TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistยุบทิ้งสิ่งชำรุด "ยุทธศาสตร์ชาติ"

ยุบทิ้งสิ่งชำรุด “ยุทธศาสตร์ชาติ”

มีบทความหนึ่งที่มีเนื้อหาเข้ากับยุคสมัยและน่าสนใจเป็นงานเขียนของ “Prakash Iyer” เขียนถึงเรื่องราวของ “สะพานโชลูเตกา” ที่สร้างข้ามแม่น้ำโชลูเตกาประเทศฮอนดูรัสความยาว 484 เมตร โดยความช่วยเหลือจากญี่ปุ่น ในปี 1996 เพื่อให้ได้สะพานที่มีความแข็งแรง ทนทาน ต้านทานความรุนแรงของพายุและน้ำบ่าของธรรมชาติทุกรูปแบบ

สะพานโชลูเตกาใหม่ เปิดใช้งานในปี 1998 แต่ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน พายุเฮอริเคนมิทช์ได้พัดถล่มฮอนดูรัส สะพานทุกแห่งในฮอนดูรัสถูกทำลาย ยกเว้นเพียงแต่สะพานโชลูเตกา ที่ไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ

แต่ที่น่าตกใจเมื่อพลังของธรรมชาติกลับทำให้แม่น้ำโชลูเตกาเปลี่ยนเส้นทาง เขยิบไปอยู่ด้านข้างของสะพาน
หมายความว่า สะพานแห่งนี้ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ และไม่สามารถข้ามไปที่ใดได้อีกเลย

เหตุการณ์นี้เกิดเมื่อ 22 ปีที่แล้วแต่สะท้อนสถานการณ์โลกปัจจุบันได้อย่างดี เรื่องราวสะพานโซลูเตกาคล้าย ๆ ”แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี” ของรัฐบาลคสช.ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศในทุก ๆ ด้าน ทั้งการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การศึกษา และเศรษฐกิจ เป้าหมายเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนแต่ในความเป็นจริงใช้งานไม่ได้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

รัฐบาลคสช.อ้างว่าที่ต้องทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เนื่องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบริหารประเทศโดยยึดนโยบายพรรคที่หาเสียงไว้กับประชาชนเป็นหลัก เป็นนโยบายเฉพาะหน้า เน้นเฉพาะกลุ่ม เฉพาะพื้นที่ ไม่ใช่นโยบายรวม ๆ ที่ใช้กับคนไทยทุกคน และไม่ใช่นโยบายระยาว

ยังอ้างอีกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีอายุจะสั้นนโยบายขาดความต่อเนื่อง รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารก็จะมักเลิกนโยบายของรัฐบาลก่อนหน้า แม้แต่รัฐบาลเดียวกันเวลาเปลี่ยนรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามาก็ไม่สานต่อนโยบายเดิมรัฐบาลคสช.จึงปิดจุดอ่อนโดยคิดเรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติขึ้นมาบังคับให้ทุกรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศต้องทำตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ

แต่สิ่งที่คนกังวลและเป็นห่วงมากที่สุด คือ แผนยุทธศาสตร์ชาติ ไม่มีความยืดหยุ่นและไม่สอดคคล้องกับโลกยุคปัจจุบันและโลกในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และรุนแรงกว่าในอดีตหลายเท่า สะท้อนจากกรณีที่ภาคธุรกิจที่ต้องบาดเจ็บล้มตายค่อย ๆ เลิกกิจการเป็นผลมาจากถูก ”ดิสทรัปชั่น” ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ธนาคาร ธุรกิจสื่อ ค้าปลีก บันเทิงเกือบทุกธุรกิจต้องเร่งปรับตัวหนีตาย กันจ้าละหวั่น

ฉะนั้น การไปกำหนดยุทธศาสตร์ชาติแบบผูกตรึงไว้แน่นนานถึง 20 ปี ถ้าโลกมันไม่เป็นไปตามที่กำหนดเอาไว้ จะเกิดอะไรขึ้นแล้วใครต้องรับผิดชอบ

แม้รัฐบาลจะบอกว่ายุทธศาตร์ชาติสามารถปรับแก้ได้ แต่ในความเป็นจริงแก้ไม่ได้ง่าย ๆ เพราะถูกกำหนดไว้เป็นกฏหมาย หากจะแก้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ทำแผนส่วนใหญ่ และสิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ แผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ ได้ขยายบทบาทของรัฐใหญ่ขึ้น และมีอำนาจมากขึ้น รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศและข้าราชการที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามหากละเว้นจะมีความผิดและถูกลงโทษได้

สถานการณ์โควิด-19 ระบาดครั้งนี้เป็นกระจกสะท้อนยุทธศาสตร์ชาติได้เป็นอย่างดี เพราะไม่มีใครคิดถึงเรื่องโควิด-19 แล้วนำมาบรรจุไว้เป็นปัจจจัยเสี่ยง เนื่องจากเป็นเรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายรัฐบาลจึงไม่ได้เตรียมแผนรับมือ ทำให้เกิดความเสียหายทั้งด้านสุขภาพและเศรษฐกิจอย่างมากมาย

อิทธิฤทธิ์โควิด-19 รุนแรงถึงกับทำให้ยุคโลกาภิวัฒน์ต้องสิ้นสุดลงอย่างสิ้นเชิงบริษัทใหญ่ ๆ ที่เคยลงทุนในประเทศต่าง ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงหลังโควิดระบาด โรงงานที่กระจายอยู่ทั่วโลกได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ต้องปรับแผนหันไปลงทุนในประเทศตัวเองแทนกลายเป็น “ยุคชาตินิยมใหม่” สิ่งเหล่านี้เหนือความคาดหมายที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกแถลงการณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า รัฐบาลได้ปรับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศใหม่แบบชนิด 360 องศารื้อทิ้งของเก่าเกือบทั้งจะหมด เพราะนโยบายเศรษฐกิจและการทำธุรกิจรูปแบบเดิม ๆ ไม่ตอบโจทย์กับโลกยุคหลังโควิดอีกต่อไป

ขณะที่รัฐบาลไทยยังกอดยุทธศาสตร์ชาติไว้แน่นทั้งที่ยังไม่รู้ว่าอีก 20 ปีข้างหน้าโลกจะเปลี่ยนแปลงเร็วและรุนแรงแค่ไหนถ้าไม่ยุบทิ้ง เราอาจจะกลายเป็นประเทศที่ล้าหลังตามโลกไม่ทัน ยุทธศาสตร์ชาติก็จะกลายเป็นยุทธศาสตร์ไดโนเสาร์

ภาพ วิกิพีเดีย

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ