TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewวิสัยทัศน์ “ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์” พันธกิจ “จิตตะ” กับบทบาท “เข็มทิศ” ของการลงทุน

วิสัยทัศน์ “ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์” พันธกิจ “จิตตะ” กับบทบาท “เข็มทิศ” ของการลงทุน

เขาเป็นคนไทยที่ลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาตั้งแต่สิบกว่าปีก่อน เรียนรู้จากการศึกษาและลงมือจริงอย่างโชกโชน จนกล้าพูดได้ว่ารู้จักหุ้นเกือบทุกตัวของตลาดหุ้นอเมริกาแบบลึกซึ้ง เขานำความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาก่อตั้งเว็บไซต์ jitta.com หวังส่งต่อความรู้สู่คนไทย ผ่านมา 1 ทศวรรษ ปรับและเปลี่ยนโมเดลมาจนลงตัวกลายเป็นแพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้นเน้นคุณค่าที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลกกว่า 2 แสนคน โดยวันนี้ มีบริการจัดการกองทุน Jitta Wealth ที่เป็น WealthTech แห่งแรกในประเทศไทยมาเติมเต็ม business model จากไม่มีรายได้ให้มีรายได้เพื่อทำให้ความฝันสู่ international business ของเขาเป็นจริง

เผ่า-ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท จิตตะ ดอทคอม จำกัด เจ้าของ Jitta บอกกับ The Story Thailand ว่า เขามีความสนใจเรื่องการทำธุรกิจมาตั้งแต่เด็ก เริ่มต้นทำธุรกิจจริงจังตอนเรียนจบปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา ช่วงนั้นมองหาธุรกิจออนไลน์ที่สามารถสร้างความมั่งคั่งได้เร็ว อยากได้ไลฟ์สไตล์แบบทำงานที่ไหนก็ได้ ได้เงินเป็นดอลลาร์ มีลูกค้าอยู่ทั่วโลก ไม่ต้องลงแรง 24 ชั่วโมง แต่มีระบบที่ทำงานให้ 24 ชั่วโมง และเป็น passive income คำตอบจบลงที่ affiliate marketing ทำไปถึงระดับที่เริ่มมีรายได้เข้ามาเรื่อย ๆ จนใช้เวลาน้อยมากในแต่ละสัปดาห์แต่สามารถทำรายได้ในจุดที่พอใจ เหมือนที่ “ทิม เฟอร์ริส” เขียนไว้ในหนังสือ The 4-Hour Workweek

กลับมาประเทศไทยพบว่าคนไทยยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำโฆษณาทางออนไลน์ จึงลงมือเขียนหนังสือเพื่อถ่ายทอดความรู้นี้ให้คนไทยได้อ่าน ชื่อ Google Make Me Rich หลังจากนั้นได้เป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับ online marketing และการทำโฆษณาออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ในเมืองไทยเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา 

หลังจากทำไปถึงจุดหนึ่ง กระแสเงินสดมีจำนวนหนึ่ง อยากให้เงินทำงานจึงมองหาวิธีการลงทุน ได้อ่านหนังสือของ Warren Buffett รู้สึกว่าน่าจะเป็นวิธีการลงทุนที่เข้ากับชีวิตของเขามากที่สุด เขาพยายามคิดว่าอะไรที่สามารถขยายโอกาสได้โดยเหนื่อยน้อยลง ทำให้การทำสัมมนาและเขียนหนังสือเริ่มเป็นสิ่งที่ไม่อยากทำ เพราะ scale ยาก และตลาดเล็กอยู่ภายในประเทศไทย แต่สำหรับ affiliate marketing และการลงทุนสามารถทำได้ทั่วโลก 

ช่วงแรกของการลงทุน เขาลองผิดลองถูกต้องล้มลุกคลุกคลานหลายครั้งหลายหน จนตั้งหลักได้และเติบโต เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่งเขาสรุปได้ว่า เขาเลือก vehicle ที่ถูกคือหุ้น เลือกหลักการลงทุนที่ถูกคือ VI (value investment) หรือการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ทุ่มเทลงทุนจนทุกอย่างอยู่ตัว เริ่มรู้วิธีการลงทุน มีความสุขกับการลงทุน เวลานั้นเขามีรายได้จนสามารถจะเกษียณจากการทำงานได้แล้ว แต่เขายังมีความฝันอยากสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

จากความฝัน …สู่ “จิตตะ”

จากประสบการณ์ด้านการลงทุนที่สั่งสมมายาวนานนับสิบปี ศึกษา เรียนรู้ และทดลองด้วยตัวเองจนเห็นผล ทำให้เขาคิดว่า “ความรู้เรื่องการลงทุน” คือคุณค่าที่เขาควรนำมาแบ่งปันคนอื่น เพราะเชื่อว่าการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน แต่คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่มีความเข้าใจเพียงพอ ทั้งยังไม่มีเวลาศึกษาหาความรู้ เขาเกิดแนวคิดว่าหากมีซอฟต์แวร์ช่วยเรื่องการลงทุนน่าจะดี จึงฟอร์มทีมกับคุณฮั้นท์-ศิระ สัจจินานนท์ (CTO ของ Jitta) เอาความรู้เรื่องการลงทุนมาทำเป็นอัลกอริธึม กลายมาเป็น jitta.com แพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้นเน้นคุณค่า

จากประสบการณ์การทำ online marketing ทำเว็บ ทำโฆษณาออนไลน์ ทำ viral marketing มาถึงเรื่องการเงินการลงทุน ที่เรียนรู้จนลงทุนได้ดี และสุดท้ายเริ่มมาทำสตาร์ตอัพที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและการเงิน คือ Jitta 

“การทำสตาร์ตอัพตอนแรกต้องเรียนรู้เยอะมาก เพราะไม่เหมือนงานที่เคยทำ ลงมือทำช่วงแรกมีผิดพลาดถึงกับน้ำตาไหล จนสุดท้ายได้อ่านหนังสือ Lean Startup ของ Y Combinator รู้วิธีการสร้างสตาร์ตอัพให้ประสบความสำเร็จต้องดูอะไร ดูผลิตภัณฑ์อย่างไร สร้างกลไกการเรียนรู้และวัดผลยังไง ทำผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับตลาดอย่างไร ต้องหารูปแบบธุรกิจอย่างไร มีเรื่องให้เรียนรู้ ทุกสิ่งพอมองย้อนกลับไปมันร้อยเชื่อมกัน เพราะสิ่งหนึ่งคือ เราไม่หยุดที่จะเรียนรู้ เพราะเป้าหมายชัดเจน เมื่อเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ประสบการณ์จะต่อเชื่อมกันเอง”

การทำ Jitta คือ ต้องการเผยแพร่ความรู้การลงทุน เป็นการเลือกเหมือนตอนเผยแพร่ความรู้เรื่อง affiliate marketing แต่ครั้งนี้เขาเลือก vehicle ที่ต่างไป เพราะไม่อยากให้ “องค์ความรู้” มายึดติดกับตัวเขา ซึ่งไม่ยั่งยืน และไม่ส่งต่อไม่ได้ ทำให้มีข้อจำกัด 

ตอนทำ Jitta ได้อ่านหนังสือ Built to Last ของ Jim Collins ที่บอกว่า ถ้าอยากจะสร้างสิ่งที่อยู่เป็นร้อยปี อย่าเป็น time teller ให้เป็น clock builder คือ “อย่าแค่อ่านเวลาเป็น แต่ให้เป็นคนสร้างนาฬิกา” เพราะถ้าเป็นคนรู้เวลาคนเดียวในหมู่บ้าน พอตายไปความรู้เรื่องเวลาจะตายตาม จะไม่สร้างคุณประโยชน์อะไรส่งต่อไปยังคนอื่น ๆ แต่ถ้าเอาความรู้ที่มีมาสร้างเป็นนาฬิกาและบอกเวลาคนทั่วโลกได้เหมือนกันอย่างเที่ยงตรงจะมีประโยชน์กว่ามหาศาล สามารถส่งต่อคุณค่าไปยังคนรุ่นหลังได้ 

“จึงนำความคิดนี้มาใช้ โดยนำหลักการลงทุนมาทำให้คนเข้าใจได้ง่าย” และ “สื่อ” ต้องเป็นอินเทอร์เน็ตที่ทุกคนเข้ามาดูได้ ต่อให้เขาตายไปสิ่งนี้จะยังอยู่ Jitta จะเป็นนาฬิกาที่เที่ยงตรงของการลงทุนได้

เขาจึงตัดสินใจทำ Jitta Score และ Jitta Line อัลกิริธึมที่ประเมิน “คุณภาพกิจการ” และประเมิน “มูลค่า” เพราะเป็นสองสิ่งที่สำคัญมากในโลกการลงทุนแบบวีไอ และเขาเองต้องผ่านการฝึกอ่านงบการเงินและประเมินมูลค่ามากมาย “ถ้าเราคิดได้ อัลกอริธึมก็ต้องคิดได้เหมือนกัน” 

Pivot ครั้งแรก …..

Jitta เวอร์ชันแรก มีข้อมูลเยอะมากราวกับเป็นคู่แข่ง Google Finance หรือ Bloomberg แต่เทียบกันแล้วยังห่างชั้นสองรายใหญ่เจ้าตลาดที่มีข้อมูลมากกว่า ดังนั้น โมเดลการเป็น data provider ไม่น่าจะตอบโจทย์ทางธุรกิจเพราะไม่มีจุดเด่น ไม่มีเอกลักษณ์ และการให้ข้อมูลไม่สามารถตอบได้ว่าข้อมูลนั้นสร้างคุณค่าได้จริงไหม

เมื่อไปทำวิจัยกลุ่มคนใช้งานที่ซิลิกอน วัลเลย์ ได้คำตอบว่าสิ่งที่เขาต้องการคือ ข้อมูลที่บอกว่าซื้อหุ้นอะไร ราคาเท่าใด เขาจึง pivot มาเป็น Jitta Stock Analysis ถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่จากการเป็น data provider มาเป็น algorithm base และเป็นแพลตฟอร์มที่จะวิเคราะห์หุ้นทั้งโลก

“Jitta เวอร์ชันแรก จัดเต็มฟีเจอร์ นำไปลองทำ MVP ที่ซิลิกอน วัลเลย์ ได้รับ feedback ว่าหากยังไม่สามารถบอกจุดเด่นของเว็บได้ภายในหนึ่งนาที เจ๊งแน่นอน”

ข้อสรุปที่ได้ครั้งนั้นคือ การมีข้อมูลเยอะมากแปลว่าเว็บไม่มีอะไรเลย มันไม่มีจุดเด่นจึงต้องออกแบบเว็บใหม่ ตัดส่วนข่าว ความเห็น เรตติ้ง ออกหมด เหลือเฉพาะสิ่งที่สำคัญคือ Jitta Score คะแนนประเมินคุณภาพของธุรกิจ กับ Jitta Line กราฟแสดงมูลค่าที่เหมาะสม ทำอัลกอริธึมให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จะเป็นประโยชน์มากกว่า เรียกว่า ‘do what you do best’ ทำให้ Jitta เป็นสตาร์ตอัพที่เน้นในเรื่องนี้:ซึ่งยังไม่มีใครทำซ้ำ

“เราจะพยายามวิเคราะห์หุ้นให้ได้ทั้งโลก จากวันแรกที่ทำก็ไม่ได้คิดว่าจะมาไกลถึงวันนี้ ตอนนี้เราวิเคราะห์ไปแล้ว 95 เปอร์เซ็นต์ ของหุ้นทั้งโลก เรียกได้ว่าเป็นเว็บเดียวที่วิเคราะห์ fundamental ของหุ้นจำนวนมากขนาดนี้ ด้วยอัลกอริธึมของตัวเอง”

Jitta คิดเรื่อง global scale ตั้งแต่เริ่มแรก จึงเริ่มต้นทำเว็บภาษาอังกฤษ และตลาดหุ้นอเมริกาก่อน และปักธงว่าอยากเป็น international business 

“พอคิดว่าจะทำตลาดต่างประเทศ ต้องวิเคราะห์และวางแผน ต่างจากสมัยเด็กที่คิดและลงมือทำเลย แต่ประสบการณ์สอนว่า คิดก่อนทำจะดีมาก และพยายามดูจุดแข็งของเราให้ดีเสียก่อน”

เผ่าบอกว่า “การทำเว็บต่างประเทศ จุดอ่อนคือเรื่องภาษา ดังนั้น จะไม่ทำเว็บคอนเทนต์ เว็บ Jitta ไม่เน้นคอนเทนต์ แต่เน้นอัลกอริธึม และเน้นการลงทุน เพราะคนลงทุนได้ตั้งแต่อายุ 18-80 ปี ช่วงอายุของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายกว้างมาก หากเราทำมันได้ถูกต้องและดี มันจะสร้างอิมแพคได้กว้างมาก พยายามคิดล่วงหน้าก่อนที่จะลงมือทำ”

Pivot ครั้งที่สอง ….. 

แม้ว่า Jitta Stock Analysis จะประสบความสำเร็จ แต่ด้วยรูปแบบธุรกิจที่เป็น freemium ให้ใช้งานฟรี แม้จะมีส่วนสมาชิกที่จ่ายเงินเพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติม แต่ประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ ลูกค้าใช้ฟรี ซึ่งเวลานั้นหากจำนวนสมาชิกจะทำรายได้ให้เว็บก็ยังไม่ตอบโจทย์ที่จะเติบโตไปในอนาคต ดังนั้น การคิด Jitta subscription ไม่ได้สร้างคุณค่า สมาชิกอาจจะไม่คุ้ม และวันหนึ่งก็จะเลิกจ่ายเงิน 

“อีกอย่างมันไม่แฟร์กับคนที่ลงทุนไม่เก่ง เพราะคนที่ลงทุนเก่งกับไม่เก่งจ่ายค่าสมาชิกเพื่อใช้บริการในราคาเท่ากัน แต่ความสามารถในการสร้างผลตอบเทนต่างกันมาก” 

หากมองในแง่ของการ scale ไปทั่วโลกด้วยโมเดล subscription เป็นสิ่งที่เล็กน้อยมาก ยิ่งขยับลงมาที่ตลาดเอเชียรูปแบบธุรกิจสมาชิกยิ่งได้ลูกค้าน้อยลง ในขณะที่ในไทยเองคนไม่ได้ให้คุณค่ากับบริการที่ต้องจ่ายค่าสมาชิก โมเดลธุรกิจแบบนี้ เผ่ามองว่า Jitta ไม่สามารถขยายขนาดธุรกิจและขนาดรายได้อย่างแน่นนอน 

จึงเป็นที่มาของการเปิดบริการ Jitta Wealth ที่เปินกองทุนบริหารเงินด้วยอัลกอริธึมของ Jitta สร้างคุณค่าด้วยการคิดค่าธรรมเนียมต่ำกว่าท้องตลาด ซึ่งคิดค่าบริหารจัดการ 2 เปอร์เซ็นต์ แต่ Jitta Wealth คิดแค่ 0.5 เปอร์เซ็นต์ และส่วนแบ่ง 10 เปอร์เซ็นต์ ของกำไร ซึ่งเป็นอัตราที่เป็นธรรมสำหรับนักลงทุนที่มีเงินมากและน้อย

“เรามองว่ารูปแบบนี้ยั่งยืน เพราะเราควบคุมสภาพแวดล้อมของการลงทุนได้ทั้งหมด เราเชื่อว่าหากหลักการถูกต้อง พอร์ตจะเติบโตและกำไร นักลงทุนจะอยู่กับเราไปเรื่อย ๆ เพราะเขากำไร รายได้เราจะเติบโตตามพอร์ตของลูกค้าที่โตขึ้น” 

ในประเทศไทย นักลงทุนที่เทรดหุ้นเอง (active trading account) มีประมาณ 100,000-200,000 คน และมีนักลงทุนที่ลงทุนผ่านกองทุนประมาณ 7-8 ล้านคน ในตลาดมีคนที่ต้องการให้ช่วยบริหารการลงทุนมากกว่าคนที่ต้องการลงทุนด้วยตัวเอง ซึ่งจำนวนคนเปิดพอร์ตลงทุนผ่านกองทุนประมาณ 7-8 ล้านคน ยังนับเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศ จำนวนการลงทุนผ่านกองทุน 7-8 ล้านบัญชีคิดเป็นเงินลงทุนรวม 6 ล้านล้านบาท

“เป็นจุดที่ scale ได้ หากลูกค้า 1 ล้านคนลงทุนกับเราคนละ 100,000 บาท มูลค่าเราก็เป็นแสนล้านบาทแล้ว แต่แพลตฟอร์มที่เราพัฒนามาใช้ต้นทุนไม่ต่างจากการบริหารเงินพันล้าน เราเห็นว่ารูปแบบธุรกิจนี้ scale ได้ดี และมีแต่ win-win-win สุดท้ายได้พิสูจน์คุณค่าของเราได้ชัดเจน”

เขาบอกว่าเป็นการ pivot ครั้งใหญ่อีกครั้งที่เขาต้องตัดสินใจทิ้งรูปแบบธุรกิจเดิมที่ทำเงินได้ดีในระดับหนึ่งในตอนนั้น เพื่อมาเป็นอีกรูปแบบธุรกิจหนึ่งที่เชื่อว่าดีกว่าในระยะยาว 

“ฟัง” และ “ใส่ใจ” ข้อเสนอแนะ ….

เขาสรุปบทเรียนว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้ Jitta ปรับเปลี่ยนและเดินต่อได้อย่างเติบโต คือ “การฟังข้อเสนอแนะ” อย่ามัวแต่ทำโดยไม่ “ใส่ใจ” ว่าคนทั่วไปเขาต้องการอะไร 

Jitta เวอร์ชันแรก เขาคิดเองทำเอง ไม่มีการสำรวจตลาด ใส่ฟีเจอร์เข้าไปมาก เมื่อนำไปใช้จริง ไม่ตรงความต้องการตลาดจึงต้องนำกลับมาปรับเปลี่ยนใหม่หมด เขาบอกว่า “ข้อสำคัญอย่าหยุดเดิน ประตูบ้านนี้เปิดไปแล้วตัน รีบปิดแล้วเปลี่ยนไปเปิดอีกบานหนึ่ง” เขาย้ำว่าตอนที่ปรับ Jitta ครั้งแรก เป็นการทิ้งผลิตภัณฑ์ที่ลงแรงพัฒนามาหนึ่งปีเต็มแต่ไม่ตอบโจทย์ตลาด เขาต้องยอมเจ็บตัดสินใจทิ้งแล้วทำใหม่

เจ็บครั้งที่สองตอนเริ่มทำ Jitta Wealth ที่เกิดจากการทำ subscription model สำหรับ Jitta Stock Analysis มาสักระยะแล้วไม่ตอบโจทย์แง่การขยายธุรกิจ รายได้ ฐานลูกค้า ในขณะที่มีผู้ใช้งาน Jitta Stock Analysis จำนวนมากเดินเข้ามาหา อยากให้ Jitta บริหารเงินให้เพราะเขาลงทุนเองอย่างไรก็ขาดทุน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการทิ้งเงินรายได้ก้อนโตจากค่าสมาชิกที่สร้างได้แล้ว เปลี่ยนไปเป็นการบริหารเงินคนอื่น และเข้าสู่ธุรกิจใหม่ในบทบาทเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ที่ต้องมีใบอนุญาตและทำตามกฎระเบียบมากมาย ในขณะที่ทีมงาน 20 กว่าชีวิตในตอนนั้นไม่มีใครเคยมีประสบการณ์การบริหารกองทุน หรือทำธุรกิจการเงินมาก่อน

“แต่ทุกคนสู้พร้อมลุย สู้ด้วยเชื่อว่าหากทำได้สำเร็จจะเกิดผลดี แม้ว่าตลอดเส้นทางข้างหน้าจะต้องเรียนรู้ใหม่หมดว่าต้องทำอะไร อย่างไร เรียกว่าล้มลุกคลุกคลานกันมา ต้องอาศัยใจสู้เท่านั้นถึงจะทำได้”

พลังของการโฟกัส

ธุรกิจการลงทุนต้องใช้การพิสูจน์ตัวเองสูงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ความแข็งแกร่งของทีมผู้ก่อตั้งและทีมงาน คือ ปัจจัยความสำเร็จ แต่การโฟกัสอย่างมากคือพลังหนุนส่งให้ Jitta เดินมาจนถึงวันนี้ เขามีศรัทธาในหลักการการลงทุนแบบ Jitta ที่เชื่อว่าสามารถสร้างคุณค่าให้ผู้คนได้จริง และมุ่งมั่นทำในสิ่งที่เชื่อไม่วอกแวกหรือท้อถอย

เผ่าบอกว่า เรื่องการลงทุนต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะว่าสภาวะของตลาดทุนมีความไม่แน่นอนสูง “คุณอาจจะมีหลักการลงทุนที่ดีที่สุด วิเคราะห์เก่งสุด แต่อาจจะอยู่ในช่วงของตลาดหุ้นแย่ อาจจะทำให้คนเข้าใจผิดว่าคุณห่วย คุณอาจจะต้องใช้เวลา 3-5 ปี เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ถ้าลงทุนระยะยาวถึงจะได้กำไร ถ้าไม่มีโฟกัสหรือเชื่อมั่นในหลักการที่ชัดเจน จะโตได้ยากมาก” แต่หลังจากผ่านระยะเวลาค่อย ๆ พิสูจน์ตนเองมาเรื่อย ๆ จนมีนักลงทุนเชื่อใจ ความเชื่อมั่นก็จะเกิดขึ้น เป็นงานที่ต้องใช้เวลา 

“ที่ผ่านมาอาจจะดีบ้างแย่บ้างแต่เราไม่เคยถอยหลัง ช้าบ้างเร็วบ้างไม่เป็นไร สิ่งที่ดีมาก ๆ คือทีมมีสปิริตและความชัดเจน เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ เราไม่เคยวอกแวกเลย ไม่เคยไปทำอย่างอื่นเลย ตอนที่ไม่มีรายได้เลยสักบาท มีคนมาขอซื้อโฆษณาเรายังไม่ขายเลย หรือมาจ้างงานทีมนักพัฒนาของเราก็ไม่รับ เรารู้ว่าทำอะไรอยู่ วอกแวกไม่ได้”

เรียกว่าขออดอย่างเสือ ….. 

ผู้ก่อตั้ง Jitta ย้อนความหลังที่ผ่านมาว่า ตอนที่เจ็บปวดที่สุดคือการต้องทิ้งผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามาหนึ่งปี เขารู้สึกผิดในฐานะผู้นำที่ไม่ฉลาดพอที่จะสร้างสูตรที่มุ่งไปสู่ความสำเร็จได้ ยังยึดติดกับความสำเร็จเดิม “ผิดที่ไม่พยายามหาความรู้ใหม่ว่าสตาร์ตอัพต้องทำอย่างไร แต่ทำอย่างที่เคยทำมาในธุรกิจอื่น ต้องเสียทั้งเวลาของทีมและเสียเงิน”

แม้ในวันที่เลือกเส้นทางเดินใหม่ถูกทางแล้ว หลายครั้งเขาก็ยังต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากอีก หลังจากเปิดบริการ Jitta Wealth ไม่นาน หุ้นไทยตกจากจุดสูงสุด 1,800 จุด ลงมาเรื่อย ๆ พอร์ตนักลงทุนขาดทนถ้วนหน้า เขาต้องรับแรงกดดันมหาศาล เผ่าบอกกับทุกคนว่า “ทำธุรกิจลงทุนหากเข้าใจจะรู้ว่ามันต้องมีปีที่ดีกับปีที่แย่ ต้องมีปีที่นักลงทุนขาดทุน ปีที่นักลงทุนกำไร จะทำอย่างไร ต้องตรียมพร้อมรับตั้งแต่แรก” ด้วยความที่เขาเป็นนักลงทุนมาก่อน จึงเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจนี้และรับกับสถานการณ์เช่นนี้ได้ ทั้งพยายามถ่ายทอดให้ทีมงานและนักลงทุนมีความเข้าใจ

ช่วงโควิดเป็นช่วงเวลาที่พิสูจน์หลักการลงทุน และพิสูจน์จิตใจของทีมงานครั้งสำคัญ เพราะตอนนั้นพอร์ต Jitta Wealth ของทุกคนร่วงลงไปประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ในระยะเวลาไม่ถึงเดือน อาจมองว่าเป็นขาลงของธุรกิจก็ได้ แต่สำหรับเขาซึ่งผ่านประสบการณ์ร้าย ๆ ในฐานะนักลงทุนมาอย่างโชกโชน มองว่าเป็นธรรมดาที่นักลงทุนจะต้องเจอ “ถ้าเป็นโลกของการลงทุนอย่างไรก็ต้องเจอปีที่เลวร้าย ไม่เจอโควิด ก็อาจจะเจอเรื่องอื่น เช่น สงคราม ก่อการร้าย หรือการเมือง”  

“ถ้าเราเข้าใจมันก่อนว่าเราจะเดินไปเจออะไร ก็ไม่ได้ยากลำบาก เราก็จะพร้อมรับมือกับมันอยู่แล้ว” 

สิ่งที่เขามองว่ายากที่สุด คือ การสร้างรูปแบบธุรกิจที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลานานมาก เขาว่า “ต้องค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ตัดสินใจ จนมาเป็น Jitta Wealth เพราะเรื่องเหล่านี้เปลี่ยนบ่อยไม่ดี เดี๋ยวคนจะสับสัน” เขายังเปิดเผยให้เรารับรู้ว่า ช่วงที่มีทีมมากขึ้น ต้องใช้เงินมากขึ้น ขาดทุนปีละหลายสิบล้าน ก็ต้องหาเงินให้ได้ 

“เป็นหน้าที่ผม ผมคิดเป็นหลักว่าจะไปทางไหนดี จะหารูปแบบธุรกิจอะไรที่ยั่งยืน ทุกคนฝากความหวังไว้ที่เรา จะตื่นเช้ามานั่งคิดทุกวัน หาข้อมูล ผมมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจไม่ได้รู้สึกว่าลำบาก แต่ว่าตอนนั้นมีรายจ่ายค่อนข้างเยอะ แม้มีเงินอยู่ แต่รู้ว่าอยู่แบบนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ ต้องมองกระแสเงินสดล่วงหน้า และต้องหาทางหนีทีไล่ล่วงหน้าไวเสมอ ๆ เราจะต้องไม่ตายเพราะการขาดกระแสเงินสด เพราะหากมีผลิตภัณฑ์ที่ดี คนใช้จำนวนมาก แต่หากกระแสเงินสดไม่ดี สุดท้ายก็เจ๊งอยู่ดี”

จิตตะระดมทุนมาเรื่อย ๆ และมีเงินเหลือให้ใช้ต่ออีก 1-2 ปีเลย แต่เขาจะบอกทีมงานทุกคนว่า ถ้าจิตตะยังหารายได้มาครอบคลุมค่าใช้จ่ายไม่ได้อย่าดีใจ เพราะยังไม่ได้ยืนบนลำแข้งตัวเอง ปราสาทที่สร้างมาล้มได้เสมอ หากมัวแต่ระดมทุน โดยไม่สร้างรายได้เพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายตัวเอง

“หลักการทำงานของผมเบสิกมาก คือ plan, do, check, act วางแผนว่าจะทำอะไร คิดล่วงหน้า ทำวิจัย หลังจากนั้นลงมือทำเลย ไม่คิดเยอะ โดยมีหมุดหมายในการเช็ค มี OKR ในการเช็คมิติต่าง ๆ และแก้ไขในสิ่งที่ทำ พัฒนาสิ่งที่ทำให้ดีขึ้น”

คุณค่าของ “จิตตะ” 

Jitta มี 2 แพลตฟอร์ม คือ Jitta Stock Analysis (jitta.com) และ Jitta Wealth คนที่ลงทุนเองได้ เก่งพอและอยากเรียนรู้จะใช้ Jitta Stock Analysis ส่วนคนที่อยากให้บริหารการลงทุนจะมาใช้ Jitta Wealth ที่บริหารจัดการการลงทุนด้วยอัลกอริธึม ด้วยหลักการลงทุนที่ถูกต้อง ควบคุมวินัยการลงทุนให้ โดยเน้นการลงทุนระยะยาวเป็นหลัก

ปัจจุบัน jitta.com มีผู้ลงทะเบียนใช้งานทั่วโลก 200,000 คน ผู้ใช้งาน 80 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในประเทศไทย ส่วน Jitta Wealth บริหารกองทุน 50,000 กองทุน ซึ่งมากที่สุดในประเทศไทย 

“Jitta อยากจะสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดให้กับทุกคนบนโลกที่อยากลงทุน เพราะรู้ว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ของคนที่ลงทุนขาดทุนจากตลาดหุ้น คุณค่าของ Jitta คือ better return, simple method คือ ลงทุนได้ดีขึ้นและชีวิตต้องง่ายขึ้น”

เขาเชื่อว่า “คุณค่า” ของ Jitta ที่สร้างจากพันธกิจ วันนี้ชัดเจนว่าส่งมอบคุณค่านี้ได้ และอยากส่งมอบให้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ วันนี้แม้ว่า Jitta จะเดินทางมาเข้าสู่ปีที่ 10 แต่หากเทียบกับสิ่งที่จะเดินไปข้างหน้านับว่ายังเดินมาได้ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ เขาอยากจะสอนให้คนลงทุนเป็นทั้งโลก อยากจะช่วยบริหารจัดการเงินให้กับคนทั่วโลก อยากจะสร้างกำไรที่ดีให้คนทั่วโลก คล้ายกับที่ Warren Buffett เคยสอนนักลงทุนทั่วโลก หรือที่ John Bogle สร้าง Vanguard กองทุนดัชนีแรกของโลก

การทำเป้าหมายนี้ตอบโจทย์อีกเป้าหมายหนึ่ง คือ การเผยแพร่หลักการลงทุน ที่เรียกว่า Jitta’s Ways คือ VI ผสมอัลกอริธึมของจิตตะในการกระจายความเสี่ยงให้ทั่วโลกยอมรับ 

“ถ้าทั่วโลกยอมรับได้ Jitta ก็จะกลายเป็น intenational business คนรุ่นใหม่จะเห็นเราเป็นตัวอย่าง หรือเราสามารถกลับมาลงทุนในบริษัทคนรุ่นใหม่ให้เขาเติบโต แล้วใช้แพลตฟอร์มเราเป็นฐานให้กับเด็กไทยในอนาคตให้สามารถไปต่างประเทศได้ง่ายขึ้น” 

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ทศวรรษที่ 3 ของครี-ฟูล นำเทคโนโลยีสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดของลูกค้า

ความสำเร็จของลูกค้าและคู่ค้า คือ ความยั่งยืนของ “ไอบีเอ็ม”

Arincare เฮลท์เทคไทย ให้คนเข้าถึงยาง่ายขึ้น ในราคาถูกลง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ