบเด็กตลอดเวลา และเด็กสามารถใช้แอปพลิเคชันเรียนรู้ด้วยตัวเองและสามารถกลับมาทบทวนเมื่อไรก็ได้ ซึ่งจะทำให้เด็กไม่ต้องรู้สึกคับข้องใจหรืออายใครเมื่อเขาไม่สามารถสะกดได้ในครั้งแรก” รศ.ดร.ดารณี กล่าว

มั่นใจงานวิจัยช่วยเด็กได้

รศ.ดร.ดารณี กล่าวว่า เด็กกลุ่มนี้โดยทั่วไปดูภายนอกจะเหมือนกันกับเด็กปกติแต่เขามีข้อขัดข้องในการเรียนรู้โดยเฉพาะในเรื่องของการอ่านการเขียนและหรือการคิดคำนวณ ทั้งที่พยายามอย่างมาก ซึ่งลักษณะของเด็กจะแตกต่างกันไป บางคนอาจจะจำตัวอักษรไม่ได้ บางคนแยกตัวอักษรที่คล้าย ๆ กันไม่ได้ เช่น “บ กับ ป” “ภ กับ ถ” “น กับ ม” “ด กับ ค” และ “ข กับ ช”

สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาของคนกลุ่มนี้ บางคนอาจจะเห็นคำแต่อ่านผิด หรือบางคนอาจจะอ่านได้คล่องแต่ไม่สามารถจับใจความได้ ฟังและเขียนออกมาผิดหรือที่เรียกว่าเสียงกับรูปไม่ไปด้วยกัน ซึ่งมีความหลากหลายพอสมควร

“เด็ก LD ส่วนมากจะมีความสามารถต่ำกว่าเด็กทั่วไป 2 ระดับชั้น เช่น เมื่ออยู่ ป.3 จะมีความสามารถเท่า ป.1 ก็จะทำให้เกิดช่วงว่างของการเรียนรู้ เพราะฉะนั้นถ้าเราไปช่วยเด็กกลุ่มนี้ตั้งแต่เล็ก ก็จะช่วยให้เขามีทักษะการเรียนรู้ได้” รศ.ดร.ดารณี กล่าว

รศ.ดร.ดารณี มองว่า การอ่านการเขียนการคิดคำนวณคือทักษะและเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การแสวงหาความรู้อื่น ๆ เพราะถ้าเด็กขาดทักษะเหล่านี้ ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ด้วยตัวเองในอนาคต ซึ่งเด็กกลุ่มนี้บางคนไอคิวสูงเป็นเด็กฉลาดกว่าเด็กปกติ แต่มีปัญหาเรื่องการอ่านการเขียน เพราะฉะนั้นสื่อนวัตกรรมและผลงานวิจัยเหล่านี้สามารถนำไปใช้ช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพื่อให้เด็กสามารถอ่านออกเขียนได้

“เราทำเรื่องเด็ก LD มามากกว่า 10 ปี และทำงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง เรามุ่งมั่นที่จะป้องกันเด็กกลุ่มนี้ เราต้องไม่รอ แต่ต้องค้นหาให้เจอว่าเด็กคนไหนมีปัญหาการเรียนรู้ตั้งแต่ยังเล็ก และช่วยเหลือหรือพัฒนา เพราะฉะนั้นแอปพลิเคชันที่เราทำออกมา จะเข้ามาช่วยได้ เด็กบางคนอาจจะไม่ใช่เด็ก LD แต่คล้าย ถ้าเราละเลยเด็กกลุ่มนี้ก็อาจจะมีลักษณะเช่นเดียวกับเด็ก LD และไม่สามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเอง ทำให้มีผมสัมฤทธิ์ในการเรียนต่ำ เราจะต้องช่วยกันลดปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ให้เร็วที่สุด ให้ดีที่สุด” รศ.ดร.ดารณี กล่าว

ความคาดหวังงานวิจัยในอนาคต

หลังจากนี้ ทาง A-MED สวทช. มีแผนจะปรับรูปแบบแอปพลิเคชันไปเรื่อย ๆ นำคำแนะนำต่าง ๆ กลับมาพัฒนาแอปพลิเคชันให้ดียิ่งขึ้นและเหมาะสมกับเด็กมากยิ่งขึ้น

ดร.อรอินทรา กล่าวว่า A-MED สวทช. มีแผนจะขยายผลการอบรมระบบบริการช่วยเขียนภาษาไทยตามจินตภาพ กับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และร่วมกับ สพฐ ส่วนแผนการขยายผลแอปพลิเคชันทางด้านการอ่าน ได้มีการหารือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีแนวคิดที่จะขยายผลการใช้งานไปทั่วประเทศเช่นกัน

นอกจากนี้จะเพิ่มระดับคำศัพท์ที่มากกว่า 1 พยางค์ เพื่อช่วยเด็กได้ครอบคลุมขึ้น และกำลังพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อไปวางไว้บนคลาวด์มี ระบบบริการช่วยเขียนภาษาไทยตามจินตภาพ พิมพ์ใจ (LD keyboard) และ การอ่าน

“เราก็มีแผนที่จะให้เอกชนมารับไปต่อยอด ซึ่ง พิมพ์ใจ (LD keyboard)  มีการให้สิทธิในเทคโนโลยีกับบริษัทเอกชนไปแล้ว ปัจจุบันสามารถดาวน์โหลดผ่าน Play Store ได้แล้ว” ดร.อรอินทรา กล่าว

ครูนิ่ม กล่าวเสริมว่า ความสะดวกสบายเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ถ้าจะสามารถพัฒนาโปรแกรมให้สามารถใช้ที่ไหนก็ได้ ใช้ผ่านสมาร์ทโฟนได้ก็จะดี เพราะเด็กกลุ่มนี้จะต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน นอกเหนือจากโรงเรียน เช่น อาจจะสามารถถ่ายรูปตัวอักษรชื่อถนนและโปรแกรมสามารถอ่านเป็นเสียงออกมาได้ หรือมีระบบที่ช่วยให้เขียนได้ถูกต้องได้ ก็จะช่วยให้เด็กนำไปใช้กับการดำเนินชีวิตได้

“ถ้าเด็กเรียนรู้ และนำไปใช้ได้ด้วยตัวเองก็จะทำให้เด็กมีความมั่นใจ เพราะฉะนั้นการที่เด็กหรือผู้ปกครองจะนำไปใช้ขอให้มีความตั้งใจที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันจริง ๆ จะสามารถช่วยเด็กได้มาก เด็กจะสามารถเรียนรู้และช่วยตัวเองได้ ซึ่งก็จะสร้างความเท่าเทียมให้กับเด็กได้” ครูนิ่ม กล่าว

“อยากให้ทุกคนรู้จักว่าเด็ก LD มีศักยภาพการเรียนรู้ ขอแค่ช่วยพัฒนาทักษะที่เขาทำไม่ได้ เข้าใจ เด็กเหล่านี้อาจจะต้องใช้เวลาการเรียนรู้ ให้อภัย เมื่อเขาทำไม่ได้ และใกล้ชิด ให้กำลังใจเด็กกลุ่มนี้ ก็จะทำให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้” รศ.ดร.ดารณี กล่าวเสริม

“เราอยากให้เด็ก LD ในประเทศไทยได้มีโอกาสใช้งานแอปพลิเคชัน ที่ A-MED สวทช. พัฒนาขึ้นให้ทั่วถึง เด็กกลุ่มนี้จะได้มีความทัดเทียมเท่ากับเด็กทั่วไปและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข” ดร.อรอินทรา กล่าวสรุป

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ