TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistรื้อขยะใต้พรม "ท่องเที่ยวไทย" โอกาสในวิกฤติ

รื้อขยะใต้พรม “ท่องเที่ยวไทย” โอกาสในวิกฤติ

คงมิอาจปฏิเสธว่าธุรกิจท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก อย่างน้อย ๆ ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีจึงจะกลับมาได้ แต่อาจไม่เหมือนเดิม เพราะลูกค้าปลายทางอย่างนักท่องเที่ยวจีน เป็นกลุ่มใหญ่ราว 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติราว ๆ 10 ล้านคน จากทั้งหมดเกือบ ๆ 40 ล้านคน

ข้อมูลจากวงการท่องเที่ยวของไทย ประเมินว่า อย่างเร็วที่สุดประมาณกลางปีหน้าคนจีนจึงจะเริ่มเดินทางออกต่างประเทศได้ แต่ก็ยังคงเป็นส่วนน้อยราว ๆ 33% ของนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมด ส่วนใหญ่เป้าหมายจะไปญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก ไทยเป็นอันดับสองราว ๆ 10% ของ 33% เป็นตัวเลขที่น้อยมาก ๆ นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับธุรกิจการบินทั่วโลกจะฟื้นเร็วหรือช้าด้วย

ตอนนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และการท่องเที่ยวฯ (ททท.) ต้องหันมาโปรโมทไทยเที่ยวไทยในโครงการ “เที่ยวปันสุข” แต่ดูเหมือนจะไม่คึกคักเท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่ “แจกเงินคนไปเที่ยว” ด้วยเงื่อนไขที่ยหยุบหยับ ราคาค่อนข้างต่ำ ไม่คุ้มทำให้บริษัททัวร์ ธุรกิจรถทัวร์ไม่ค่อยสนใจ 

อย่างโครงการ “กำลังใจ” ที่ให้อสม.ไปเที่ยวก็ไม่เวิร์ค เพราะช่วงนี้หน้าฝนเป็นช่วงทำไร่ทำนา อีกทั้งอสม.ส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุ ส่วนโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้คนไปเที่ยวก็ไม่เป็นไปตามเป้า เพราะคนยังไม่แน่ใจในอนาคต เกรงว่าหากโควิด-19 ระบาดรอบ 2 วิกฤติเศรษฐกิจจะหนักกว่าเดิม เก็บเงินสดไว้ดีกว่า ส่วนใหญ่จะไปเที่ยวใกล้ ๆ อย่างพัทยา บางแสน ชะอำ ส่วนภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ยังเงียบกริบ โดยเฉพาะภูเก็ต นักท่องเที่ยวหายไปกว่า 90%

คนในวงการธุรกิจท่องเที่ยวฝากถามผู้รับผิดชอบว่า เมื่อโครงการไม่เวิร์ค งบประมาณที่ถมลงมามหาศาลนั้น เหลือเท่าไรและหายไปไหน เพราะที่ผ่านมาโครงการลักษณะนี้จบโครงการก็เงียบหายไปกับสายลม

สถานการณ์ท่องเที่ยวไทยในวันนี้จึงอยู่บนทางแพร่ง จะอยู่เฉย ๆ ก็ตาย เดินหน้าก็เหนื่อย ได้ไม่คุ้มเสีย ในห้วงเวลานี้มีคนเสนอทางออกกันมากมาย ว่า ประเทศไทยไม่ควรจะหันไปเน้นท่องเที่ยวแบบเดิม ๆ ขาย “Sea Sun Sand” อีกต่อไป แต่ควรไปเน้นการท่องเที่ยวแบบ “Medical-Wellness Tourism” ​คือ ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ จับกลุ่มนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ 

แต่ก็มีคำถามว่าระบบสาธาณูปโภคต่าง ๆ ที่รัฐลงทุนล่วงหน้า หรือภาคเอกชนลงทุนสร้างโรงแรม แหล่งบันเทิงต่าง ๆ มากมาย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคต 40 ล้านคน จะทำอย่างไรกับสิ่งที่ทั้งรัฐและเอกชนลงทุนไปแล้ว

จะเดินเส้นทางใหม่ก็ไม่รู้จะเอาของเก่าไว้ที่ไหน แต่ถ้ายังเดินซ้ำรอยเก่าก็ไม่เห็นอนาคต คงต้องเอาข้อมูลทั้งหลายมาหักกลบลบกันแล้วพิจารณาด้วยความรอบคอบและชอบธรรมก่อนตัดสินใจ

สิ่งหนึ่งที่รัฐบาล ภาคธุรกิจ  และประชาชน ไม่เคยตั้งคำถาม นั่นคือ ตัวเลขนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนที่อ้างนั้น เป็น “ตัวเลขจริง “​หรือ “ปลอม” จำนวน 40 ล้านคนเป็นนักท่องเที่ยวจริง เท่าไร หรือนับจากตัวเลขที่คนเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองเท่านั้น

อย่าลืมว่า เวลาจัดทำงบประมาณจะจัดสรรตามจำนวนหัวนักท่องเที่ยว ตัวเลขที่โอเวอร์คือความสูญเปล่า ตรงนี้ควรจะต้องชำระสะสาง 

อีกเรื่องที่ต้องสำรวจกันอย่างจริงจังว่า ธุรกิจท่องเที่ยวตอนนี้ เป็นของคนไทยจริง ๆ เท่าไร มีอะไรบ้าง อย่าลืมว่าช่วงที่ทัวร์ศูนย์เหรียญบูม คนจีนแห่มาซื้อคอนโดฯ โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกไว้รองรับนักท่องเที่ยวจีนกันคักคัก โดยยืมมือคนไทยเป็น “หุ่นเชิด” รวมถึงต้องมาชำระสะสางดูว่าโรงแรมที่มีใบอนุญาตจริง ๆ เท่าไร โรงแรมเถื่อนกี่แห่ง เป็นของต่างชาติเท่าไร

ที่สำคัญทัวร์ศูนย์เหรียญที่ปราบปรามกันอย่างอีกกระทึกคึกโครมสมัยที่คสช.เข้ามาใหม่ ๆ ตอนนี้หมดไปจริง ๆ หรือไม่ มิเช่นนั้นจะไม่มีประโยชน์ หากรัฐบาลเอาภาษีประชาชนถมลงไป โปรโมทให้คนมาเที่ยวแต่คนได้ประโยยชน์เนื้อ ๆ คือ นักลงทุนต่างชาติ คนไทยได้แค่เศษ ๆ

ยังไม่รวมถึง “เหลือบ” บางพวกปั้นโปรเจกต์หรู ๆ ดูเท่ ๆ จัดงานอีเวนต์ งานโฆษณา งานพีอาร์ ตั้งงบประมาณแบบเว่อร์เกินจริง แต่งานออกมาไม่คุ้มค่าเปลืองงบประมาณทำกันมานานเป็นสิบ ๆ ปี ต้องสะสะสางจริงจัง

ช่วงต้องถือโอกาสกวาดขยะที่ซุกอยู่ใต้ใต้พรมจัดระเบียบใหม่ให้เข้าที่เข้าทางก่อนที่จะตัดสินใจว่าท่องเที่ยวไทยหลังโควิดจะไปทางไหนดี

ทวี มีเงิน

ภาพ ทรงกลด แซ่โง้ว

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ